ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

weiner1
“ฉันมีลูกสาวอยู่คนเดียว (เชลซี คลินตัน) แต่ถ้าฉันมีลูกสาวคนที่ ๒ คนนั้นคงเป็นฮูมา” นี่คือคำกล่าวของ ฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลข ๑ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และล่าสุดกับตำแหน่งผู้ท้าชิงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครต ส่วนฮูมาในคำกล่าวนั้นคือ ฮูมา อาเบดีน (Huma Abedin) เลขานุการส่วนตัวของเธอ

สาวลูกครึ่งอินเดีย-ปากีสถาน ผู้เกิดในรัฐมิชิแกน แต่ไปโตในซาอุดีอาระเบีย เริ่มต้นการทำงานกับคลินตันตั้งแต่ฝึกงานในทำเนียบขาว สมัยนั้นเธอเป็นพนักงานรุ่นเดียวกับ โมนิกา เลวินสกี เพียงแต่เลวินสกีฝึกงานในแผนกประธานาธิบดี ส่วนอาเบดีนฝึกแผนกสุภาพสตรีหมายเลข ๑ อย่างที่เรารู้กัน เส้นทางอนาคตของสองสาวจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อาเบดีนเห็นคลินตันตั้งแต่พบวิกฤตเรื่องชู้สาวที่อื้อฉาวที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย จากนั้นเธอก็เห็นคลินตันผ่านสมรภูมิการเมืองมาตลอด เพราะหลังจากจบการฝึกงานอาเบดีนก็เข้าร่วมในทีมของคลินตัน โดยทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นเลขาฯ ส่วนตัวไปจนถึงการเป็นผู้ช่วยต่าง ๆ ในสมรภูมิการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งประธานาธิบดี (ซึ่งคลินตันแพ้ บารัก โอบามา) เกมการเมืองระดับโลก ในภาพข่าวเรามักจะเห็นอาเบดีนยืนอยู่ข้างคลินตัน เห็นเธอกระซิบความลับ ถือกระเป๋าให้ และแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือของคลินตันเองก็อยู่ในกระเป๋าของอาเบดีน หากคลินตันคือราชินี อาเบดีนก็เปรียบดั่งนางต้นห้องหน้าด่านสำหรับคนที่จะเข้าหานายหญิง หรือแม้กระทั่งจัดเตรียมอาหารและขนมให้นายหญิง มีเรื่องตลกเล่ากันว่า ในบางครั้งที่ บิล คลินตัน ต้องการพบภรรยา เขาเองก็ต้องผ่านด่านอาเบดีนเสียก่อน

อาเบดีนได้รับการฝึกหัดในโรงเรียนคลินตันมาอย่างดี เพราะเธอแทบจะไม่เคยให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับนักข่าวเรื่องตัวเธอหรือคลินตัน เธอทำตัวล่องหนและเป็นข่าวน้อยที่สุด ยิ่งเธอเป็นปริศนาเท่าไร ก็ยิ่งมีมายาคติเกี่ยวกับตัวเธอมากเท่านั้น บ้างว่าเธอเป็นแค่เลขาฯ ธรรมดา แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเธอรู้ความลับของคลินตันมากมาย ครั้นคลินตันถูกตรวจสอบในข้อหาการใช้อีเมลบกพร่อง อาเบดีนก็ต้องถูกตรวจสอบด้วย และในฤดูกาลเลือกตั้งปัจจุบันอาเบดีนก็ถูกกล่าวหาด้วยอคติว่าเธอเป็นสายลับของซาอุดีอาระเบีย

weiner4

weiner3

ด้วยเป็นบุคคลลึกลับ จึงน่าประหลาดใจเมื่อเธอกลายเป็นตัวละครหลักใน Weiner สารคดีที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างท่วมท้นในอเมริกาขณะนี้

weiner เป็นคำสแลงแปลว่า “จู๋” แต่ขณะเดียวกันก็เป็นชื่อของนักการเมือง แอนโทนี วีเนอร์ สามีของอาเบดีน เขาและเธอเคยเป็นดาวรุ่งของพรรคเดโมแครต แต่สำหรับเขาภายในเวลาไม่กี่ปีก็กลับกลายเป็นดาวร่วงของพรรคเพราะปัญหาที่เกิดจากจู๋

ค.ศ. ๒๐๑๑ มีเหตุการณ์ฉาวโฉ่อันสืบเนื่องมาจากวีเนอร์เผลอ “ทวีต” ภาพกางเกงในจู๋ตุงของเขาส่งไปให้สาวนางหนึ่ง ต่อมามีการค้นพบว่าเขามักส่งข้อความเกี่ยวกับเรื่องเพศและรูปล่อแหลมให้ผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยา เมื่อเหตุการณ์นี้รวมกับนามสกุลที่แปลว่าจู๋ ก็กลายเป็น “โจ๊ก” ชั้นดีที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับและรายการสนทนาทั่วประเทศขยี้แล้วขยี้อีก จนเขาตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส.สภาคองเกรสในที่สุด

ใน ค.ศ. ๒๐๑๓ วีเนอร์คิดแผนคืนสู่วงการด้วยการลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรีแห่งเมืองนิวยอร์ก อะไรจะดีไปกว่าเรื่องราวของ “โอกาสครั้งที่ ๒” เพราะมนุษย์ล้วนต้องการสิ่งนี้ ว่าแล้ววีเนอร์ก็คิดแผนที่มากกว่าการลงเลือกตั้ง นั่นคือตลอดแคมเปญการหาเสียง เขาจะให้ทีมงานถ่ายทำหนังสารคดีบันทึกเบื้องหลังไปพร้อมกัน

การหาเสียงช่วงแรก สิ่งไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้นเมื่อชาวนิวยอร์กต่างให้กำลังใจและสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ ถึงขั้นที่วีเนอร์มีคะแนนนำเป็นอันดับ ๑ ในโพล แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อพบข้อมูลว่าหลังการลาออกจากสภาไปเพราะเรื่องอื้อฉาว วีเนอร์ก็ยังไม่หยุด เพราะเขายังส่งภาพจู๋ตัวเองและเล่นเซ็กซ์โฟนกับผู้หญิงมากมาย การเปิดเผยข้อมูลนี้เหมือนสึนามิซัดเข้าใส่แคมเปญของวีเนอร์และชีวิตครอบครัวของเขากับอาเบดีน ยิ่งเมื่อชาวเมืองรู้สึกว่าโอกาสครั้งที่ ๒ ที่ให้ไปกลับไร้ค่า ยังจะต้องให้โอกาสครั้งที่ ๓ อีกหรือ จากแคมเปญเกรดเอก็กลายเป็นการฆ่าตัวตายทางอาชีพทางการเมืองโดยมีกล้องบันทึกอยู่ทุกขณะ

จุดเด่นอย่างแรกของ Weiner คือการที่กล้องสารคดีได้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรจะอยู่ จริงอยู่ที่มีสารคดีและสกู๊ปข่าวการเลือกตั้งมากมาย แต่กล้องในหนังเรื่องนี้ได้ไปอยู่ใน war room (ห้องประชุมวางแผนของแคมเปญ) โดยที่วีเนอร์เองก็อนุญาตให้กล้องบันทึกตลอด มีเพียงบางครั้งเป็นเรื่องความลับจริง ๆ เขาจะขอให้ตากล้องออกจากห้องไป

จุดเด่นอย่างที่ ๒ คือความลึกลับของอาเบดีน ทั้งที่กล้องตามถ่ายตลอดเวลา แต่เธอมี “วิทยายุทธ์” เพียงพอในระดับที่รู้จัก “เล่น” และ “หลบ” กล้อง เธอมีวิธีที่จะพูดหรือไม่พูดต่อหน้ากล้อง เธอสวย มีเสน่ห์ ชวนให้มอง แต่ขณะเดียวกันเธอก็ล่องหน แง่หนึ่งเธอคือภรรยาที่รู้สึกอายและเสียใจที่สามีประพฤติตัวไม่เหมาะสม แต่ในอีกแง่เธอก็คือกุนซือที่รู้จักเกมของสื่อมวลชนอย่างดี มีอยู่ฉากหนึ่งที่น่าทึ่ง เมื่อบรรดาทีมของวีเนอร์มาประชุมและปรับทุกข์ หลังจากประชุมเสร็จอาเบดีนสั่งให้โฆษกประจำแคมเปญเช็กหน้าตาและ “ยิ้ม” เวลาที่เดินออกจากตึก เพราะเธอไม่อยากให้นักข่าวไปเขียนว่าแม้กระทั่งโฆษกยังหน้าเศร้าอมทุกข์ นอกจากนี้ในหลาย ๆ ฉากยังมีการสื่อว่า ไป ๆ มา ๆ คนที่ชาวเมืองสนับสนุนตัวจริงนั้นไม่ใช่วีเนอร์ แต่เป็นอาเบดีนต่างหาก

จุดเด่นอย่างที่ ๓ คือตัวของวีเนอร์ เขาคือตัวแทนด้านหนึ่งของเมืองนิวยอร์ก เป็นคนจริงจัง ปากเก่ง ดุเดือด เป็นนักเลง แต่ก็มีความวิตกจริต ช่างกัดตัวเอง ส่วนผสมเหล่านี้ช่างตรงกันข้ามกับความนิ่งและสุขุมของอาเบดีน ขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยโชว์ให้เห็นถึงความจริงใจและความเป็นปุถุชนคนธรรมดาของเขา ซึ่งเมื่อผนวกกับแนวคิดเสรีนิยม (เช่นเขาเรียกร้องให้มีประกันสุขภาพฟรีสำหรับทุกคน) มันก็เป็นส่วนผสมที่น่าสนใจ บางครั้งความดุเดือดเลือดพล่านของเขาชนะใจคนทั้งห้องประชุม แต่ในบางครั้งการที่เขาควบคุมอารมณ์ไม่ได้ก็กลายเป็นการฆ่าตัวตายออกอากาศ

weiner5

สองบุคคลที่ไม่ได้ปรากฏตัวโดยตรง (มีมาเป็นแค่ฟุตเทจในอดีต) แต่เปรียบเป็นเงาที่พาดทับหนังเรื่องนี้อยู่ก็คือ บิล และ ฮิลลารี คลินตัน ในแง่หนึ่งวีเนอร์และอาเบดีนก็เหมือนบิลและฮิลลารีรุ่นจิ๋ว (แถมวีเนอร์กับบิลเองก็ยังมีปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน และอาเบดีนกับฮิลลารีก็รับมือในลักษณะคล้าย ๆ กัน) แต่ที่น่าเศร้าคือ อาจเป็นเพราะประสบการณ์ยังไม่มากพอ และอาจเป็นเพราะไร้โชค วีเนอร์และอาเบดีนก็เป็นได้แค่เวอร์ชันเล็กกว่าที่ไม่ประสบความสำเร็จของบิลและฮิลลารี

ทำไมคนเราถึงปล่อยให้กล้องบันทึกสภาพของตัวเองเมื่ออยู่ในสถานการณ์น่าอับอายที่สุดสถานการณ์หนึ่งของชีวิต ? วีเนอร์และอาเบดีนมีอำนาจเพียงพอที่จะสั่งให้กล้องหยุดถ่ายเมื่อแคมเปญของพวกเขาร่วงหล่นลงเหว แต่ก็ไม่ได้ทำ นั่นอาจเป็นเพราะว่าภาพยนตร์นั้นแตกต่างจากการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ หรือรายการสนทนายามค่ำคืนทางโทรทัศน์ ในสื่อเหล่านั้น แอนโทนี วีเนอร์ เป็นเพียงแค่โจ๊กเรื่องจู๋ที่ไม่มีวันจบสิ้น ทว่าในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่ามันจะน่าอับอายสักเพียงใด แต่เขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกนำเสนอแบบ ๓๖๐ องศาในช่วงเวลาที่กำลังดิ้นรนเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี การงาน และชีวิตคู่