ใบพัด นบน้อม : สัมภาษณ์ / อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ : ถ่ายภาพ

eugenie01

โดยไม่ต้องใช้ล่ามแปลภาษาในระหว่างการสนทนา และไม่ใช่เพราะว่าภาษาฝรั่งเศสผมดีเยี่ยม แต่นั่นเป็นเพราะ เออเชนี เมรีโอ (Eugenie Merieau – ผมเรียกเธอสั้น ๆ ว่า “เจนนี่”) พูดภาษาไทยได้  คำว่าได้ที่ผมหมายถึง ไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการเอาตัวรอดเท่านั้น หากแต่ภาษาไทยของเธอยังอยู่ในระดับที่ใช้ทำมาหากินได้สบาย ๆ  เธอไปไกลกว่าประโยคพื้น ๆ อย่าง “ไปไหนมา” “กินข้าวรึยัง” เพราะหลายครั้งที่เราคุยถึงเรื่องยาก ๆ เธอก็เข้าใจความหมาย นัยที่ถูกซ่อน หรือกลุ่มคำที่ถูกเข้ารหัสไว้

“เจนนี่” เล่าว่าเธออยู่เมืองไทยมา ๗ ปี ระยะเวลาขนาดนี้ สิ่งที่เธอเห็นในฐานะชาวต่างชาติย่อมไปไกลกว่าวัดพระแก้ว ต้มยำกุ้ง ตุ๊กตุ๊ก หรือฟูลมูนปาร์ตี้แห่งเกาะพะงัน  เธอคิดอย่างไรกับหลายสิ่งที่เห็น เธอมองเมืองไทยในแบบที่เราอยากให้มองรึเปล่า มองคนไทยเป็นไทยสไมล์ ชอบแจกรอยยิ้ม  แต่รอยยิ้มแบบไหนล่ะ ยิ้มกว้างปากฉีก ยิ้มแบบฝืดฝืน ยิ้มพอเป็นมารยาทแบบขอไปที หรือยิ้มที่มุมปากแล้วทำเสียงหึหึ

แน่นอนว่าการมองอะไรในระยะที่ใกล้เกินไปอาจทำให้ภาพพร่ามัวสั่นเบลอ  บางทีสายตาของคนนอกที่มองเข้ามาอาจเห็นบางอย่างที่เราไม่เห็น แล้วสะท้อนสิ่งที่เขาเห็น ช่วยปรับโฟกัสให้เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้น  ผมเลือกคุยกับเจนนี่ด้วยเหตุผลนี้  น่าสนใจว่าหลายปีที่อยู่เมืองไทย เธอเห็นอะไรบ้าง

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้ใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์พูด โดยไม่ถอดเป็นภาษาไทย

eugenie02eugenie03

เจนนี่มาเมืองไทยได้ยังไง
ตอน ๑๕-๑๖ เดินทางทั่วยุโรปแล้วชอบเดินทางคนเดียว เปิดโอกาสให้เผชิญหน้ากับ magic เลย  พออายุ ๑๗ ไปเรียนรัฐศาสตร์ที่ Sciences Po ปารีส  พอปี ๓ หลักสูตรรัฐศาสตร์บังคับให้ไปอยู่ต่างประเทศ ๑ ปี เจนนี่เลือกนิวซีแลนด์ ไปเรียน Sound Engineering ซึ่งคนละเรื่องกับสิ่งที่เราเรียนอยู่คือรัฐศาสตร์ แต่ก็ไม่เป็นไร มหาวิทยาลัยที่ปารีสยอม  พอเรียนจบจากนิวซีแลนด์ เพื่อนที่นั่นก็แนะนำให้เดินทางคนเดียวไปทุกประเทศที่อยู่ระหว่างทางกลับฝรั่งเศส  ไปฟิจิ ไปศรีลังกา ประเทศไทย แล้วก็กลับยุโรป  เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเจนนี่ีน่าจะเหมาะกับประเทศไทย ลองไปอยู่เมืองไทยดู อย่างน้อยก็สัก๑ เดือน

จาก ๑ เดือนทำไมกลายเป็น ๗ ปี ติดอกติดใจอะไรที่นี่
ตอนแรกไปตามแพลนของเพื่อน คือไปฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะพะงัน อยู่ราว ๑ เดือนแล้วก็กลับ แต่รู้สึกเหมือนยังไม่ได้เห็นเมืองไทย ตอนที่กำลังจะขึ้นเครื่องบินบอกตัวเองว่าจะกลับมาอีก อยากกลับมาเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม  อีกอย่างประเทศไทยสอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนมา เพราะเราเรียนรัฐศาสตร์ มันมีเรื่องวิกฤตทางการเมือง สงครามภายใน การก่อการร้าย การขายอาวุธ ค้ามนุษย์ ยาเสพติด ประเทศไทยมีครบหมดเลย (หัวเราะ) ก็คิดว่ามาเมืองไทยไม่น่าจะตกงานนะ (หัวเราะ) คือสำหรับคนที่ทำวิทยานิพนธ์ที่นี่น่าสนใจ เพราะการเมืองเปลี่ยนไปทุก ๆ วัน ต้องติดตามความเคลื่อนไหวตลอด

ใช้เวลานานไหมกว่าจะพูด เขียน อ่าน ภาษาไทยได้ ไปเรียนภาษาไทยจากที่ไหน
เรียนที่มหาวิทยาลัย INALCO ที่ปารีสซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยดีเด่นเรื่องภาษาศาสตร์ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของโลกที่เรียกว่า Oriental คือโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก พูดง่าย ๆ แอฟริกาและเอเชีย  ในอดีตมีคนดัง ๆ ด้านไทยศึกษาเป็นอาจารย์ที่นั่น อย่างเช่น Georges Cœdès (ยอร์ช เซเดส์) คนที่สร้างทฤษฎีว่าด้วยอิทธิพลอินเดียต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Robert Lingat (โรแบร์ แลงกา) คนแรกที่สอนและเขียนตำราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายไทย  แต่ตอนนี้มีคนเรียนไทยศึกษาไม่มากนัก เจนนี่อยากจะเรียนภาษาไทยอยู่แล้ว  ปัญหาส่วนตัวในชีวิต คืออยากเรียนทุกภาษา ทุกวิชา ทุกเครื่องดนตรี ไปทุกที่ ทำทุกอย่าง (หัวเราะ)  พอเข้าไปเรียนก็สนุกมาก คนละแบบกับที่ Sciences Po ซึ่งค่อนข้างเป็น elite พอสมควร แต่ที่ INALCO มีนักศึกษาหลากหลายมาก เช่น นักวิจัยโบราณคดีด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกครึ่งลาว-ฝรั่งเศส กัมพูชา-ฝรั่งเศส ไทย-ฝรั่งเศส มาเรียนภาษาเพราะอยากจะคุยกับแม่หรือเอาไว้ใช้สอนลูก มีแม่ที่อยากจะสื่อสารกับลูกสะใภ้ที่เป็นคนไทย มีคนที่มีภรรยาเป็นไทย แล้วก็มีคนที่เข้ามาเรียนโดยไม่ได้คิดอะไรมาก อยากลองเรียนดู แล้วก็มีเจนนี่ที่สนใจการเมืองไทยอยู่คนเดียว

ที่นั่นสอนภาษาไทยยังไง
เรียนภาษาไทยด้วยวิธีแบบคนฝรั่งเศส คือ เรียนภาษาสุภาพ ภาษาทางการ เน้นการเขียน  ตอนนั้นจำได้ว่า สงสัยว่าทำไมต้องเรียนคำว่า “ศิลาจารึก” จะมีโอกาสได้ใช้คำนี้ในบทสนทนาบ้างไหม สุดท้ายต้องยอมรับว่าในชีวิตประจำวันใช้คำนี้บ่อยจริง ๆ (หัวเราะ)  หลังจากเรียน ๑ ปีก็มาที่เมืองไทย แล้วรู้แค่ภาษาเขียนและภาษาสุภาพ คนไทยได้ฟังก็หัวเราะกันใหญ่ แต่ไม่มีใครบอกว่าเจนนี่พูดตลก เจนนี่ก็งง พอวันหลังเพื่อนร่วมงานบอกว่า เจนนี่ ไม่ต้อง “ดิฉันรับประทานแล้วค่ะ” ให้พูด “กินข้าวแล้ว” ก็พอ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเจนนี่ struggle มากกับการใช้สรรพนามแทนตัวเอง ตามที่เรียนมาว่าผู้ชายใช้ “ผม” ผู้หญิงใช้ “ดิฉัน” แต่สุดท้ายคำว่า “ดิฉัน” กลายเป็นคำที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน คนฟังแล้วแปลก ๆ  แต่ผู้ชายใช้ “ผม” ได้ตลอดเวลา ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงเลย (หัวเราะ) แล้วใครเรียกเจนนี่ว่า “หนู” เราจะรู้สึกถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาก  ใครเรียก “คุณ” ก็รู้สึกตลกมาก มันไม่ค่อยสนิท ใครเรียก “อาจารย์” ก็รู้สึกไม่ยุติธรรมต่อเขา ก็เลยต้องให้คนอื่นเรียกชื่อ “เจนนี่” แล้วเจนนี่ก็เรียกตนเองว่า “เจนนี่” ซึ่งตลกมาก  สำหรับผู้หญิงไทย การเลือกใช้สรรพนามแทนตัวเองนั้นยากกว่าผู้ชาย  นี่เป็นอุปสรรคในการสนทนา ในการเลือกใช้คำ  ยิ่งเจนนี่มาทำงานราชการที่สถาบันพระปกเกล้า ๔ ปี ถ้าอยากเอาตัวรอดก็ต้องเขียนบันทึกข้อความทั้งวัน แล้วเข้าประชุม จำเป็นต้องเก่งภาษา การเรียนภาษาเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จำเป็นต้องฟัง พูด อ่าน เขียน ทุกวัน

ตอนนี้เจนนี่ทำอะไรอยู่
ตอนนี้เป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ สอนรัฐศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ หลักสูตรอินเตอร์เนชันแนลภาษาอังกฤษ  สอนทั้งปริญญาตรีปริญญาโท สอนวิชาเกี่ยวกับกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เจนนี่เรียนด้านรัฐศาสตร์ กฎหมาย แล้วก็ภาษาศาสตร์ด้วยที่ปารีส เรียนทั้งสามมหาวิทยาลัย มี Sciences Po, Sorbonne, INALCO มีปริญญาทางกฎหมาย ภาษาศาสตร์ และอีกตัวหนึ่งคือรัฐศาสตร์ เรียนปริญญาเอก อาจเป็นดอกเตอร์เร็ว ๆ นี้  รอมา ๕ ปีแล้ว  เจนนี่ลาออกจากงานที่สถาบันพระปกเกล้าเพื่อมาทำปริญญาเอก แล้วก็ไปทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ก่อนที่จะไปเป็นอาจารย์ที่ฝรั่งเศสประมาณ ๖-๗ เดือน  ตอนนี้ตัดสินใจมาอยู่เมืองไทย น่าจะยาวเลย  ส่วนปริญญาเอกก็จะจบแล้ว หัวข้อตอนแรกเกี่ยวกับเรื่องตุลาการภิวัฒน์ แต่ตอนนี้ก็มาศึกษาให้ใหญ่ขึ้น ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย ศาสนา ภาษา และกษัตริย์

นอกจากการเป็นอาจารย์แล้วเห็นว่าไปปรากฏตัวในบางรายการของวอยซ์ทีวีด้วย
เป็นเกสต์ประจำให้รายการ “Divas Café” แล้วก็ “Talking Thailand” ซึ่งเป็นรายการสองภาษาที่กำลังมาแรง

สนุกไหมกับบทบาทการเป็นผู้ดำเนินรายการทีวี
สนุกค่ะ ส่วนใหญ่จะพูดถึง หนึ่ง มุมมองยุโรปต่อประเด็นร้อนในสังคมไทย อย่างเช่น ข้อเสนอการตั้งสัดส่วนผู้หญิงในสภา หรือข้อเสนอการเก็บภาษีบ้านและมรดก เป็นต้น  สอง วิเคราะห์เหตุการณ์การเมืองในยุโรป อย่างกรณี Charlie Hebdo  สาม พูดถึงสิทธิมนุษยชน เช่น สภาพปัญหาของ Rohingya หรือสิทธิมนุษยชนใหม่ ๆ ที่คนไทยคงยังไม่รู้จัก อย่างเช่น สิทธิการเลือกตั้งสำหรับคนต่างชาติที่อยู่อาศัยในสังคมใดสังคมหนึ่ง หรือสิทธิเรียนหนังสือฟรีถึงปริญญาโท เป็นต้น  สี่ พูดถึง gender studies ในแง่เฟมินิสต์จริง ๆ อยากจะเล่นเนื้อหาให้ได้มากกว่านี้

ได้มากกว่านี้คือ
ถ้าเทียบกับฝรั่งเศส ที่นี่มีหลายเรื่องเราไม่สามารถพูดถึงได้ มีหลายครั้งที่รายการไม่ได้ออนแอร์ เพราะมันอาจจะพูดถึงไวน์ เหล้า หรือพูดวิจารณ์ศาสนามากเกินไป  หลาย ๆ เรื่องค่อนข้าง sensitive  บางเรื่องที่จะพูดใหญ่โตเกินไป แต่มีเวลาให้แค่ ๑๐ นาที แล้วในรายการก็ต้องพูดเป็นภาษาไทย ซึ่งเราอาจจะพูดช้าไปหน่อย  แต่น่าสนใจสำหรับคนไทยเพราะนี่เป็นมุมมองของคนต่างชาติที่ถ่ายทอดอย่างง่าย ๆ  นอกจากนี้แล้วเจนนี่ยังเขียนบทความในนิตยสารฝรั่งเศสชื่อ Gavroche ซึ่งขายในประเทศฝรั่งเศสและประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส มีประเทศในเอเชียด้วย  ช่วยสมาคมภาษาฝรั่งเศสเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับการเมืองไทย มีสัมภาษณ์ด้วย คนแรกก็อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลเลย (หัวเราะ)  คุณรสนา โตสิตระกูล  Andrew Macgregor Marshall ที่สิงคโปร์ ครั้งที่แล้วก็ วิจักขณ์ พานิช ครั้งก่อน SpokeDark TV คุยกับจอห์น-วิญญู เพื่อให้คนฝรั่งเศสได้รู้จัก

eugenie04อยู่เมืองไทยมานาน ๗ ปี เจนนี่มองเห็นอะไรที่ฝรั่งคนอื่นมองไม่เห็นบ้าง
คิดว่าแม้แต่นักท่องเที่ยวก็มองเห็นด้วยเหมือนกันว่า ประเทศนี้ไม่เน้นเรื่องการสนทนา ไม่เน้นเรื่องความจริง ไม่เน้นเรื่องการอภิปราย เป็นสังคมของการรักษาหน้า อันนี้ทุกคนน่าจะเห็นตั้งแต่มาประเทศไทยครั้งแรก ซึ่งสิ่งนี้นักวิชาการอาจศึกษาอยู่เหมือนกัน คือความจริงที่อยู่เบื้องหลังภาพที่เราเห็น  แต่นักท่องเที่ยวทุกคนก็รู้ว่ามันเป็นแค่ภาพ เบื้องหลังเป็นอีกเรื่อง

จริง ๆ แล้วสังคมไทยเป็นยังไงกันแน่ เจนนี่อยู่ข้างนอกแล้วมีโอกาสได้มาข้างใน เห็นอะไรที่คนไทยไม่เห็น
สังคมไทยเป็นสังคมที่มี contradiction เหมือนมีหลายอย่างที่ขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งสังคมอื่นก็เป็น ฝรั่งเศสก็เป็น อเมริกาก็เป็น แต่สังคมไทยนั้นแปลกและน่าสนใจว่า contradiction จะยังอยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีการสนทนากันถึงความขัดแย้งนั้น เช่นเน้นเรื่องศาสนาพุทธ แต่ในขณะเดียวกันก็บ้าทุนนิยม  หรือว่าไม่ชอบความขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งสูงมาก  หรือเรื่องศีลธรรมคุณธรรม แต่ประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ โสเภณี มันมี hypocrisy สูงมาก  ประเทศไทยไม่มีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เสร็จแล้วมันก็เหมือนอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็รักษา contradiction ไว้

คิดว่ามันจะเป็นเหมือนลูกโป่งไหม วันหนึ่งลูกโป่งอาจจะระเบิดขึ้นมา
หลายคนอาจจะรู้สึกอย่างนั้นและรอมานาน แต่มันก็ไม่เห็นระเบิด มันก็ไปเรื่อย ๆ ของมันได้ เพราะว่าคนที่มีผลประโยชน์ในการรักษาสภาพแบบนี้ฉลาด อันนี้เกี่ยวข้องกับศาสนา เกี่ยวข้องกับภาษา เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของเมืองไทย สิ่งที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียก “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยถูกฉีก  ประเด็นหลักคือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นสังคมแห่งความจริง  มีหลายอย่างที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมแห่งความจริงไม่ได้  ความจริงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการสนทนา มีการพูดคุย มีการอภิปราย ถ้ามีไอเดียหลายไอเดียที่ขัดแย้งกัน สุดท้ายไอเดียที่ชนะน่าจะเป็นไอเดียที่จริงกว่าไอเดียอื่น  แต่สังคมนี้ไม่มีการ debate ไม่มีการปะทะของความคิด  ดังนั้นจึงมีความคิดเดียวที่ยังคงอยู่ไปเรื่อย ๆ และความจริงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น มันเป็นปัญหาในเชิงการเมืองด้วย

ตอนนี้มองว่าวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นเกี่ยวกับว่าใครมีสิทธิ์สร้างความจริง และความจริงที่ออกมาจะมีหน้าตาอย่างไร  เราขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การอภิปราย  การขาดเสรีภาพเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความจริงเกิดขึ้นไม่ได้  สิ่งที่ขัดแย้งกับความจริงของรัฐ จะไม่มีสิทธิ์ปรากฏขึ้นได้บนเวทีสาธารณะ แล้วประชาธิปไตยเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการอภิปรายอย่างเสรี เพราะสังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เน้นการอภิปรายเป็นหลัก  การรักษาความจริงของรัฐ มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส Michel Foucault (มีแชล ฟูโก) เคยอธิบายว่า วิธี control วาทกรรมในสังคมใดสังคมหนึ่งเพื่อรักษาความจริงเดิม มีสามวิธี  วิธีแรกคือ การห้ามคนในสังคมแสดงความคิดที่เป็นภัยต่อวาทกรรมเดิมหรือความจริงที่อยากจะรักษาไว้  ในเมืองไทยมีกฎหมาย ๑๑๒ ที่มีอำนาจมากกว่า social norm กฎแห่งสังคม ซึ่งประกอบด้วย social sanction การลงโทษทางสังคม มีความกดดันจากผู้อื่นถ้าแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับสังคมคนส่วนใหญ่  วิธีที่ ๒ คือ การ discredit ความคิดที่ไม่ตรงกับความจริงที่อยากจะรักษาไว้นั้น โดยการบอกว่าความคิดนี้ไม่จริง และสร้างความคิดโต้กลับที่ดูจริงกว่าด้วยหลายวิธี เช่น ในการต่อสู้เรื่องความจริงด้านประวัติศาสตร์ ถ้าเมื่อไรมีนักประวัติศาสตร์ที่ออกงานวิจัยที่เป็นภัยต่อความจริงของรัฐก็จะสู้กลับ จ้างนักประวัติศาสตร์มาช่วยสู้กับความคิดนั้น และสร้าง school โต้กลับ แล้วให้งบประมาณสนับสนุน school นั้นอย่างเป็นทางการ พิมพ์ตำรา และประกาศความคิดของรัฐทั่ว ๆ ไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสร็จแล้วนักประวัติศาสตร์คนที่สู้กับความจริงของรัฐจะสู้กลับไม่ไหว งบประมาณและทรัพยากรไม่พอ  งานวิจัยเขาก็จะค่อย ๆ ตายไป  ส่วนวิธีที่ ๓ คือการ discredit คนที่สร้างความจริงใหม่ที่เป็นภัยต่อความจริงที่อยากจะรักษาไว้  ถ้าเป็นตัวอย่างที่ใช้เมื่อกี้นี้ นักประวัติศาสตร์คนนั้นจะต้องถูก discredit โดยตรงเลยว่า เขาไม่มีสิทธิ์พูด เขาเป็นคนไม่ดี เขาไม่มีความเป็นไทย เป็นคนบ้า ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำร้ายชาติ ทำลายความสามัคคี  ดังนั้นสิ่งที่เขาพูดหรือเขียนมานั้น ไม่ต้องไปฟัง ไม่ต้องไปอ่านเพราะว่ามาจากคนที่ไร้ค่าไม่น่าเชื่อถือและปราศจากความหวังดีต่อบ้านเมือง  คราวนี้รัฐไทยก็จะเอาสามกลไกนี้มาใช้ตลอด เพื่อรักษาความจริงทางประวัติศาสตร์ ว่าประเทศไทยดีงามมาตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน  มันน่าสนใจตรงที่ว่าประเทศไทยอยู่กับสิ่งที่ไม่จริงมาตลอดเวลา ประวัติศาสตร์ หรือสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย ซึ่งประกอบด้วยชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ถูกรักษาไว้ตลอดเวลา  แต่ตอนนี้มีนักประวัติศาสตร์ ประชาชนทั่วไปเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ว่ามันจริงไหม เรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริง ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรก ก็จะเห็นชัดเจนว่ามีภาพที่นิ่ง ๆ มีความเป็นไทย มีศีลธรรม ซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหลัง ทุกคนก็จะเห็นว่านี่เป็นอะไรที่น่าจับตามอง

eugenie05จับตามองแล้วเห็นอะไรบ้าง
เราก็จะเห็นว่า ลึก ๆ มันมีความขัดแย้งอยู่ภายใต้ความนิ่งสงบนั้น ซึ่งความขัดแย้งก็มีสามระดับ  หนึ่ง ความขัดแย้งภายในของชนชั้นนำ ซึ่งอันนี้อยู่ในหมู่คนจำนวนน้อย  สอง วิกฤตเกี่ยวกับความขัดแย้งของประชาชน ชนชั้นนำกับชนชั้นล่าง อันนี้เป็นความขัดแย้งที่ปรกติมากสำหรับรัฐศาสตร์ในประเทศที่กำลังพัฒนา  สาม ยังมีความขัดแย้งอันสุดท้ายซึ่งน่าสนใจที่สุด คือความขัดแย้งเกี่ยวกับความจริงที่ได้พูดมาเมื่อสักครู่  สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ คือคนที่ยึดอำนาจมา อยากรักษา status quo เอาไว้ โดยการจัดการทั้งสามความขัดแย้งพร้อมกัน จะสำเร็จหรือไม่เดี๋ยวก็รู้กัน

เจนนี่เลือกมาเมืองไทยเพราะคิดว่าที่นี่น่าอยู่ แลดูมีความหวังมากกว่าที่ยุโรป แล้วตอนนี้ที่ยุโรปเป็นอย่างไรบ้าง
ที่นู่นบรรยากาศไม่มีความกระตือรือร้นเท่าไร มองอนาคตแล้วเศร้า อย่างน้อยมาที่นี่ยังมีความหวังว่าคงจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ  ที่นู่นเมื่อก่อนดีมาก เช่น เมื่อก่อนเป็นอาจารย์ ดีสุดยอดมาก ๆ รายได้โอเค สอนหนังสือน้อย ทำวิจัยเยอะ แล้วพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ  แต่ตอนนี้ที่ยุโรปมีวิกฤต เขาจะมองว่าอาจารย์เป็นอาชีพที่ไม่ได้ผลิตอะไรที่เป็นการเร่งอัตราการเติบโตของประเทศ ผลิตแค่ความรู้  อาจารย์ก็จะโดนบิดไปทำอย่างอื่น เช่น ต้องสร้างหลักสูตรใหม่ ไปบริหารจัดการอะไรทั้งหลาย แล้วเรื่องการสอนการทำวิจัยก็จะไม่ทำกันแล้ว เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้อาจารย์ต้องไปทำเรื่องที่สร้างรายได้ให้มหาวิทยาลัย มันน่าเศร้า แต่สิ่งแบบนี้มันก็มาเมืองไทยด้วย แต่ก็ยังพอรับได้  แต่ในยุโรปสิ่งนี้จะชนะไปเรื่อย ๆ ในฝรั่งเศส ออสเตรีย ไอร์แลนด์ เยอรมนีนิดหน่อย อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง  ส่วนที่ ๒ คือมีซ้ายจัดด้วย  ซ้ายจัดในสเปน กรีซ โปรตุเกส  อีกไม่นานนี้ยุโรปทั้งหมดอาจแบ่งแยกเป็นสองส่วน คือส่วนที่อนุรักษนิยม ต่อต้านคนต่างชาติมาก  อีกส่วนหนึ่งก็ก้าวหน้าไปทางซ้ายมาก ๆ ไม่เอาทุนนิยมแล้ว  อยากจะเปลี่ยนระบบหมดเลย อันนี้ถ้าเกิดขึ้นในยุโรปก็เป็นสิ่งน่าสนใจ อยากเห็นจริง ๆ

ขณะที่ยุโรปเริ่มหมดความหวัง เอเชียก็เริ่มมีความหวัง คนที่เกิดมาใหม่มีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ ยังมีคนเชื่อว่าอนาคตจะสวยงามกว่าอดีต  แต่ยุโรปเชื่อว่าอนาคตจะแย่กว่าอดีต จากมืดมนไปมืดมิด  ไม่รู้ว่าขนาดไหน แต่น่าจะหนัก  ยุโรปสร้างสวัสดิการ สร้างความเสมอภาค ยอมรับทุกฝ่ายทุกส่วน แต่ตอนนี้ด้วยความที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ อุดมการณ์นั้นก็ถูกทำร้ายจนไม่ยอมรับคนที่เห็นต่าง ไม่ยอมรับคนต่างชาติ ไม่ยอมรับเรื่องสวัสดิการแล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรป มองแล้วก็ไม่สวย มอตโต้ของฝรั่งเศสที่ว่า เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ถูกทำร้ายทุกวัน ชัดเจนมาก แถมมีความตื่นกลัวจากการก่อการร้ายในเหตุการณ์ Charlie Hebdo เมื่อวันที่ ๗ มกราคมที่ผ่านมาด้วย

ที่เมืองไทย อะไรบ้างที่เห็นแล้วมีความหวัง
นักศึกษา ตอนนี้ค่อนข้างมีความหวังมาก เพราะว่ามี critical thinking อยากรู้อยากเห็นและรู้จักโลกพอสมควร ซึ่งต่างจากคนรุ่นเก่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนรุ่นนี้สร้างสังคมแห่งการถกเถียง สังคมแห่งการแสวงหาความรู้และความจริง

ซึ่งคนรุ่นก่อน…
อันนั้นมันเสียไปแล้ว ต้องรอให้เขาตายกันหมดก่อน (หัวเราะ)

พูดถึงคนรุ่นใหม่ สนใจใครบ้าง
น่าสนใจหลายคนมาก คุณภาพของนักข่าวรุ่นใหม่ ๆ ก็ดีขึ้น มีคนทำข่าวอย่างแท้จริง บางกอกโพสต์ ประชาไท จอห์น-วิญญู SpokeDark TV นี่ชอบมาก  ตอนแรกที่มาเมืองไทยยังสงสัยว่าทำไมไม่มีรายการล้อเลียนการเมือง มันเป็นวิธีการต่อต้านเผด็จการที่น่าสนใจ แล้วตรงกับยุคสมัยด้วย นี่เป็น inspiration อย่างหนึ่ง  และทุกคนก็มีส่วนร่วมในเวทีสาธารณะ ในการสร้างความรู้  นักวิชาการอย่างนิติราษฎร์ หรืออาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เป็นความหวัง เสร็จแล้วทุกคนที่ประท้วงหลังจากที่มีรัฐประหารครั้งนี้ก็ inspire เหมือนกัน  พอประท้วงแล้วไม่มีผู้นำ เป็น individual เป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ไม่ได้มาทำ flash mob

พูดถึงตะวันตก เรามักเข้าใจกันว่า สังคมตะวันตกอยู่ใครอยู่มัน แล้งน้ำใจ เห็นแก่ตัว
แล้วทุกคนมักบอกว่าคนไทยมีความเป็นชุมชน มี community sense สูงมาก ตรงกันข้ามกับยุโรปและตะวันตกที่มีความเป็นปัจเจกนิยมสูง ซึ่งอันนี้คงไม่ใช่ เพราะตอนนี้เมืองไทยก็มีปัจเจกนิยมสูงมากเหมือนกัน แต่อยากบอกกับคนที่มองว่าปัจเจกบุคคลแบบตะวันตกไม่ดี ต้องรักษาความเป็นไทยสิ  อยากจะบอกเขาว่าในยุโรปที่เหมือนปัจเจกนิยม เขาช่วยเหลือกันมากกว่าคนเอเชียอีก  เรามีรัฐสวัสดิการที่ทุกคนเสียภาษีช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือผู้สูงอายุ ช่วยเหลือคนว่างงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ในประเทศไทยนี้ เมื่อใครคนใดคนหนึ่งพยายามสร้างสวัสดิการ อย่างเช่น ๓๐ บาทรักษาทุกโรคก็เกิดการประท้วงโดยคนที่มีรายได้สูง เอาภาษีจากคนรวยมาช่วยคนจนก็ไม่เอา  เรื่องที่ว่าเอเชีย community สวยงาม มีศีลธรรม ยุโรปเห็นแก่ตัว บางทีเราต้องทบทวน หันกลับมามองดูดี ๆ บ้าง

มาจากเมืองที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมงดงาม มีระเบียบเรียบร้อย แต่พอมาเมืองไทย เจอสายไฟห้อยระโยงระยาง รู้สึกยังไง
ที่นี่เหมือนไม่มีใครสนใจเรื่องมลพิษทางสายตาเลย เมืองมีป้ายโฆษณาใหญ่ สายไฟแขวนเกะกะ ไม่สวย คุกคามทางสายตาตลอดเวลา  เราถูกบังคับให้เห็นป้าย เห็นสายไฟเหล่านี้  ที่ฝรั่งเศสมีกฎหมายเกี่ยวกับโฆษณา ทั้งขนาดป้าย สถานที่ที่จะติดตั้งป้าย และจำนวนป้าย  มีเมืองหนึ่งที่ห้ามมีโฆษณาในที่สาธารณะ คือเมือง Grenoble เขาเอาออกหมดเลย ใส่ต้นไม้และป้ายสำหรับเขียนข้อความแทน  กรุงเทพฯ ป้ายเยอะไป เป็นความปวดร้าวทางสายตา (หัวเราะ)

สังคมไทยต้องปรับปรุงเรื่องไหนอีก อะไรที่สังคมไทย
ยังขาด  รัฐสวัสดิการ เจนนี่เชื่อว่าหลายอย่างในประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นเรื่องน่าเศร้า อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ถ้าประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการ คือ หลักประกันการรักษาสุขภาพในทุกโรคสำหรับทุกคน เงินเกษียณอายุที่พอสำหรับทุกคน เงินช่วยคนจนที่เป็นสิทธิ ไม่ใช่การกุศล  ถ้ามีรัฐสวัสดิการ ความเหลื่อมล้ำจะลดลง  และปัญหาคอร์รัปชันจะค่อย ๆ หายไปตามประสบการณ์ในยุโรป แต่คนรวยต้องยอมเสียภาษีมาก เพื่อกระจายรายได้ เพื่อให้รัฐมีงบประมาณไปใช้ช่วยเหลือคนจน  ในเรื่องสวัสดิการ ไม่มีที่ไหนในโลกเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้ต่อสู้

แล้วความเป็นไทยที่พยายามแสดงออกกัน อย่างกระแสแต่งชุดไทยไปเดินห้าง เจนนี่คิดยังไง
ชนชั้นนำในไทยมีความฝันว่าคนชนชั้นล่างในชนบทจะต้องรักษาความเป็นไทยที่มีมายาวนาน  ต้องทำงาน ไถนา กตัญญูรู้คุณ เคารพผู้ใหญ่ ยอมใช้ชีวิตแบบลำบาก แถมด้วยการยิ้มแย้ม เหมือนว่าชนชั้นนำมีความฝันที่ออกมาจาก propaganda แห่งรัฐ  ชนชั้นนำยังอยู่ในกรอบแบบนี้ ซึ่งมันล้าสมัย  สังคมไทยข้ามความเป็นไทยแบบนี้มานานแล้ว แต่ชนชั้นนำยังอยู่ในความคิดกตัญญู แล้วเขารู้สึกดีด้วย ใจดีอยากช่วยเหลือคน อันนี้เป็นคนที่อยากรักษาระบอบเก่าเอาไว้  เขาไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นระบบที่ไม่เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยที่มองว่าทุกคนเสมอกัน ไม่ใช่ทำให้พลเมืองคอยรับสิ่งของจากข้างบนลงมาข้างล่าง

เรารับอะไรหลายอย่างมาจากตะวันตกแล้วก็ชอบมาก ๆ ด้วย แต่ทำไมประชาธิปไตยเราถึงไปไม่ถึงไหน
ทฤษฎีรัฐศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตยก็คือ ถ้าเมื่อไหร่สังคมพัฒนาเศรษฐกิจได้แล้ว คนก็จะย้ายจากชนบทไปอยู่เมือง มีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น คนที่ย้ายมาอยู่เมืองก็จะเป็นชนชั้นกลาง เมื่อสังคมมีชนชั้นกลางมากขึ้น ชนชั้นกลางก็จะเรียกร้องประชาธิปไตย อันนี้เป็นทฤษฎีซึ่งใช้ได้กับประเทศส่วนใหญ่ แต่ใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เพราะเห็นชัดเจนว่าคนชนชั้นกลางเขาเอาประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบ ประชาธิปไตยแบบไทย ประชาธิปไตยนิดหน่อย แล้วพอประชาธิปไตยจะพัฒนาขึ้น เขาเป็นคนแรกที่ออกมาประท้วง อันนี้อธิบายได้ด้วย “อุบัติเหตุแห่งประวัติศาสตร์ ทักษิณ”  การเลือกตั้งเป็นที่มาของทักษิณ พอเขาไม่ชอบทักษิณก็เลยไม่เอาประชาธิปไตย จะได้ไม่มีทักษิณอีก มันเป็นอุบัติเหตุของประวัติศาสตร์  ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรที่ไม่ดีแล้วต้องทิ้งระบบ  ประเด็นคือประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ไม่ใช่เพราะว่ามีประชาธิปไตยเกินไป แต่เพราะมีประชาธิปไตยน้อยไปต่างหาก  ดังนั้นวิธีแก้ไขก็คือให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่เอาประชาธิปไตยน้อยลง

eugenie06ชนชั้นกลางมีโอกาสไปเรียนไปทำงานที่เมืองนอก อย่างอเมริกาหรือฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย แต่ทำไมบางคนมองว่าเมืองไทยยังไม่พร้อมที่จะมีสิ่งนี้
อยากแนะนำให้ไปดูสารคดีคิมจองอิล คนเกาหลีเหนือไปเรียนเมืองนอกกลับมาก็ยังรักคิมจองอิล  เวลาไปเมืองนอกเขาก็ต้องรู้ว่าเกาหลีเหนือมีปัญหา คนเขาด่ากันทั่วโลก แต่กลับมาก็ยังรักระบอบเดิม  มันอธิบายยาก แต่ก็พออธิบายได้ หนึ่งคือเรื่องผลประโยชน์ใช่ไหม ส่วนใหญ่คนที่ไปเรียนเมืองนอกกลับมาก็จะได้รับผลประโยชน์จากระบบเก่า ดังนั้นเขาจะไม่ด่า เพราะได้ผลประโยชน์ แต่ว่าอาจจะไม่พอที่จะอธิบายเรื่องอุดมการณ์ ซึ่งเรื่องอุดมการณ์นี้ ครอบครัวและกระบวนการ socialization ตั้งแต่เด็กมีอิทธิพลมาก แล้วเปลี่ยนยากมากด้วย แม้ว่าไปเจออะไรในชีวิตก็ตาม

ทุกวันนี้ยังมีคนพูดว่าที่ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเราสูญเสียน้อยกว่ายุโรป ยุโรปตายกันเยอะมาก ในขณะที่เมืองไทยผ่านมาแค่ไม่กี่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ๖ ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ๓๕ และเหตุการณ์นองเลือดปี ๕๓  เรายังต้องเจอต้องผ่านกับอะไรอีก
กลับมาที่เรื่องความจริง ถ้าเมื่อไหร่ที่ความรู้เอาชนะได้ มันก็ไม่จำเป็นต้องมีการนองเลือด อย่างเช่น ศาสนาพุทธทำให้การยึดอำนาจมันชอบธรรม อันนี้คือปัญหาหลัก  หลายอย่างถูกอธิบายถูกรับรองความชอบธรรมด้วยศาสนา เช่น ถ้ามีการ
ยึดอำนาจเมื่อไหร่แล้วเขาทำสำเร็จมันก็ชอบธรรม คือมองย้อนหลังว่าเขายึดอำนาจสำเร็จเพราะเขามีบุญบารมีมากพอที่จะทำให้สำเร็จ ทุกอย่างอธิบายได้อย่างนี้  มองย้อนหลังแล้วบอกว่าถ้ามันเป็นก็เพราะมันต้องเป็น  ถ้าทหารยึดอำนาจไม่ได้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น  ตอนนี้หลายคนที่มีตำแหน่งสูงอธิบายว่าเป็นเพราะประชาธิปไตยมาจากตะวันตก  ประเทศเราไม่ต้องการมีอะไรที่ฝรั่ง มันใช้ไม่ได้ในบ้านเรา เหมือนกฎหมายถ้าไปอยู่ในประเทศใดต้องเหมาะสมกับวัฒนธรรมด้วย  อธิบายว่าประเทศเรามีกษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดมายาวนาน รัฐธรรมนูญกระดาษก็เลยฉีกได้  พอมีคนตั้งคำถามกับระบบ ยึดอำนาจเสร็จปุ๊บก็ฉีกรัฐธรรมนูญ ก็กินเวลาไปเรื่อย ๆ แล้วปัญหาไม่ได้แก้ไข

เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครในโลก
ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยเน้นเรื่องการคุยกันเป็นหลัก  พื้นฐานของประชาธิปไตยต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการคุยกัน  ทุกคนต้องมีเสรีภาพในการเข้าถึงความรู้ สามารถแสดงออกได้ เสร็จแล้วจะมีประชาธิปไตยแบบไหนก็ทำได้  แต่พื้นฐานต้องออกมาจากการคุยกันอย่างเสรี มาจากการออกสิทธิ์ออกเสียงของทุกคนในสังคม ซึ่งในประเทศไทยมันปิดไปหมด ไม่มีอะไรที่จะออกมาได้

เราไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยได้ไหม เป็นเหมือนจีนโมเดลหรือสิงคโปร์โมเดล
คนมักจะพูดว่าอเมริกันเน้นความสุขเป็นหลัก แต่ถ้าไปดูประเทศที่มีความสุขที่สุดจะเป็นประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบมากที่สุด  ส่วนสิงคโปร์เป็นประเทศที่เล็กมาก ๆ เป็นลักษณะ
ของเขาโดยเฉพาะ แต่ถ้าพูดถึงประเทศใหญ่ ๆ อย่างจีน คนจีนไม่ค่อยมีความสุข คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าไร ดังนั้นจะเป็นโมเดลได้อย่างไร  คือถ้าเน้นความสุขสูงสุด ประชาธิปไตยเหมาะที่สุด

เราจะหลุดจากวงจรของการเมืองไทยได้อย่างไร การเมืองที่ยังวนอยู่กับเลือกตั้ง ยุบสภา วิกฤต รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ
คือตั้งแต่แรก รัฐธรรมนูญที่เอามาจากตะวันตกถูกใช้อย่างบิดเบือน คืออำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน อันนี้ก็เป็นที่มาของปัญหารัฐธรรมนูญถูกฉีก ต้องสร้างประวัติศาสตร์ของกฎหมาย ของการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าที่มาของรัฐธรรมนูญควรจะเป็นประชาชน  ดังนั้นอำนาจการประกาศและฉีกรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนเท่านั้น ต้องมีประชามติเสมอ  ประชามติรับรัฐธรรมนูญใหม่ทุกฉบับ และประชามติฉีกรัฐธรรมนูญไปด้วย  เมื่อแก้ปัญหาในเรื่องความรู้ไปแล้ว ได้คุยกัน มันก็จะดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง  แต่ทุกวันนี้ความรู้ของสังคมไทยปิดหมด เป็นคำโกหกหมด แล้วเราจะสร้างอะไรบนพื้นฐานของคำโกหกได้

ท่ามกลางความแตกร้าวเราจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ไหม ที่ยุโรปเขาจัดการเรื่องนี้กันยังไง
ก็นี่ไง ประชาธิปไตยมีค่าก็ตรงนี้ ความขัดแย้งมีค่า มันต้องมีความขัดแย้ง มันทำให้เดินหน้าต่อไปได้ สมมุติอาจารย์คนหนึ่งพูดอะไรที่มันผิด แล้วไม่มีใครแย้ง ไม่มีใครสู้กับความคิดของอาจารย์ มันก็จะถูกสืบทอดไปตลอด  แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตย คนเห็นว่ามันไม่จริงก็จะโต้แย้ง เสร็จแล้วเขาอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ หรือไม่เปลี่ยน ก็เอาทฤษฎีมาสู้กัน คือต้องแลกเปลี่ยนกันได้  ประชาธิปไตยเป็นช่องทางเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นการเดินไปได้ร่วมกัน มันไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหายไป แต่ทำให้เห็นทางไปได้ร่วมกัน  นี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยขาดมาก ๆ  เมืองไทยการ debate ใช้อารมณ์เป็นหลัก ไม่ใช้เหตุผล  ส่วนวัฒนธรรมของคนฝรั่งเศส คนเยอรมัน คนอเมริกัน เป็นเรื่องปรกติ  เป็นสิ่งที่ดีถ้าใครพูดอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ไปแก้ไขโดยใช้เหตุผลสู้  ประเทศไทยเป็นแบบใครพูดผิดอะไรก็เงียบ แต่กลับเอาไปนินทาทีหลัง มันเดินหน้าไม่ได้  แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ คือเรื่องปรัชญา พอมีคำถามที่ลึกซึ้งก็จะเปิดดูคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคนรู้ปรัชญาแบบตะวันตกน้อยมาก นักปราชญ์ในสังคมไทยก็มีน้อยด้วยเพราะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นเท่าไหร่  แต่ในสังคมยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน ฝรั่งเศส นักปราชญ์มีส่วนร่วมกับสาธารณะและตั้งคำถามกับเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา คือเมืองไทยมีการสนทนากัน แต่ขาดการสนทนาในเชิงลึก

เวลาเจนนี่อยู่กับเพื่อน ๆ ฝรั่งพูดถึงคนไทยยังไงบ้าง มีอะไรที่มันตลกสำหรับเขา
ไม่ค่อยนะ ที่ตลกสุดก็คงเป็นเรื่องการเมืองนี่แหละ

เปลี่ยนเรื่องบ้าง อยากรู้ว่าเวลาเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ อยากผ่อนคลายเจนนี่จะไปเที่ยวที่ไหน ทำอะไร
ก็ไปร้องเพลง เป็นภาษาฝรั่งเศส ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรม บางทีก็แปลงเนื้อเพลงเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนไทยฟัง อย่างเพลง “La Vie en rose” โดย Édith Piaf เคยแปลและเล่นกีตาร์ร้องเพลงในรายการ “Talking Thailand” หรือเพลง “Je t’aime… moi non plus” โดย Serge Gainsbourg ที่เขาแต่งให้นักแสดงสุดเซ็กซี่ Brigitte Bardot  เคยแปลบางส่วนแล้วไปร้องกับเพื่อนนักดนตรีที่บาร์ Maggie Choo’s แถวสีลม  ก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ ให้คนไทยรู้จักวัฒนธรรมฝรั่งเศสมากขึ้น

เพลงที่ฟัง หนังที่ดู หนังสือที่อ่าน
มีหนังสือเยอะมากที่กำลังอ่านอยู่ตอนนี้ เลยไม่รู้จะตอบยังไงให้ครบถ้วน ส่วนนิตยสาร อ่านของฝรั่งเศส ให้ส่งมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ก็มีนิตยสาร Philosophie Magazine นิตยสาร Sciences Humaines นิตยสาร Le Monde diplomatique ส่วนของไทยมี มติชนรายสัปดาห์ ฟ้าเดียวกัน  ทีวีดูสองช่อง ช่องฝรั่งเศสที่ถ่ายทอดมาไทย คือ TV5 Monde ช่องของไทยมี Voice TV  มีรายการของฝรั่งเศสรายการหนึ่งที่ชอบมาก ต้องคอยตามดูทางอินเทอร์เน็ต คือรายการ “Ce soir (ou jamais!)” เป็นรายการ debate เกี่ยวกับปรัชญา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีแขกรับเชิญเป็นนักวิชาการจากหลายสาขา เป็นนักเขียน ศิลปิน อยากให้ประเทศไทยมีรายการแบบนี้บ้าง

นินทาผู้ชายไทยกันหน่อย เขาว่ากันว่าผู้ชายไทยเจ้าชู้ติดอันดับต้น ๆ ของโลก
ปัญหาที่สำคัญของคนไทยคือไม่คุยกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงพอคบกันก็จะมีปัญหาเรื่องความซื่อตรง ไม่ยอมคุยกันตรง ๆ ซึ่งในฝรั่งเศสจะไม่มีแบบนี้ แล้วก็เรื่องรักษาหน้า เพราะถ้ามัวแต่รักษาหน้ากันอยู่ มันจะเดินต่อไปได้ยังไง ต้อง
ลึกลงไปถึงสิ่งที่เรามองไม่เห็น ต้องค้นหาความจริง ค้นหาประวัติศาสตร์  คือการเมืองกับเรื่องความสัมพันธ์มันสะท้อนซึ่งกันและกัน จะเห็นว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องการค้นหาประวัติศาสตร์หรืออดีต คนไทยรู้สึกว่าถ้าปัจจุบันโอเคก็ไม่ต้องไปค้นหาอดีต

จะไปรื้อฟื้นทำไม อะไรที่จบแล้วก็ให้จบ ๆ ไป
อันนี้ตรงกันข้ามกับตะวันตก การค้นหาอดีตเป็นสิ่งที่จะทำให้ปัจจุบันดีขึ้น คุณต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไปว่ามันมาถึงตรงนี้ได้ยังไง  มันต้องสู้กับอะไร มันแพ้ชนะอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องยากเหมือนกันเวลามีความสัมพันธ์กับคนไทย เพราะอยากจะรู้อดีต จะสวยไม่สวยก็อยากจะรู้ เพื่อจะได้สร้างปัจจุบันให้ดีขึ้น ไว้ใจกันมากขึ้น ไม่ได้บอกว่าตะวันตกไม่โกหกกัน ก็มีโกหกเหมือนกัน  แต่ถ้าพูดถึงค่านิยมคือคนไทยไม่ชอบสร้างปัญหา เงียบ ไม่ถามถึงอดีตเขา ไม่ตั้งคำถามกับอะไรเลย ก็ไม่ชอบนะ ความสัมพันธ์แบบตะวันตกดีกว่า สนทนากันได้ทุกเรื่อง แม้ว่ามันจะเจ็บก็ตาม

เจนนี่มีแผนการสำหรับการอยู่ในเมืองไทยต่อไปยังไง
เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ เขียนหนังสือ เล่นดนตรี ถ้ามีโอกาสได้เป็นอาจารย์สองประเทศพร้อมกันก็จะทำ ของฝรั่งเศสโอเคแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่โอเค ถ้าเป็นไปได้ก็อยากใช้ชีวิตแบบ ๖ เดือนฝรั่งเศส ๖ เดือนไทย

คนไทยบางคนบ่นเบื่อ อยากไปอยู่เมืองนอก มีรัฐสวัสดิการดี ๆ มีความปลอดภัยในชีวิต แถมมีมิวเซียมดี ๆ ให้ดู แปลก ทำไมเจนนี่อยากอยู่เมืองไทย
ความรัก จบมั้ย