banner-camp-12-for-web-logo

ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
งานเขียนดีเด่น งานภาพชมเชย

เรื่อง : นลิน สินธุประมา
ภาพ : พานิตา ขุนฤทธิ์

มาผลิบานในบ้านเพื่อน - สำรวจโลกตะปุ่มตะป่ำของนักเรียนเมียนมาแห่งตลาดไท

danyale02

09.00 น. วันก่อน

เสียงประสานร้องเพลงชาติไทยแว่วมาตามสายลม สำเนียงเจื้อยแจ้วนั้นบอกใบ้เราว่าต้นเสียงประสานนั้นคือกลุ่มเด็กหญิงและเด็กชายวัยที่เสียงยังไม่แตก หากใครก้มมองนาฬิกาก็คงรู้สึกประหลาดใจ เพราะเข็มสั้นชี้เลขเก้า เลยเวลาที่คนทั่วไปจะเคารพธงชาติมาพักใหญ่ แต่คนในละแวกนั้นคงไม่รู้สึกแปลกอะไร เพราะได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วดังกล่าวจนชินเสียแล้ว ทั้งยังพร้อมจะช่วยชี้ทางไปยังต้นเสียงประสานอันมีชีวิตชีวาบนชั้นสองของอาคารสำนักงานสโมสรหมู่บ้าน “ฟ้าคลองหลวง” หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับปากทางเข้าตลาดไท จ.ปทุมธานี ตลาดค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ศูนย์การเรียนรู้ดันยาเล หรือ Danyale Learning Center (DLC) ตั้งอยู่ที่นั่น

ที่นี่ไม่ใช่ศูนย์การเรียนรู้ธรรมดา

หากเงี่ยหูฟังเพลงชาติไทยจนจบ ก็จะได้ยินเด็กๆ ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีต่อ แม้กลุ่มนักเรียนที่นี่จะสวมเสื้อนักเรียนสีขาว กางเกงและกระโปรงสีน้ำเงินไม่ต่างอะไรจากนักเรียนทั่วๆ ไป แต่เมื่อพินิศดูให้ดี เราจะสังเกตเห็นรอยแป้งทานาคาบนใบหน้าเปื้อนยิ้ม ชาร์ตคำศัพท์ที่ติดไว้บนผนังกับตัวอักษรกลมๆ ที่ไม่ใช่อักษรไทย ผืนธงชาติสามสี เหลือง-เขียว-แดง กับดาวสีขาวดวงใหญ่ตรงกลาง ประดับอยู่บนฝาผนังเคียงข้างกับธงชาติไทยที่เรารู้จักดี และทันทีที่เพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง เด็กๆ จะเริ่มร้องเพลงที่สาม เพลงนี้ร้องด้วยภาษาที่เราไม่คุ้นหู เปล่งทำนองที่เราไม่เคยได้ยิน แต่เสียงของเพลงสุดท้ายดังฟังชัดและมีชีวิตชีวายิ่งกว่าสองเพลงแรกที่ผ่านมา

เพลงนั้นคือ “Kaba Ma Kyei” แปลความได้ว่า “ตราบโลกแหลกสลาย” เพลงชาติของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ขับร้องโดยนักเรียนชาวเมียนมาจากตลาดไท

ความอยากรู้อยากเห็นในตอนแรกจึงนำเรามาอยู่ที่นี่ นั่งทำตาปริบๆ สังเกตการณ์การเรียนการสอนอยู่ในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กเมียนมา ณ ห้องเรียนสำหรับเด็กเล็กอันเจี๊ยวจ๊าวแต่ไม่มีใครพูดภาษาไทย สมองพยายามประมวลหาความหมายจากเสียงพยางค์ที่เราไม่คุ้นหู ทางนู้นเด็กๆ กำลังละเลงสีลงบนกระดาษ สารพัดภาพเหนือจินตนาการทะยอยมาปรากฏขึ้นบนกระดาษขาว ทางนี้เด็กๆ กำลังประชันฝีมือต่อตัวต่อกันอย่างสุดฝีมือ ส่วนทางนั้นเด็กๆ กำลังเล่นไล่จับกันเท่าที่พื้นที่สี่เหลี่ยมในห้องเล็กๆ แห่งนี้จะอำนวย มือเล็กๆ มือหนึ่งเอื้อมมาสะกิดชายเสื้อของเรา พอหันไปมองก็พบเจ้าหญิงตัวน้อยในชุดนักเรียนสวมมงกุฏเพชรกำลังจ้องตาแป๋ว

เรายิ้มให้ เธอยิ้มตอบ

รอยยิ้มสื่อความหมายสากลไม่ว่าในชาติภาษาใด

danyale03

danyale04

09.30 น. วันจากบ้านเกิด

เรายังคงเคยชินกับการเรียกคนเมียนมาว่า “พม่า” แม้รัฐบาลทหารเมียนมาจะเปลี่ยนชื่อจาก “พม่า” เป็น “เมียนมา” ตั้งแต่ พ.ศ.2532 เพราะสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายอาศัยอยู่ ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์หลักประมาณ 7 กลุ่ม และกลุ่มย่อยๆ อีกจำนวนมาก สมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้มีผู้รวบรวมไว้ว่ามีมากถึง 135 กลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่ถูกรวมเข้าใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว ดังนั้น คน พม่า หรือ บ่ะหม่า ในความหมายของชาวเมียนมาจึงหมายถึง คนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์พม่า พูดภาษาพม่าเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงชาวกะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ อาระกัน ฯลฯ ซึ่งก็เป็นประชากรของเมียนมาเช่นกัน

บ่อยครั้งที่เราได้ยินปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวพม่าซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุด กับชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งในเมียนมา รวมไปถึงปัญหาของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในเมียนมาที่ต้องตัดสินใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้แรงงานเมียนมาหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทยเสียทีเดียว

“ค่าครองชีพที่พม่าสูงมาก ทั้งๆ ที่ค่าแรงต่ำ แต่สิ่งที่แย่ที่สุดคือที่นั่นไม่มีงานให้ทำ”

เอพริล หรือ Naw April Hpaw ครูชาวเมียนมาผู้มาเป็นอาสาสมัครสอนที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นครั้งแรก สรุปเหตุผลที่ชาวเมียนมาเข้ามาหางานในประเทศไทยด้วยประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความ ค่าครองชีพที่ย่างกุ้งสูงพอๆ กับกรุงเทพฯ ข้าวแกงธรรมดาๆ จานหนึ่งอาจราคาสูงถึง 70-80 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 120,000 จ๊าด (ประมาณ 3,600 บาท) ต่อเดือน หากเป็นแรงงานมีฝีมือก็อาจได้เงินเดือนสูงขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่มากไปกว่า 500,000 จ๊าด (ประมาณ 15,000 บาท) ต่อเดือน มิหนำซ้ำ ค่าแรงดังกล่าวก็เป็นค่าแรงที่รัฐบาลของเมียนมาร์เพิ่งปรับขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมานี้เท่านั้น ก่อนหน้านี้ค่าแรงในพม่ายิ่งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทว่า ไม่ว่าค่าแรงจะมากหรือน้อย ค่าครองชีพจะสูงหรือต่ำ ตัวเลขเหล่านั้นก็คงไม่มีประโยชน์อะไร
ในเมื่อไม่มีตำแหน่งงานว่างให้ทำ

ชาวเมียนมาจำนวนมากจึงตัดสินใจเข้ามาหางานทำในประเทศไทย

ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจของกระทรวงแรงงาน ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดราว 1.5 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นแรงงานเมียนมา 1.08 ล้านคน คุณเธียรรัตน์ นะวะมะวัตน์ แรงงานจังหวัดปทุมธานีให้ข้อมูลว่า จังหวัดปทุมธานีมีแรงงานต่างด้าวมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ และสมุทรสาคร นับเฉพาะแรงงานเมียนมาได้ราว 86,000 คน แม้ไม่ใช่บริเวณที่มีแรงงานเมียนมาหนาแน่นที่สุดเมื่อเทียบกับแรงงานบริเวณมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร แต่ตลาดไทก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ใครๆ ชอบพูดแซวกันว่าเหมือนประเทศเมียนมามากกว่าประเทศไทย เพราะเดินไปไหนก็เจอแต่ชาวเมียนมา ไม่ว่าจะเดินไปซื้อของร้านใด คนขายก็เป็นชาวเมียนมาทั้งสิ้น

ในปี 2555 จำนวนแรงงานเมียนมาในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องยังไม่ถึงหนึ่งล้านคน แต่การรณรงค์และการเพิ่มมาตรการของภาครัฐทำให้แรงงานเมียนมามาขึ้นทะเบียนแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 คณะรักษาควาสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศว่าด้วยมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ โดยให้ตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เปิดโอกาสให้แรงงานที่ใบอนุญาตหมดอายุ ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมายมาขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราวได้

“เข้มขึ้นมาก” คุณเธียรรัตน์สรุปความเปลี่ยนแปลงในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา “สำนักงานแรงงานต้องมีคณะกรรมการติดตามทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ คอยกำกับดูแลแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ มีผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเป็นกรรมการด้วย หน้าที่หลักของเราคือ ติดตาม กำกับ ดูแล จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ปทุมธานีเป็นจังหวัดเดียวที่มีการจัดตั้ง อสรต. หรืออาสาสมัครแรงงานต่างด้าว เป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับสาธารณสุขเพื่อสร้างเครือข่ายกับแรงงานต่างด้าว เราต้องจัดอบรมให้เขา เป็นการติดอาวุธให้เขา เสริมความรู้ให้เขาโดยการจัดอบรมเรื่องกฏหมายแรงงาน ให้เขารู้ว่าคุณจะอยู่ในประเทศไทย มันมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไร สิทธิที่คุณพึงจะได้ สิทธิที่คุณควรรู้ เพื่อจะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ”

คุณเธียรรัตน์ยืนยันว่าแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะได้รับสิทธิประกันสังคมเหมือนคนไทย ทั้งการรักษาพยาบาลโรคทั่วไป ไปจนถึงการคลอดบุตร ขอเพียงคลอดแล้วพาไปแจ้งเกิด ขึ้นทะเบียนต่างๆ และขอใบอนุญาตสำหรับผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวให้เรียบร้อย ปัจจุบัน มีผู้ติดตามแรงงานเมียนมาในจังหวัดปทุมธานี 295 คน คุณเธียรรัตน์กล่าวว่าการที่แรงงานต่างด้าวมีผู้ติดตามมาด้วยนั้นไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดูแลแรงงานแต่อย่างใด ขอเพียงนายจ้างช่วยดูแลสอดส่องอย่าให้เกิดการใช้แรงงานเด็กเป็นพอ

ประเทศไทยมีมาตรการในการดูแลควบคุมเรื่องแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบระเบียบ พยายามให้มีสวัสดิการและดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานให้แรงงานต่างด้าวในไทยพอสมควร แต่ในทางปฏิบัติก็อาจยังมีข้อจำกัดหลายๆ ประการที่ทำให้การจากบ้านมาทำงานต่างแดนยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก

การศึกษาของลูกแรงงานต่างด้าวเป็นหนึ่งในปัญหาเหล่านั้น

danyale05

danyale06

09.45 น. วันมาอยู่บ้านเพื่อน

“ในกรุงเทพฯ มีศูนย์การเรียนรู้แบบนี้อยู่แค่ 3 แห่งเท่านั้นเอง”

ลวินลวินมอน (Lwin Lwin Mon) เล่าให้เราฟัง เธอเป็นครูใหญ่ชาวเมียนมา เชื้อสายมอญ-กะเหรี่ยง หญิงวัยกลางคนร่างท้วมท่าทางกระฉับกระเฉงและมีรอยยิ้มประดับใบหน้าอยู่เสมอ และเป็นหัวเรือหลักคนปัจจุบันของศูนย์การเรียนรู้ดันยาเลมา 3 ปีกว่าแล้ว ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กเมียนมาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เปิดประปรายอยู่ทั่วไทยมากว่า 20 ปีแล้ว ไล่มาตั้งแต่ที่แม่สอด มหาชัย ระนอง พังงา ภูเก็ต ฯลฯ พื้นที่ใดก็ตามที่มีแรงงานเมียนมาอยู่หนาแน่น จะปรากฎศูนย์การเรียนรู้ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ บางศูนย์ก็ไม่มีระบบระเบียบอะไรมาก บางศูนย์ก็ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆ เป็นหลักเป็นแหล่ง นับเป็นหน่วยงานการศึกษาที่เข้มแข็งพอสมควร

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ไม่ได้มีอายุยาวนานปานนั้น เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อราว 4-5 ปีที่แล้วโดยชาวเมียนมาคนหนึ่งที่มาทำงานอยู่ที่ ASEAN Institute of Technology (AIT) มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดไท ปทุมธานีต่างจากจังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีจำนวนแรงงานเมียนมามากกว่า และมีการจัดศูนย์การเรียนรู้ให้เด็กเมียนมามากมาย สำหรับปทุมธานี ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กเมียนมายังเป็นเรื่องใหม่และมีอยู่กี่แห่ง ลูกๆ ของแรงงานเมียนมาที่ทำงานอยู่ในตลาดไท ทั้งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มอญ ม้ง จึงมารวมตัวกันอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้แรกตั้งแห่งนี้

ลวินลวินมอนเล่าว่า เธอไม่ได้เรียนจบจากคณะสายศึกษาศาสตร์โดยตรง แต่ด้วยความที่เธอเป็นชาวคริสเตียน จบปริญญาโทด้านเทววิทยา และเคยมีประสบการณ์สอนหนังสือให้ชนกลุ่มน้อยชาวปะหล่องอยู่ในประเทศเมียนมามากว่า 8 ปี เพื่อนของเธอจจึงชวนเธอมาช่วยงานที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ “ทีแรกยังเป็นศูนย์เล็กๆ แต่เราค่อยๆ จัดการให้เป็นระบบมากขึ้น จนมีนักเรียนเกือบร้อยคน แล้วเพื่อนฉันก็ย้ายขึ้นไปทำศูนย์การเรียนรู้ที่ภาคเหนือ เลยให้ฉันดูแลศูนย์นี้ต่อ”

เนื่องจากครูลวินลวินมอนเป็นคริสเตียน ศูนย์แห่งนี้จึงชื่อว่า “ดันยาเล” หรือ “แดเนียล” ชื่อนักบุญคนหนึ่งจากคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่เด็กๆ ที่มาเรียนก็ยังมีอิสระที่จะนับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม ครูลวินลวินมอนเล่าว่าศูนย์การเรียนรู้เคยตั้งอยู่ในตลาดไท ใกล้กับที่พักของแรงงานเมียนมาเลย แต่ต่อมาเมื่อเด็กเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ก็ไม่พอ อีกทั้งการเรียนการสอนยังส่งเสียงดังรบกวนของคนงานชาวเมียนมาที่ทำงานกะกลางคืน และหวังจะกลับห้องมานอนพักในช่วงกลางวัน ลวินลวินมอนจึงย้ายศูนย์การเรียนรู้มาอยู่ที่หมู่บ้านฟ้าคลองหลวงซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามทางเข้าตลาดไทแทน โดยมีครูเมียนมาอีก 2 คนช่วยขับรถไปรับเด็กๆ จากตลาดไทมาเรียนที่หมู่บ้านทุกเช้าวันจันทร์ถึงศุกร์

“ฉันไม่เคยอยากเป็นครูเลยรู้ไหม ฉันไม่ได้จบด้านนี้มาโดยตรง แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมาสอนเด็กเล็กๆ ได้ แต่ฉันก็มาที่นี่และพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าต้องสอนเด็กเล็กอย่างไร เพราะฉันไม่ชอบการจัดการศึกษาของเมียนมา รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งสำคัญ”

ครูระบายความอัดอั้นตันใจให้ แม้เรื่องที่พูดและน้ำเสียงจะจริงจังเจือความกังวลและขุ่นเคือง แต่เมื่อเลี้ยวเข้าสู่ห้องเนอร์สเซอรี่ ครูก็ดูผ่อนคลายลงและสองตาส่งประกายระยิบยิ้ม ครูลวินลวินมอนเป็นคนที่มีพลังบวกสูงและพร้อมจะหัวเราะเฮฮาอยู่เสมอ ทว่าเวลามายืนอยู่ต่อหน้าเด็กๆ เธอจะตีสีหน้าเคร่งขรึมและพูดกับพวกเขาด้วยเสียงเข้มๆ เธอเคร่งระเบียบวินัยและเอาใจใส่เด็กๆ ทุกคนอย่างทั่วถึง แม้กระนั้น เมื่อเด็กๆ ยื่นภาพวาดทุกภาพมาให้ดู เธอจะถอดหน้ากากคุณครูเจ้าระเบียบและร้องชมด้วยตาเป็นประกาย เธอแอบกระซิบตื่นเต้นกับเราถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เด็กๆ สร้างขึ้นมาจากตัวต่อ เธอว่าบางครั้งเธอก็ไม่รู้หรอกว่าพวกเขาวาดรูปอะไรหรือต่อตัวต่อเป็นอะไร แต่การกล่าวชื่นชมจะเป็นกำลังใจให้เด็กๆ กล้าทำงานสร้างสรรค์ต่อไป เธอดูมีความสุขและภาคภูมิที่ได้มองเด็กๆ หยิบเอาข้าวของรอบตัวอันจำกัดมาเปิดร้านเล่นขายของบ้าง เล่นพ่อแม่ลูกบ้าง เล่นเป็นเจ้าหญิงบ้าง

“พวกเขาไม่ได้กำลังเล่น พวกเขากำลังเรียนรู้”

ครูบอกเราด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นและอมยิ้ม ช่วงเวลา 09.00 น. – 09.45 น. เป็นช่วงเวลาอิสระที่คุณครูปล่อยให้เด็กๆ เลือกทำกิจกรรมได้ตามใจปรารถนา ใครใคร่วาดรูปวาด ใครใคร่อ่านหนังสืออ่าน ใครใคร่เล่นตัวต่อเล่น เพราะครูบอกเราว่า “การเรียนรู้ช่วงก่อนเข้าโรงเรียนเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด และเรียนรู้คือการปล่อยให้พวกเขาเล่น เพื่อให้พวกเขาได้หัดใช้กล้ามเนื้อมือและเรียนรู้ที่จะคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

ถ้าไม่ให้เล่นแล้วจำไปท่องแต่ตำราสิ โตขึ้นไปจะเป็นปัญหา”

ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้แบ่งนักเรียนเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเด็กเล็กอยู่ในเนอร์สเซอรี่ กลุ่มเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เทียบชั้นได้ประมาณ ป.1-3 และกลุ่มเด็กโตที่เทียบชั้นได้ประมาณ ป.4-6 แต่ครูบอกว่าไม่มีเกณฑ์การแบ่งชัดเจน เด็กทุกคนจะต้องสอบวัดระดับความสามารถของตัวเอง บางคนอาจจะอยู่ ชั้น ป.6 ในชั้นเรียนภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ แต่อยู่ ป.5 ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ อยู่ ป.3 ในชั้นเรียนภาษาไทยและวิทยาศตร์ก็ได้ เมื่อรู้ว่าความสามารถของเด็กแต่ละคนอยู่ในระดับไหน ครูก็เลือกเนื้อหาที่จะสอนให้เด็กนักเรียนในแต่ละวันได้ถูกต้อง

ศูนย์การเรียนรู้ที่นี่สอนเพียง 5 วิชา โดยครูอาสาสมัครที่แวะเวียนกันมาช่วยสอน ทั้งครูภาษาไทยอาสาสมัครจากในหมู่บ้าน และเพื่อนครูชาวฟิลิปินส์จาก AIT ก็คอยแวะเวียนมาช่วยสอนภาษาอังกฤษ ทั้งยังได้อดีตอาจารย์สาขาวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ลวินลวินมอนบอกอย่างยิ้มแย้มว่านั่นคือพ่อของเธอเอง หลังจากเกษียณแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร จึงมาช่วยเธอสอนหนังสือให้ฟรีๆ ส่วนครูประจำอีกสองคนนั้นคอยช่วยสอนภาษาพม่าให้เด็กๆ และดูแลเด็กเล็ก แต่ทั้งคู่ก็แทบไม่ต่างอะไรจากอาสาสมัครคนอื่นๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด

“เราเก็บเงินนักเรียนเดือนละ 1,000 บาท รวมหมดแล้วทั้งค่าเล่าเรียนและค่ารถไปรับไปส่งให้ทุกวัน” ครูลวินลวินมอนเล่าถึงสถานภาพทางการเงิน เมื่อบวกลบคูณหารกับค่าเช่าอาคารที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ ค่าน้ำ-ไฟที่แยกออกมาต่างหาก ค่าน้ำมัน และอีกสารพัดค่าจิปาถะ เงินทั้งหมดที่เก็บมาจากผู้ปกครองก็เหลือน้อยเต็มที ครูลวินลวินมอนจึงทำได้เพียงหารเงินให้ตัวเองและครูอีกสองคนไปคนละนิดคนละหน่อย แต่ก็ไม่มีใครบ่นครวญ ไม่มีใครพูดถึงความร่ำรวย

อาจเป็นเพราะทุกคนที่นี่มีหัวใจดวงเดียวกับ Evangeline Delin ครูอาสามาสมัครชาวฟิลิปปินส์ที่ตระเวนสอนภาษาอังกฤษตามศูนย์การเรียนรู้ทั้งเมียนมา เวียดนาม และประเทศอื่นๆ มากว่าสิบปี โดยไม่คิดจะเก็งกำไร

“ฉันแค่อยากช่วยเหลือผู้คน”

danyale07

danyale08

10.30 น. วันประชุมผู้ปกครอง

เช้าตรู่วันหนึ่งในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจปรากฏตัวขึ้น ณ บริเวณที่พักของแรงงานต่างด้าวในตลาดไทย พร้อมรถบรรทุกคันใหญ่ ตระเวนเคาะประตูห้องและขุดเด็กๆ ขึ้นมาจากที่นอน ตรงเข้าตรวจเอกสารและส่งเด็กๆ ชาวเมียนมากลับบ้านทันที แม้กระทั่งเด็กที่มีพาสปอร์ต วีซ่า และใบอนุญาตให้เป็นผู้ติดตามพ่อแม่อย่างถูกต้องก็ติดร่างแหถูกส่งกลับไปด้วย เจ้าหน้าที่ส่งพวกเขาขึ้นรถกลับเมียนมาทันทีในเช้าวันนั้น โชคยังดีที่ผู้ปกครองได้รับอนุญาตให้กลับไปส่งลูกๆ ของตัวเองที่ประเทศ

“ปีที่แล้วฉันมีนักเรียนเกือบ 75 คน แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พวกเขามาไล่จับเด็กๆ ตามบ้าน และส่งกลับประเทศไปหมด ทีแรกฉันคิดว่าจะต้องปิดศูนย์การเรียนรู้ไปแล้วด้วยซ้ำ ตอนที่เปิดเทอมมา ฉันเหลือนักเรียนแค่ 4 คนเท่านั้นเอง”

เป็นครั้งแรกที่เราเห็นครูลวินลวินมอนเล่าเรื่องด้วยความโกรธ ก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าเห็นเด็กมาทำงานเป็นแรงงานในตลาดไท ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีรับจ้างทำงานใดๆ ครูบอกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม พ่อแม่ไม่รู้จะส่งลูกไปที่ไหน จึงต้องพาไปทำงานด้วย แต่ครูเองก็ยืนยันว่าไม่ได้พาไปทำงาน เพียงพาไปที่ทำงานเท่านั้น ไม่ว่าความจริงหรือภาพที่ปรากฎสู่สายตาคนภายนอกจะเป็นอย่างไร เด็กเมียนมาเกือบทุกคนในตลาดไทก็ถูกส่งกลับไปเสียแล้ว

“แต่เด็กจะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กบางคนยังแบเบาะอยู่เลย พวกเขาต้องเอาลูกไปฝากไว้กับญาติ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่ญาติสนิท แล้วก็กลับเข้ามาทำงานไทยใหม่ พวกเขาต้องกลับมาที่นี่เพราะที่เมียนมาไม่มีเงิน”

แม้ใน พรบ. ฉบับล่าสุดจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับลูกของแรงงานต่างด้าว ที่ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามขออยู่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในประเทศไทยได้ แต่การจัดการในส่วนนั้นก็ตกหล่นสูญหาย และบางอย่างก็เป็นปัญหาเรื้อรังมาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างคนเมียนมาและคนไทย ครูลวินลวินมอนแจงเอกสารที่ต้องใช้ในการขอทำใบอนุญาตเป็นผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวให้เราดู เด็กกลุ่มที่มีปัญหาที่สุดคือ เด็กเมียนมาที่เกิดในประเทศไทยและแจ้งเกิดในไทย

ชื่อในสูติบัตรนั้นเขียนเป็นภาษาไทย ชื่อของเด็กไม่ใช่ปัญหา แต่ความวิงเวียนเศียรเกล้าเริ่มขึ้นมาถึงชื่อพ่อแม่ของเด็กชาวเมียนมา ครูชี้ให้เราเห็นว่าชื่อพ่อแม่เด็กในสูติบัตรนั้นไม่ตรงกับชื่อของพ่อแม่ที่ระบุไว้ในพาสปอร์ต เมื่อจะนำเอกสารไปยื่น ชื่อก็ไม่ตรงกัน ส่งผลให้เอกสารเหล่านั้นถูกตีกลับมา

ชื่อภาษาเมียนมานั้นฟังยากมากสำหรับคนไทย เวลาไปแจ้งเกิดที่อำเภอ หากเจ้าหน้าที่ฟังชื่อพ่อแม่ไม่ออกก็จะขอให้บอกชื่อภาษาไทยแทน ชาวเมียนมาบางคนก็มีชื่อภาษาไทยอีกชื่อระบุไว้ในพาสปอร์ต ทว่าบางคน แม้จะมีชื่อภาษาไทยเป็นของตัวเองแต่ก็ไม่ได้ระบุไว้ในพาสปอร์ตแต่แรก ทำให้ชื่อทั้งสองตำแหน่งไม่ตรงกัน ตำแหน่งหนึ่งเป็นชื่อไทย อีกตำแหน่งเป็นชื่อภาษาพม่า หรือบางครั้งเจ้าหย้าที่พยายามถอดเสียงภาษาพม่าออกมาแต่ถอดผิด กลายเป็นชื่ออื่นที่ไม่ตรงกับทั้งชื่อไทยและชื่อพม่าของเจ้าตัวเลยก็มี

ครูลวินลวินมอนจึงต้องสละเวลานอกห้องเรียนที่เหลือของเธอเป็นฝ่ายวิ่งวุ่นจัดการกับปัญหาเอกสาร และไปธุระที่สถานทูตกับสนามบินไม่เว้นสัปดาห์ เด็กๆ ค่อยๆ ทะยอยกลับเข้ามาในประเทศไทย จนตอนนี้ที่ศูนย์การเรียนรู้ดันยาเลมีนักเรียนชาวเมียนมาอยู่ราว 35 คน แต่ก็ยังเหลือเอกสารของเด็กๆ ให้จัดการอีกเป็นตั้ง

วันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติของไทย ครูจึงถือโอกาสจัดงานวันแม่และเชิญแม่ๆ ของเด็กนักเรียนเมียนมามาร่วมงาน วันนั้นไม่มีการเรียนการสอน เด็กผู้หญิงใส่ชุดกระโปรงสวยเป็นพิเศษ มีการจัดประกวดภาพวาดและเรียงความ พร้อมเกร็ดความรู้เล็กน้อยจากครูลวินลวินมอน ผู้ไม่ลืมสอนเด็กๆ ว่าวันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่ของประเทศไทยเท่านั้น ยังมีวันแม่สากลที่ทั่วโลกกำหนดไว้ให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม

วันที่ที่ถูกกำหนดไว้ในปฏิทินอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการกระทำและการปฏิบัติต่อกันในทุกวันๆ

พอเสร็จพิธีที่ให้เด็กๆ ได้กราบแม่และร้องเพลงตอบแทนพระคุณ เด็กๆ ก็เริ่มวิ่งเล่นกันเจี๊ยวจ๊าว ครูลวินลวินมอนถือโอกาสให้แม่ๆ ของนักเรียนที่มารวมตัวกันในวันนี้ร่วมประชุมผู้ปกครอง อาจไม่ใช่โอกาสที่หาได้บ่อยนัก เพราะแรงงานเมียนมาในตลาดไทต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่เคยมีวันหยุด บรรดาคุณแม่ชาวเมียนมาแต่งตัวสวยและดูสดชื่นเป็นพิเศษ แต่เมื่อเริ่มฟังคุณครูอธิบายปัญหาเอกสารต่างๆ ที่ยังค้างคา รอยความกังวลเล็กๆ ก็ค่อยๆ ปรากฏในดวงตา

เด็กๆ เริ่มเสียงดังจนครูลวินลวินมอนร้องเสียงดุ ไล่ให้ลงไปเล่นฟุตบอลกันข้างล่าง เด็กผู้ชายเฮลั่น ทุกคนกรูกันลงไป พอเด็กๆ ลับสายตา ครูลวินลวินมอนก็หันมาหัวเราะและยิ้มเอ็นดู

“เด็กๆ ชอบมากเวลาได้เล่นฟุตบอล”

danyale09

danyale10

11.30 น. วันเยี่ยมบ้าน

เด็กคนหนึ่งชอบวาดรูปมาก วันหนึ่ง แม่ออกไปทำงาน แม่สั่งเขาว่าให้ช่วยดูน้องสาววัยแบเบาะด้วย แต่ปรากฏว่าเมื่อแม่กลับมา กลับพบว่าบ้านสกปรกมาก น้องก็เนื้อตัวมอมแมมไปหมด แม่โมโหมาก เพราะเด็กคนนั้นไม่ช่วยดูแลงานบ้าน เอาแต่วาดรูป แต่พอแม่ได้เห็นรูปที่ลูกชายของเธอวาด เธอก็พบว่าผู้หญิงในรูปวาดนั้นคือตัวเธอเอง แม้ทั้งบ้านทั้งน้องสกปรกหมดเลย แต่เมื่อเห็นว่าลูกวาดรูปตัวเอง แม่ก็เลยหอมแก้มลูกชายของเธอแทนที่จะตีหรือดุด่า ในที่สุด วันหนึ่งเด็กคนนี้ก็กลายเป็นจิตกรที่มีชื่อเสียง โด่งดัง แล้วทุกครั้งที่มีคนสัมภาษณ์จิตรกรคนนี้ว่าทำไมเขาถึงวาดรูปได้สวย เขาก็จะตอบว่า

“เพราะแม่หอมแก้ม”

ครูลวินลวินมอนเล่านิทานให้ทุกคนฟังเนื่องในโอกาสวันแม่ แม้จะบอกว่าเล่าให้เด็กๆ ฟัง แต่เรื่องนี้คล้ายจะตั้งใจเล่าให้ผู้ปกครองฟังมากกว่า เพราะพอเล่าจบครูก็หันมาสอนแม่ชาวเมียนมาว่า เวลาเด็กทำอะไรต้องชม อยากเป็นอะไรก็ต้องคอยสนับสนุน เมื่อเรามีโอกาสตามไปที่บ้านของ Min Thant Oo หรือพิว เด็กชายชาวมอญวัย11 ปี พ่อของพิวก็พูดยิ้มๆ ว่าอยากส่งพิวให้เรียนจบถึงมหาวิทยาลัย

“เขาจะได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้”

แต่การเรียนหนังสือในศูนย์การเรียนรู้ดันยาเลย่อมไม่เพียงพอต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนการสอนที่นี่ไม่ใช่หลักสูตรมาตรฐาน แต่เป็นไปเพื่อให้เด็กๆ พอมีความรู้ที่จะเอาตัวรอดอยู่ได้ โดยเน้นการสอนภาษาถึง 3 ภาษาคือ พม่า อังกฤษ และไทย แต่ความรู้ในเชิงวิชาการที่จะนำไปสอบแข่งขันนั้นจะสอนอย่างไรได้ในศูนย์การเรียนรู้เล็กๆ ที่ไม่ได้มีงบประมาณสนับสนุนเหลือเฟือเช่นนี้ แต่พ่อของพิวก็ยังยืนยันที่จะให้ลูกเรียนที่ DLC ต่อไป เช่นเดียวกับพี่ชายของพิวอีกสองคนที่เคยเป็นลูกศิษย์ของครูลวินลวินมอนมาก่อนเช่นกัน

“เขาจะได้พูดภาษาพม่าได้”

แม่ของพิวให้เหตุผล ตรงกับที่ครูลวินลวินมอนเล่าว่า พ่อแม่ชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งไม่อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนไทย เพราะกลัวว่าลูกจะฟังพูดอ่านเขียนภาษาพม่าไม่ได้ หลายครอบครัวไม่ได้วางแผนจะทำงานอยู่ในประเทศไทยตลอดไป พวกเขามีแผนที่จะเก็บเงินให้ได้จำนวนหนึ่งและกลับบ้าน อย่างครอบครัวของพิวเป็นชาวเมียนมาเชื้อสายมอญ จากเมืองมะละแหม่ง พ่อกับแม่อยู่ทำงานขายพริกแห้งในตลาดไทมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ทั้งครอบครัวก็ได้กลับบ้านทุก 1-2 ปี พ่อของพิวเล่าอย่างภูมิใจว่าค่อยๆ เก็บหอมรอมริบจนซื้อที่ดินไว้ที่มะละแหม่งได้จำนวนหนึ่งแล้ว ถึงวันนั้นพ่อแม่ก็คงอยากให้ลูกๆ กลับไปเรียนต่อที่เมียนมาได้

“แต่การศึกษาไทยยังดีกว่าที่เมียนมามาก ฉันเองก็มีลูกสาว 3 คนและให้เข้าเรียนในโรงเรียนไทย”

ครูลวินลวินมอนเผยอีกมุมหนึ่งของตัวเอง ในฐานะคนเป็นแม่ที่ปรารถนาสิ่งที่ดีทีสุดสำหรับลูกสาว เธอบอกว่าการศึกษาที่เมียนมายังคงเน้นแต่การท่องจำเพื่อไปสอบมากกว่าที่ไทยเสียอีก ครูลวินลวินมอนจึงพยายามสนับสนุนให้พ่อแม่ชาวเมียนมาพาลูกๆ ไปเข้าเรียนในโรงเรียนไทยหากมีโอกาส ความจริงแล้วเด็กๆ ชาวเมียนมาทุกคนมีสิทธิเข้าศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะมีเอกสารหรือไม่

การให้เด็กคนหนึ่งได้เรียนหนังสือเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 ระบุไว้ว่าจะเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฏร หรือไม่มีสัญชาติ ไม่มีเอกสารระบุสถานะตัวตนต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยเข้าศึกษาได มีหลายกลุ่มนะคะ เช่น ชาวเขา ญวณอพยพ ฯลฯ รวมทั้งเด็กจากประเทศเมียนมา สามารถเข้าเรียนได้ทุกระดับการศึกษา เรียนได้ทุกประเภท และทุกพื้นที่ ถ้าไม่ไปขัดกับระเบียบเฉพาะอื่นๆ นะคะ เช่น บางวิชาชีพ ก็จะกำหนดไว้ว่าคนที่เรียนต้องมีสัญชาติไทย หรือกรณีจะกู้เงิน กยศ. เรียน ก็ทำไม่ได้ค่ะ เพราะเขาก็จะมีระเบียบเฉพาะว่าผู้กู้ต้องมีสัญชาติไทย”

คำบอกเล่าจาก พี่ใหม่ หรือ อารีลักษณ์ ไพรัตน์ นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ผู้กำลังศึกษาการได้รับการศึกษาและการเป็นเด็กต่างด้าวในประเทศไทย โดยใช้พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นกรณีศึกษา แต่เมื่อพูดคุยลงไปในรายละเอียด ครูลวินลวินมอนเล่าว่า บ่อยครั้งโรงเรียนก็ปฏิเสธที่รับนักเรียนชาวเมียนมาเข้าเรียน หรือบางครั้งก็นัดผู้ปกครองให้มาพบหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงขอเรียกดูเอกสารต่างๆ ทำให้ผู้ปกครองซึ่งเป็นแรงงานอยู่ในตลาดไท ขาดงานบ่อยไม่ได้ ต้องถอดใจและส่งลูกไปเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ตามเดิม

“ในทางปฏิบัติก็อาจจะเป็นอีกเรื่องนึงน่ะค่ะ” พี่ใหม่เสนอเหตุผลในฝ่ายของโรงเรียนไทย “เพราะโรงเรียนเองก็มีความไม่พร้อมหลายอย่าง เช่น ห้องเรียนสำหรับเด็กที่โรงเรียนจะรับเข้ามาเพิ่ม บุคลากรครู ต้องรู้ภาษาพม่าไหม? การสื่อสารกับเด็กจะทำยังไง พ่อแม่ผู้ปกครองคนพม่าจะสามารถมาสมัครเรียนโดยตรงได้หรือไม่ อย่างในพื้นที่สมุทรสาครที่พี่ทำวิทยานิพนธ์อยู่ ทั้งจังหวัดมีประมาณ ร้อยกว่าโรงเรียน แต่มีแค่สี่โรงเรียนที่รับเด็กพม่าเข้าเรียนเกินร้อยคนค่ะ สี่โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีความร่วมมือจัดการศึกษาโดยองค์กรพัฒนาเอกชน และเงินงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนด้วยค่ะ การจัดการศึกษาถึงจะเกิดได้จริง ประมาณว่า บริษัทบริจาคเงินสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม ภาคเอกชนสนับสนุนงบประมาณจ้างครูพม่าที่สื่อสารภาษาไทยได้มาช่วยสอน องค์กรพัฒนาเอกชนลงชุมชนไปประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิทางการศึกษาให้ผู้ปกครองถึงในชุมชนแรงงาน

พี่เคยมีประสบการณ์พาเด็กพม่าไปสมัครเรียนที่โรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดสมุทรสาคร เพราะน้องเขาอยากเรียนและโรงเรียนนั้นก็อยู่ใกล้ที่พักของเขา แต่ผู้อำนวยการก็ปฏิเสธที่จะรับเด็ก เพราะโรงเรียนไม่เคยจัดการสอนให้เด็กกลุ่มนี้ เขาก็จะพูดถึงเรื่องความไม่พร้อมของสถานศึกษาน่ะค่ะ เช่น เขาไม่มีครูพม่า ไม่เคยมีเด็กพม่า โรงเรียนมีแต่เด็กไทย สุดท้ายเขาก็แนะนำให้พี่พาไปเรียนโรงเรียน 1 ใน 4 ที่พี่บอกแหละ เพราะเขาบอกที่นั่นเด็กพม่าเยอะ”

พื้นที่ที่พี่ใหม่ลงไปศึกษานั้นมีจำนวนเด็กเมียนมาอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าที่ปทุมธานี จึงค่อนข้างเห็นการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเมียนมาร์ที่เป็นรูปธรรมกว่า แต่สำหรับโรงเรียนไทยที่ครูลวินลวินมอนส่งลูกไปเรียนนั้นเป็นโรงเรียนไทยธรรมดาที่ไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเมียนมาเป็นพิเศษ ลูกสาวทั้งสามคนของเด็กจึงต้องพยายามเรียนภาษาไทยอย่างเข้มข้นเพื่อให้สื่อสารกับทุกคนได้ และเรียนภาษาพม่ากับภาษาอังกฤษเพิ่มที่บ้านด้วย แม้กระนั้นการได้เรียนในโรงเรียนไทยก็ยังไม่รับประกันโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงขึ้นไป

“หนูอยากเป็นนักร้อง”

โซเฟียพูดด้วยสำเนียงไทยอันชัดเจน เธอคือลูกสาวคนโตของครูลวินลวินมอน ชอบเล่นดนตรี มีความฝัน และเรียนเก่งเป็นที่หนึ่งของห้อง “แต่สอบได้ที่หนึ่งแล้วมีประโยชน์อะไร” เด็กหญิงชาวเมียนมาพูดด้วยความน้อยใจ เธออายุ 12 แล้ว กำลังจะย่างเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น แต่กลับยังเรียนอยู่ชั้น ป.3 ในห้องเรียนเดียวกับน้องสาวของเธออีกทั้ง 2 คน เพราะขั้นตอนการสอบเทียบทำให้เธอต้องย้อนมาเรียน ป.3 ทั้งๆ ที่เด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกับเธอควรอยู่ ป.6 หรือเตรียมขึ้น ม.1 ตัวเลขที่ห่างกันไม่กี่ตัวอาจไม่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่ แต่ส่งผลต่อจิตใจของเด็กหญิงคนหนึ่งที่กำลังจะก้าวไปเป็นเด็กสาวอย่างยิ่ง

โซเฟียเล่าว่าเธออยากจะลองเรียน กศน. หลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่จะช่วยย่นระยะเวลาการศึกษาให้เธอ และเมื่อเธออายุราว 18-19 ปี เธอก็จะพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เหมือนเด็กในวัยเดียวกัน แต่ลวินลวินมอนผู้เป็นแม่ก็ยังกังวลถึงความเข้มข้นของหลักสูตร กศน. และข้อจำกัดของโอกาสในการศึกษาต่อ หากจบจาก กศน. เมื่อเทียบกับคนที่เรียนจบจากโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป ครูลวินลวินมอนผู้เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ปกครองชาวเมียนมาอีกหลายสิบชีวิต ก็กำลังเผชิญเรื่องกลุ้มใจในแบบเดียวกับที่ผู้ปกครองคนอื่นต้องเผชิญ

การให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนไทยจึงไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงตอนที่พาลูกเข้าไปสมัครเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระหว่างเรียนที่ต้องเหนื่อยกันทั้งตัวนักเรียนและผู้ปกครอง ดังนั้น สำหรับแรงงานเมียนมาหาเช้ากินค่ำในตลาดไทจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนไทยได้

“ไม่รู้เหมือนกัน”

เป็นคำตอบที่เราได้รับเมื่อถามถึงอนาคตของเฮววิน (Hein Win) เด็กชายชาวกะเหรี่ยงวัย 12 ปีที่เพิ่งตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ 3 ปี พ่อของเฮววินเข้ามาอยู่ไทยได้ 10 ปีแล้ว ขณะที่แม่เพิ่งย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ราว 6 ปีเท่านั้น ทั้งสองทำงานรับจ้างในตลาดไท และอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ พ่ออยากให้เด็กชายมีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงๆ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าจะวาดหวังอนาคตให้ลูกชายเติบโตไปในทางใด เพราะแม้แต่การทำความเข้าใจกับระบบและโอกาสที่จะได้เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นต่างๆ ก็ยังเป็นเรื่องยาก

“ก่อนหน้านี้เมียนมาไม่มีระบบการสอบเทียบ เด็กที่ไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียนของเมียนมาตั้งแต่แรกจะกลับไปเรียนต่อไม่ได้ แต่เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลเพิ่งจัดให้มีการสอบเทียบ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กๆ รู้ภาษาพม่า วันหนึ่งเขาจะกลับไปสอบเทียบ และเข้าไปเรียนต่อในโรงเรียนเมียนมาได้”

แต่อนาคตทางการศึกษาของนักเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ที่ DLC ก็ใช่ว่าจะมืดหม่น ประเทศเมียนมายังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและกำลังเร่งวางระบบต่างๆ ใหม่อย่างแข็งขัน และเหล่าอาสามัครและครูในศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ทั่วประเทศไทยก็เริ่มมีการรวมตัวกันจัดตั้งองค์การที่ดำเนินงานด้านการศึกษาของเด็กๆ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“Migrant Education Integration Initiative หรือ MEII ตั้งขึ้นมา 2 ปีแล้ว (2013) เรากำลังพยายามยื่นข้อต่อรองทั้งกับรัฐบาลไทยและเมียนมาร์เรื่องการสอบเทียบของเด็กชาวเมียนมาในประเทศไทย โดยเราจะพยายามให้มีการวัดระดับใน 3 วิชาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และภาษาไทย และเด็กสามารถนำผลคะแนนสอบนั้นไปยื่นเพื่อขอเข้าศึกษาทั้งในโรงเรียนไทยและเมียนมาได้”

ครูลวินลวินมอนบอกว่าข้อสอบวัดระดับของเมียนมาร์ในปัจจุบันนั้นดึงมาจากหลักสูตรในหนังสือเรียน ซึ่งจะมีเนื้อหาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หรือเนื้อหาที่ซับซ้อนกว่าภาษาในชีวิตประจำวันรวมอยู่ด้วย แน่นอนว่าภาษาเหล่านั้นยากเกินไปสำหรับเด็กๆ ที่ได้รับการศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ต่างบ้านต่างเมืองเช่นนี้ เธออยากให้มีข้อสอบที่เพียงวัดความสามารถทางการสื่อสารของเด็ก ให้มั่นใจว่าเด็กเข้าโรงเรียนไปแล้วจะสามารถเรียนหนังสือและสื่อสารกับครูได้ ก่อนจะไปเรียนต่อยอด
ความรู้อื่นๆ ในภายหลัง MEII จึงเป็นความหวังหนึ่งของนักเรียนเมียนมาร์ที่จะช่วยให้พวกเขามีโอกาสศึกษาต่อ หรืออีกหนทางคือการศึกษานอกระบบ (กศน.) ที่อนุญาตให้ผู้มีสัญชาติพม่าเรียนต่อได้จนจบมัธยม

แต่เมื่อครูลวินลวินมอนถามเฮววินว่าอยากเรียนโรงเรียนไทยไหม เด็กชายที่เหมือนจะเอาแต่ก้มหน้าก้มตาเล่นสมาร์ทโฟนและทำเป็นไม่ฟังบทสนทนาของผู้ใหญ่เมื่อครู่ เงยหน้าขึ้นมาสบตา

พยักหน้าหนึ่งครั้งอย่างหนักแน่น

danyale11

danyale12

15.00 น. วันที่ยังไม่รู้อนาคต

การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ไทยเผชิญหน้ากับพม่าในแมชท์นี้

สองพี่น้องชาวเมียนมาร์เชิดหน้าใส่กันและประกาศตนเชียร์คนละทีม คนหนึ่งเชียร์ทีมเมียนมา ทีมเชื้อสายบ้านเกิด แต่อีกคนเชียร์ทีมชาติไทย ครูลวินลวินมอนเล่าด้วยน้ำเสียงกึ่งหนักใจว่านั่นเป็นผลจากการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน

“เราต่างเขียนตำราประวัติศาสตร์เพื่อเข้าข้างตัวเอง คุณรู้ไหม? ขณะที่ตำราประวัติศาสตร์พม่าก็เขียนให้ตัวเองดูเป็นคนดี ตำราประวัติศาสตร์ไทยก็ทำให้พม่าดูเป็นผู้ร้าย พวกเขาพูดถึงสงครามระหว่างไทย-พม่าบ่อยมาก และลูกสาวของฉันก็บ่นกับฉันว่าสงสารประเทศไทยที่เคยต้องเสียดินแดนไปในอดีต”

ไม่ใช่เพียงความลักลั่นเรื่องภาษา ที่ทำให้ผู้ปกครองชาวเมียนมาไม่กล้าส่งลูกไปโรงเรียนไทย เพราะกลัวว่าลูกจะพูดภาษาพม่าไม่ได้ แต่เนื้อหาหลักสูตรการสอนของไทยเองก็ยังความกังวลให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ในกรณีนี้ ครูลวินลวินมอนผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย บอกว่าเธอเข้าใจดีว่าเราไม่อาจเชื่อถือประวัติศาสตร์ชาติที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ผลิตออกมา เพราะตำราประวัติศาสตร์ล้วนบรรจุแนวคิดชาตินิยมเอาไว้ เธอเล่าให้ฟังว่าพยายามทำความเข้าใจกับลูกๆ และสอนให้ลูกสาวรู้จักทั้งประวัติศาสตร์ทั้งในมุมมองของเมียนมาและไทย

โซเฟียและน้องสาวอีกสองคนอาจโชคดีที่ได้เกิดเป็นลูกสาวของครูผู้มีความเข้าอกเข้าใจ และเด็กๆ ในศูนย์การเรียนรู้ดันยาเลก็โชคดีที่ได้มาอยู่ภายในการดูแลเอาใจของครูผู้เห็นความสำคัญของการศึกษา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เด็กๆ ชาวเมียนมาที่มาเติบโตต่างบ้านต่างเมืองเหล่านี้ ต้องเผชิญกับความไม่ลงรอย ไม่ลงตัวหลายประการระหว่างประเทศบ้านเกิดและประทศที่มาอยู่อาศัย

ขณะที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถูกกำหนดไว้ในสิ้นปีนี้ ไทยและเมียนมายังมีปัญหาไม่เข้าใจกันตั้งแต่เรื่องเอกสาร กฎหมายแรงงาน การส่งเด็กนักเรียนเข้าศึกษาในโรงเรียน ไปจนถึงควาทุกลักทุเลในการประสานความรู้ทางการศึกษาอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเด็กๆ ทุกคน และปัญหายังหยั่งรากลึกถึงความไม่เข้าใจกันในแง่ภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่ยังมุ่งสร้างความเป็น “เขา” ที่หมายถึงเมียนมา และความเป็น “เรา” ที่หมายถึงประเทศไทย

แล้วความเป็น “เรา” ที่หมายถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะพร้อมเติบโตขึ้นมาในกระแสสำนึกของผู้คนทั้งไทยและเมียนมาเมื่อไหร่?

danyale13

danyale14

09.00 น. วันใหม่

เวลา 09.00 น. – 09.45 น. เป็นเวลา ปล่อยให้เด็กๆ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ บางคนวาดรูป บางคนอ่านหนังสือ เด็กผู้ชายเล่นตัวต่อ เด็กผู้หญิงเล่นบทบาทสมมุติ เราผู้เฝ้าดูการละเล่นของเด็กๆ พบว่าพวกเขาเล่นอะไรไม่ต่างจากที่เราเล่นเมื่อสมัยอายุ 5 ขวบ เด็กหญิงผู้สวมมงกุฏเพชรรี่เข้ามาเสิร์ฟน้ำชาให้เรา บนถาดมีขนมปังทาเนยพลาสติกและแก้วชาพลาสติกแก้วเล็กๆ ในแก้วมีแอปเปิ้ลพลาสติกลูกหนึ่งลูก

“ชาแอปเปิ้ล”

เจ้าหญิงบอก เรายิ้มให้ และถามว่าขอชาสัปปะรดได้ไหม เจ้าหญิงวิ่งรี่กลับไปที่ห้องครัวของเธอเร็วไว ใบหน้าเปื้อนยิ้มและดวงตาเป็นประกายคู่นั้นบ่งบอกว่าเธอตื่นเต้นยินดีที่จะได้ดูแลราชอาคันตุกะ น่าเสียดายที่เธอหาสัปปะรดไม่พบ เธอจึงกลับมาพร้อมถ้วยชาและพริกหวานแทน พอเด็กคนอื่นๆ เห็นเธอแวะเวียนมาดูแลอาคันตุกะแปลกหน้า ก็ยิ้มและกรูกันเข้ามาเสิร์ฟอาหารของเล่นให้ พื้นที่ว่างตรงหน้าเรากลายเป็นกองผลไม้ บางคนก็หยิบตัวต่อเป็นยวดยานหน้าตาล้ำสมัยมาอวด บางคนก็ยื่นรูปวาดที่เพิ่งวาดให้เราดู

ไม่มีอะไรต่างจากห้องเรียนอนุบาลที่เราเคยแวะผ่านเข้าไป

เราผู้ไม่มีดวงตาเห็นอนาคต ไม่อาจทำนายอนาคตของบรรดาดอกไม้ที่มาผลิบานอยู่ต่างแดน ท่ามกลางความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่เด็กๆ ตาใสตรงหน้าเรายังยิ้ม หัวเราะ และเล่นสนุกได้สุดเหวี่ยง

ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ พรหมแดนและตัวหนังสือบนเอกสาร

ไม่มีผลบังคับใช้ใดต่อการเติบโต

ขอบคุณ

  • เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์
  • อารีลักษณ์ ไพรัตน์
  • ดวงตา หม่องภา
  • Lwin Lwin Mon
  • Evangeline Delin
  • Naw April Hpaw
  • Hein Win และครอบครัว
  • Min Thant Oo และครอบครัว