ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

orelawsนับเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปี ที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มีผลบังคับใช้ และได้รับการแก้ไขเมื่อปี ๒๕๒๕, ๒๕๓๕ และ ๒๕๔๕ กระทั่งปี ๒๕๕๗ รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. … เพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้ทันสมัย รวมทั้งเพื่อนำพระราช-บัญญัติอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องเนื้อหาร่าง “กฎหมายแร่” ฉบับใหม่ ว่าจะเปิดโอกาสให้มีการกำหนดเขตเหมืองแร่ในพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศและวัฒนธรรม รวมทั้งพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่น ๆ เช่น ป่าต้นน้ำ พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือแหล่งฟอสซิล อันจะก่อให้เกิดความทุกข์ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จึงจัดงานเสวนา “จับตาร่างกฎหมายแร่ การอนุญาตให้สำรวจและสัมปทานแร่ ภายใต้ภาวะอำนาจพิเศษ” เพื่อรับฟังความเห็น

ดร. สุรพล ดวงแข รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวถึงเนื้อหาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ ว่าเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาหมายถึงทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่เรียกว่าพัฒนา ขณะที่แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ ก็กล่าวถึงหลักการสากลต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศ (ecosystem approved) ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงคนส่วนใหญ่ หลักการเฝ้าระวังไว้ก่อน (precautionary principle) ที่ต้องเตรียมการล่วงหน้า และดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนมาเรียกร้อง หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (polluter pays principle) ที่เห็นในปัจจุบันมีแต่ผู้ก่อมลพิษรอให้ศาลสั่ง และรอถึงชั้นศาลฎีกา อีกข้อคือ หลักธรรมาภิบาล (good governance) กล่าวถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยร่วมลงนามหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เนื้อหาของกฎหมายเหมืองแร่ฉบับใหม่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่ออนุสัญญาที่เราเป็นสมาชิก ดร. สุรพลยังแสดงความเห็นถึงความพยายามเปิดช่องให้เข้าไปทำเหมืองในพื้นที่อนุรักษ์ ว่าหากอนุญาตก็ไม่ควรเรียกพื้นที่นั้นว่าพื้นที่อนุรักษ์ เพราะการทำเหมืองจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและทำให้ป่าเสื่อมสภาพจากการถูกทำลาย

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นกรณีที่อาจมีการเปิดป่าเพื่อทำเหมืองแร่ว่า ร่าง พ.ร.บ. แร่ที่กำลังพิจารณาน่าจะเป็นการหาทางออกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจแร่

“การอนุรักษ์ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หน่วยงานที่เดือดร้อนที่สุดคือกรมทรัพยากรธรณี เพราะเป็นการห้ามไม่ให้เขาเข้าไปทำเหมืองแร่ในป่า ก่อนหน้าจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของจุฬาฯ กำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ที่ควรอนุรักษ์ประมาณ ๑,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ กรมทรัพยากรธรณีขณะนั้นเดือดร้อนมาก เพราะพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์เหล่านั้นไปทับซ้อนกับที่ที่เขาสำรวจไว้แล้วว่าเป็นแหล่งแร่”

ศศินชี้ว่าเนื้อหาของกฎหมายแร่ฉบับใหม่จะ “รุก” เข้าในสองขั้น

“ขั้นแรกคือขอสำรวจ จากที่ผ่านมาแม้แต่สำรวจก็ไม่ได้ กฎหมายอุทยานฯ กับเขตรักษาพันธุ์ฯ ป้องกันไว้ คราวนี้ที่จะมาใหม่คืออย่างน้อยขอสำรวจ อ้างเหตุผลตามหลักวิชาการ อย่าลืมว่าสมัยก่อนกรมทรัพยากรธรณีเคยสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมป่าไม้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ เมื่อมีการตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้แตกออกเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสองกรม ขณะที่กรมทรัพยากรธรณีก็แตกเป็นสองกรม คือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยังคงสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ให้อาชญาบัตรและประทานบัตรเหมืองแร่ กับกรมทรัพยากรธรณีย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่สำรวจพื้นที่ควรอนุรักษ์ในทางธรณีวิทยา และไม่ทิ้งหน้าที่เดิมคือสำรวจว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพแร่ ถ้าเข้าใจโครงสร้างนี้ก็พอจะประเมินได้ว่าการรุกขั้นแรกเพื่อสำรวจแร่คงจะผ่าน เนื่องจากกรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ อยู่ภายใต้รัฐมนตรีคนเดียวกัน การอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้นคุยกันได้ระดับกระทรวง ส่วนการรุกขั้น ๒ คือให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่อยู่กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรและประทานบัตร”

ข้อสังเกตนี้เป็นไปตามร่าง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. … มาตรา ๙๘ ระบุว่า “…ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี กำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ ทดลอง ศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับแร่ รวมทั้งรัฐมนตรีสามารถอนุญาตให้ยื่นคำขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรได้…” และมาตรา ๙๙ ระบุว่า “…รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวน หวงห้าม หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ต้องเป็นแหล่งแร่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมิใช่พื้นที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องการห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด…”

ศศินให้ความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. … คล้ายการรุกกลับของฝ่ายที่ต้องการสำรวจและทำเหมืองแร่

“ที่ผ่านมาแหล่งแร่ในเมืองไทยยังมี แต่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์จากข้อเรียกร้องของฝ่ายอนุรักษ์ ทั้งเรื่องประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงเรื่องพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A กฎหมายนี้จึงเหมือนการรุกกลับของฝ่ายทำเหมืองซึ่งตามหลังฝ่ายอนุรักษ์มา ๒๐ ปี”

ศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงความคืบหน้าของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า “ตอนนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. แร่ และส่งต่อไปยังขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา ทราบว่ากำลังสอบถามความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนส่งกลับให้ ครม. เห็นชอบอีกครั้ง เพื่อจะส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็มีการพัฒนากฎหมายแร่ควบคู่กันตามที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองขอรับการสนับสนุน เรียกว่าเป็นร่างกฎหมายแร่ฉบับที่ประชาชนขอมา โดย คปก. จะดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้โดยสภาพของการทำเหมืองแร่ อย่างไรก็มีผลกระทบเพราะเป็นการทำลายป่าทั้งผืนที่ได้รับอนุญาตประทานบัตร ยิ่งกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่ทำลายแค่บางจุดเท่านั้น

“เราต้องพัฒนาสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองการปกครอง รวมทั้งเรื่องธรรมาภิบาลในการขอใบอนุญาตประทานบัตร ถ้าคิดจะปฏิรูป สิ่งสำคัญคือการพัฒนากฎหมาย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นจากรัฐบาลฝ่ายเดียว แม้แต่ร่างกฎหมายแร่ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วก็ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะ หาทางรับฟังความเห็นจากประชาชนในส่วนนี้”

ทั้งนี้วงเสวนาห่วงกังวลว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ร่างกฎหมายแร่แล้วส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีน่าจะผ่านการเห็นชอบเพื่อส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติในภาวะปัจจุบันคงจะเห็นชอบร่างกฎหมายแร่เช่นเดียวกับที่เคยเห็นชอบร่างกฎหมายหลายฉบับก่อนหน้า

ถึงช่วงท้ายของการเสวนา ดร. สมนึก จงมีวศิน กล่าวในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ภูมิภาคซึ่งคาดว่าจะถูกอาชญาบัตรพิเศษให้สำรวจเหมืองแร่ทั้งหมด ๒.๕ แสนไร่ เฉพาะจังหวัดจันทบุรีมากกว่า ๑ แสนไร่ บริเวณอำเภอแก่งหางแมวและอำเภอสอยดาว

“เราพยายามรักษาพื้นที่ของเราให้เป็นแหล่งผลิตอาหารและเหลือป่าต้นน้ำ แต่ความซวยมาถึงเราเมื่อเขาบอกว่านี่เป็นพื้นที่ศักยภาพเหมืองแร่ทองคำ พี่น้องทราบมั้ยว่าหิน ๑ ตันระเบิดออกมาได้ทอง ๐.๕-๐.๘ กรัมเท่านั้น เว็บฯ ต่างชาติว่าได้ ๓-๘ กรัม นี่คือสิ่งที่ทำให้คนสนใจ มีคนบอกไว้ว่าโจรปล้น ๑๐ ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว ไฟไหม้บ้าน ๑๐ ครั้งก็ไม่เท่ากับโดนเหมืองทองคำ นี่ไม่ใช่เรื่องของตำบลหรือหมู่บ้านเดียว เป็นเรื่องของจังหวัด ภาค ประเทศ ที่เราต้องช่วยกันปกป้อง ถ้าเราจะต้องเสียพื้นที่หมดทั้งภาค หรือต้องกินสารปนเปื้อน”