ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน   
สันติ โชคชัยชำนาญกิจ : ถ่ายภาพ

maemor01

“เราขอย้ายไปกาดเมฆ (ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง) เปิ้นบอกช่วยคนคนเดียวเนี้ย จะหมดเงิน ๒-๓ ล้าน  เราบอกไม่ถึงขนาดนั้น ขอแค่อยู่ได้ก็พอ ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย  เราแค่อยากย้ายไปอยู่ไกลๆ จากมลพิษ เปิ้นก็ไม่ยอมช่วยเหลืออะไรสักอย่าง  บอกว่าถ้าช่วยเราแล้วคนแม่เมาะทั้งอำเภอจะลุกขึ้นมาสู้กับเปิ้นทั้งหมดเพราะป่วยกันทุกคน ถ้าช่วยเราแล้วชาวแม่เมาะไม่ยอมเปิ้นแน่”

ปราณี อินปัญโญ ชาวตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเป็นแม่ของน้องฟ้า เด็กหญิงอายุ ๑๑ ขวบผู้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจมาตั้งแต่กำเนิด เล่าอย่างร้อนรน

ปราณีเป็นหญิงชาวบ้าน แม่ของลูกที่หมอวินิจฉัยว่าป่วยจากการรับก๊าซซัลเฟอร์-ไดออกไซด์เป็นเวลานาน  ตัวเธอเองยังเป็นลูกของพ่อซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วย ๑๓๑ คนที่ยื่นฟ้อง กฟผ. คดีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖  แต่การพิจารณาคดียาวนานจนพ่อเสียชีวิต เธอจึงต้องเรียกร้องสิทธิ์เป็นผู้ฟ้องแทนพ่อ

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีความจากการต่อสู้เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์สองคดี
maemor02
คดีแรกเรียกว่า “คดี EIA” กลุ่มชาวบ้านอำเภอแม่เมาะผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ยื่นฟ้อง กฟผ. เมื่อ ๑๒ ปีก่อน  เรื่องการปล่อยมลพิษและไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมท้ายรายงาน EIA ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ใจความสำคัญว่า ให้ กฟผ. ติดตั้งม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละออง อพยพผู้คนออกจากรัศมีผลกระทบ ๕ กิโลเมตร ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงสภาพเดิมตามธรรมชาติด้วยการถมดินและปลูกต้นไม้ทดแทนภายใน ๙๐ วัน รวมทั้งกำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซนระหว่างจุดปล่อยดินกับชุมชนให้มีระยะห่างไม่น้อยกว่า ๕๐ เมตร

อีกคดีเรียกว่า “คดีมลพิษ” ชาวบ้านยื่นฟ้อง กฟผ. เมื่อ ๑๐ ปีก่อน เรียกร้องค่าเสียหายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดซึ่งพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้ กฟผ. จ่ายเงินชดเชยค่าเสื่อมสมรรถภาพทางร่างกายและค่าความสูญเสียด้านจิตใจให้แก่ชาวบ้านภายใน ๓๐ วัน

นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ เว็บไซต์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรายงานว่า คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. จ่ายเงินค่าทดแทนแล้ว และไม่เกิดปัญหามลภาวะมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ (เข้าถึงจาก ลิงค์นี้)

ทว่าในความเป็นจริงพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าวันนี้ยังเต็มไปด้วยความกังวลใจของชาวบ้าน

“ลูกเราป่วยได้ ๑๐ ปี ขอทุนเรียนหนังสือลูกยังไม่ให้เลยสักบาท  เราอยากให้ลูกหายก็ต้องย้ายเข้าไปเรียนในเมือง มีสระว่ายน้ำ ได้ว่ายน้ำอาทิตย์ละสองสามครั้ง ลูกก็ดีขึ้น  สองสามเดือนแล้วที่ไม่ต้องกินยา  เปิ้นก็รู้”

ปราณีชี้ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาไฟฟ้า  เธอให้เหตุผลว่า “กองทุนเขามีกรรมการ เราเข้าไม่ถึงจุดนี้ มันเป็นเรื่องการเมืองที่ผู้ใหญ่ต้องเห็นชอบ”

เมื่อคิดทวงความเป็นธรรมโดยลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ์ ก็ได้รับคำพูดตอบกลับว่า “ตัวคนเดียวอย่าคิดจะสู้เลย เราเป็นหน่วยงานของรัฐ”

นับถึงเวลานี้คุณแม่ลูกสองซึ่งยื่นฟ้องคดีแทนพ่อผู้เสียชีวิตระหว่างรอคำพิพากษาเมื่อปี ๒๕๕๑ นั้นยังไม่ได้รับเงินค่าทดแทน ขณะเดียวกันชาวบ้านประมาณ ๙๐ คนก็รวมตัวกันเรียกร้องขอย้ายบ้านออกจากพื้นที่

วิทยา แก้วทิวง หนึ่งในผู้ฟ้องคดีมลพิษ ๑๓๑ คน และบ้านอยู่ห่างจากเขตเหมืองไม่ถึง ๕ กิโลเมตร เล่าว่า “ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดมาคุยกับชาวบ้าน ไม่มีการติดต่อใดๆ ทั้งสิ้น  ชาวบ้านคงจะต้องตั้งทนายขึ้นเอง เน้นเรื่องอพยพ”

เนื้อหาเกี่ยวกับการอพยพคนออกนอกพื้นที่ตามคำพิพากษาศาล ระบุว่าให้มีการตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาเรื่องการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ ๕ กิโลเมตร

ข้อความ “ออกนอกรัศมีผลกระทบ ๕ กิโลเมตร” นี่เองที่มีการพูดถึงอย่างเข้มข้นในหมู่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ  วิทยาอธิบายว่า “คำว่าให้ออกจากรัศมีผลกระทบ ๕ กิโลเมตร ไม่ใช่ ‘ออกจากรัศมี ๕ กิโลเมตร’ แต่เป็นการออกจากรัศมีที่ได้รับผลกระทบไปอีก ๕ กิโลเมตร หมายความว่าถ้าได้รับผลกระทบ ๑๐ กิโลเมตร ก็ให้ออกจากตรงนั้นไปอีก ๕ กิโลเมตร เป็น ๑๕ กิโลเมตร  เราตีความอย่างนั้น”

ขณะที่เนื้อหาตอนหนึ่งของคำพิพากษามีรายละเอียดว่า หากมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่มีมาตรฐานเหมาะสมกว่าตามเงื่อนไขท้ายประทานบัตร ให้ดำเนินการแก้ไขขอเปลี่ยนแปลง  ชาวบ้านจึงวิตกกังวลว่านี่อาจเป็นเหตุให้ทาง กฟผ. อ้างว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีเหมืองและโรงไฟฟ้าได้รับการพัฒนาแล้ว ไม่จำเป็นต้องอพยพหมู่บ้านออกจากพื้นที่  ชาวบ้านเกือบ ๙๐ คนจึงรวมกลุ่มลงชื่อขอย้ายออกนอกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองและโรงไฟฟ้า

“กลัวเขาจะดื้อแพ่ง ตีความไม่ให้ชาวบ้านอพยพ” วิทยาผู้นำกลุ่มกล่าว

แม้ศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว แต่ดูเหมือนวิบากกรรมของผู้ได้รับผลกระทบจะยังไม่สิ้นสุด •