ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11 งานเขียนดีเด่น
เรื่องและภาพ : แพรวนภางค์ กัปตัน

 

[Best_Wordpress_Gallery id=”14″ gal_title=”Raiarun”]

๒ กันยายน ๒๕๕๖

“ผมลาออกจากการเป็นสถาปนิกที่ออกแบบตึกสูงระฟ้าในเมืองหลวง เพื่อมาออกแบบชีวิตให้กับตัวเอง ผมจึงกลับมาสร้างชีวิตที่พอดีที่บ้านเกิด ออกแบบบ้านหลังเล็กๆ ทำสวน นำความรู้มาพัฒนาพื้นที่เล็กๆของเราไปพร้อมกับการเห็นรอยยิ้มของคนในครอบครัว ผมเชื่อมั่นสุดหัวใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะทำให้ผมและครอบครัวมีความสุข เรามีชีวิตที่ดีไปด้วยกัน”

๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘

“เกือบครบสองปีแล้วที่ผมตัดสินออกจากงาน มาสร้างฝันที่นี่ บ้านที่เราช่วยกันรังสรรค์ขึ้นมาได้ปรากฏอยู่ในนิตยสารตรงหน้าผม ผักและสินค้าจากไร่ถูกส่งไปแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ฟาร์มสเตย์ที่เริ่มจากบ้านเล็กๆ ๒ หลังกำลังจะเสร็จในไม่ช้า มันไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าผมประสบความสำเร็จ แต่ยืนยันว่าสิ่งที่ผมทำไปไม่ได้สูญเสียเปล่า บ้านไร่ไออรุณ ความฝันที่กำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ”

บันทึกต่างเวลาของวิโรจน์ ฉิมมี หรือ เบสท์ ชายหนุ่มที่มีอายุเพียง ๒๘ ปี จากสถาปนิกในเมืองกรุงที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาสู่เกษตรกรที่บ้านเกิด การกลับมาที่เป็นมากกว่าการกลับบ้าน แต่เขากลับมาเพื่อสร้างความฝันของครอบครัวให้เป็นจริง ในตอนนี้สิ่งที่เขาทำทั้งหมดปรากฏมาเป็นบ้านไร่ขนาดเล็กที่ซ่อนตัวในอ้อมกอดของธรรมชาติ ที่อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง การทำเกษตรอินทรีย์เและความสุขที่เอ่อล้นของคนในครอบครัว เรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ท่ามกลางความรัก และธรรมชาติ ถูกถ่ายทอดผ่านนิตยสารหลายฉบับ รายการทีวีและความเคลื่อนไหวบนหน้าเฟสบุ๊คของเขาเอง ฉันก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านั้น

บ้านไร่ไออรุณ ฉันเดินทางมาที่นี่พร้อมกับคำถามมากมาย

บ้าน…ก่อร่างสร้างบ้านในฝัน

“บ้านไร่ไออรุณ ยินดีต้อนรับนะลูก” แม้ว่าอรุณนี้บ้านไร่ไออรุณต้อนรับฉันด้วยไอหมอกและลมหนาว แต่รอยยิ้มจากสมาชิกในบ้านก็ส่งความอุ่นมาช่วยได้ทันท่วงที

แม่หมีที่ช่างคุยกล่าวทักทายฉัน พ่ออี๊ดสุขุมได้แต่ส่งรอยยิ้มจากระยะไกลมาให้ ขณะที่พ่อกำลังเก็บมะเขือในสวนข้างบ้าน รอยยิ้มสดใสจากน้องปรางในภาพถ่ายมาแทนการพูดคุยเจี๊ยวจ๊าวของเจ้าตัวที่ไปเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด ส่วนเบสท์หนุ่มรูปหน้าคม ร่างเล็ก สีผิวค่อนข้างดำกร้านจากแดด เขาได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับฉันตั้งแต่เจอกัน สมาชิกทั้ง 4 คนของบ้านมีสิ่งที่เหมือนกันคือรอยยิ้มที่จริงใจ

บ้านกึ่งไม้กึ่งปูนสีขาวซ่อนตัวในหลืบเขาลำเนาไพร ด้วยทิวทัศน์ที่เขียวชอุ่มยิ่งทำให้ตัวบ้านสีขาวดูโดดเด่น รอบบ้านเป็นแปลงผักนานาชนิดที่ปลูกไว้เป็นสัดส่วน ด้านหน้าบ้านเป็นทางเดินสะพานไม้ไผ่ที่เชื่อมตัวเรือนอีกสามหลังเข้าด้วยกัน ฝั่งที่ติดแปลงผักเป็นเรือนไม้ที่มุงหลังคาด้วยหญ้าคา ตกแต่งด้วยวัสดุที่ล้วนมาจากธรรมชาติทั้ง ชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ไผ่ ชั้นวางของจากไม้ทุเรียน ของตกแต่งจากไม้ยางพารา เพื่อเป็นพื้นที่ไว้รับแขกและวางขายสิ้นค้าจากไร่ อีกฝั่งทางเดินสะพานไม้ไผ่จะนำไปยังบ้านพัก 2 หลังที่ปลูกท่ามกลางดงต้นหมาก ข้ามลำธารเบื้องล่างที่ถูกกั้นเป็นฝายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ ริมธารปลูกต้นถั่วบราซิลให้พื้นที่สีเขียวแซมสีเหลืองเล็กๆ ของดอกปกคลุมดินจนแทบไม่มีที่ว่าง สองข้างทางอุดมไปด้วยผลไม้หลายชนิดที่คงจะสลับออกผลได้ครบทุกฤดูกาล เสียงธารน้ำไหลผสมเสียงนกร้อง บรรเลงราวกับดนตรีที่เปิดขับกล่อมตลอดวัน

นี่คือภาพในฝัน ที่ผ่านการเดินทางจากจินตนาการมาสู่ความเป็นจริงด้วยสองมือของเบสท์และครอบครัว

ความฝันในวัยเด็กของชายหนุ่มคืออยากสร้างบ้านที่ออกแบบเอง และเขาก็มีความชอบในงานออกแบบมาโดยตลอด ทำให้เขาเลือกศึกษาต่อในด้านสถาปัตยกรรมตั้งแต่เราจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และต่อปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

“ความฝันของผมเกิดขึ้นตั้งแต่รู้ตัวเองว่าชอบงานออกแบบและหลงใหลการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะบ้าน ผมชอบวาดภาพบ้าน สะสมภาพบ้านที่ได้ตามหนังสือ และจดไอเดียเกี่ยวกับบ้านไว้ ความรักในสิ่งเหล่านั้นค่อยๆ ดึงดูดให้เข้าไปใกล้ความฝันมากขึ้น อะไรที่เกี่ยวกับบ้านผมสนใจหมดทุกอย่าง ยิ่งตอนเรียนสถาปัตย์ก็ยิ่งชัดเจนว่านี่แหละคือทางของผม ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้จับปากกาวาดภาพในหัวออกมาบนกระดาษ ได้แปลงมันออกมาเป็นโมเดล และสุขที่สุดคือการได้ทำฝันให้จับต้องได้” คนสร้างฝันเล่าพลางกวาดสายตาไปรอบๆ
ความฝันของเขาเกิดขึ้นจริงๆ หลักฐานปรากฏชัดอยู่ที่ภาพรอบตัว ทั้งบริเวณสวนผัก การตกแต่งและบ้านต่างแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ แม้เรียบง่าย แต่ก็แฝงไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

การมาศึกษาต่อที่กรุงเทพทำให้ลูกชายที่ไม่เคยห่างจากครอบครัว ได้รู้ตัวว่าเป็นคนติดบ้านและยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของคำว่าครอบครัวมากขึ้น

“เราเป็นครอบครัวที่สนิทกัน คุยกันแทบทุกเรื่อง อาจเพราะผ่านความลำบาก ความสุขมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยามที่ทำสวนหรือยามที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เราก็ทำด้วยกัน ทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว”

ความลำบากที่เบสท์เอ่ยถึง นั่นคือ พ่อกับแม่ทำมางานแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่รับจ้างทำนา ขายของในตลาด กรีดยางพารา และทำสวน สิ่งที่พ่อแม่ทำอยู่ในสายตาเขาตลอดเป็นภาพที่ติดอยู่ในใจเสมอ ตั้งแต่ตอนนั้นลูกชายคนนี้ก็ให้สัญญากับตัวเองว่าจะทำให้ครอบครัวสบายขึ้นกว่านี้ให้ได้

ในระหว่างเรียน เบสท์ได้รับข่าวร้ายจากครอบครัว แม่ของเขาเป็นอัมพฤกษ์จากการประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เธอไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดังเดิม ประกอบกับน้องปรางที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มคุมกันต่อต้านตัวเอง (SLE) ทำให้ทางบ้านต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อค่าเล่าเรียนของเบสท์จนต้องตัดสินใจขายที่ดินบางส่วนไปเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว ความลำบากที่ครอบครัวต้องแบกรับผลักดันให้แม่มีแรงใจและฮึดต่อสู้

“แม่จะต้องเดินให้ได้”

ไม่เพียงแต่คำพูดจากปากแม่คนนี้ แต่เธอได้ทำเพื่อยืนยันคำพูดด้วยการใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด เริ่มหัดเดินใหม่ เดินแล้วล้ม จนถึงกับต้องคลาน จากความพยายามของแม่ ความใส่ใจของพ่อและลูกๆ ทำให้แม่มีกำลังใจค่อยๆ ฟื้นตัวและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น จนในตอนนี้แม่แทบจะเดินได้อย่างปกติแล้ว

หลังจากเบสท์เรียนจบ เสียงในใจก็คอยแต่จะทวงสัญญาจากตัวเขาเองอยู่เสมอ นั่นคือการได้กลับบ้านไปสร้างบ้านและภาพฝันของเขาให้เป็นจริง ยิ่งเกิดอุบัติเหตุกับแม่ทำให้เขายิ่งมั่นใจในความฝันและรอวันที่มันจะเป็นจริงโดยเร็ว แต่ด้วยปัญหาทางด้านการเงิน และการไม่เห็นด้วยของแม่ ทำให้ชายหนุ่มจำเป็นต้องสมัครงานในตำแหน่งสถาปนิกที่กรุงเทพฯ แต่ในใจก็บอกตนเองไว้ว่าจะไม่มีวันทิ้งความฝันนี้ไป

“แม่กับพ่ออดทนส่งเสียให้ลูกได้เรียนในสิ่งที่เขาต้องการหวังว่าวันหนึ่งลูกจะได้ทำงานดีๆ ไม่ต้องเหนื่อยและมีชีวิตที่ลำบากแบบที่แม่เจอมา ตอนเขาข้อร้องว่าจะกลับมาอยู่บ้าน ไม่ใช่ว่าแม่ไม่อยากให้ลูกกลับมาอยู่ด้วยกัน แต่เพราะห่วงอนาคตของลูกจึงไม่ยอมให้เขากลับมา” แม่เล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น เธอตัดสินใจแน่วแน่ที่จะไม่ตกลงตามคำขอร้องจากลูกชาย
แม้ว่างานของเบสท์จะเป็นที่ต้องการในแวดวงสถาปนิก และชายหนุ่มสามารถสร้างงานได้ดีขนาดไหน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาใฝ่ฝัน ประกอบกับการไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ไปตลอด ทำให้เขาคิดเรื่องการลาออกจากงานตลอดเวลา

“การใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มันไม่ได้ง่ายสำหรับเด็กต่างจังหวัดอย่างผม ทุกอย่างมีค่ามีราคาไปหมด ไม่ว่าเรื่องการเดินทาง การกินอยู่ และการใช้ชีวิต ผมรู้ในจริตตัวเองว่ายังไงก็ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตปักหลักปักฐานในเมืองหลวง” มหานครกับเขาราวกับเส้นขนานที่หาทางลงตัวกันยาก

ครั้งหนึ่งสถาปนิกหนุ่มยอมรับว่าเขาเองเคยหลงไปกับค่านิยมฉาบฉวยของอาชีพ “สถาปนิก” ที่สังคมหยิบยื่นให้ ความมีหน้ามีตาและความเท่ล่อลวงเขาเข้าเกือบหลงผิดไป แต่ภายใจใจเขากลับย้อมถามตัวเองถึงสาเหตุที่เจ้าตัวเลือกเป็นสถาปนิก

“ผมมาเรียนสถาปัตย์นั่นเพราะผมอยากสร้างบ้านให้พ่อแม่และสร้างฝันของตัวเอง แล้วตอนนี้ทำอะไรอยู่ ผมมีขับรถเก๋ง นอนคอนโดหรู ในขณะที่พ่อกับแม่ยังขับสามล้อ บ้านมุงสังกะสี สิ่งที่ผมฝันยังไม่เกิดขึ้นสักอย่างทุกวันนี้ผมสามารถออกแบบห้างสรรพสินค้าให้กับลูกค้าที่ว่าจ้าง แต่กับละเลยการออกแบบบ้านหลังเล็กๆในฝัน ผมว่าสถาปนิกคือคนที่สามารถออกแบบชีวิตตัวเอง บ้านตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปออกแบบให้คนอื่นเขา” แววตาของสถาปนิกหนุ่มเต็มไปด้วยพลังที่ฉายชัดจนฉันสัมผัสได้

ชายหนุ่มมุ่งมั่นทำงานในด้านสถาปัตย์ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น โดยมีความฝันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเริ่มเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานที่กว้างกว่าสถาปนิกทั่วไป เช่น งานด้านการตลาดที่เกี่ยวกับการรับผิดชอบสร้างและดูแลแบรนด์ให้ลูกค้า นอกจากนี้เบสท์ยังคงเก็บภาพบ้าน งานออกแบบต่างๆ สะสมไว้มากขึ้น เขาเรียกมันว่า “ช่วงสะสมฝัน”

“ปกติผมกับพ่อเราคุยกันร่วมชั่วโมงแทบทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มหัวเรื่องความฝันเข้าไปด้วย ความฝัน ความคิดใหม่ๆ ของผมถูกส่งผ่านไปยังพ่อ เราแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น บางอย่างที่พอจะเตรียมไว้ได้ก็ไม่รีรอจะทำ ”

ในขณะที่ไร่อื่นๆ ได้โค่นต้นไม้แทนที่ด้วยพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้มากกว่า แต่พ่อกลับเลือกเชื่อมั่นในลูกชาย เตรียมไม้ไผ่และเริ่มหาไม้อื่นๆ ที่พอจะเป็นวัสดุสร้างบ้านไว้เป็นต้นุทนรอให้เขากลับมาต่อเติมฝัน

ความฝันของเจ้าตัวจึงไม่ได้นอนแน่นิ่งในกรุซอกหัวใจ หากแต่ถูกหยิบมาปลุกเสกให้โลดแล่นมีชีวิตอยู่เสมอ

เมื่อถึงจุดที่ความฝันอยู่ในสถานะพร้อมประลองกับความจริงแล้ว แต่เป็นเบสท์ซะเองที่ไม่กล้าขึ้นสังเวียน ชายหนุ่มไม่สามารถตัดสินใจลาออกได้อย่างเด็ดขาด ทั้งที่ใจเรียกร้องให้มุ่งมั่นทำตามฝันเสียที แต่อีกเสียงหนึ่งกลับขู่ให้เขาหวาดกลัว

“ผมกลัวใจตัวเอง กลัวอยู่ที่บ้านไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง”

สายตาที่เฝ้ามองด้วยความไม่เข้าใจจากสังคมสบตากับเด็กหนุ่มอายุเพียง 26 ปี ทำให้ความฝันในใจเริ่มพร่ามั่ว ประกอบกับคววามกลัวสิ่งต่างๆ ที่พร้อมจะวิ่งเข้าชนตัวเองในวันที่ก้าวออกไป สิ่งเหล่านั้นมันอาจรุนแรงจนเขายืนไม่ไหว มีเพียงครอบครัวเท่านั้นที่ผลักดันให้เขากล้าทำตามฝัน

“เรื่องหลายๆอย่างเคยดูเป็นใหญ่กลายเป็นเล็กไปเลยเมื่อเทียบกับครอบครัว ผมย้อนคิดว่าทำไมต้องโทรศัพท์คุยกับครอบครัวร่วมชั่วโมงทุกวัน เดินทางกลับบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้ง ทำไมต้องแยกกันอยู่ ในเมื่อผมรู้ว่าสิ่งที่ต้องการอยู่ทางไหน ทำไมไม่เดินไปที่ทางนั้น ถึงรอต่อไปแม้สุดท้ายผมอาจจะสร้างบ้านเสร็จ แต่จะมีความหมายอะไรหากบ้านหลังนั้นไม่มีพ่อกับแม่อยู่ พวกเขาไม่อาจรอเราได้ตลอด ผมมัวแต่เที่ยวเล่นคิดแบบเดิม สบายอยู่ที่นั่นคนเดียวไม่ได้แล้ว” ด้วยเหตุนี้การลาออกจากงานในครั้งที่สามจึงประสบความสำเร็จ

โครงการสร้างฝันเริ่มเปิดตั้งแต่วันแรกที่กลับมาบ้าน สถาปนิกหนุ่มมีเพื่อนร่วมงานคนใหม่นั่นคือพ่อ เป็นสองแรงที่จะช่วยกันรังสรรค์บ้านที่ออกแบบขึ้นมา พวกเขาได้ตัดสินใจโค่นต้นยางพาราในสวนรอบบ้านขายและกันพื้นที่ไว้เป็นบริเวณไร่ เงินจากการขายไม้ยางพาราทบรวมกับเงินเดือนก้อนสุดท้ายของเบสท์ได้เป็นเงินทุนประมาณ 200,000 บาท งานแรกเริ่มจากการปรับปรุงบ้านเดิมที่อาศัยมานานโดยจะใช้งบเพียง 50,000 บาท

จากสถาปนิกที่เป็นคนออกแบบมาเป็นแรงงานที่ทำให้แบบเป็นจริง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ได้ง่ายเลยสำหรับเบสท์ เขาเริ่มเรียนรู้งานจากพ่อ อดทนและเรียนรู้ความผิดพลาด แต่สิ่งที่บั่นทอนจิตใจของชายหนุ่มมากกว่าความเหน็ดเหนื่อยจากการสร้างบ้านคือ การต่อสู้กับแรงกดดันจากภายนอก เรื่องราวของเบสท์ที่ตัดสินใจกลับบ้านถูกวิจารณ์ในที่สาธารณะ เนื่องจากมีไม่กี่คนในหมู่บ้านที่สามารถคว้าปริญญามาได้ หน้าที่การงานในเมืองหลวงจึงกลายเป็นไม้บรรทัดวัดความสำเร็จของคนต่างจังหวัด

“มีคนมาถามพ่อเหมือนกันว่าลูกลาออกทำไม พูดทำนองว่าอุตส่าห์ส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบ แทนที่จะทำงานเลี้ยงดูพ่อแม่ กับจะลาออกเพื่อมาปลูกผักเหรอ” พ่อถ่ายทอดคำพูดให้ฟัง
กว่าที่เบสท์จะก้าวมาสู่จุดนี้ เขาได้ผ่านอะไรมามากเกินที่จะอ่อนแอและหวั่นไหวไปกับถ้อยคำเหล่านั้น แต่ไม่ใช่แม่ แม่เองรู้สึกขมขื่นและเธอก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตัดสินใจของเบสท์ตั้งแต่แรก ส่วนพ่อเลือกที่จะไม่ใส่ใจกับคำพูดเหล่านั้น ตอนนั้นสิ่งที่ชายหนุ่มทำได้คือขอให้ครอบครัวเชื่อและมั่นใจในตัวเขาเหมือนที่เคยเชื่อมาตลอด

แม่เสนอให้ฉันลงมือทำอาหารมื้อกลางวันด้วยตนเองหลังจากที่ช่วยกันเด็ดผักบุ้งที่เก็บไว้เสร็จ

“ลองทำดูเลย ลูกอยากทำแบบไหนก็ทำแบบนั้นเลย” แม้ฉันจะสารภาพว่าทำอาหารไม่อร่อย แต่แม่บอกด้วยสีหน้าเอ็นดูและยืนยันว่าจะกินผัดผักบุ้งฝีมือฉันให้เอง จังหวะนั้นฉันนึกถึงคำของเบสท์ที่บอกว่าพ่อกับแม่ไม่เคยปิดกั้นความคิดเขา ไม่เคยสอนว่าจะต้องทำอย่างไร แต่จะคอยสนับสนุนทุกการกระทำของเขาเสมอ
ฉันก็มีเวลาสังเกตในสวนห้องครัวละเอียดมากขึ้นระหว่างรอกินข้าวเที่ยง โต๊ะไม้เลื่อยมือโชว์ลวดลายของกระถินรงค์อย่างมีสเน่ห์ มุมหนึ่งของห้องแขวนนกกระเรียนสีขาวฝีมือน้องปรางผูกลดหลั่นบนกิ่งไม้ยางพาราเพิ่มความชีวิตชีวา ผนังห้องตกแต่งด้วยท่อนไม้กระท้อนตัดขวางหลากขนาดที่สถาปนิกหนุ่มเผยว่าได้แนวคิดมาจากท่อนไม้ที่วางทับกันหลังรถบรรทุก และการตกแต่งอื่นก็ล้วนมาจากวัสดุธรรมชาติ

“ผมไม่มีสไตล์การออกแบบที่ชัดเจน แต่จะเน้นความเรียบง่ายและให้คนอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ โดยไม่สร้างสิ่งแปลกปลอมเข้าไป จะเกิดภาวะที่สมดุลและน่าอยู่ โดยมองหาสิ่งที่มีรอบตัวนำมาปรับใช้ สไตล์บ้านของผมจึงรวมสิ่งที่มี สิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำเข้าด้วยกัน” สถาปนิกหนุ่มพูดถึงแนวคิดในการสร้างบ้านของเขา

โคมไฟหลากหลายแบบยืนยันสไตล์การออกแบบของเขา ทั้งโคมไฟกะละมังสแตนเลส โคมไฟจากเข่งใบไม้ทรงคล้ายสุ่มไก่ที่แม่สานและโคมไฟจากไม้ราชวังที่นำส่วนลำต้นมาแบ่งเป็นซี่บางๆ แล้วตากแห้งก่อนนำมาม้วนดัดไปมาจนได้รูปทรงตามที่ต้องการ

“ผมเชื่อว่าทุกคนมีต้นทุนเป็นของตัวเอง บางคนอาจเป็นตัวเงิน ฝีมือหรือวัสดุ แม้ผมมีงบประมาณสร้างบ้านเพียงน้อยนิดแต่ผมก็มีต้นทุนเป็นวัสดุธรรมชาติต่างๆจากสวนที่พ่อเก็บไว้ให้ และการประยุกต์เอาจากสิ่งของรอบตัว”

ความพยายามของพ่อและลูกชายได้เปลี่ยนบ้านที่ครอบครัวอยู่มานานอายุร่วม 20 ปี มาเป็นบ้านไม้กึ่งปูนเน้นงานปูนเปลือย เผยอิฐและเนื้อไม้ ส่วนบางส่วนเป็นสีขาว ถึงไม่ได้เลิศหรูหรือโดดเด่นในการสร้าง แต่ก็เป็นบ้านธรรมดาที่สร้างด้วยความรัก และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บ้านของเขาคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดในโครงการ show me your home ปี 3 ของนิตยสาร my home ท่ามกลางความดีใจของคนในครอบครัว ผลงานที่ส่งประกวดไม่ใช่ในนามสถาปนิกผู้ออกเเบบ หากเเต่เป็นผลงานของครอบครัวเกษตรกรเล็กๆ ที่ช่วยกันสร้างขึ้นมา

“11 เดือนที่ลาออกจากงานกลับมาอยู่บ้าน ลูกพยายามพิสูจน์ตัวเองมาตลอด ไม้ทุกท่อนที่พ่อเลื่อยกับมือ โต๊ะเก้าอี้ ผนังบ้านที่เราช่วยกันทำ สีที่เราช่วยกันทา บ้านในฝันที่เราช่วยกันเเต่งเติม วันนี้มันมีความหมายมากขึ้น เมื่อมีคนเห็นค่าในสิ่งที่เราทำ อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับคนอื่น เเต่รางวัลที่ได้มามันมีค่าเเละมีความหมายสำหรับเกษตรกรอย่างเรา พ่อไม่เคยพูดให้ลูกได้ยินว่าพ่อรู้สึกยังไง ไม่รู้ว่าพ่อดีใจไหม เเต่วันนี้ลูกรับรู้ได้ว่าพ่อมีความสุขมากๆทุกอย่างมันเพิ่งเริ่มต้นครับพ่อ” นี่คือความในใจที่เบสท์บอกกับพ่อบนเวทีขณะที่ขึ้นรับรางวัล น้ำตาที่ไหลอาบแก้มสองพ่อลูกทำเอาคนทั้งงานอดปรบมือให้กำลังใจไม่ได้

สถาปนิกที่ฝันใฝ่อยากมีบ้านมาตลอดอย่างเบสท์ เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร my home ฉบับ 56 เดือนมกราคม 2558 ว่า

“บ้านของผมไม่จำเป็นต้องหรูหราหลังใหญ่โต ขอเพียงเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุขของคนในครอบครัว แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”

จากนั้นบ้านหลังเล็กของครอบครัวเกษตรกรก็ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ เบสท์ยืนยันว่าเขาไม่ได้หลงใหลไปกับชื่อเสียงหรือการประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญกลับเป็นความภาคภูมิใจที่มีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่ครอบครัวทำ ในฐานะลูกคนหนึ่งความสุขเหนือสิ่งอื่นคือการทำให้พ่อกับเเม่มีรอยยิ้ม มีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรและไม่ต้องอับอายใครในสังคมอีก

“ป๊อกๆๆ” เสียงตะปูที่พ่อตอกลงบนไม้ ในขณะที่เบสท์ทาสีบ้าน บ้านหลังนี้เป็นหนึ่งในสองบ้านที่จะเป็นบ้านพักในรูปแบบฟาร์มสเตย์ในไม่ช้า ตัวบ้านเป็นลักษณะกึ่งไม้กึ่งปูนสองชั้น ชั้นล่างของบ้านเป็นห้องน้ำและด้านหน้าคือพื้นที่โล่งไว้นั่งเล่นชมบรรยากาศริมธาร ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอนที่ติดกระจกใสให้เห็นวิวร่มไม้จากต้นหมากที่แผ่กระจายทั่วสวน แถมยังออกแบบให้มีที่นอนใต้หลังคาเล็กๆ ไว้ทักทายดาวยามค่ำคืน ส่วนการออกแบบโดยทั่วไปก็ถอดแบบคล้ายบ้านใหญ่ โดยเฉพาะการคุมโทนสีอบอุ่นที่เน้นโทนสีขาวและโทนสีจากเนื้อไม้

“พ่อเป็นลูกมือเขา โน่นนายหัว ก็ทำตามที่เขาออกแบบนั่นแหละ” นายหัวในภาษาใต้แปลว่าหัวหน้า พ่อพูดติดตลก เบสท์บอกว่าพ่อเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีบ้านขึ้น เขาเองมีแต่ความรู้ในงานออกแบบ แต่พ่อมีความสามารถทำให้แบบที่เขาวาดเป็นความจริง สองพ่อลูกจึงกลายเป็นคู่หูที่ทำงานลงตัว

“เขาเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เวลาจะทำอะไรก็จะมุ่งมั่นทำจนได้ พ่อจึงอยากให้เขาได้ทำอะไรที่อยากทำและเชื่อในตัวเขา แม้ว่ามองไม่เห็นภาพหรอกว่ามันจะออกมายังไง” สองมือของพ่อคอยตระกองกอดภาพความฝันของลูกชายไม่ให้หล่นหาย และเป็นสองมือเดียวกันที่ช่วยปั้นความฝันให้เป็นรูปร่าง

ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเบสท์เป็นอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความเอื้ออาทร ความรักที่ออกมาชัดแจ้งทางสายตา แม้ว่าการสื่อสารทางคำพูดจะเป็นบทสนทนาที่แสนห้วนและเรียบง่าย หากแต่ละมุนไปด้วยความรักที่สุขล้นของคนในครอบครัว

 

ไร่…ไร่อินทรีย์กับวิถีที่พอเพียง

ฟาร์มสเตย์เล็กๆ ในไร่เกษตรอินทรีย์เป็นอีกหนึ่งความฝันของเบสท์ การเฝ้ารอผักแต่ละต้นหยั่งรากและค่อยๆ เติบโตไม่ต่างจากชีวิตของเกษตรกรมือใหม่ในเส้นทางนี้

บริษัทบ้านไร่เริ่มงานไล่ตามแสงแรกของเช้าวันใหม่ ห้องทำงานเป็นพื้นที่สีเขียวกว้างใหญ่ หลังคาของห้องมุงด้วยแผ่นฟ้ากว้างไร้ขอบเขต พนักงานเพียง 3 คนคือ พ่อ แม่และเบสท์ แยกย้ายกันทำหน้าที่ไร้วี่แววอ่อนล้า พ่อกับแม่รับผิดชอบรดน้ำแปลงผักรอบบ้าน ที่ส่วนมากจะเป็นผักพื้นบ้าน เช่น ผักบุ้ง มะเขือ มะอึก บัวบก มะนาว และพริก ยังไม่รวมถึงผลไม้ที่ปลูกไว้แต่เดิมและปลูกขึ้นใหม่ที่มีให้กินตลอดทั้งปี ส่วนเบสท์ปลีกตัวเดินมาตามสะพานไม้ไผ่ไปยังแปลงผักกูดและเตยหอมข้างบ้านพักฟาร์มสเตย์ทั้งสองหลัง

“ผักพวกนี้ผมไม่ฉีดสารเคมีเลยนะ” เกษตรกรหนุ่มใบหน้าเปื้อนยิ้ม แม้มือเปื้อนดิน

“เกษตรอินทรีย์สำหรับผมเป็นเรื่องของวิถีชีวิตที่เราออกแบบ ชีวิตแบบไหนที่ต้องการ ผมเพียงอยากมีผักและผลไม้ปลอดสารพิษไว้กินกันเอง ไม่อยากให้สุขภาพของพ่อกับแม่ย่ำแย่จากการฉีดสารเคมี แล้วจากนั้นก็ต่อยอดแบ่งปันไปสู่คนอื่นๆ เป็นรายได้มาจุนเจือครอบครัว” หลักการของเบสท์ไม่ซับซ้อนหากแต่อาศัยการลงมือลงแรงมาก

ครอบครัวเกษตรกรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดละการใช้สารเคมี แม้พวกเขาจะยุ่งยากที่ต้องคอยตัดหญ้าแทนการฉีดยาฆ่าหญ้า หรือทำน้ำหมักสมุนไพรเพื่อไล่แมลง
หลายครั้งเขาเกือบพ่ายแพ้ต่อความลำบากที่เผชิญทั้งที่เตรียมใจไว้อย่างดีแล้ว แต่ภาพพ่อกับแม่ที่ยังทำงานไม่หยุดทำให้เขาย่อท้อไม่ได้

“ผืนดินที่ผมยืนแม่ต้องสานเข่งรับจ้างกี่ใบ พ่อต้องดำนาไม่รู้กี่ฤดูกว่าจะได้มา ผ่านมาหลายปีต้นไม้ทุกต้นที่เคยปลูกไว้เติบโต สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ หากพ่อกับแม่ไม่ขยันทำงานและทนลำบาก ก็คงไม่มีผมในวันนี้”

ต้นทุนในการสร้างฝันของเขาคือผืนดินที่พ่อกับแม่เตรียมไว้ให้ เขาเล่าต่อว่ารายได้ที่ทยอยได้เรื่อยๆของครอบครัวส่วนหนึ่งมาจากหมากของแม่และผลไม้ที่สลับให้ผลตลอดทั้งปี

“เราเป็นชาวไร่ชาวสวน ทำมาทั้งชีวิต ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้ลูกมาลำบากแบบตอนเรา” แม่เล่าด้วยสายตาอาทร พลางนึกย้อนไปในอดีตตอนเด็กชายเบสท์ยังเด็กเขาจะอาสาเอาผักบางส่วนไปขายเองที่โรงเรียน ภาพเหล่านั้นทำให้แม่ไม่อยากให้ลูกมาลำบาก แต่สำหรับเบสท์เขาภูมิใจเสมอที่ได้เกิดมาเป็นลูกเกษตรกร และในวันนี้เขาภาคภูมิที่จะบอกใครต่อใครว่าเขาประกอบอาชีพเกษตรกรรม

นอกจากนี้เบสท์ยังเอาความรู้ทางสถาปัตย์ที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรโดยทำออกแบบแผงผักจัดเป็นซุ้มจากใบจากพร้อมติดป้ายเขียนสโลแกนของไร่ไออรุณที่ออกแบบมาอย่างดีทำให้โดดเด่นและแปลกตากว่าแผงอื่นในตลาด

“งานออกแบบยังคงเป็นสิ่งที่ผมรัก เเละไม่หยุดที่จะคิดที่จะทำ ผมเมีความสุขที่ได้ออกแบบผลงานต่างๆ ให้เกิดขึ้นและได้ใช้งานจริงในพื้นที่ของเราเอง อย่าชื่อไจ่ที่เรามีก็นำมาออกแบบโลโก้สิ้นค้าด้วย แผงร้านค้าในตลาดก็ออกแบบเป็นพิเศษ คนแตกตื่นทั้งตลาดเลยน่ะ” เขาเล่าขำๆ

ความตั้งใจของชายหนุ่มและครอบครัวที่ต้องการแบ่งปันผักและสินค้าปลอดสารพิษกระจายสู่คนในชุมชนในราคาไม่แพงและยังสร้างรายได้มาสู่ครอบครัว ซึ่งรายได้จากการขายผักในตลาดสองวันต่อสัปดาห์ได้ประมาณ 2,000 บาท หากวันไหนเข้าไปขายที่ถนนคนเดินในตัวเมืองก็ได้เพิ่มถึงวันละ 7,000 บาท นอกจากนี้ก็เป็นสินค้าเกษตรอื่นๆ รายรับจากการทำเกษตรอินทรีย์แทบจะเป็นส่วนกำไรทั้งสิ้นเพราะไม่ได้ลงทุนอะไรมาก หากบ้านพักฟาร์มสเตย์เปิดให้บริการเขาจะรายได้จากส่วนนี้เพิ่มอีกคืนละ 1,500 บาทต่อหลัง เมื่อรวมกับรายได้หลักจากสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันอีกเล็กน้อยก็เป็นยอดรายรับทั้งหมดของครอบครัวที่เกษตรกรหนุ่มมองว่านี่เพียงพอสำหรับครอบครัวของเขา

“แกงกะทิหน่อไม้สดใส่ผักเหลียง ผักบุ้งผัดปลาประป๋อง ผักสดกับน้ำพริกกะปิ” แม่นำเสนอเมนูในวันนี้ แถมยังอวดด้วยความภูมิใจว่าอาหารในมื้อนี้แทบไม่เสียค่าใช้จ่าย วัตถุดิบทุกอย่างหาได้จากสวนรอบบ้าน

ในขณะที่บ้านไร่และสินค้าเกษตรตกอยู่ในกระแสความนิยม ช่างน่าเย้ายวนให้เพิ่มการทำงานและขยายธุรกิจเพื่อรองรับกระแสความต้องการที่มากขึ้น แต่เบสท์และครอบครัวกลับคิดต่างออกไป เขาเพียงอยากปลูกฝันให้เติบโตอย่างมั่นคงช้าๆ ทำทุกวันอย่างปกติต่อไปเรื่อยๆ อย่างไรก็เชื่อว่าจะดีกว่าเดิม

“ผมอาจไม่ใช่คนที่มีความรู้ในหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมากนัก แต่ครอบครัวเราก็ยึดทำอะไรอย่างพอมี พอกิน และพอใช้ ต้องรู้ตัวเองก่อนว่าต้องการอะไร มีอะไรและขีดความสามารถเรามีแค่ไหน ผมอิงเอาความสุขพ่อกับแม่เป็นหลัก หากทำมากแล้วสุขภาพพ่อกับแม่ทรุดมันก็ไม่คุ้ม สำหรับผมเงินไม่ได้มีค่าไปกว่าการได้กลับมาดูแลครอบครัว” เจ้าตัวพูด

“กว่าสิ่งแต่ละสิ่งจะเกิดมาต้องลงแรง กว่าผักสักต้นจะรอดแล้วโต เราต้องใส่ใจ รดน้ำ อย่ามองแค่ผักที่วางขายแล้ว” เกษตรกรรมทำให้เขาเข้าใจความสำคัญของกระบวนการและเวลาที่เหมาะสม

เกษตรอินทรีย์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ได้หมายถึงแค่สินค้า หากแต่เป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติโดยมีความพอเพียงเป็นหลักยึด

 

ไอ…อุ่นไอธรรมชาติที่บ้านเกิด

บ้านไร่ไออรุณมีพร้อมทั้งไอฝน ไอแดด ไอหมอก บางเช้าอาจจะตื่นมาด้วยไอแดดที่แยงตา หรือถูกทักทายด้วยไอฝนกระทบหลังคา และเช้านี้ที่โผล่เป็นไอหมอกให้เห็นอยู่รำไร คลุมต้นไม้น้อยใหญ่ไกลสุดลูกหูลูกตาไว้เป็นหย่อมๆ

ชีวิตที่ขับเคลื่อนไปกับสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่ชายหนุ่มถวิลหาตลอดก่อนจากมา

“วู๊” เบสท์ส่งเสียงขณะบังคับจักรยานที่กำลังทะยานลงจากเนินสูง วิวต้นไม้เรียงรายตลอดสองข้างทางและ สายลมเย็นที่พัดกระทบผิวกายช่างเป็นความสดชื้นที่ได้รับขณะปลดปล่อยตัวเองอย่างอิสระ

เช้านี้เบสท์ลากฉันเป็นผู้รั้งท้ายจักรยานของเขา ชายหนุ่มปั่นนำซอกแซกไปเรื่อยๆ เห็นหลังไวไวอีกทีเมื่อเขาตัดเข้าสวนยางพาราข้างทาง ฉันแข็งใจปั่นเฮือกสุดท้ายขึ้นเนินตามเขาไป สักพักเราทั้งคู่ก็ยอมแพ้เปลี่ยนมาจูงจักรยานเดินผ่านเนินเส้นลูกรัง

“การไปอยู่กรุงเทพฯ ทำให้เห็นความสวยงามและคุณค่าของที่นี่มากขึ้น เพราะเราไปพบมาแล้วว่าการไม่มีธรรมชาติแบบนี้รอบตัวเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจกลับมาบ้าน ผมคิดไปต่างๆนาๆว่าจะต้องรับมือความเหงียบเหงาและความเบื่อหน่ายเมื่อไร้แสงสีของเมืองกรุงมาแต่งแต้มชีวิต แต่ความจริงแล้วผมกลับมีความสุขกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างธรรมชาติ โดยที่ผมไม่รู้สึกขัดแย้งกับตัวเองเลย” เรานั่งซึมซับบรรยากาศตรงหน้าจนหมอกที่ปกคลุมค่อยๆ จางหายไป ความชัดเจนในตอนนี้อาจคล้ายกับในใจเขาตอนนั้น ฉันได้แต่คิดในใจ

การเดินทางที่ลำบากอาจจะเป็นจุดอ่อนของที่นี่ แต่ในขณะเดียวกันเบสท์กับมองเห็นว่าธรรมชาติที่ความบริสุทธิ์เป็นจุดแข็ง เริ่มจากตัวเองที่ค่อยๆ หลงรักความงามที่ซ่อนในความเรียบง่าย จนอยากถ่ายทอดให้กับคนอื่น เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาจึงมีภาพถ่ายเปิดมุมมองต่อสถานที่เที่ยวต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักของคนที่ติดตามเขาอยู่ตลอด โดยเฉพาะอำเภอกระเปอร์ที่เป็นอำเภอเล็กๆ ในระนอง ด้วยระยะทางอันห่างไกลเมืองทำให้ที่นี่ยังคงอุดมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีพร้อมทั้งทะเล ป่าโกงกาง และน้ำตก

“การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนไม่ใช่การโหมกันมาเป็นกระแสช่วงหนึ่งแล้วหายไป สิ่งที่ควรใส่ใจมากกว่าการโปรโมตคือการมีสำนึกรัก หวงแหน ดูแลและรักษาธรรมชาติที่มีค่าของคนในพื้นที่ก่อน” อีกหนึ่งมุมมองจากเบสท์ที่กำลังจะเป็นผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในอนาคต

อาหารมื้อกลางวันมื้อนี้เป็นการนั่งกินอย่างเรียบง่ายใต้ร่มต้นหมาก และกลิ่นหอมอ่อนๆ จากต้นจำปาดะ ทำให้การนั่งกินอาหารบนทางเดินไม้ไผ่นี้ได้บรรยากาศพิเศษเกินกว่าปกติ

“พ่อ ดูนั่น” เบสท์พูดเสียงตื่นเต้นพลางวิ่งปร๋อลงจากสะพานไป ทุกคนมองตามด้วยความตกใจของอาการของเขา
“พลับพลึงธารดอกแรกในปีนี้ของเราออกดอกแล้ว” พ่อพูดพร้อมรอยยิ้ม แต่ละคนมีอาการตื่นเต้นราวกับได้พบเห็นสิ่งที่เฝ้ารอมานาน

ต้นไม้ที่ขึ้นในน้ำแผ่ใบสีเขียวยาวพริ้วไสวเต็มลำธารเล็กๆ ชูดอกตูมเหนือน้ำ คือต้นพลับพลึงธารหรือหอมน้ำ เป็นพืชอนุรักษ์ที่เหลือเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ จึงถูกขึ้นบัญชีเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี 2554พบบริเวณเดียวในโลกเท่านั้นที่รอยต่อของจังหวัดระนองกับพังงา
ทั้งที่เมื่อก่อนคลองบางปรุที่ชายหนุ่มเคยกระโดดเล่นตั้งแต่เด็กมีพลับพลึงธารอุดมสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ก็ไม่เหลือให้เห็นแล้ว เขาและพ่อใช้เวลาลองผิดลองถูกกับต้นพลับพลึงธารอยู่นานจนมันรอดมาถึงวันนี้

“พรุ่งนี้ถ้าดอกนั้นหาย มันแจ้งความแน่” แม่เอ่ยขึ้นเรียกเสียงหัวเราะยกวง เมื่อลูกชายของพวกเขายังคงนั่งจ้องดอกพลับพลึงธารดอกนั้นไม่วางตา

พอพ้นจากไอแดด เรามีนัดกับเด็กบ้านข้างๆ เพื่อไปหาที่เล่นน้ำคลายร้อน ด้วยพื้นที่ป่าหนาแน่นจึงทำให้มีธารน้ำเป็นระยะตลอดสองข้างถนน สุดท้ายมติของกลุ่มให้ไปเล่นน้ำที่ลำธาร กลางสวนยางพาราของเบสท์สายนี้ น้ำใสกระทบกาย ความสดชื่นช่วยชะล้างความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดวัน คำถามที่ว่าเขามีความสุขกับวิถีชีวิตแบบนี้ไหมคงไม่จำเป็น เสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่เปื้อนบนใบหน้ายืนยันได้ชัดเจน

ราตรีที่บ้านไร่มืดสนิเผยให้เห็นแสงดาวพราวฟ้า เงียบสงบจนได้ยินเพียงแค่เสียงท่วงทำนองจากจิ้งหรีด กลิ่นอ่อนๆ ของพญาสัตบรรณลอยมาแตะจมูก ปัดเป่าสิ่งต่างๆ ที่ค้างคาในจิตใจให้สงบ และกล่อมเราให้หลับไป

 

อรุณ…รุ่งอรุณของวันที่เฝ้ารอ

อรุณทอแสงตัดทิวเขา ชุบชีวิตบ้านไร่ไออรุณให้สดใสพร้อมรับวันใหม่ หมู่นกกาขานร้อง หยดน้ำบนยอดผักวิบวับยามต้องแสง ดอกไม้ค่อยๆ แย้มกลีบอวดสีสัน การกลับมาของเขา การเกิดขึ้นของบ้านไร่ไออรุณ ก็คงไม่ต่างกับภาพอรุณใหม่ที่มีแสงสาดส่องยามนี้

สิ่งสำคัญของการกลับมาบ้านของเบสท์คือครอบครัว

“ถ้าวันนั้นผมไม่กลับมาก็คงจะมีชีวิตอีกแบบที่กรุงเทพฯ ทางนี้บ้านก็คงเหมือนเดิม วันนั้นผมคงไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้ แต่วันนี้เรากำลังจะมีชีวิตที่ดี มีความสุขเเละมีรอยยิ้มไปด้วยกัน เพราะเราต่างช่วยทำตามฝันไปด้วยกัน”

แน่นอนมันไม่ใช่เพียงความฝันของเบสท์คนเดียว แต่เป็นความฝันของคนสี่คนที่ช่วยเติมเต็มกันและกัน พ่อมีความสุขกับการทำไร่ทำสวน แม่สนุกกับการขายผัก น้องสาวอยากมีร้านค้าเล็กๆ เป็นของตัวเอง บ้านไร่ไออรุณจึงเป็นความฝันที่มาบรรจบกันของครอบครัว

“ผมรักตัวเองและรอบคอบในการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่เอาความสนุกเป็นที่ตั้งเหมือนก่อน หากตอนนี้เราเป็นอะไรไปแล้ว คนที่เหลือข้างหลังเขาจะทำอย่างไร ไม่ใช่คนเดียว แต่มีอีกหลายชีวิตที่เราต้องดูแล” เบสท์คนเดิมเมื่อสองปีก่อนที่เป็นคนใจร้อน ไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง สนุกสนานกับชีวิต แต่ตอนนี้นอกจากสีผิวที่ไม่ขาวเหมือนก่อน เขายังกลายเป็นเบสท์ที่ก้าวมาเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ใจเย็น และใช้เหตุผลในการทำสิ่งต่างๆมากขึ้น

อีกบทบาทของเบสท์ที่เจ้าตัวภูมิใจ นั่นคือการอาสาเป็นครูสอนศิลปะให้แก่โรงเรียนบ้านบางปรุ

“ครูมาแล้วๆ เย่ๆ” เด็กน้อยเพียง 8 คนในห้องเรียนส่งเสียงพร้อมวิ่งกรูเข้ามาล้อมหน้าหลังชายหนุ่ม เด็กที่นี่ขาดโอกาสเรียนในวิชาที่มักถูกมองข้ามอย่างเช่น วิชาศิลปะ

“อยากให้เด็กมีจินตนาการที่ดี เมื่อเขามีความรู้ก็อยากถ่ายทอด เติมสิ่งที่เขาขาด แถมการได้มาอยู่กับเด็กพวกนี้ก็ทำให้ผมมีความสุขไม่น้อย”

นอกจากบทเรียนวิชาศิลปะอย่างง่ายในกระดาษ เบสท์ยังสอดแทรกบทเรียนชีวิตที่เจ้าตัวมีบอกเล่าสู่เด็กๆ เสมอ บางครั้งก็ชวนเด็กๆ มาดูบ้านของเขา ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หวังให้เด็กค่อยๆ ซึมซับความงามของชีวิตที่ไร้แสงสี ความสำคัญของครอบครัว และการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ฉันนึกภาพไม่ออกว่าเขาจะสอนเรื่องเหล่านี้ที่แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่สามารถทำได้ให้เด็กเข้าใจมันได้อย่างไร

“พออยู่ พอกิน พอใช้ ใช้ชีวิตพอเพียง” ฉันแอบอมยิ้มไปกับความไร้เดียงสาของเด็กๆ ที่โดนหลอกถามถึงความหมายของชีวิตพอเพียงและตอบราวกับท่องกันมา หวังว่าในวันที่เขาเติบโตขึ้น เขาจะเรียนรู้และเข้าใจประโยคเหล่านี้อย่างที่คุณครูคนนี้หวังไว้

เรื่องราวการเดินทางของชีวิตชายหนุ่มตลอดสองปีที่ผ่านมา ถูกถ่ายทอดโดยเจ้าตัวผ่านเฟซบุ๊คและสื่อต่างๆ ที่ให้ความสนใจ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยติดตามและมีเขาเป็นแรงบันดาลใจ สิ่งเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมยิ่งใหญ่ในใจหลายๆคน ทั้งความกล้าหาญบนเส้นทางที่ไร้จุดหมาย ตัวอย่างการตามหาความฝัน และการเตือนให้ฉุกคิดถึงความคำคัญของ “ครอบครัว” ที่หลายคนมองข้าม

“คุณเบสท์เป็นแรงบันดาลใจของนกและอีกหลายๆ คน นกได้มาทบทวนกับตัวเอง ปลุกความปรารถนาที่เกือบลืมเลือน และมีกำลังใจให้กล้าหาญที่จะตามฝันมากขึ้น  ตอนนี้นกได้ตั้งเป้าหมายและกำลังหาวิธีไปให้ถึงเป้าหมายค่อยๆวางแผนและทำมันไปช้าๆ นกชอบแววตากับรอยยิ้มคุณพ่อคุณแม่ของคุณที่ดูแจ่มใสและมีความสุข ดูออกเลยว่าท่านทั้งสองภูมิใจในตัวคุณมาก ขอให้คุณมีความสุข ด้วยความเคารพและจริงใจ” ข้อความจากคุณนก (นามสมมติ) ในวันที่ 19 กันยายน 2557 เป็นหนึ่งในหลายๆ ข้อความที่ส่งมาให้เขาเป็นประจำ

อรุณนี้ เบสท์ พ่อ และแม่ ตื่นมาช่วยกันเก็บผักในไร่เพื่อเตรียมตัวไปขาย เป็นภาพวิถีชีวิตที่แสนเรียบง่ายเช่นทุกวัน

“สิ่งเล็กๆ ด้วยหัวใจจากไร่ถึงมือคุณ ด้วยความรักในผืนเเผ่นดินเกิด ด้วยศรัทธาในวิถีพอเพียง ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่าเกษตรอินทรีย์จะเติบโต ด้วยเห็นคุณค่าในรอยเท้าพ่อกับเเม่ที่ย่ำนำมา… ด้วยความเชื่อมั่นสุดหัวใจ” คำจำกัดความของบ้านไร่ไออรุณบนฉลากสินค้าได้บอกเล่าทุกอย่างสมบูรณ์ในตัวของมัน

“มันอยู่ที่ว่าวันนี้เราได้เดินอยู่บนเส้นทางที่เราเลือกหรือหรือไม่ ทางที่ผมเลือกเดินอาจทำให้ผมดูบ้าในสายตาคนอื่น แต่การยอมฝืนความสุขตัวเองทำในสิ่งที่ไม่ต้องการต่างหากที่เรียกว่าบ้า ครั้งหนึ่งผมเองเคยตามหาเจ้านายที่ดีที่สุด ผมได้มาค้นพบคนคนนั้นก็ตอนที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นนายตัวเอง” ชายหนุ่มเอ่ยด้วยแววตาเป็นประกาย

การลาออกจากงานในเมืองกรุงครั้งนั้นไม่ได้แปลว่าประสบความสำเร็จ แท้จริงเป็นเพียงการเริ่มต้นโอกาสที่จะเสกสร้างความฝันในแผ่นกระดาษที่ออกแบบไว้ให้เป็นความจริง คำพูดปลอบใจที่เขาฝากไว้การทำตามความฝันของเบสทอาจจะเหนื่อย เเต่เหนื่อยน้อยกว่าการรับใช้ทำตามฝันของคนอื่น

ความสุขที่จับต้องได้ของชายหนุ่มวัยเพียง 28 ปี ที่ไม่เคยคิดเสียดายการทิ้งชีวิตวัยหนุ่มจากเมืองหลวงมาสร้างบ้านไร่ไออรุณซึ่งเป็นที่มั่นแห่งความฝัน

เขาและครอบครัวยังต่อเติมฝันไปเรื่อยๆ ยังคงจับมือเฝ้ามองอรุณใหม่ไปด้วยกันทุกๆวัน