373cover

คุณผู้อ่านที่รัก

นิตยสารสารคดี ฉบับนี้ขึ้นปีที่ ๓๒ แล้วครับ

ตลอดปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมาจนถึงเดือนนี้ ถ้าคุณผู้อ่านได้ติดตามก็อาจพบข่าวคราวนิตยสารหลายเล่มทยอยปิดตัวไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับการปิดแผงหนังสือ ร้านหนังสือ บ้างก็ใช้พื้นที่ในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ไม่ใช่หนังสือมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับคนทำงานนิตยสารคนหนึ่งก็ได้แต่บอกว่ารู้สึกเศร้าใจกับทิศทางที่กำลังเกิดขึ้น

ต้องยอมรับครับว่า รายได้หลักของนิตยสารส่วนใหญ่นั้นมาจากการขายหน้าโฆษณา และเมื่อเม็ดเงินสำหรับการโฆษณาย้ายจากสิ่งพิมพ์ไปอยู่ที่สื่อโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ก็ย่อมกระทบกับความอยู่รอดของนิตยสารโดยตรง

เมื่อบวกกับการเสพเนื้อหาสาระหรือที่เรียกกันว่า “คอนเทนต์” ของผู้อ่าน เปลี่ยนจากบนหน้ากระดาษไปอยู่ในโลกดิจิทัลออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ

ความต้องการนิตยสารกระดาษก็เริ่มหดหาย…

เดี๋ยวนี้คอนเทนต์แทบทุกเรื่องที่เราสนใจใคร่รู้ก็อาจค้น ๆ หา ๆ อ่านได้ในโลกดิจิทัลแทบจะทันที ไม่ต้องรอสิ้นเดือนหรือต้นเดือนให้นิตยสารฉบับไหนวางแผง

คุณผู้อ่านยังอาจสังเกตพฤติกรรมตนเองได้ว่า ยิ่งนับวันยิ่งอ่านยิ่งดูอะไรสั้นลง ๆ เรื่อย ๆ เรื่องราวที่สนใจก็แตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ ตามความรักความชอบ สนใจแนวไหนก็อ่านแนวนั้น แนวไหนไม่สนใจ ข่าวคราวก็ยิ่งห่างหายจากการรับรู้

แน่นอนว่าธรรมชาติของนิตยสารที่รวบรวมเรื่องราวน่าอ่านต่าง ๆ ตามความคิดความเห็นของคนทำ และมีวาระการออกเป็นเดือน ๆ ก็ยิ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้อ่านได้ยากลำบาก ทั้งความแม่นยำ ทันเวลา และทันสถานการณ์

โลกดิจิทัลที่มีคอนเทนต์หลากหลาย จำนวนมหาศาล และตอบสนองรวดเร็วเข้าถึงตัว จึงเหนือล้ำกว่านิตยสารที่ใช้เวลา ๓๐ วันกว่าจะกลับมาพบผู้อ่านอีกครั้งบนแผงหนังสือที่ต้องเดินไปหา

ทิศทางหนึ่งที่คนทำนิตยสารจึงมักกล่าวถึง คือการนำนิตยสารไปเผยแพร่ในโลกดิจิทัลเป็นอีบุ๊กหรือ อีแมกกาซีน

แต่จะเอาตัวรอดหรือไม่ ยังเป็นคำถามตัวโต ๆ

เพราะคู่แข่งที่แย่งชิงเวลาผู้อ่านในโลกดิจิทัลนั้นมีมากมายมหาศาล ตั้งแต่บรรดาเกมฆ่าเวลา สื่อสังคมออนไลน์ให้โพสต์ แชร์ ไลก์ ยิ่งการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนกลุ่มต่าง ๆ ก็กินเวลาบนหน้าจอแทบจะเกือบหมด

พฤติกรรมของผู้อ่านที่ไม่ต้องการความลึกซึ้งมากมาย ขอเพียงข้อความสั้น ๆ ไม่ต้องการแพ็กเกจเนื้อหาขนาดใหญ่ ๆ แต่ขอเรื่องราวย่อย ๆ หยิบชิมง่าย และถ้าไม่ใช่เรื่อง “ดรามา” ก็อาจไม่สนใจ

ที่สำคัญในท่ามกลางความมหาศาลของข้อมูลในโลกดิจิทัลนั้น เรายังอยากค้นหาให้ได้คำตอบรวดเร็วที่สุด อยากอ่านเรื่องใคร เรื่องอะไร ที่ไหน เวลาไหน บนอุปกรณ์อะไร เป็นอิสระที่ผู้อ่านต้องการ ไม่นับอำนาจในการเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเอง สิ่งที่เขียน ภาพหรือวิดีโอที่ถ่าย เชื่อมทุกคนกับโลกใบใหญ่ หลายคนอาจกลายเป็นผู้นำเสนอคอนเทนต์ที่มีผู้ติดตามมากมาย และอาจสร้างรายได้จากค่าโฆษณาที่เข้ามา โดยไม่ต้องประจำกองบรรณาธิการของสื่อค่ายไหน

ความเร็วของโลกดิจิทัล (ที่จะเร็วขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการมาของ 4G) ยังทำให้คอนเทนต์ที่เคลื่อนไหวมีอินเทอร์แอกทิฟกับผู้เสพ ได้เปรียบคอนเทนต์แบบนิ่ง ๆ เฉย ๆ และสีสันสดสวยของหน้าจอจะทำให้การดูการชมดึงดูดกว่าการอ่าน

การย้ายนิตยสารทั้งเล่มไปให้เปิดอ่านบนมือถือหรือแท็บเลต จะเป็นคำตอบหรือไม่ จึงน่าสงสัย

ผมเอาแต่ยกความได้เปรียบสุดขีดของโลกดิจิทัลมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงตั้งคำถามว่าแล้วนิตยสารสารคดี จะเป็นอย่างไร

ณ วันนี้เรายังยืนยันหนักแน่นว่านิตยสารสารคดี จะคงความเป็นนิตยสารกระดาษที่นำเสนอสาระเพื่อสังคมและผู้อ่านต่อไปครับ ด้วยคอนเทนต์ที่เราพยายามคัดสรรและจัดทำอย่างเจาะลึก ซึ่งไม่สามารถหาอ่านจากสื่อออนไลน์ไหน

แต่จะอยู่รอดหรือเปล่า ?

โดยพื้นฐานด้านรายได้ สารคดี ยืนอยู่บนสามขา คือ รายได้จากการขายหน้าโฆษณา รายได้จากการขายตามร้านหนังสือ และรายได้จากสมาชิกประจำ ซึ่งแม้ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมารายได้จากโฆษณาจะลดน้อยลง แต่เราก็ยังมีฐานสมาชิกและผู้อ่านที่ยังติดตามสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง

แต่ในอนาคตหากรายได้โฆษณาลดต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างถึงที่สุด ก็อาจเข้าสู่ระดับสถานการณ์ที่ยากลำบากเพราะในความเป็นจริงของการตั้งราคาปกนิตยสารส่วนใหญ่ รายได้ค่าโฆษณาคือตัวรับภาระต้นทุนและสร้างกำไรที่ทำให้นิตยสารสามารถตั้งราคาปกต่ำกว่าราคาปกที่ควรตั้งตามต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้นถ้าขาดรายได้จากโฆษณา แน่นอนครับว่านิตยสารขาดทุน

ทางออกหนึ่งที่มีให้เลือกไม่มากนักนอกจากการปิดตัว คือการปรับขึ้นราคาปกตามต้นทุนที่แท้จริง แต่หากราคาปกสูงขึ้น คำถามคือผู้อ่านจะยังยินดีซื้อนิตยสารนั้นหรือไม่ หรือกลับยิ่งทำให้จำนวนผู้อ่านตกลง นี่ก็กลายเป็นปัญหางูกินหางที่ไม่มีใครตอบได้

ในฐานะคนทำนิตยสารที่รักแผ่นกระดาษในท่ามกลางกระแสสื่อดิจิทัล สิ่งที่เราทำได้ ณ วันนี้ คือการพยายามจัดทำคอนเทนต์ที่ดีที่สุดมานำเสนอผู้อ่าน และฉบับขึ้นปีที่ ๓๒ นี้ สารคดี ก็ได้ปรับปรุงหลายอย่างซึ่งหวังว่าจะถูกใจคุณผู้อ่านทุก ๆ รุ่น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ คอลัมน์ท่องเที่ยวของ “นายรอบรู้” นั้นได้แยกออกจัดพิมพ์เป็น free copy ชื่อ VAMOOSE (วามูส) เพื่อให้ “นายรอบรู้” มีโอกาสนำเสนอสาระการท่องเที่ยวที่เข้มข้นหลากหลายยิ่งกว่าเดิมและเผยแพร่ได้กว้างขวางขึ้น

ดังนั้นนอกจากผู้อ่านจะได้อ่านนิตยสารสารคดี  ในราคาเดิม เรายังแถมนิตยสารท่องเที่ยวอีกเล่มให้ฟรีตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป

เรียกว่าสุดคุ้มกับการซื้อ ๑ แถม ๑

คุณผู้อ่านที่รักครับ ผมขอขอบพระคุณสมาชิกทุกท่านและคุณผู้อ่านทุกคนที่ติดตามเราตลอดมาและต่อไปในการก้าวสู่ปีที่ ๓๒ และขอรับรองว่าทีมงานสารคดี จะตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด พวกเราจึงได้แต่ฝากคุณผู้อ่านช่วยพิจารณาซื้อหาอ่านนิตยสารสารคดี เป็นประจำทุกเดือน และดีที่สุดสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก คือการสมัครสมาชิกรายปีที่ช่วยให้ประหยัดเงินในกระเป๋าลงไปได้อีกพอสมควรทีเดียว และรับประกันว่าจะได้รับนิตยสารสารคดีและ “นายรอบรู้” VAMOOSE ทุกเล่ม

โลกดิจิทัลนั้นกำลังวิ่งไปเร็วจี๋ แต่โลกของนิตยสารกระดาษ ผมเชื่อว่ายังเป็น “กาล-อวกาศ” ของการผ่อนคลายที่แรงโน้มถ่วงไม่ได้ดึงดูดให้เราเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง แต่เดินไปอย่างเนิบช้า และรื่นรมย์ ให้เวลาเราละเลียดกับแสงแดดและสายลมของตัวอักษรและภาพถ่าย เช่นเดียวกับอารมณ์ของการใช้สองเท้าปั่นสองล้อจักรยานไปท่ามกลางเรือกสวนและท้องทุ่ง

เปิดนิตยสาร พลิกกระดาษทีละหน้า ค่อย ๆ อ่านกันอย่างมีความสุขนะครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com