เรื่องและภาพ : พ่อนก www.doublenature.net

imagine01

เพื่อน จากภาพร่างของเพื่อนๆ ที่ดลวาดบนเฟรมผ้าใบ ทิ้งไว้ให้พ่อสร้างสรรค์ต่อ (ยังไม่เสร็จ) ถ่ายทอดประสบการณ์การรับรู้ความมหัศจรรย์ร่วมกันที่ทุ่งพัฒนาการ พื้นที่รกร้างที่ผมและเด็กๆ ได้เรียนรู้กันและกัน

จากประสบการณ์ทำบ้านเรียนให้ลูกสองคน ดลและแดน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยแรกรุ่น นอกจากห้องเรียนธรรมชาติยังมีศิลปะเป็นกิจกรรมหลักเพื่อให้รับรู้และซึมซับความรู้ตามธรรมชาติเป็นขั้นๆ ไป การเรียนรู้จึงปรับตามความสนใจของเด็กๆ ตั้งแต่ขีดขูด คุ้ยเขี่ย และบันทึก จนถึงวาดภาพได้ ถือเป็นสำนึกรู้ขั้นสูงขึ้นดังที่ ฟริตจอฟ คาพรา (Fritjof Capra) เรียกว่า “สำนึกรู้สะท้อนย้อนกลับ” (reflective consciousness) อันเป็นการย้อนคิดประสบการณ์สำนึกรู้ระดับสูงกว่าการทำความรู้จัก และเกี่ยวข้องกับระดับการรับรู้ การเรียนรู้ทางนามธรรมที่สามารถจินตนาการภาพและก่อรูปขึ้นตามเป้าหมายความคิด การรับรู้จากประสบการณ์ตรงหลอมรวมกับข้อมูลมิติต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันโดยถ่ายทอดผ่านกระบวนการศิลปะ ความคิดและจินตนาการของเด็กๆ จึงได้รับการรวบรวมเป็นผลงานศิลปะที่พ่อแม่และลูกทำร่วมกัน โดยจัดแสดงเป็นนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่องมาแล้วสามครั้ง ได้แก่ “ธรรมะธรรมชาติ” ในปี ๒๕๔๗ “ควบกล้ำธรรมชาติ” ในปี ๒๕๔๙ และ “วิถีควบกล้ำ” ในปี ๒๕๕๒

DCF 1.0

แปลงร่าง ภาพวาดผีเสื้อ หนอน และดักแด้ จากประสบการณ์ เลี้ยงหนอนผีเสื้อในตอนเด็กๆ ดลตวัดฝีแปรงไว้ในนิทรรศการครั้งแรกปี ๒๕๔๗

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

ผลงานนิทรรศการศิลปะ “ควบกล้ำธรรมชาติ” ปี ๒๕๔๙ ช่วยกันติดตั้งก้อนใบสักที่ลอยกลางห้องและวางบนพื้นด้วย

ศิลปะเด็กและผู้ใหญ่

ในวัยเด็ก มุมมองต่อโลกธรรมชาติจะสดใหม่ มีเรื่องราวของสรรพชีวิตจากห้องเรียนธรรมชาติที่น่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นทุ่งแมลงหลังบ้านทุกๆ เช้า หรือการเดินทางไปตามแหล่งเรียนรู้ในธรรมชาติ การได้ละเล่น รับรู้ เรียนรู้ และสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้นเป็นแรงบันดาลใจสู่การถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งพรั่งพรูผ่านร่องรอยที่บันทึก หน้าที่ของพ่อแม่จึงต้องเฝ้าคอยเก็บเกี่ยวความงดงามอันกระจัดกระจายจากมุมมองของเด็ก พร้อมทั้งลงมือทำร่วมกันจนบางครั้งเด็กๆ ก็มองเห็นความงดงามของผู้ใหญ่ไปด้วย ผลงานศิลปะที่คัดสรรในครั้งแรกและครั้งที่ ๒ จึงเป็นทั้งความสดใหม่ของเด็กๆ เองและความร่วมมือของผู้ใหญ่กับเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสำนึกรู้แบบสะท้อนย้อนกลับทั้งภายในตนเองและภายนอกซึ่งกันและกัน เป็นสัมพันธภาพที่มีสายใยเชื่อมต่อระหว่างพ่อ แม่ ลูก และโลกธรรมชาติ

imagine06

ยานเวหา ภาพยานที่ดลออกแบบไว้สำหรับโลกอนาคต จัดแสดงในปี ๒๕๕๒

ความจริงกับสิ่งเพ้อฝัน

จินตนาการเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความจริงกับสิ่งเพ้อฝัน ความเข้าใจสาระที่เชื่อมโยงกันจึงสำคัญต่อการถ่ายทอด เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น สำนึกรู้มักเกี่ยวข้องกับตัวเราเอง ซึ่งสำนึกรู้เท่าทันตัวตนมักเกิดปรากฏการณ์คิดย้อนสะท้อนภาพจินตนาการตนเอง เพื่อน ผู้อื่น แนวความคิดดังกล่าวมิได้มีเฉพาะต่อพ่อแม่และครอบครัว แต่ยังแพร่สู่สังคมและวัฒนธรรมร่วม เป็นพัฒนาการที่สร้างค่านิยม ความเชื่อ และเป้าหมายในอนาคตแม้จะยังคลุมเครืออยู่ ซึ่งบางครั้งอาจเกิดความสับสนจากข้อมูลหลายๆ ด้าน การทำงานศิลปะในนิทรรศการครั้งที่ ๓
จึงเป็นช่วงที่เด็กๆ เริ่มเป็นตัวของตัวเองและต่างสร้างงานจากแรงบันดาลใจหลากหลายมิติถึงแม้จะมีพื้นฐานจากห้องเรียนธรรมชาติ ประกอบกับช่วงปี ๒๕๕๐-๒๕๕๒ เป็นยุคเริ่มแรกของสังคม 3G ที่ข้อมูลไอทีทะลักสู่บ้าน แต่ยังไม่ถึงตัวเช่นยุค 4G ในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ความคิดของเด็กๆ ก่อรูปกินพื้นที่บริเวณกว้าง สร้างจินตนาการเกี่ยวโยงไปถึงโลกอนาคตด้วย

imagine07

จุดนัดพบ จัดแสดงในปี ๒๕๕๒ พ่อกำลังสร้างสรรค์ต่อ

imagine05

ดลและแดนกับผลงาน เพื่อน และจุดนัดพบ ซึ่งดลวาดภาพร่างเพื่อน พ่อ แม่ ตัวเอง และน้อง ไว้ให้พ่อต่อเติม จัดแสดงในปี ๒๕๕๒

imagine02

ทะเลลึก ดลมีสัตว์ประหลาดใต้ทะเลซึ่งขึ้นรูปจากจินตนาการที่หลอมรวมจากหลายมิติ

ทะเล ท้องฟ้า และทุ่งหญ้า

เมื่อตอนเด็กๆ ดลเคยมีแรงบันดาลใจจากปลาหลายชนิด คราวนี้เขาเขียนรูปทรงอิสระลื่นไหลไปตามจินตนาการ สัตว์ประหลาดจึงปรากฏกายในท้องทะเลลึก แต่สำหรับบนท้องฟ้าดลเคยบันทึกการทำงานศิลปะในสมัยนั้นไว้ว่า “ดลว่าการทำงานศิลปะของดลมันน่าเบื่อ แต่ก็สนุกดี แต่ดลคิดว่างานศิลปะพอทำเสร็จมันก็ถูกจับยึดอยู่กับที่ เอามาจับเล่นไม่ได้ ซึ่งทำให้ดลคิดวาดภาพ ‘ยานเวหา’ ขึ้นมา ดลได้วาดรูปยานที่ดลคิดออกแบบเอง สำหรับใช้ในโลกอนาคต ซึ่งดลหวังว่าอาจมีคนสร้างยานแบบนี้ขึ้นมาจริงในอนาคต เพราะโลกอนาคตอาจมีภัยพิบัติจนเราไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกธรรมชาติได้อีกแล้ว ดล ๒๖ ก.ค. ๕๒”

ณ ทุ่งหญ้าหลังบ้าน พื้นที่เรียนรู้อันคุ้นเคยในหมู่บ้านผาสุก ดลวาดภาพร่างของเพื่อนๆ ผู้ร่วมกิจกรรมไว้ให้พ่อสานต่อจินตนาการบนผ้าใบผืนโต สำนึกรู้ของผมพยายามโยงใยประสบการณ์ในสภาวะหนึ่งที่คงไว้ซึ่ง “คุณภาพของความรู้สึก” ที่พิเศษสุด ด้วยไม่อาจใช้ภาษาอธิบายสิ่งเหล่านี้ ผมจึงเลือกใช้จินตนาการเป็นสะพานเชื่อมให้ประสบการณ์เหล่านั้นสื่อสารร่วมกับร่องรอยที่บันทึกไว้ และศิลปะควบกล้ำธรรมชาติก็ดำเนินต่อไปโดยไม่มีเด็กๆ อย่างเคย