ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

[Best_Wordpress_Gallery id=”11″ gal_title=”Sarakadee Talk 5″]

คล้อยหลังเหตุการณ์ที่กลุ่มชายฉกรรจ์นำกำลังปิดล้อมและวางหินขนาดใหญ่ขวางเส้นทางสัญจรและพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต นิตยสารสารคดี ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรม Sarakadee Talk ครั้งที่ ๕ หัวข้อ “โครงการพัฒนาอันดามันกับชาติพันธุ์ชาวเล” เพื่อต่อยอดความรู้และเสริมเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในสกู๊ปปกนิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๗๑ มกราคม ๒๕๕๙ เรื่อง “ชาวเลอันดามัน ชาติพันธุ์ที่ถูกลืม”

ดร. นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เริ่มวงเสวนาด้วยการอธิบายสภาพความเป็นอยู่ ปรัชญาชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล “แต่เดิมคนที่อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งอันดามันคือชาวเลและคนไทยมุสลิม คำว่าชาวเลเป็นคำปักษ์ใต้ ย่อมาจากชาวทะเล หมายถึงคนที่อาศัยอยู่แถบชายทะเล ทำมาหากินเกี่ยวกับทะเล โดยทั่วไปจึงหมายถึงกลุ่มชาวประมง แต่ชาวเลที่เรากำลังพูดถึงหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่มีภาษา วัฒนธรรม แตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่ของสังคม”

ดร. นฤมลเล่าว่า “ที่ผ่านมาคนไทยส่วนมากไม่รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล อาจเคยได้ยินข่าวบ้างก็เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่นคราวเกิดสึนามิมีสื่อต่างชาติรายงานว่ากลุ่ม ‘ยิปซีทะเล’ เห็นสัญญาณเตือนในคลื่น เมื่อน้ำลดแทนที่จะวิ่งลงไปดู กลับวิ่งขึ้นที่สูง เพราะคนกลุ่มนี้มีตำนานเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ก่อนเกิดคลื่นใหญ่ น้ำทะเลจะลดลง ให้หลบขึ้นที่สูง”

เมื่อเปิดดูแผนที่ชาวเลสามกลุ่ม จะพบว่าชาวมอแกนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เกาะช้าง เกาะพยาม หมู่เกาะสุรินทร์ กลุ่มมอแกลนตั้งหลักแหล่งตั้งแต่เกาะพระทองลงมาถึงภูเก็ต ส่วนกลุ่มที่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวคืออูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐานตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไปถึงสตูล ปัจจุบันเริ่มมีการแต่งงานข้ามกลุ่ม เกิดการคละกลุ่มกัน

ดร. นฤมลบรรยายต่อไปว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลต่างมีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะ นิทานของชาวมอแกนมีมากนับร้อยเรื่อง เล่าให้ฟังได้ทั้งคืน แต่ปัจจุบันเยาวชนมอแกนหันมารับสื่อจากโลกภายนอก เมื่อนักวิชาการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ถามถึงนิทานก็เล่าให้ฟังได้น้อยลงหรือเล่าได้เพียงบางช่วงบางตอน นอกจากนี้อีกสิ่งซึ่งแสดงถึงภาษาและตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คือชื่อเรียกหมู่เกาะในทะเลอันดามัน เฉพาะหมู่เกาะสุรินทร์มีชื่อเรียกหัวหาด อ่าว ยอดเขา ป่าไม้ ถึง ๑๓๐ กว่าชื่อ แต่ละชื่อสะท้อนความทรงจำร่วมทางสังคมว่าจุดใดมีความสำคัญหรือมีประวัติความเป็นมาอย่างไร

หลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของไทยพลิกโฉมหน้า ทั้งจากการทำเหมือง ปลูกสร้างโรงแรม ร้านค้า หลายพื้นที่กลายเป็นบ้านพักตากอากาศ มีการขึ้นป้ายระบุว่าที่ดินแปลงนี้มีเอกสารสิทธิ ห้ามบุกรุก ห้ามจอดเรือ ห้ามเก็บมะพร้าวหรือจับปลา ขณะที่ชาวเลไม่มีและไม่รู้จักเอกสารสิทธิ แม้จะอาศัยและทำมาหากินในบริเวณนี้มาก่อน ทั้งนี้ก็เนื่องจากระบบความคิดที่ไม่ยึดติดกับการครอบครองที่ดินและทรัพยากรใด ๆ แนวทางการดำรงชีวิตของชาวเล คือความเรียบง่าย ไม่สะสม พอกินพออยู่

ดร. เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกลไกการพัฒนาอันดามันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวเลและชาวบ้านในภาพรวมว่า ทุกวันนี้มีสามแรงขับเคลื่อนใหญ่ในแถบอันดามัน ประกอบด้วย ๑) การท่องเที่ยว แม้แต่จังหวัดภูเก็ตที่หลายคนอาจคิดว่าอิ่มตัวแล้ว ก็ยังมีความต้องการใช้พื้นที่เพิ่มอีกที่หาดราไวย์ ๒) การขนส่งระหว่างประเทศ จากลักษณะของภาคใต้ที่เป็นคาบสมุทร ทำให้มีความคิดที่จะใช้พื้นที่นี้เป็นทางผ่านสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปแปซิฟิก ๓) โครงการพลังงาน ไม่ว่าน้ำมันที่มาจากตะวันออกกลาง หรือถ่านหินที่มาจากเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ขณะที่อุปสรรคของการลงทุนคือการประกาศคุ้มครองพื้นที่ทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีข้อเรียกร้องให้ประกาศพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการ ขณะที่เรือขนส่งถ่านหินก็จะต้องแล่นผ่านแถบอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึงต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราบางส่วนเพื่อสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหิน นับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักลงทุน

ดร. เดชรัตยังพูดถึงความพยายามสามสิ่งของฝ่าย “ธนรัฐ” อันหมายถึงกลุ่มนายทุน+รัฐ ที่หาวิธีการขับเคลื่อนอันดามันรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ให้เดินหน้าไปในทางเศรษฐกิจ ว่าประกอบด้วย ๑) การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยอำนาจพิเศษจากรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร ๒) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดิน ๙๙ ปี เปรียบได้กับการลด แลก แจก แถม หลังจากประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วยังไม่มั่นใจว่าจะมีนักลงทุนมาเช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อการลงทุนหรือไม่ ๓) ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมือง โดยอาศัยกฎหมายมาตรา ๔๔ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกกฎหมายผังเมืองให้สามารถตั้งโรงงานไฟฟ้า โรงกำจัดขยะได้ทุกพื้นที่

ดร. เดชรัตวิเคราะห์ว่า จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของธนรัฐ คือร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๙ ซึ่งเนื้อหาในหมวดสิทธิชุมชนหายไป การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล รวมถึงสิทธิชุมชนที่จะฟ้องร้องต่อรัฐ ไม่มีปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

กิตติธัช โพธิวิจิตร ช่างภาพสารคดีผู้ถ่ายทอดเรื่องราวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามันในภาพถ่ายสารคดีเรื่องนี้ บอกเล่าเบื้องหลังการทำงานจากการลงพื้นที่ไม่ต่ำกว่า ๒ ปี พร้อมยกตัวอย่างภาพถ่ายในเล่ม หนึ่งในนั้นคือภาพประเพณีนอนหาด ณ หาดหินลูกเดียว เขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ตอนเหนือของเกาะภูเก็ต โดยให้ความเห็นว่า “ที่ดินบริเวณนั้นอาจมีปัญหาในอนาคต ถ้ารัฐปล่อยให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรืออนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอาจไม่มีที่ดินประกอบประเพณีนอนหาดที่สืบทอดกันมานับแต่บรรพบุรุษ”

กิตติธัชยังกล่าวด้วยว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่มีปัญหาเพราะอาศัยอยู่ในเขตท่องเที่ยว เรื่องการพัฒนาของกลุ่มนายทุนรุมเร้าคนกลุ่มนี้มาก ปัญหาที่ตนพบและรู้สึกสะเทือนใจที่สุดคือเรื่องบ้านและที่ดิน เนื่องจากเวลานี้หลายพื้นที่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลถูกเอกชนแสดงสิทธิ์เป็นเจ้าของ ทั้งที่อยู่มาก่อน แต่เหมือนไม่ใช่บ้านของเขา ตื่นเช้ามาไม่รู้บ้านจะยังอยู่หรือเปล่า หรือถูกไล่ที่หรือไม่

ในช่วงท้ายของการเสวนา ดร. นฤมลสรุปว่า ปัญหาที่เกิดแก่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่กระทรวง ทบวง กรมเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ องค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรลงพื้นที่และดำเนินการอย่างดี แต่ก็ยังไม่พอ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ใช้กลไกที่หลากหลายเพื่อปรับโครงสร้างสังคมให้เอื้อต่อการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปราะบาง

ท้ายที่สุดหากมองย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวเลหาดราไวย์กับกลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการจัดกิจกรรม Sarakadee Talk ครั้งที่ ๕ เราคงต้องมองให้ทะลุว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของคนในพื้นที่แถบนั้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกับนายทุน แต่เป็นเรื่องวิธีคิดของเราเกี่ยวกับการให้ความหมายของชีวิต ชุมชน สังคม ตลอดจนเราให้ความหมายของคำว่า “การพัฒนา” อย่างไร

เก็บตก+บอกต่อ เรื่องจากปกสารคดี Sarakedee Talk#5 โครงการพัฒนาอันดามันกับชาติพันธุ์ชาวเล

ร่วมสนับสนุนโดย

promoter-sarakdeetalk1      promoter-sarakdeetalk2      promoter-sarakdeetalk3