banner-camp-12-for-web-logo

งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11 (ได้รับงานเขียนสารคดี ดีเด่น)
เรื่อง : สุธาน บัวใหญ่
ภาพ : พนัชกร คล้ายมณี

yakbankak01
สี่แยกบ้านแขก...ลมหายใจหลายวัฒนธรรม
yakbankak03
yakbankak04
yakbankak05
yakbankak06
yakbankak07
yakbankak08
yakbankak09
yakbankak10
   

17.59 นาฬิกา,สี่แยกบ้านแขก

แสงแดดยังทวีความรุนแรง แม้จะเป็นยามเย็นใกล้ค่ำ เหงื่อเม็ดเป้งผุดพรายบนใบหน้าที่เหนื่อยล้าหลังจากเดินตระเวนชุมชนมาทั้งวัน อากาศร้อนอบอ้าวทำให้อยากถอดใจ ทั้งที่ยังค้นหาคำตอบเป็นรูปธรรมของคำถามที่ค้างคาใจไม่พบ

เตรียมตัวที่จะกล่าวลาแยกย้ายกัน ภาพตรงหน้าที่เห็นทำให้ฉันและช่างภาพหยุดฝีเท้า

คนขายของรถเข็นสองร้านติดกัน ที่เพียงกวาดตามองก็พบความแตกต่าง คนหนึ่งเกล้า ผม สวมเสื้อยืดสีฟ้าสด กางเกงขาสั้นทะมัดทะแมง เตรียมขายส้มตำ อีกคนที่ยืนเคียงข้างคลุมผมด้วยผ้าสีดำเก็บปลายเรียบร้อย สวมเสื้อแขนยาว-กางเกงขายาวตามหลักความเชื่อทางศาสนา กำลังจดจ่ออยู่กับการย่างไก่

“ ศรัทธาที่แตกต่าง…แต่ไม่อาจลบรอยยิ้มที่มอบให้แก่กัน “

ภาพแห่งนี้ยังมีให้เห็นอีกหรือ…ที่แห่งนี้ยังอยู่ในประเทศไทยหรือเปล่า ?

นาทีนั้นทุกคนหยุดนิ่ง ราวกับเวลาหยุดหมุน…เผยคำตอบที่ค้นพบ

นี่เองคือสิ่งยิ่งใหญ่ที่รวมทุกคนไว้เป็นหนึ่ง

เมื่อเข็มนาฬิกาบอกเวลา…

18.00 นาฬิกา

“ ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย… ”

ยามเช้า…

รถเมล์เล็กสีส้มที่โดยสารมาจาก “ วงเวียนใหญ่ ” ผ่านหน้าไปแล้ว ฉันหยุดที่ป้ายรถเมล์แห่งหนึ่ง เงยหน้ามองป้ายบอกทางที่กทม.ทำไว้ พบว่าตรงหน้าคือ “ สี่แยกบ้านแขก ”

ฉันกระชับเป้บนหลังให้เข้าที่ ก่อนเท้าสองข้างจะเริ่มต้นออกเดิน ภารกิจแรกของวันคือหา “ ซอยอิสรภาพ 15 “ ให้เจอ เพื่อไปยังจุดนัดพบที่ “ วัดบางไส้ไก่ “

ขณะเดิน ฉันกวาดสายตามองไปรอบ ๆ อากาศยามเช้ากำลังดี น่าสบาย ไม่ร้อนอบอ้าวอย่างที่เตรียมใจมาเผชิญ เช้าวันอาทิตย์แบบนี้ ผู้คนยังดูบางตา ร้านรวงข้างทางยังไม่ได้ตั้งตามทางเท้าให้ระเกะระกะคนเดินเท้าให้ผ่านไปได้ยาก ฉันเดินชมสองข้างทางไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย แม้การจราจรบนทางเท้าจะยังไม่วุ่นวาย สี่แยกบ้านแขกก็ไม่ได้ร้างผู้คน

สมัยก่อนที่ตรงนี้ยังเป็นสวน ปลูกผลไม้ ไม่ปรากฏสิ่งก่อสร้างใด ๆ เลย กระทั่งปลายสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยาบรมศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค ) เดินทางไปสิงคโปร์ ดูความเจริญของบ้านเมือง ขากลับจึงพลอยได้ตระเวนตรวจตราตามหัวเมืองภาคใต้ เมื่อผ่านยังปัตตานี ได้เห็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม จึงเชื้อเชิญช่างชาวมุสลิมที่มีฝีมือตลอดจนทายาทเจ้าเมืองเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ด้วยเพื่อการพัฒนาบ้านเมือง เมื่อถึงบางหลวง สมเด็จฯ ได้ปันที่ดินส่วนตัวให้อาศัยอยู่บริเวณด้านหลังจวน ต่อมากลายเป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ ในปัจจุบัน ชาวชุมชนเรียกว่า “ บ้านแขก “ หรือ “ ก๊กสมเด็จ “ ที่นี่จึงรวมพี่น้องชาวมุสลิมไว้มากมาย กระทั่งก่อเกิดเป็นชุมชนบ้านแขก ตั้งติดกับชุมชนบ้านสมเด็จ และชุมชนบางไส้ไก่ ที่กลายเป็นย่านที่รวมผู้คนหลายศาสนา หลากวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน และอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขเสมอมา

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้นึกถึงปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังคงทวีรุนแรงอยู่ทุกวัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุผลของความแตกต่างทางศาสนา ทำให้ฉันตั้งคำถามหนึ่งกับตัวเอง

“ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความแตกต่าง ด้านศาสนา วัฒนธรรม ยังมีอยู่จริงหรือ ? “

หรือเป็นเพียงสังคมในอุดมคติเท่านั้น

ยังไม่ทันได้รับคำตอบ  บรรยากาศภายนอกที่ก็กลับสงบ สรรพเสียงต่าง ๆ ค่อย ๆ เบาบางลง สองเท้าก็พาฉันมาหยุดที่ ‘ วัดบางไส้ไก่ ’ แล้ว

ยามสาย…

“ ที่เรานั่งอยู่กันตรงนี้ก็คือวัดบางไส้ไก่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดลาว ” คุณสุดารา สุจฉายา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ หรือที่ต่อมาเราเรียกว่าพี่แอนเริ่มต้นเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้ฟัง

“ ชุมชนบางไส้ไก่แห่งนี้ มีอีกชื่อคือชุมชนบ้านลาว ตั้งแต่อดีตที่ตรงนี้ก็มีชาวลาวอาศัยอยู่  วัดบางไส้ไก่จึงเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของบ้านลาว ”

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 ทรงยกทัพไปตีเวียงจันทน์ แล้วรวบรวมคนกลับมาเพื่อสร้างบ้านสร้างเมือง ในขณะที่ชาวลาวส่วนหนึ่งเดินทางมาจากเวียงจันทน์ ตามมาพร้อมกับพระแก้วมรกต จึงได้ชื่อเรียกว่า “ ลาวเวียง “ ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ของตัวเองทั้งภาษาพูด และการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอาชีพทำขลุ่ยที่เรียกว่า “ ขลุ่ยบ้านลาว “

“ รุ่นของผมเป็นรุ่นที่ 4 แล้วครับ ” คำบอกเล่าพร้อมรอยยิ้มน้อย ๆ ของ สุนัย กลิ่นบุปผาแห่งร้านขลุ่ยลุงจรินท์เริ่มต้นเล่าถึงอาชีพที่รักให้ฟังในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ที่รอบตัวรายล้อมไปด้วยขลุ่ยสีน้ำตาลหลากเฉดสี หลายชนิด ทั้งที่จัดอยู่ในตะกร้าตรงหน้า วางอยู่ข้างตัว หรือแม้แต่เรียงอย่างดีอยู่ในตู้กระจกใสด้านหลัง บรรยากาศภายในห้องคลอด้วยเพลงที่มีเสียงขลุ่ยสอดประสานนุ่มนวล “ เมื่อก่อนก็ทำจากไผ่รวกหลัง ๆ มาเริ่มทำจากท่อพีวีซี ราคาจะถูกลง เพื่อส่งไปตามโรงเรียนให้นักเรียนได้เรียน แต่เสียงที่ได้ก็แตกต่างจากไผ่รวกนะ… ” พี่สุนัยเล่าเกร็ดความรู้เรื่องการทำขลุ่ยให้ฟังอย่างอารมณ์ดี ทั้งชนิดของขลุ่ย วิธีการทำ ไม้ที่ใช้ทำ รวมถึงประวัติความเป็นมา สุนัยเหตุผลที่ยังทำขลุ่ยจนถึงทุกวันนี้ “ คงเป็นความผูกพัน…ชาวลาวเวียงเริ่มต้นทำขลุ่ยขึ้นจากความเหงาและความคิดถึงบ้าน ”

จากชุมชนบางไส้ไก่เดินต่ออีกหน่อยก็ถึงชุมชนบ้านสมเด็จ ซึ่งมี “ มัสยิดนูรุ้ลมู่บีน “ มัสยิดต้นแบบของความสามัคคี ‘’ ตั้งอยู่ ชุมชนรอบมัสยิดแห่งนี้มีอายุเกือบ 200 ปี ชนหลายศาสนาต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติ “ เราอยู่ร่วมกันด้วยจิตวิญญาณของความเป็นพี่-น้อง ” คอเต็บ ( ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด ตำแหน่งรองจากอิหม่าม ) เล่าถึงเหตุผลของการอยู่ร่วมกัน

“ เราเกิดมาบนโลกนี้เป็นเพียงแค่ทางผ่าน สักวันก็ต้องจากโลกนี้ไป บรรพชนสร้างสิ่งที่ดีไว้ให้เราสานต่อไป… ’

ประโยคนี้…ขับให้ภาพมัสยิดเบื้องหน้างดงามตรึงใจ

ยามบ่าย…

ภาพวาดแม่น้ำจอร์แดนจากพระคัมภีร์ไบเบิลงดงามราวภาพจริง แสงแดดยามบ่ายที่ทอแสงสาดส่องกระทบไม้กางเขนใหญ่สีน้ำตาลเป็นริ้วทองประกาย จิตใจที่ว้าวุ่นจากอากาศร้อนเบื้องนอกพลันสงบ…เมื่อก้าวเข้ามาในห้องประชุมของ “ คริสตจักรแสงสว่าง “

“ ชุมชนสี่แยกบ้านแขกแห่งนี้มีสมญานามว่าชุมชนเจ็ดศาสนา คือคริสเตียนที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ ข้าง ๆ กันก็คือพุทธสมาคมปทุมรังสีหรือไทยจีน ที่เราเดินผ่านมาก็มีวัดบางไส้ไก่หรือไทยพุทธ ถัดมาก็คือมัสยิดของอิสลาม ข้ามไปฝั่งตรงข้ามก็มีฮินดู ซิกข์ แล้วก็ยังมีโบสถ์ซางตาครู้สของคาทอลิกที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ” เจ้าหน้าที่ประจำคริสตจักรแสงสว่างเล่าให้เราฟังพร้อมรอยยิ้ม กิจกรรมของที่นี่มีมากมาย ล้วนแต่เน้นกิจกรรมเพื่อสังคม สร้างความรักและความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านในชุมชน

“ ที่เราตั้งชื่อคริสตจักรว่าแสงสว่าง…เพราะคริสเตียนเชื่อว่าพระเจ้าคือแสงสว่างของชีวิต และเราทุกคนต้องเป็นความสว่างให้แก่ทุกคนบนโลกนี้ ”

ยามเย็น…

การเยี่ยมชมชุมชนครั้งแรกสิ้นสุดลงที่เวลาเกือบห้าโมงเย็น ฉันกับช่างภาพตัดสินใจที่จะเดินเที่ยมอีกครั้ง เราเดินย้อนสู่ชุมชนบางไส้ไก่ตามเส้นทางเดิมที่เดินยามเช้าอีกครั้ง ลัดเลาะผ่านมาตามชุมชมมัสยิดบ้านสมเด็จ ก่อนกลิ่นหอมของชาจะลอยเข้ามาเตะจมูก สองเท้าพาเรามาหยุดอยู่ที่ “ ไทยกาแฟ” ร้านเก่าแก่และโด่งดังประจำย่านนี้
     
“ บังคิดว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่นับถือศาสนาต่างกัน มีความเชื่อที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสงบสุขคะ ” ฉันส่งคำถามที่ยังคงติดใจสงสัยในคำตอบมาตลอดวันให้แก่  “บังรอน” เจ้าของร้านไทยกาแฟ เมื่อเขาสละเวลาจากลูกค้าคับคั่งมานั่งคุยกับเรา

ต่อหน้าถ้วย “ ชาซีลอน “ อันเลื่องชื่อ เราก็เป็นเพียงเด็กน้อยที่แววตาใคร่รู้เต็มเปี่ยมไปด้วยคำถาม อีกฝั่งคือผู้ใหญ่ใจดีทีทอดสายตาจ้องมองนิ่งสงบ

“ มันอาจจะเป็นความเคยชิน ที่เห็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำต่อ ๆ กันมา ตั้งแต่บรรพบุรุษ เราก็อยู่ร่วมกันมาอย่างพี่-น้อง งานเรา เขาก็มา งานเขา เราก็ไป…มีอะไรก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน ” บังเอ่ยด้วยน้ำเสียงราบเรียบไร้การปรุงแต่ง แต่เต็มไปด้วยความจริงใจที่ไม่ต้องตีความ ก่อนจะขอตัวกลับไปสู่หน้าที่เจ้าของร้านที่ลูกค้าเต็มร้านจนไม่มีเวลาพัก แม้แต่ตอนที่เราลาจากมา

ยามลา…  

พระอาทิตย์ทอแสงอ่อนแรงเต็มทีเมื่อตอนที่ภาพตรงหน้าปรากฏ ภาพที่อาจจะยังไม่ใช่บทสรุปที่ดีที่สุดของคำถามที่ค้างคาใจในวันนี้

หรือบางที…บางคำถามจริงแล้วเราก็ไม่ได้ต้องการคำตอบเสมอไป

ฉันคิด ขณะที่ทอดสายตามองภาพแม่ค้าสองร้านเบื้องหน้าที่หันมาส่งรอยยิ้มให้แก่กัน

คนขายของรถเข็นสองร้านติดกัน ที่เพียงกวาดตามองก็พบความแตกต่าง คนหนึ่งเกล้า ผม สวมเสื้อยืดสีฟ้าสด กางเกงขาสั้นทะมัดทะแมง เตรียมขายส้มตำ อีกคนที่ยืนเคียงข้างคลุมผมด้วยผ้าสีดำเก็บปลายเรียบร้อย สวมเสื้อแขนยาว-กางเกงขายาวตามหลักความเชื่อทางศาสนา กำลังจดจ่ออยู่กับการย่างไก่

เรามาเพื่อเรียนรู้…มิใช่มาเพื่อตัดสิน

มาเรียนรู้ชุมชนต้นแบบความแตกต่างระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมานานนับร้อยปี ชุมชนที่มีอยู่จริงในประเทศไทยในยุคที่ผู้คนบางกลุ่มอ้างความแตกต่างเป็นเครื่องมือในการทำร้ายกัน ชุมชนที่มิใช่สังคมในอุดมคติ…ผู้คนในชุมชนยังคงยิ้มให้แก่กัน มิตรภาพยังคงหยั่งรากลึกและงอกงามเสมอบนผืนแผ่นดินแห่งนี้…

นึกถึงประโยคไพเราะของคอเต็บแห่งมัสยิดนูรุ้ลมู่บีนที่ยังคงก้องกังวานในใจ

“ แตกต่าง…แต่มิอาจแตกแยก ถึงจะต่างศาสนา แต่เราคือพี่-น้องกัน ”

พี่-น้อง…ไทย

18.00 นาฬิกา

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน… ”.

ขอขอบคุณ

  • คุณสุดารา สุจฉายา ที่ให้ข้อมูลและคอยช่วยเหลือตลอดการทำสารคดี
  • ชาวบ้านชุมชนวัดบางไส้ไก่ ชุมชนมัสยิดบ้านสมเด็จ และชุมชนสี่แยกบ้านแขก ที่คอยเอื้อเฟื้อน้ำใจและให้ความร่วมมือในการตอบคำถาม