ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนและถ่ายภาพดีเด่น
เรื่อง วาสนา เพิ่มสมบูรณ์

ภาพ เอื้อการย์ เบ็ญจคุ้ม

chatree09

ภาพหน้าศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานครฯ อันเป็นมุมกว้างของถนน จากมุมท้องสนามหลวง ติดกับพระบรมมหาราชวังและกระทรวงกลาโหม

chatree01

การไหว้ครูและพ่อแก่ก่อนเริ่มการแสดงในทุกๆวัน โดยหัวหน้าคณะละครวันดีนาฎศิลป์ ที่มีอายุเพียงแค่ 24 ปี หลังจากนั้นจะมีการบรรเลงดนตรีโหมโรงและเพลงสาธุการ เรียกว่าเป็นการ “เบิกโรง” ก่อนการแสดงมหรสพ เพื่ออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายและเป็นการประกาศให้ผู้ชมรับทราบว่าจะมีการแสดงแล้ว

แสงแดดอ่อนๆ โผล่พ้นขอบฟ้าไปพร้อมกับเสียงหยดฝนที่ตกกระทบพื้นถนนราวกับดนตรีที่บรรเลงอย่างไพเราะและประณีตบรรจง สัญญาณไฟสีแดงสว่างจ้ายาวนาน สกัดกั้นมิให้การจราจรบนถนนทั้งสายสามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

ฉันถอนหายใจ บนรถเมล์สายประจำ ที่มักจะเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากในวันใกล้สิ้นเดือน แน่นอนว่าฉันมักใช้บริการในช่วงที่กระเป๋าแบนแฟนทิ้งเช่นนี้

ผ่านไปสักครู่ใหญ่ แม้ฝนที่โรยรินจะเบาบางลง แสงแดดเริ่มทำงานอย่างขะมักเขม้น ทว่ารถก็ยังคงขยับไปได้เพียงป้ายเดียว ฉันเริ่มเม้มริมฝีปากเป็นเส้นตรง ทิ้งลมหายใจหนักหน่วงออกมาอย่างสม่ำเสมอ บนรถเมล์สายประจำที่นั่งอยู่ ดวงตามองตรงไปยังถนนเบื้องหน้า

ฉันหยิบโทรศัพท์ในกระเป๋าขึ้นดูเวลา คิ้วหนาเริ่มขมวดหนักขึ้น ไฟจราจรยังคงปรากฏสีแดงเช่นเดิม ผ่านไปถึง 2 ชั่วโมง กว่าการเดินทางจะสิ้นสุดยังศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ใกล้เขตสนามหลวง หนึ่งในจุดที่ผู้คนนิยมมาไหว้พระ9 วัด หรือมาบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้สมปรารถนา

เมื่อมีการบนบาลต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือรำแก้บน แต่ทว่ารำแก้บน ณ ที่นี้ กลับต่างจากที่อื่น เพราะมีการนำละครชาตรีมาแสดงสลับกับรำแก้บน ซึ่งนับวันเริ่มมีผู้รู้จักน้อยลง หากไม่มีการรำแก้บน ก็อาจจะสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย

ละครชาตรีเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะบทบาทที่เป็นสื่อกลางในการบนบานศาลกล่าวกับเทวดาหรือสิ่งที่เหนือธรรมชาติหรือพิธีกรรมต่างๆ
เปิดม่านต้นทางละครชาตรี สู่ การ รำแก้บน

ท่วงท่าร่ายรำอันอ่อนช้อยเป็นการรำซัดหน้าเตียงที่เชื่อกันว่า เป็นการรำถวายเทพ เทวดา เพื่ออำนวยอวยพรเจ้าบ้านให้มีแต่ความสุขความเจริญถือเป็นฉากเริ่มต้นของการแสดงละครชาตรี ศิลปะการแสดงที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนจนถึงทุกวันนี้

นางจารุวรรณ สุขสาคร หรือครูหมู หญิงร่างท้วมวัย 54 ปี เผยรอยยิ้มกว้างอย่างอัธยาศัยดี ผมสั้นแต่งเติมด้วยคาดผมไข่มุกสีโอรส ผู้สืบทอดคณะละครชาตรี จงกล โปร่งน้ำใจ ในชุมชนนางเลิ้งถือเป็นรุ่นที่ 4 ของคณะ ดั้งเดิมแล้วชื่อเจ้าของคณะคือ คุณแม่จงกล โปร่งน้ำใจ ซึ่งเป็นละครชาตรีมากจากทางพัทลุง มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6จนกระทั่งคุณแม่จงกลเสียชีวิตในปีพุทธศักราช 2555

“ละครชาตรีเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแขนงหนึ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปีพุทธศักราช 2552”ครูหมู เปิดฉากเล่าด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความภูมิใจ

ฉันขยับกายเล็กน้อย เพื่อให้ถนัดแก่การฟัง ครูหมูไม่รอช้าสองปากขยับบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของละครชาตรีอย่างจดจ่อ

ละครชาตรีมาจากทางใต้ ตั้งแต่ในปีพุทธศักราช 2375 สมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ได้ลงไปปราบและระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองใต้ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลาได้ขออพยพติดตามกองทัพกลับมา ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ช่วยเหลือและให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลสนามกระบือ หรือบริเวณถนนหลานหลวงและถนนดำรงรักษ์ กรุงเทพฯในปัจจุบัน ผู้ที่มีความสามารถในการแสดง โนรา-ชาตรี จึงได้รวมตัวกันตั้งคณะละครรับเหมา แสดงในงานต่างๆ ต่อมาจนเป็นที่ขึ้นชื่อและฝึกหัดสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ทั้งยังเรียกการแสดงนี้ใหม่ว่า “ละครชาตรี” แทน “โนรา-ชาตรี” ที่เรียกกันมาแต่ดั้งเดิม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ละครชาตรี คืออันดับต้นๆ ที่ถูกมองเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพราะเป็นละครที่เชื่อกันว่ามีความเก่าแก่ที่สุดของไทย และยังเป็นละครต้นแบบที่สามารถประยุกต์เป็นละครได้อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ละครนอก โนราห์ ตามแต่ภูมิภาคนั้นจะนำมาแสดง

รูปแบบละครชาตรีแท้จริงคล้ายลิเก ไม่มีบท หรือบางคนเรียกว่าละครเร่ มีผู้แสดง 3 คน คณะหนึ่งไม่เกิน 10 คน ต่อมายุคสมัยเปลี่ยนแปลง มีการใช้เครื่องทรง ยืนเครื่องพระ รวมกับละครนอก เริ่มมีฉาก ตัวแสดงมากขึ้น บทละครที่ใช้คือ แก้วหน้าม้า ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง แต่ทว่าบทละครเหล่านี้ไม่ใช่บทละครชาตรี แต่ละครชาตรีนิยมนำมาแสดงเพื่อความหลากหลาย ต่อมา เนื่องจากผู้ชมไม่นิยม จึงปรับให้มีการสอดแทรกกลอนสด นำเพลงฉ่อยขึ้นมาร้องผสานเพื่อความสนุกสนาน รูปแบบละครชาตรีจึงเกิดขึ้นใหม่เป็นละครชาตรีร่วมสมัย

“ทำไมปัจจุบันเรามักเห็นเพียงรำแก้บน” ฉันถามหญิงร่างท้วม ด้วยความอยากรู้ปนสงสัย

“ละครชาตรีจะมีพิธีกรรมโหมโรงและมีการประกาศบท การรำถวายมือ รำซัดหน้าเตียง ซึ่งเป็นพิธีกรรมเฉพาะ ต่อจากรำซัดหน้าเตียงคือการรำถวายมือ เพลงช้า เพลงเร็ว แล้วจึงจะเข้าเรื่อง และการรำถวายมือก็คือการรำแก้บนในปัจจุบัน ที่ถูกตัดตอนมาจากละครชาตรี” หญิงผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 ช่วยไขข้อสงสัยที่อยู่ในใจฉันอย่างกระจ่าง

วันดี นาฏศิลป์

เหล่าข้าพระบาท                   ขอวโรกาส เทวฤทธิ์ อดิศร
ขอฟ้อนกราย                               รำร่ายถวายกร
บำเรอปิ่นอมร                              ปะตาระกาหลา
ผู้ทรงพระ                                    คุณยิ่งบุญบารมี
เพื่อเทวบดี                                  สุขสมรมยา
เถลิงเทพสีมา                             พิมานสำราญฤทัย

คำร้องท่อนหนึ่งในเพลง ระบำเทพบันเทิง- อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นผู้แต่งบทร้องสอดรับกับดนตรีบรรเลงปี่พาทย์ พร้อมเสียงอันไพเราะเสนาะหูของสาวสูงวัย เย้ายวนชวนให้ฉันเร่งฝีเท้าตรงไปยังโรงละครสำนักงานกิจการศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ภาพที่อยู่เบื้องหน้า คือ กลุ่มนางรำรุ่นราวคราวแม่ กำลังร่ายรำอย่างงดงาม แต่ทว่าทุกการเคลื่อนไหวกับคล่องแคล่วอย่างน่าประหลาด มือซ้ายจีบหงาย พร้อมกับมือขวาตั้งวง มือทั้งสองอยู่ระดับวงล่าง ศีรษะเอียงซ้ายอย่างชำนาญ เรียวปากเปล่งเสียงออกมาตามคำร้อง พร้อมขยับอวัยวะทุกส่วนของร่างกายให้เข้ากับการขับร้อง สีหน้าแสดงความรู้สึกตามอารมณ์เพลงเพื่อเน้นความหมาย

นางสาวกนิษฐา สมสาย หัวหน้าคณะวันดี นาฏศิลป์ หญิงสาวแรกรุ่น ผิวสีแทนวัยเพียง 24 ปี หรือที่ทุกคนในคณะเรียกว่า แคทดวงตากลมโตกำลังทอดสายตามองไปยังกลุ่มนางรำรุ่นราวคราวแม่อย่างชื่นชม รอยยิ้มที่เปล่งออกมา บ่งบอกถึงความรักและผูกพันต่อคณะอย่างแน่นแฟ้น แคทได้บอกเล่าถึงชีวิตนางรำในฐานะที่เธอผูกพันกับโรงละครมาตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนจะผันตนเองมาเป็นหัวหน้าคณะวันดี นาฏศิลป์

“เริ่มแรกคณะวันดี นาฏศิลป์ คือคณะของแม่วันดี เรืองนนท์ แต่เมื่อแม่เสียชีวิตเมื่อ 4 ปีก่อน จึงไม่มีใครสืบต่อ แคทเป็นลูกสาวคนเดียวจึงเข้ามาดูแลกิจการโรงละครต่อจากแม่”

การแสดงละครละครชาตรี ของคณะวันดี นาฏศิลป์ สืบเชื้อสายมาจาก คณะนายพูน เรืองนนท์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของเธอคณะนายพูนเรืองนนท์มีการรักษาหรือดำรงไว้ซึ่งต้นแบบฉบับของละครชาตรีดั้งเดิม เมื่อความนิยมละครชาตรีลดลง บุตรหลานของคณะนายพูน ก็พยายามสืบทอดคณะละครให้คงอยู่ต่อไป โดยเข้าประกวดละคร เพื่อเข้ามาแสดงประจำที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯคณะวันดีได้รับเลือกให้มารำที่นี่มีด้วยกัน 4 คณะหมุนเวียนกันไปคณะละหนึ่งสัปดาห์ทั้งนี้จึงตั้งชื่อใหม่เป็น คณะวันดี นาฏศิลป์

คณะวันดี นาฏศิลป์ จะมีละครชาตรีตลอดทั้งวัน สลับคั่นด้วยรำแก้บนหากมีคนมาจองคิดเป็นเงิน รอบละ 400 บาท จะแบ่งครึ่งหนึ่งทางศาลหลักเมือง ที่เหลือจึงนำมาหารกันทั้งคณะ เฉลี่ยนางรำจะมีรายได้รอบละ 8 บาท ค่าตัวทั้งวัน 70 บาท

“คนดูก็ไม่ได้มากมายอะไร ส่วนมากจะเป็นคนที่เขามาไหว้ศาลหลักเมืองแล้วแวะดู ส่วนรายได้ตรงนี้น้อยมาก ดังเช่นวันนี้ได้เพียง 5 รอบ”หญิงสาวตากลมพูดด้วยใบหน้าที่ไม่บ่งบอกความรู้สึกใดๆ

chatree02

หัวโขนและหัวละครที่ใช้ในการประกอบการแสดงละครและการร่ายรำ ทั้งหัวยักษ์ หัวนางยักษ์ และหัวเงาะป่า ซึ่งเป็นหัวโขนหัวละครที่เก่าแล้ว ขาดการบำรุงดูแลรักษา เพราะคณะละครไม่มีเงินสำหรับการดูแล

ชอบแต่ไม่นิยมชม

นางเพทาย พยัคฆหาญ หรือแม่พา หญิงสูงวัย ร่างท้วมสมบูรณ์ ใบหน้ากลมเรียวโชว์ริ้วรอยเหี่ยวย่นที่ผ่านโลกมาถึง 78 ปี หนึ่งในนางรำของคณะวันดี นาฏศิลป์ ได้บอกเล่าเรื่องราวบนถนนสายละครที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานของเธอให้ฟัง

เธอเริ่มรำมาตั้งแต่วัยเพียง15 ปีเมื่อก่อนมีคนนั่งดูละครเต็มโรงละคร รำตั้งแต่รอบรำละ 1 บาท ในอดีตได้ต่อวัน 30-50 รอบ ปัจจุบันต่อวันยังไม่ถึง 10 รอบ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ปัจจุบันละครแก้บน หรือละครชาตรี จึงมีเพียงการสาธิตจากหน่วยงานต่างๆ โดยสภาวัฒนธรรม กรมส่งเสริมกระทรวงวัฒนธรรม เป็นลักษณะการอนุรักษ์มากกว่า เพื่อให้เห็นว่าโดยโบราณเป็นละครชนิดแรกของไทย

“ละครชาตรีเคยอยู่ในจุดสูงสุด แล้วลงมาต่ำสุด จาก 100% เหลือเพียง 10% ของคนที่รู้จักละครชาตรีอย่างแท้จริง ในบางครั้งแสดงอยู่ มีผู้ชมทักว่า วันนี้ลิเกมาเล่นเรื่องอะไร สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักละครชาตรี หรืออาจลืมไปแล้ว เพราะฉะนั้น อาชีพละครชาตรีในเขตกรุงเทพฯ สามารถเลี้ยงตัวได้ไหม ปัจจุบัน บอกเลยว่า เลี้ยงตัวไม่ได้ เพราะไม่มีคนจ้าง บางคนชอบ แต่ไม่พยายามจะหาชม เพราะไม่เป็นที่นิยม” แม่พาบอกเล่าด้วยแววตาสิ้นหวัง

chatree05

ภาพการรำแก้บนบูชาในเพลง “เทพบันเทิง” นำมาจากละครรำเรื่อง “อิเหนา” ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการรำโดยทั่วไป อันเป็นเรื่องราวการร่ายรำของเหล่าเทพบุตรและเทพธิดา และมีการ “รำถวายมือ” เพื่อสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่แห่งนั้นด้วย

chatree03

นักแสดงทำการแต่งหน้าและแต่งตัวเพื่อเตรียมการแสดงละครและร้องรำบูชา ในภาพจะเห็นตุ๊กตาลูกเทพของนักแสดงละครรำ อันเป็นขนบความเชื่อแบบใหม่ที่ถูกใส่มาเชื่อมโยงกับการแสดงในรูปแบบเก่า

แต่งหน้า แต่งตัว ตามกำลังเงิน

สองมือเรียวหนา เหี่ยวย่นตามวันเวลาที่ผันผ่านไปชั่วอายุคน กำลังเร่งจับพัฟฟองน้ำลงไปในตลับแป้ง ก่อนจะบรรเลงบนใบหน้าอย่างชำนาญ เมื่อหน้ามีสีนวลขาวผ่อง จึงเริ่มหันมาเลือกสีลิปสติกที่ถูกใจ มือซ้ายยกกระจกขึ้นมาส่อง มือขวาไม่รอช้า หยิบลิปสติกสีชมพูบานเย็น วาดไปตามรูปปากที่อวบอิ่ม

แม่สุนทรี ขำทวี หนึ่งในนางรำของคณะวันดี นาฏศิลป์ วัย 64 ปี หรือ แม่ตุ๋ย หญิงร่างเล็กอารมณ์ดี ขนตาเรียวบาง ริมฝีปากหนาอวบอิ่ม จัดการวาดลวดลายบนใบหน้าในเวลาไม่ถึง 10 นาที และดูงดงามสมวัย จากนั้นจึงเริ่มจัดแต่งทรงผมด้วยการรวบมัดตึง เพื่อให้สวมใส่ชฏาที่ใช้ประกอบแสดง โดยสวมใส่คาดผมสีดำที่ทำจากผ้ากำมะยี่เพื่อป้องกันศีรษะไม่ให้เจ็บปวดขณะสวมชฏา ข้างกายมีตุ๊กตาลูกเทพที่แม่ตุ๋ยทั้งรักทั้งหวง ชื่อน้องกำไล นางรำอาวุโสยังบอกอีกว่าน้องกำไลเป็นทั้งเพื่อนทั้งลูกที่ทำให้เธอผ่านความเหงาในแต่ละวันไปได้

การแต่งกายเป็นไปอย่างรวดเร็ว ชุดเครื่องทรงยืนเครื่องพระนางสีเหลืองอร่าม อันตกแต่งด้วยเงินพลาสติกแบบเรียบง่าย ชายกระโปรงมีด้ายหลุดออกมาหลายต่อหลายเส้น บ่งบอกถึงอายุการใช้งานที่ผ่านเวทีมาอย่างโชกโชน ขณะเดียวกัน ข้อเท้าที่ทำจากผ้าหนาสีเหลืองอ่อน ขนาดความกว้างประมาณ 4 นิ้ว ได้ประดับอยู่บนข้อเท้าสองข้างอย่างเหมาะตา ลวดลายของชุดที่ว่างดงามนั้น ยังไม่เท่ารอยยิ้มของหญิงอารมณ์ดี ที่ประดับอยู่บนใบหน้าอันสวยสด สายตาของเธอมองตรงไปยังกระจกที่ติดผนังกำแพงสีขาว

“เครื่องสำอางที่ใช้แต่งหน้าไม่ใช่ของมียี่ห้อ ราคาแพง ชุดที่แม่ใช้ใส่แสดงก็มีชุดเดียวที่ใส่ประจำหา เสื้อผ้าคือส่วนหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ละครชาตรี แต่เราแต่งได้เท่าที่กำลังเงินมี” นางรำร่างเล็กกล่าวทิ้งท้ายด้วยใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม

ภายในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีคนอัดกันอยู่9-10 คน ไม่ได้ทำให้ฉันอึดอัด แต่กลับนั่งคิดตามคำพูดของแม่ตุ๋ย หญิงนางรำสูงวัยที่นิสัยร่าเริง อารมณ์ดีกว่าสาวแรกรุ่นบางคนที่ฉันเคยเจอเสียอีก แท้จริงเสน่ห์ละครชาตรี อาจไม่ได้จากเครื่องนุ่งห่ม หรือใบหน้าที่สวยสด แต่อาจมาจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่แม่ตุ๋ยได้มอบให้แก่ผู้ชม ฉันเชื่อเช่นนั้น

นายพินิจ สุทธิเนตร กรรมการผู้จัดการบ้านนราศิลป์ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังชุดเครื่องทรงอันสวยงามที่ปรากฏแก่สายตาของผู้ชม ทั้งเครื่องโขนและละครบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของเครื่องแต่งกายในละครชาตรีให้ฉันฟังอย่างตั้งใจ

เครื่องแต่งกายละครชาตรีในสมัยก่อนไม่ใช่เฉกเช่นปัจจุบัน ในอดีตไม่มีพลาสติก เมื่อก่อนใช้ลิ่มเงินทั้งหมด ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นพลาสติก หรือที่เรียกกันในชื่อว่า เครื่องกำมะลอ แท้จริงเครื่องละครเหมือนเครื่องโขน ต่างกันที่ลวดลายโขนจะเป็นกนกละครชาตรีจะเป็นลายป่า ใบไม้ ดอกไม้ มะลิเลื้อย ปัจจัยที่ทำให้กลายมาเป็นชุดเครื่องกำมะลอ ก็เพื่อความเหมาะสม
“เมื่อก่อนนี้ละครชาตรี หรือที่ตัดทอนเหลือเพียงรำแก้บน เล่นกันก็แค่ 2-3 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันรำแก้บน มีตั้งแต่เช้ายันดึก หากเป็นชุดหนักนางรำก็ไม่ไหว ชุดจึงต้องเบาขึ้น เพื่อจะได้อยู่ได้นาน น้ำหนักเบา ราคาถูก เพราะว่าคนที่มาจ้างก็กดราคา สิ่งแวดล้อมหลายๆอย่างก็เป็นตัวกำหนดที่ทำให้ละครชาตรีถอยหลังลงไป อย่างเช่น จะจ้างละครชาตรี 1 วัน 30,000 บาท เขาก็ขอต่อลงเหลือ 15,000 บาท เราก็ต้องคิดว่า 1 วัน ต้องใช้คนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจึงต้องประหยัดค่าใช้จ่ายลง แม้กระทั่งเครื่องแต่งกาย”นายพินิจพูดทิ้งท้าย

chatree06

ในทุกวันของการแสดง บางครั้งจะมีคนดูมาให้เงินในลักษณะของการช่วยเหลือที่ร้องหรือรำดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกวันที่จะได้เงินค่าทิปนั้น ซึ่งโดยปกติแล้ว นักแสดงรวมไปถึงนักดนตรีจะได้รับค่าตัว โดยทุกคนจะเริ่มค่าตัวต่อวันที่ 70 บาท และหากวันนั้นมีการรำถวายหรือรำแก้บน ก็จะได้รับเงินเพิ่มคนละ 8 บาทต่อการรำแก้บน 1 เพลง

เต้นกินรำกินอาชีพไม่โก้หรูแต่มีคุณค่า

“ โบราณมักบอกว่า อาชีพอย่างเราเต้นกินรำกิน ถึงจะเลี้ยงตัวได้ แต่มันไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีเกียรติ” นางวารุณี พลูปั้น หญิงสูงวัยผิวขาว ดวงตาเฉียบคม หนึ่งในนางรำคณะวันดี นาฏศิลป์ วัย 62 ปี หรือแม่ณี พูดขณะที่มือขวากำลังจับเข็มเย็บตาละบาตรห้อยหน้าตัวพระอย่างประณีตบรรจง เธอมักใช้เวลาว่างขณะอยู่หลังฉากเย็บชุดเครื่องกำมะลอขาย เพื่อเป็นรายได้เสริมใบหน้าที่เปื้อนยิ้มเปลี่ยนเป็นบึ้งตึง เมื่อนึกย้อนไปยังอดีต ก่อนจะเล่าให้ฉันฟังอย่างช้าๆ

“ใจหายเมื่อได้ยินคำดูถูกเต้นกินรำกิน นึกแปลกใจว่าอาชีพอย่างเรา แม่แต่เจ้าใหญ่นายโตก็ยังนิยม ทำไมเขาจึงดูถูก”

แม่ณีเล่าต่ออีกว่า ปัจจุบันเธอไม่สนใจที่ใครจะหาว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน เพราะหากินอาชีพสุจริต ใช้วิชาความสามารถมาแลกกับเงิน อยากจะสอนเด็กรุ่นหลังไม่ให้มองอาชีพนี้ต้อยต่ำ หากเก่งอะไรก็ทำเช่นนั้น แต่เมื่อเรียนไม่เก่ง หรือมีพรสวรรค์ด้านนี้ ก็ขอให้มุ่งทำ เรียนรู้อย่างตั้งใจ เพราะคุณมีข้อหนึ่งที่ดีกว่าอาชีพอื่นตรงที่ว่า คุณได้ช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไปในตัว อาจจะไม่ได้เงินทองมากมายร่ำรวย แต่คุณมีบุญที่ได้ช่วยอนุรักษ์ ช่วยสืบสานความเป็นวัฒนธรรมอันแท้จริงให้คงอยู่

chatree08

ในช่วงเวลาว่างของการแสดงละครรำ นางรำบางคนจะใช้เวลาไปกับการถักและซ่อมชุดเครื่องการแสดงรำของตน ตั้งแต่การปักเลื่อม ปักผ้า เย็บผ้าที่เสียหายต่างๆ รวมถึงบางครั้งก็มีอาชีพเสริมรับเย็บชุดละครนางรำ ซึ่งผ้าแต่ละผืนนั้นมีมูลค่าไม่ต่ำว่า 7,000 บาท

chatree07

ในช่วงพักกลางวัน นักแสดงละครรำจะพักรับประทานอาหาร โดยอาหารหลักที่รับประทานนั้น ส่วนหนึ่งจะมีข้าวและกับข้าวที่ไว้บูชาครูและพ่อแก่เมื่อเช้าในหิ้งสักการะ หลังจากมีการลาเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำอาหารนั้นมารับประทานเพื่อเป็นศิริมงคลให้กับชีวิต

ความสุขหลังโรงละคร

เบื้องหน้าเวที ในโรงละครแห่งนี้ ประกอบไปด้วย บรรดานางรำสูงวัย หรือที่หลายคนในแถบศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มักแซวพวกเธอว่า นางรำสาวเหลือน้อย ทันทีที่ประโยคนี้ ดังแว่วเข้าหูแม่ๆ ต่างก็พากันโห่ร้องปนหัวเราะ สร้างความครื้นเครงให้แก่ผู้คนที่เข้ามาสักการบูชา เรียกได้ว่าสร้างสีสันให้แก่สถานที่แห่งนี้มากขึ้นทีเดียว

เบื้องหลังโรงละครแห่งนี้ในช่วงพักกลางวัน เหล่านางรำสลัดภาพนางฟ้า เทวดา ยักษ์ เสียหมดสิ้น เหลือเพียงตัวตนที่แท้จริง กับรอยยิ้มที่ไม่ประดับตกแต่ง ชุดเครื่องทรงถูกปลดออกเหลือเพียงชุดลำลอง เสื้อยืด ขาสั้นใส่สบาย เพื่อให้ถนัดต่อการนั่งล้อมวงรับประทานอาหารกลางวัน กับข้าวหลากหลายเมนูจัดเรียงน่ารับประทานมาก แคทสาวแรกรุ่นเพียงคนเดียวในคณะวันดี นาฏศิลป์ ยกมือพนมต่อหน้าพ่อแก่ พร้อมกล่าวบทสวดในใจ ก่อนจะยกอาหารที่ใช้สำหรับไหว้มาทาน บรรยากาศในวงข้าว เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ทุกคนสนทนาแซวกันอย่างออกรส

“อาชีพนี้ให้ความสุข แม้จะมีรายได้น้อย เราก็มาด้วยใจรัก ถ้าหากวันนี้เราคิดเรื่องเงิน ก็คงไม่มาในวันนี้ เราได้ใช้ความสามารถที่มี นำมาตีแผ่ให้คนได้รู้จัก ว่าคนรุ่นเราก็แสดงได้ ไม่ใช่แก่แล้วไม่มีคุณค่า” แม่ตุ๋ยพูดกับฉันด้วยรอยยิ้ม

แคท หญิงสาวหน้าตาแป้นแล้นพูดเสริมอีกว่า “สิ่งนี้คือความสุขในใจเล็กๆ อาจจะไม่ได้สุขมาก ชีวิตอาจไม่หวือหวา แต่เราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ว่าเราจะทำอะไร เรายังมีสิ่งที่รออยู่ข้างหลังนั่นคือ คณะวันดี นาฏศิลป์ของแม่”

chatree10

บางครั้งแม้จะไม่มีคนดูเลยสักคน นักแสดงก็จำเป็นต้องแสดงละครรำ ละครร้องต่อไปเพื่อให้เรื่องราวดำเนินต่อไป

chatree14

ภาพของตุ๊กตานางรำที่ถูกห่อเอาไว้ในถุงพลาสติก เปรียบได้กับวัฒนธรรมไทย การแสดงละคร รำ ฟ้อนอันเก่าแก่ที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ และเป็นเพียงวัฒนธรรมที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าแก่นักท่องเที่ยว

สิ้นอายุ สิ้นละคร

“อยากให้เขาหวนกลับมาสนใจวัฒนธรรม ละครชาตรีเป็นของศิลปะคู่บ้านคู่เมือง ถ้าหากเราไม่สนใจก็จะหยุดเพราะหมดรุ่นนี้ไปแล้วก็จะสูญหาย” คำพูดของพ่อวัฒน์ บ่งบอกถึงการตัดพ้อ น้อยใจต่อคนรุ่นหลัง ฉันยิ้มตอบให้กำลังใจอย่างสุดซึ้ง

พ่อสุรินทร์ เถื่อนประเทศ หรือพ่อวัฒน์ อายุ 66 ปี ชายร่างใหญ่ ผิวขาวหนึ่งในคณะวันดี นาฏศิลป์ มักรับบทเป็นตัวพระ เริ่มเข้ามารำแก้บนหรือแสดงละครชาตรีเมื่ออายุ55 ปี ก่อนหน้านี้เป็นศิลปินทางด้านโขนสด มาตั้งแต่อายุ 16 ปี หลังจากอายุ20 ปีก็มาแสดงลิเก และหันมาเอาจริงเอาจังกับละครก็เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

ความนิยมละครชาตรีนับวันจะยิ่งลดน้อยถอยลงไป นึกเสียดายหากจะต้องสูญหายไป เมื่อก่อนมีคณะที่ทำการแสดงในลักษณะนี้มาก แต่ปัจจุบันได้ปิดตัวลงไปมากแล้ว ไม่มีพื้นที่สำหรับละครคนรุ่นใหม่ควรชมไว้บ้าง แม้อาชีพนี้จะไม่โก้หรู แต่หากลองเรียนรู้ หรือมาสัมผัส ก่อนที่จะหมดไปอย่างน่าเสียดาย

“ตราบใดที่ผมคนละครยังมีแรงพอที่จะสอนได้ ขอเพียงใจรัก หรืออยากเรียนรู้ ผมยินดีเสมอ” พ่อวัฒน์พูดทิ้งท้าย

แคท หญิงสาวสายเลือดละครชาตรี เล่าว่า ปัจจุบัน เด็กส่วนใหญ่รำเป็นอย่างเดียว เน้นหน้าสวย งดงาม เพราะละครรายได้น้อย เมื่อเทียบกับรำแก้บนหนึ่งครั้ง ค่าจ้างละคร 10 รอบ ยังไม่เทียบเท่า ทำให้คนที่สนใจจะเรียนรู้ละครชาตรีมีน้อยลง

“ส่วนตัวทิ้งไม่ได้ เพราะละครคือความสุขของแม่ แม่เป็นคนปลุกปั้น กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกสิ่งเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ เกินคำว่าผูกพัน เพราะมันคือชีวิตของเรา บั้นปลายชีวิต แคทไม่รู้ว่าจะทำงานถึงอายุ 80-90 ไหม แต่ตั้งใจเป็นแน่แท้ว่าจะสืบสานละครชาตรีจนกว่าจะหมดลมหายใจ” หัวหน้าคณะวันดี นาฏศิลป์พูดทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

ถึงตอนนี้ฉันยังคงนั่งมองดูทุกชีวิตในโรงละครแห่งนี้ โลดแล่นอยู่บนเวที แม้จะไม่มีผู้ชม ใบหน้าที่เปื้อนยิ้มก็ยังไม่หายไปจากนางรำสาวเหลือน้อย ทุกคนหัวเราะ เกี้ยวพาราสี งัดทักษะที่สะสมมาจากประสบการณ์ ฟาดฟันกันอย่างออกรส ละครชาตรีที่หลงเหลืออยู่ในสังคมไทย กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย หรือจะหยุดนิ่งถูกแช่แข็ง เหลือเพียงรูปปั้นนางรำที่แปลงไปเป็นสินค้า อนาคตจะเป็นผู้เฉลยคำตอบ

banner-camp-12-for-web