dullayapak03ปัญหาเขตแดนและการแย่งชิงหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ที่จีนมีข้อพิพาทกับสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ จะเป็นต้นเหตุของสงครามครั้งใหญ่หรือไม่เพราะมีมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ มาร่วมด้วย
ถ้าหมายถึงสงครามเต็มรูปแบบระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คิดว่ายัง ตอนนี้ต้องยอมรับว่าศักยภาพทางทหารของจีนเป็นรองสหรัฐฯ อยู่มาก ในทะเลจีนใต้ จีนอ้างความเป็นเจ้าอาณาเขตทางทะเลด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์มองตรงนี้เป็น “ทะเลประวัติศาสตร์” ของตน เทียบได้กับที่ไทยมองอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าวรูปตัว “ก” ว่าเป็น “อ่าวประวัติศาสตร์” เราขีดเส้นตั้งแต่ปลายแหลมแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตัดอ่าวไทยไปทางตะวันตกจนถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยาว ๕๐ กิโลเมตรโดยไม่มีใครค้านเพราะคร่อมด้วยดินแดนไทย แต่กับทะเลจีนใต้นั้นต่างออกไป จีนวาด “แผนที่เส้นประเก้าเส้น” (หรือ “แผนที่ลิ้นวัว”) โดยลากเส้นกินพื้นที่กว่าร้อยละ ๙๐ ของทะเลจีนใต้ สะบั้นความเป็นเจ้าของอาณาเขตทางทะเลของเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ กระทบเส้นทางเดินเรือในน่านน้ำสากล ถ้าจีนยืนยันก็ถือว่าใช้ “ลัทธิเอกภาคีนิยมในทะเลจีนใต้” สถานะจีนจะเปลี่ยนจากคู่ค้ามหามิตรกับเพื่อนบ้านในเอเชียเป็นภัยคุกคาม ตรงนี้ขึ้นกับว่าสหรัฐฯ จะเข้ามาถ่วงดุลกับจีนอย่างไร

มีข่าวว่าจีนกำลังสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้เพื่อวางฐานทัพเรือและหน่วยงานทางทหาร อะไรทำให้จีนตัดสินใจค่อนข้างก้าวร้าวเช่นนี้
เป็นธรรมชาติของมหาอำนาจที่ต้องแสวงหาทรัพยากรมาเติมเต็มความมั่งคั่งของตัวเอง สำหรับจีนการยึดเกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้กระทั่งสร้างเกาะเทียมขึ้นมา ส่งผลดีทางยุทธศาสตร์ คือเป็นพื้นที่รองรับการขยายแสนยานุภาพทางทะเลซึ่งในตอนนี้จีนยังเทียบกับสหรัฐฯ ไม่ได้ ทว่าเมื่อสร้างที่ที่เปรียบได้กับ “ทุ่นลอยน้ำ” สำเร็จ จีนจะมีศักยภาพในเขตน้ำลึกมากขึ้นและเป็นการแหวกสายโซ่ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

ไทยยังถือเป็นหนึ่งในสายโซ่ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ หรือไม่
ยังเป็นอยู่ แม้ระบอบการเมืองการปกครองของเราจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ “มหายุทธศาสตร์” ชาติมหาอำนาจยังคงเดิม มหาอำนาจจะมองว่าระบอบที่ขึ้นมามีอำนาจจะสานสัมพันธ์กับเขาหรือไม่ เขาจะจัดการอย่างไรกับท่าทีของเรา จุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เขาย่อมต้องคงไว้ กรณีสหรัฐฯ ย่อมมองว่าสนามบินอู่ตะเภา ฐานทัพต่าง ๆ ในไทยนั้นมีรัศมีปฏิบัติการครอบคลุมอินโดจีน พม่า และตอนใต้ของจีน ดีกว่าการไปตั้งฐานทัพใหม่ในเวียดนามหรือพม่า แนวคิดนี้มีกลิ่นอายวิธีคิดยุคสงครามเย็น แต่ก็เป็นจริงและยังใช้ได้ในปัจจุบัน เพราะนักภูมิรัฐศาสตร์อเมริกันคิดและวางระบบนี้ไว้นานแล้ว

ถ้าอย่างนั้นการที่ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยหันไปหาจีนมากขึ้นจะมีผลต่ออำนาจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้แค่ไหน
นโยบายต่างประเทศของไทยไม่มีทางหันไปหาจีนอย่างเต็มที่ เรามีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มานาน เพียงแต่หลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ สหรัฐฯ โจมตีไทยบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ประกอบกับจีนมีนโยบายขยายอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ไทยเลยหันไปหาจีนมากขึ้น อีกปัจจัยคือพม่าก็หันไปหาตะวันตกมากขึ้น จีนก็ต้องหาพื้นที่ใหม่ ไทยจึงกลายเป็นสะพานเชื่อมสู่อาเซียนของจีน ผมคิดว่าไทยกำลังใช้นโยบายดุลอำนาจแบบทวิขั้ว คือให้จีนกับสหรัฐอเมริกามาคานกัน อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ใช่ภัยคุกคามของไทย จะสรุปเรื่องนี้เราต้องดูกิจกรรมสองหน่วยงานหลักของรัฐบาลสหรัฐฯ คือกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) กต. สหรัฐฯ แสดงออกด้วยการกดดันไทย แต่ซีไอเอกับหน่วยงานทหารไทยยังคุยกันอยู่ แน่นอนมีการลดระดับความช่วยเหลือทางทหาร แต่ความร่วมมือหลัก ๆ ยังอยู่ครบ เพราะสำหรับสหรัฐฯ แนวคิดการย้ายกำลังเข้ามาในเอเชียแปซิฟิกยังขาดไทยไม่ได้

ถ้าเราจะเทียบอิทธิพลจีนกับญี่ปุ่นต่ออุษาคเนย์และเอเชียในตอนนี้
จีนได้เปรียบญี่ปุ่นในแง่ภูมิรัฐศาสตร์กรณีการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุษาคเนย์เพราะมีแนวชายแดนติดต่อกัน ทำให้ตั้งด่านการค้าและสร้างกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ได้ เช่น กรอบความร่วมมือด้านการคมนาคม ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นหมู่เกาะ อยู่ไกลในแง่ภูมิศาสตร์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ถ้าวันนี้เราไปที่สามเหลี่ยมทองคำ ไปเมืองลา ไปเมืองชายแดนของรัฐสมาชิกอาเซียนที่ติดจีนตอนใต้ จะเห็นเงินหยวนสะพัดในตลาดมากมาย อาจเพราะความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่เงินเยนไม่มีแต่เงินหยวนมี คืออำนาจทางทหารที่หนุนหลัง ตอนนี้อำนาจทางทหารของจีนลงมาประชิดเขตไทยแล้ว เพราะจีนส่งเรือลงมาลาดตระเวนตามลำน้ำโขงจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ นี่คือสิ่งที่หนุนเงินหยวน กระนั้นสิ่งที่ญี่ปุ่นได้เปรียบคือการทูตทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมบริโภคสินค้าญี่ปุ่นยังได้รับความนิยมกว่า จีนยังต้องคิดอีกมากในส่วนนี้ และประเด็นที่สำคัญคือ จนถึงตอนนี้ญี่ปุ่นยังมีปมปัญหาทางประวัติศาสตร์กับรัฐในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นเคยรุกรานดินแดนแถบนี้

ล่าสุดยังขัดแย้งกับจีนและเกาหลีใต้เรื่องหมู่เกาะอีก ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีปัญหากับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออก แค่ปัญหานี้ก็หนักและจัดการยากมาก ๆ แล้ว
ผมมองว่าเป็นการจัดกำลังรบของญี่ปุ่นให้ไม่ห่างจากจีนและเกาหลีเหนือที่เป็นภัยคุกคามมากจนเกินไปเท่านั้น เอาเข้าจริงในแง่ความสามารถของคนญี่ปุ่นในเวลาไม่นานถ้าอยากมีอาวุธนิวเคลียร์ก็มีได้ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่นไปผูกพันกับสหรัฐอเมริกา จะทำอะไรต้องรอไฟเขียวจากวอชิงตันฯ ด้วย ดังนั้นแม้ญี่ปุ่นจะยังมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ แต่จีนก็เริ่มมีส่วนแบ่งมากขึ้น ๆ