วายร้ายสีแดง

trail02ไม่แน่ใจว่าจะเรียกที่นั่น-สนามวิ่งเทรล ว่า “ภูเขา” หรือเอาเข้าจริงควรเรียก “เนินเขา” คงเป็นอาการคล้ายๆ ตัวละครในหนังตลกคลาสสิกเรื่อง The Englishman Who Went Up a Hill But Came Down a Mountain ซึ่งไม่แน่ใจสิ่งที่ตัวเองพบเจอในแคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร

จากประสบการณ์การวิ่งเทรล (trail running) ส่วนตัวอันน้อยนิด เนินเขาซึ่งมิได้สูงชันติดอันดับใดๆ ไม่มีแม้แต่ชื่อ กลับมีเรื่องเล่ามากมาย…ที่น่าจะนำมาถ่ายทอด

ปีนี้ มีการจัดงานวิ่งเทรลเยอะมาก เฉลี่ยเดือนละหนึ่งถึงสองรายการ ระยะทางใกล้-ไกลมีให้เลือกตั้งแต่ ๓.๕ ถึงอัลตรามาราธอนเกินกว่า ๑๐๐ กิโลเมตร  ความสนใจของนักวิ่งขยายตัวแบบก้าวกระโดด ถ้าคิดพื้นๆ ก็แสดงว่านักวิ่งชอบวิ่งในธรรมชาติป่าเขาซึ่งเต็มไปด้วยเนินสูงๆ ต่ำๆ

นักวิ่งจำนวนหนึ่งอาจชอบย่ำดิน ยินเสียงใบไม้ กิ่งไม้เล็กๆ ดังกรอบแกรบใต้ฝ่าเท้า และเลือกไปวิ่งเทรลเพราะได้ทั้งการผจญภัยและความสงบ

“เทรล” ตามความหมายอาจได้แก่ทางเดินเล็กๆ ในธรรมชาติของสัตว์หรือคน แต่การวิ่งเทรลในบ้านเราเกิดขึ้นบนทางหลากหลาย มักเริ่มจาก…ถนนลาดยาง ทางลูกรัง ทางไปไร่ ป่าเสื่อมสภาพ เนินหินกรวด โขดหิน เผยโฉมมาเป็นลำดับ บางช่วงต้องผสมผสานการวิ่งกับการเดินป่า ไต่เขา  หลายคนจึงใช้ไม้เท้าเดินป่า ว่ากันตามหน้างาน แต่ภาพรวมต้องอาศัยการวิ่งเป็นหลัก

งาน “เดอะนอทเฟซ วันฮันเดรท ไทยแลนด์ ๒๐๑๕” รายการมาราธอนผจญภัยหรือวิ่งเทรลรายการใหญ่ของเมืองไทย ได้นั่งคุยกับ ชาลี จึง คนออกแบบเส้นทางวิ่งระดับพี่ใหญ่ของวงการ เขาเล่าว่า ในยุโรป ออสเตรเลีย มักจัดวิ่งเทรลในอุทยานแห่งชาติซึ่งเส้นทางมีความปลอดภัย ดูแลได้ทั่วถึงกว่าบ้านเรา (คงหมายถึงดูแลให้ปลอดภัยทั้งต่อนักกีฬาและระบบนิเวศ) แต่บ้านเราพูดตรงๆ คือจัดแข่งนอกอุทยานแห่งชาติดีกว่า บริหารจัดการง่ายกว่า

สิ่งสำคัญของการจัดวิ่งเทรลคือการดูแลนักกีฬาให้ปลอดภัย (ท่ามกลางความท้าทาย ก้าวข้ามขีดจำกัด)  “บางคนอาจมองว่าไม่ยาก แต่กว่าจะลงไปดูเส้นทางแต่ละที่ เลือกว่าตรงนี้โอเค ไม่โหดจนเกินไป ไม่ชันจนขึ้นไปไม่ได้หรือลงไม่รอด” ชาลีพูดถึงเส้นทางวงรอบที่ยาวสุดถึง ๕๐ กิโลเมตร และใช้เวลาสำรวจออกแบบนานนับปี

หนุ่มโปแลนด์ คามิล เลสเนียก (Kamil Le´sniak) รองแชมป์ “เดอะนอทเฟซ 100” รายการเดียวกันนี้เมื่อ ค.ศ. ๒๐๑๔ ทำสิ่งซึ่งทุกคนฉงนใจระหว่างการแข่งขันอันสุดโหด นั่นคือ เขาหยุดร้องไห้ ตะโกนเสียงดังอยู่กลางป่าเป็นระยะ จนมอเตอร์ไซค์ช่วยเหลือต้องเข้าไปถามว่าจะให้พากลับไหม

เทรลแบบไหนกันทำให้ยอดนักวิ่งถึงกับร่ำไห้ ?  ภายหลังเขาเฉลยว่า เมื่อต้องวิ่งระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร จะต้องร้องกระตุ้นตัวเองเป็นระยะ…ว่าเราทำได้ โดยเฉพาะหลังจากผ่าน ๕๐ กิโลเมตรและนักวิ่งเหลือน้อยลง  พอร้องไห้แล้วก็โล่ง วิ่งต่อได้  “ถ้าอยากชนะ เราก็ต้องต่อสู้ให้ได้มา  ถ้าเราไม่ต่อสู้ก็ไม่ได้อะไรเลย”

เทคนิคการ “ร้องระบาย” นี้นักวิ่งบางคนนำมาใช้ทั้งในการวิ่งเทรลและวิ่งถนน

เหล่านี้กระมังเป็นที่มาของคำกล่าว “ไม่มีอะไรที่สร้างความแข็งแกร่งให้นักวิ่งได้ดีกว่าภูเขา” – Nothing builds running strength better than hills.

ชอบทางภูเขา  หลังจบวิ่งเทรลครั้งที่ ๒ ผู้เขียนค้นพบตัวเองว่าชอบวิ่งตามเนินเขามากกว่าวิ่งในเมือง ภาพของเนินจาก “เดอะ-นอทเฟซ 100” ในพื้นที่ขนงพระ อำเภอปากช่อง ยังจำติดตา เนินที่ไต่ระดับยาวไกลเป็นกิโลๆ สวนทางกับระดับพลังงานสำรองที่ลดฮวบลงแทบติดก้นถัง

เพื่อนสื่อมวลชนที่เพิ่งลงสนามเทรลครั้งแรกอย่าง “โอม” (๓๒ ปี) และ “เลมอน” (๓๘ ปี) ก็อารมณ์เดียวกัน สองคนนี้ชอบตรงที่พอวิ่งไปเรื่อยๆ ฉากจะเปลี่ยนไปทุกๆ ๑ ชั่วโมง คาดเดาไม่ได้ว่าทางข้างหน้าจะพบอะไร เช่น วิ่งออกจากป่าเห็นไร่ร้างพื้นดินปนทรายสลับด้วยทางราบนิดหน่อยก่อนตัดขึ้นภูเขาหินลูกโตๆ  การออกแบบเทรลโดยร้อยเส้นทางต่างแบบต่างระดับความสูงต่างพื้นที่เป็นทางวงรอบ ๑๕, ๒๕ หรือ ๕๐ กิโลเมตร ถือเป็นสิ่งอัศจรรย์

นั่นคือเนื้อหาเดียวกับที่ ชาลี จึง อธิบายว่า การออกแบบเส้นทางนั้นไม่ใช่จะทำสูงชันให้นักวิ่งรู้สึกว่าหนักมากเพียงอย่างเดียว ต้องมีที่ราบให้นักวิ่งได้พักขาบ้าง มีเนินเขาเล็กๆ หลายเนิน

เมื่อสองคนนี้มีประสบการณ์ในสนามวิ่งเพิ่มพูนก็จะรู้ว่า การผ่านเนินเขาพื้นที่ขนงพระจะทำให้รู้สึกมั่นใจหากต้องเผชิญกับเนินน่าครั่นคร้ามใน “นาวิกโยธินมาราธอน” อำเภอสัตหีบ (ที่นาวิกฯ ใช้ฝึกนักรบรีคอน) “เขาชะโงกซูเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน” อำเภอเมืองนครนายก หรือแม้แต่การเดินขึ้นเขาหลวง เขาสอยดาว ฯลฯ ที่ต้องพบเจอในชีวิตการทำงาน

ความมั่นใจ  คนที่สมัครวิ่งประเภทนี้รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ต่างศึกษาเทคนิคข้อแนะนำจากเว็บไซต์ว่า วิ่งขึ้นเนินควรก้าวสั้นๆ ด้วยปลายเท้า โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยและแกว่งแขนช่วย สายตามองยอดเนิน  ขาลงอาจก้าวยาวๆ เต็มเท้าตามสภาพพื้นที่ที่สายตาจับจ้อง ถ้าทางชันมากก็พยายามผ่อนน้ำหนักตัวลงด้านหลัง  แต่สนามฝึกซ้อมนั้นหาไม่ได้ง่าย พอลงสนามจริง วิ่งข้ามไปได้สามสี่เนินนักวิ่งจะเหนื่อยหมดแรง เทคนิคต่างๆ ก็พลันหนีหาย

????????????????????????????????????ดังนั้นไม่ว่าจะวิ่งระยะไกลประเภทใด ความมั่นใจจากความพร้อมของร่างกายอย่างเดียวคงไม่พอ สภาพจิตใจยิ่งต้องพร้อมกว่า เพราะทุกคนที่ฝึกฝนมาจะต้องเผชิญความรู้สึกหมดแรงและอยากถอดใจ หมดแรงแล้วยังกัดฟันหรือถอดใจก็เลือกเอา

เทียบเคียง “วิ่งเทรล” กับแง่มุมการเดินเขา  ในฐานะแพทย์และนักเดินเขา กิเดียน ลาสโก (Gideon Lasco) เชื่อว่าการเดินเขา (hiking) เป็น “ใบสั่งยาที่สมบูรณ์แบบ” สำหรับชีวิตประจำวันคนเมืองในยุคแห่งความทันสมัยและความสะดวกสบายนี้

ขาสองข้างคือหมอประจำตัวของเรา ยิ่งเดินมากยิ่งแข็งแรง  เดินที่ว่าดีแล้วแต่เดินเขายิ่งดีกว่า เพราะการเดินขึ้นทางชันทำให้เราได้ใช้กล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ออกแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน เสริมความแข็งแกร่งของกระดูกสันหลัง

การเดินเขายังเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิกที่ดีด้วย ทำให้ปอดแข็งแรง เลือดไหลเวียนดี เผาผลาญพลังงานได้มาก  ยิ่งถ้าเสริมกิจกรรมเดินเขาด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอื่นๆ เช่น จ็อกกิง ว่ายน้ำ จะเริดมาก

นี่ยังไม่นับผลดีต่อจิตใจ ลองคิดดูสิว่าคุณสูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มปอดครั้งสุดท้ายเมื่อไร ได้ยินสรรพเสียงของธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อไร ยิ่งไปกว่านั้นภูเขาไม่ใช่ลู่วิ่งไฟฟ้าที่คุณชมวิวจากจอแอลซีดี วิวภูเขาสวยจะตาย !

วิ่งให้เหมือนใบไม้  คำสอนข้อหนึ่งของ “ครูดิน” สถาวร จันทร์ผ่องศรี ครูของนักวิ่ง ซึ่งฟังดูเหมือนง่าย แต่อาจจะทำตามไม่ง่าย นับเป็นคำสอนพื้นฐานที่มีความกลมกลืนและน่าจะนำไปปรับใช้กับการวิ่งเทรลได้อย่างดี ครูสอนไว้ว่า

“วิ่งให้เหมือนใบไม้ที่ปลิวอยู่ในสายลมพลิ้ว” เริ่มจากการสร้างจินตนาการให้รอบข้างมีสายลมพัดผ่านจากด้านหลังไปข้างหน้า รู้สึกถึงน้ำหนักตัวที่หายไป ตัวเบาสบายไร้น้ำหนัก จิตเคลื่อนที่ไปข้างหน้า

ทุกย่างก้าวที่ลงเท้าสัมผัสพื้นให้ลื่นไหล ไม่เกิดแรงกระแทกที่ข้อเท้าและหัวเข่า  เมื่อเท้าสัมผัสพื้นให้งอเข่าเล็กน้อย ไม่ลงน้ำหนักและยกส้นขึ้นหาลำตัวทันที

ปล่อยหัวไหล่ลงสบายๆ แกว่งแขนเบาๆ  ลำตัวนิ่งไม่ส่ายไปมาหรือโยกขึ้นลง เอนไปข้างหน้าเล็กน้อย รับรู้ถึงการลื่นไหลไปข้างหน้าโดยปราศจากแรงต้าน เหมือนใบไม้แห้ง ๆ ที่ปลิวอยู่ในสายลมพลิ้ว ปลิวไปอย่างอิสระ เบาสบาย

เมื่อจบการวิ่งเทรลสักรายการ ความรู้สึกของคุณจะเปลี่ยนไป

คุณอาจเป็นอีกคนที่ “ขาขึ้นไต่ขึ้นไปยังเนินเขา แต่ขาลงกลับลงจากขุนเขา”