บัญชา ธนบุญสมบัติ
buncha2509@gmail.com,
www.facebook.com/
buncha2509

เคยได้รับคำถามจากหลายคนว่า สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) เป็นนักฟิสิกส์เก่งที่สุดต่อจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จริงหรือไม่ ?  คำถามนี้ตอบยากเพราะคงต้องมีเกณฑ์วัดความเก่งที่ทุกคนยอมรับตรงกัน  แต่หากถามว่า นักฟิสิกส์เยี่ยมยอดสองคนนี้มีแง่มุมใดบ้างที่เหมือนหรือต่างกัน ก็ตอบได้ง่ายกว่าเพราะมีหลักฐานยืนยันชัดเจน

eistein hawking01

ไอน์สไตน์อายุราว ๓ ขวบ (ค.ศ. ๑๘๘๒)

eistein hawking02

ฮอว์คิงกับรถไฟจำลอง

เริ่มจากวัยเด็ก…อะไรหนอที่เป็นเหมือนแรงผลักดันให้สองคนนี้ค้นคว้าฟิสิกส์อย่างลึกซึ้ง ?

เมื่ออายุราว ๔-๕ ขวบ ช่วงที่ไอน์สไตน์นอนป่วยอยู่บนเตียง พ่อเขาซื้อเข็มทิศให้เป็นของขวัญ ไอน์สไตน์เล่าภายหลังว่า เขาตื่นเต้นมากจนตัวสั่นและเย็นเฉียบเมื่อได้เห็นพลังอันลี้ลับ การที่เข็มแม่เหล็กขยับได้ราวกับถูกควบคุมด้วยบางอย่างที่มองไม่เห็นนั้นเป็นสิ่งพิศวงซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเขาตลอดชีวิต

ไอน์สไตน์เขียนว่า “ผมยังจำได้ดี หรืออย่างน้อยก็เชื่อว่าจำได้ ว่าประสบการณ์ครั้งนั้นประทับและตราตรึงอยู่ในใจผมมาตลอด  มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เบื้องหลังสรรพสิ่งอย่างแน่นอน”

ส่วนฮอว์คิงเล่าว่า ตอนเด็กชอบรถไฟจำลอง พอถึงช่วงวัยรุ่น ชอบสร้างเครื่องบินและเรือจำลอง  ที่น่าสนใจคือเขาชอบสร้างเกมเล่นกับเพื่อน เช่น เกมเกี่ยวกับระบบการผลิต เกมสงคราม เกมศักดินา และเป็นผู้ออกแบบกฎเกณฑ์การเล่น

ฮอว์คิงเขียนว่า “เป้าหมายที่ผมมีเสมอมาคือการสร้างแบบจำลองสักอย่างที่ควบคุมได้…ผมคิดว่าเกมเหล่านี้ รวมทั้งรถ เรือ และเครื่องบินของเล่น มาจากความต้องการของตัวเองที่อยากรู้ว่าระบบต่างๆ ทำงานอย่างไร และเราจะควบคุมระบบนั้นได้อย่างไร  ตั้งแต่ผมเริ่มเรียนปริญญาเอก ความต้องการนี้ก็ได้รับการตอบสนองด้วยงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยา  ถ้าเราเข้าใจว่าเอกภพทำงานอย่างไร เราก็ควบคุมมันได้ในบางแง่มุม”

 

สองคนนี้มีผลการเรียนระดับมัธยมฯ เป็นอย่างไร ?

ไอน์สไตน์จบชั้นมัธยมฯ จากโรงเรียนในหมู่บ้านอาเรา (Aarau) สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๖ โดยคะแนนเป็นอันดับที่ ๒ ของห้อง  วิชาที่ทำคะแนนดีเยี่ยม (เกรด ๖ ดีสุดตามระบบสวิส) ได้แก่ประวัติศาสตร์ พีชคณิต เรขาคณิตระนาบ เรขาคณิต และฟิสิกส์  วิชาที่คะแนนไม่ดีนัก ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส (เกรด ๓)  สรุปคือ ความเชื่อที่ว่าไอน์สไตน์เรียนไม่เก่งเป็นมายาคติ

ส่วนฮอว์คิงเรียนที่โรงเรียนเซนต์อัลบานส์ทางตอนเหนือของลอนดอน  “ผมเป็นนักเรียนระดับปานกลางในชั้น (นักเรียนในชั้นเดียวกันฉลาดมาก)  การบ้านของผมเละมาก และลายมือก็ทำให้บรรดาครูบาอาจารย์พากันถอดใจ  ทว่าเพื่อนร่วมชั้นให้สมญานามผมว่าไอน์สไตน์ นั่นน่าจะแปลว่าพวกเขาเห็นอะไรบางอย่างในตัวผมที่ครูมองไม่เห็น” เขาบอกเล่า

eistein hawking03

ไอน์สไตน์ใน ค.ศ. ๑๘๙๖

eistein hawking04

ฮอว์คิง (คนชูผ้าเช็ดหน้า) กับเพื่อนสมาชิกชมรมเรือพายของออกซฟอร์ด

พฤติกรรมระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยของทั้งคู่มีแง่มุมน่าสนใจอย่างไรบ้าง ?

ไอน์สไตน์เข้าเรียนที่ซูริกโพลีเทคนิคใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เมื่ออายุ ๑๗ ปี  เขาไม่ค่อยถูกโฉลกนักกับอาจารย์บางคน เช่น อาจารย์ไฮน์ริช เวเบอร์ ซึ่งเคยบอกเขาว่า “คุณเป็นเด็กฉลาดมาก ฉลาดหลักแหลมที่สุด  แต่มีข้อเสียแย่มากอย่างหนึ่ง คุณไม่ยอมรับฟังอะไรจากใครเลย”  ส่วนอาจารย์ชอง เปร์เน ซึ่งให้เกรด ๑ (ต่ำสุด) แก่ไอน์สไตน์ในวิชาการทดลองทางฟิสิกส์เบื้องต้น ก็เคยขอให้ผู้อำนวยการวิทยาลัย “ออกจดหมายตักเตือนไอน์สไตน์อย่างเป็นทางการ เรื่องการขาดความขยันหมั่นเพียรในการเรียนวิชาฟิสิกส์”

ถึงกระนั้นไอน์สไตน์ก็มักจะมีวิธีของตัวเอง ดังเช่นที่อาจารย์เปร์เนเคยถามผู้ช่วยว่า “คุณรู้ไหมว่าไอน์สไตน์เป็นคนอย่างไร  ไม่ว่าผมจะสั่งให้ทำอะไร เขาจะขวางไปทำอีกอย่างทุกที”  ผู้ช่วยก็ตอบกลับว่า “ไอน์สไตน์เป็นคนอย่างนั้นจริงๆ แต่คำตอบของเขาถูกต้อง และวิธีการที่ใช้ก็น่าสนใจมากทีเดียวนะครับ”

ด้านอาจารย์แฮร์มันน์ มิงคอฟสกี ซึ่งไอน์สไตน์ชอบเรียนกับท่านมากเพราะท่านเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับฟิสิกส์ แต่ไอน์สไตน์กลับชอบเลี่ยงวิชาที่ยากกว่า จนมิงคอฟสกีตั้งฉายาให้เขาว่า “เจ้าสุนัขสันหลังยาว” เนื่องจากไม่เคยสนใจเรียนวิชาคณิตศาสตร์เลย

ไอน์สไตน์เรียนจบในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ ด้วยเกรดเฉลี่ย ๔.๙ จาก ๖.๐ เพียงพอให้ได้รับปริญญาอย่างฉิวเฉียด และนับเป็นอันดับที่ ๔ จากทั้งหมดห้าคนในชั้น (วอลเทอร์ ไอแซกสัน เขียนล้อว่า “ไอน์สไตน์เรียนจบปริญญาตรีด้วยคะแนนเกือบบ๊วยของชั้น”)

ฮอว์คิงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใน ค.ศ. ๑๙๕๙ ขณะอายุ ๑๗ ปี (เช่นเดียวกับไอน์สไตน์)  เขาเขียนเล่าไว้ว่า “ทัศนคติของออกซฟอร์ดขณะนั้นต่อต้านความขยันขันแข็งอย่างมาก  คุณควรจะฉลาดปราดเปรื่องโดยไม่ต้องขยัน หาไม่ก็ก้มหน้ายอมรับข้อจำกัดของตนและรับปริญญาอันดับที่ ๔ ไป”

ใครก็ตามที่ขยันเรียนอย่างหนักเพื่อให้ได้เกียรตินิยมอันดับดีๆ จะถูกเรียกด้วยคำดูแคลนที่สุดของชาวออกซฟอร์ดว่าเป็น “gray man” หรือ “มนุษย์สีเทา” อันเป็นการกระทบกระเทียบว่าขาดสีสัน ไร้ชีวิตชีวานั่นเอง  คำคำนี้อาจแปลแสบๆ ว่า “ไอ้หงอก” ก็คงพอได้

มีเรื่องเล่าน่าสนใจว่า ตอนจบการศึกษาฮอว์คิงได้คะแนนคาบเกี่ยวระหว่างเกียรตินิยมอันดับ ๑ กับ ๒ จึงต้องสอบสัมภาษณ์เพื่อให้คณะกรรมการตัดสิน  เขาเล่าว่า กรรมการถามเรื่องแผนการในอนาคต เขาตอบว่าต้องการทำงานวิจัยโดยที่ “หากได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ ๑ ผมจะไปต่อที่เคมบริดจ์  ถ้าได้อันดับ ๒ ผมจะอยู่ออกซฟอร์ดต่อ”

ปรากฏว่าอาจารย์ให้เกียรตินิยมอันดับ ๑ แก่เขา !

เรื่องนี้ เจน ฮอว์คิง ภรรยาคนแรก ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การที่คณะกรรมการตัดสินใจเช่นนั้นก็คล้ายการส่งสายลับแบบม้าไม้เมืองทรอยเข้าไปในถิ่นของคู่อรินั่นเอง

ในตอนหน้าจะเปรียบเทียบแง่มุมอื่น ๆ ของนักฟิสิกส์ผู้โด่งดังทั้งสองคนนี้ต่อ ทั้งเรื่องชื่อเสียงและการปิ๊งแว้บของพวกเขา

ขอแนะนำหนังสืออ้างอิงสามเล่ม ได้แก่

  • ไอน์สไตน์ ชีวประวัติและจักรวาล (ฉบับสมบูรณ์) แปลจาก Einstein : His Life and Universe ของ วอลเตอร์ ไอแซคสัน โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ และคณะ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์,
  • ประวัติย่อของตัวผม (My Brief History by Stephen Hawking) แปลโดย รศ. ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย และ นรา สุภัคโรจน์ สำนักพิมพ์มติชน,
  • สู่อนันตกาล ชีวิตฉัน และสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง (Travelling to Infinity ของ เจน ฮอว์คิง) แปลโดย โคจร สมุทรโชติ สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์

 

ที่มาภาพ