ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

potassium

ผิวดินพื้นที่ตำบลบ้านตาล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีส่าเกลือผุดทั่วเป็นดอกดวงสีขาว ชาวบ้านจะขูดดินมาราดน้ำรองใส่ถาด ต้มน้ำนั้นจนตกผลึกเป็นเม็ดเกลือใช้ปรุงอาหาร หมักปลาร้า หรือใส่ถุงขาย

ใช่เพียงตำบลบ้านตาล หลายพื้นที่ในอำเภอบำเหน็จณรงค์ก็มีดินเค็ม กรมทรัพยากรธรณีจึงส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจ พบว่า ที่ความลึก ๑๑๐-๓๐๐ เมตรเป็นแหล่งเกลือหินและแร่โพแทช สารประกอบที่อุดมด้วยธาตุโพแทสเซียมซึ่งเป็นหนึ่งในสามธาตุอาหารหลักของพืชตามสูตรปุ๋ยเคมีที่มักประกอบด้วยไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K)

ชั้นแร่โพแทชมีความหนาเฉลี่ยเกินกว่า ๑๕ เมตร มากพอลงทุนทำเหมืองโพแทชได้ เมื่อปี ๒๕๓๒ ประเทศกลุ่มอาเซียนหารือในที่ประชุมว่าน่าจะมีอุตสาหกรรมร่วมกัน คณะรัฐมนตรีไทยให้โครงการเหมืองโพแทชที่บำเหน็จณรงค์เป็นตัวแทนโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนของไทย ตั้งบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนแล้วเดินเรื่องยื่นขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน ราว ๑๐ ปีจึงได้รับประทานบัตรอายุ ๒๕ ปีในยุครัฐบาลทหารเมื่อต้นปี ๒๕๕๘

เจ้าของโครงการฯ กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน ๗๐๐ กว่าไร่ สำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและโรงงานแต่งแร่ แต่ตัวเหมืองอยู่ใต้ดินลึกจากผิวดิน ๑๐๐-๓๐๐ เมตร กินอาณาบริเวณ ๙,๗๐๗ ไร่

ห่างออกไป ๗ กิโลเมตร โครงการฯ กว้านซื้อที่ดินอีก ๕,๖๐๐ ไร่ใช้เป็นบ่อเก็บหางแร่ แต่ระบุว่าจะใช้จริงเพียง ๒,๕๐๐ ไร่

ปกรณ์ชัย จันทาทุม รักษาการผู้จัดการโครงการฯ อธิบายภาพรวมของวิธีทำเหมืองว่า ทางโครงการฯ เจาะอุโมงค์เป็นแนวลาดสำหรับลำเลียงแร่และระบายอากาศ แล้วขุดเป็นช่องตามสายแร่ในแนวราบ สลับการเว้นเสา แต่ละช่องกว้าง ๑๕ เมตร เสากว้าง ๒๐ เมตร แร่ที่ขุดจึงมีเพียงหนึ่งในสามของปริมาณแร่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือคงไว้เป็นเสาค้ำยัน

ด้านการแต่งแร่นั้นใช้น้ำร้อนเป็นตัวทำละลาย แยกโพแทสเซียมคลอไรด์หรือแม่ปุ๋ยโพแทชเป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยเคมี ขณะโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงซึ่งเป็นผลพลอยได้จะส่งเข้าสายพานใต้ดินไปพักที่บ่อเก็บหางแร่ รอถมกลับลงใต้ดินทั้งหมด

ปลั่ง ทิพย์รักษ์ อายุ ๗๘ ปี ข้าราชการครูบำนาญ เล่าถึงโครงการทำเหมืองทดลองที่เริ่มมาหลายปี “เคยกลัวว่าแผ่นดินจะถล่ม จะอยู่กันอย่างไร ถึงตอนนี้ผ่านมา ๑๐ ปีก็กลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว”

ปลั่งกลัวดินเค็มหลังเลิกเหมืองและชาวบ้านจะไม่มีน้ำจืดใช้

“แต่ที่ลืมความตายก็เพราะอยากมีรายได้”

วันนี้ชาวบ้านตำบลบ้านตาลทำนาปีละหนึ่งครั้ง นอกนั้นปลูกมันสำปะหลัง เหมืองจึงเป็นความหวังตามที่โครงการฯ แจ้งชาวบ้านว่าจะมีการจ้างงาน ๙๐๐ กว่าอัตรา

สมชาย ทำนักตาล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๘ บอกเล่าว่า เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนพ่อของเขาขายที่นา ทุกวันนี้ที่ดินผืนนั้นกลายเป็นที่ตั้งสำนักงานและปากอุโมงค์เข้าเหมือง อีกทั้งโครงการฯ ก็รับพ่อเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย

“ดินที่นี่ถึงอย่างไรก็เค็ม ผมอยากให้เหมืองเกิดเพราะลูกหลานจะได้กลับมา มันน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในชุมชนของเรา”

ขณะนักวิชาการในพื้นที่แสดงความกังวลถึงการขุดสินแร่ใต้ดิน

ดร. ศักดิ์ชาย เพ็ชรตรา รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ กล่าวถึงการจัดการเกลือหางแร่ “ถ้าความเค็มเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ผลิตผลทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบระยะยาว การจัดเก็บหางแร่ในพื้นที่กว้างมากก็น่ากังวลเรื่องฝุ่นเพราะเป็นที่ดอน แม้จะปลูกต้นไม้ล้อมรอบ ซึ่งตัวเหมืองจะเริ่มแล้วแต่ยังไม่มีการปลูกต้นไม้ การฉีดน้ำลงไปยังผลึกเกลือก็ไม่ชัดเจนว่าจะควบคุมไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย”

รศ. ดร. รุ่งเรือง เลิศศิริวรกุล อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งข้อสังเกตเรื่องการขุดขยายความจุบึงทะเลสีดอเพื่อรองรับน้ำดิบ แม้โครงการฯ ระบุว่าจะไม่มีการแย่งน้ำจากประชาชน แต่การขุดบึงสาธารณประโยชน์จะส่งผลกระทบต่อความเค็มของน้ำหรือแหล่งน้ำใต้ดินหรือไม่

โครงการเหมืองโพแทชที่บำเหน็จณรงค์เป็นเหมืองใต้ดินแห่งแรกของไทย ขณะเหมือง “บนดิน” หลายแห่ง เช่น เหมืองลิกไนต์ จังหวัดลำปาง เหมืองทองคำ จังหวัดเลยและพิจิตร ต่างก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขภาพผู้คนในชุมชนใกล้เหมือง โครงการเหมืองโพแทชที่จังหวัดอุดรธานีก็ถูกชุมชนต่อต้านอย่างหนัก

อุตสาหกรรมเหมืองมอบบทเรียนให้สังคมหลายบทแล้ว บทต่อไปจะเกิดขึ้นที่บำเหน็จณรงค์หรือไม่ •