banner

 

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

ข่าวลือที่สะพัดมาตั้งแต่เมื่อวานทำให้ผมรู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท ตื่นมาด้วยความรู้ตื้อๆ ตึงๆ ตั้งสติว่าอย่างไรเสียภารกิจที่สำคัญวันนี้ก็คือการปิดเล่มนิตยสารสารคดีฉบับที่ ๓๘๐ เดือนตุลาคม ๒๕๕๙ โดยสารคดีพิเศษที่วางไว้และจัดหน้าเสร็จแล้วกว่า ๘๐ หน้า คือสารคดีเกี่ยวกับอาหารหลากหลายแง่มุม จากฝีมือของเยาวชนค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๒

มาถึงที่ทำงาน พูดคุยแลกเปลี่ยนวิเคราะห์เหตุการณ์กันในกองบรรณาธิการถึงข่าวต่างๆ เมื่อวานแล้วยิ่งรู้สึกลึกๆ ปลอบใจตัวเองจากประสบการณ์ว่า ไม่มีอะไรแน่นอน…ถึงจะวิกฤตแต่กรณีคนที่พลิกคืนมาได้ก็ใช่จะไม่มี

อ่านไลน์ที่ถามเพื่อนไปตอนดึกคืนก่อนเกี่ยวกับคำอธิบายอาการของท่าน คำตอบสั้นๆ ตอนเช้า Critical and unstable

ไม่ว่าอย่างไรหน้าที่ของสารคดีคือการบันทึกเหตุการณ์ให้ดีที่สุด ทีมช่างภาพของเราจึงเดินทางเข้าศิริราชไปตั้งแต่เช้าตรู่

คติว่า No news is good news – ไม่มีข่าวคือข่าวดี ใช้ไม่ได้กับวันนี้

บรรยากาศอันเงียบเชียบทั้งบนหน้าเฟซบุก เวบไซต์สำนักข่าวต่างๆ รายการโทรทัศน์บางรายการที่ยังวิเคราะห์เหตุการณ์ข่าวลือเมื่อวาน สัญชาตญาณบอกว่าเหมือนหาดทรายทอดยาวก่อนคลื่นสึนามิจะโถมเข้าใส่

ผมพยายามนั่งเก็บงานปิดเล่มที่ยังคั่งค้างต่อไปตลอดวันด้วยความรู้สึกกระวนกระวายข้างใน จนสักบ่ายสามโมงครึ่ง โทรศัพท์จากเพื่อนที่มั่นใจในความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวยืนยันว่า พระองค์เสียแล้วจริงๆ…ด้วยเสียงสั่นเครือที่เธอพยายามข่มความรู้สึกไว้

จริงหรือ?…ในใจผมไม่อยากยอมรับ

พร้อมๆ กันก็มีแหล่งข่าวอื่นที่แจ้งเข้ามาหาคนในกองบรรณาธิการ และว่าจะมีการแถลงข่าวตอน ๕ โมงเย็น ซึ่งหลังจากนั้นก็ว่าเลื่อนไปเป็น ๖ โมงเย็น และที่สุดคือบอกว่าจะเป็นตอน ๑ ทุ่ม ระหว่างนั้นข่าว สนช. นัดประชุมพิเศษตอนสามทุ่มก็ออกมาย้ำความอันน่าสงสัย

ช่างภาพของสารคดีรายงานว่าในศิริราช จากตอนเช้าที่มีนักข่าวแค่ ๑๐ คน ถึงช่วงบ่ายมีนักข่าวเข้าไปรออยู่นับร้อยชีวิต ทั้งสำนักข่าวในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ประชาชนซึ่งมาเฝ้ารอหลายคนเริ่มร้องไห้ ปฏิกิริยาการส่งซิกกันของนักข่าวอื่นๆ ทำให้เขาคิดว่าเหตุผิดปรกตินั้นเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่อยากเชื่อเลยว่าจะจริง แต่เข็มทิศทุกอันก็ชี้ไปในเส้นทางอนาคตซึ่งไม่อาจหวนกลับ

ผมเริ่มตระเตรียมการเปลี่ยนหน้า Cover บนเฟซบุก และคิดหาคำที่เหมาะสมด้วยความหวังอันน้อยนิดว่าจริงๆ แล้วเราอาจไม่ต้องใช้

นิตยสารสารคดีจัดทำสารคดีพิเศษเกี่ยวกับพระองค์ท่านมาแล้วถึงห้าฉบับในห้าวาระสำคัญ คิดว่าคงไม่มีภาพไหนเหมาะสมกว่าภาพปกหนังสือทั้งห้าเล่มนี้อีกแล้ว

ส่วนคำถวายความอาลัย (ที่ยังเป็นปัญหาการใช้คำที่ถูกต้องมาจนถึงขณะที่เขียนบทบรรณาธิการอยู่นี้) แว่บหนึ่ง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ก็ดังขึ้นมาในหัว หากพระองค์จะจากเราไปจริงๆ และถ้าใครสักคนอยากจะร้องเพลงสักเพลงแทนความรู้สึก ผมคิดถึง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” อันขรึมขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และเศร้าสร้อย

เปิดทีวีไลฟ์ของช่องต่างๆ ๕ โมงเย็นยังไม่มีอะไร ๖ โมงเย็นเป็นรายการของ คสช. …คิดว่างั้นขออย่ามีแถลงข่าวดีไหม…แต่แล้วเวลา ๑ ทุ่ม…อย่างที่ทุกคนร่วมรับรู้…ก็เป็นเหมือนค้อนที่ฟาดกระหน่ำลงมา

แอดมินของสารคดีเปลี่ยนหน้า Cover เพจเฟซบุกและเวบไซต์ ส่วนผมกลับบ้านด้วยความมึนงงและความรู้สึกเคว้งคว้างเลื่อนลอย ทั้งที่มีเรื่องต้องคิดและงานต้องเตรียมอีกมาก

คืนนั้นทีมช่างภาพสารคดีเตรียมความพร้อมสำหรับกำหนดการเคลื่อนพระบรมศพในวันรุ่งขึ้น จัดวางกำลังไปตามจุดต่างๆ ที่คิดว่าจะสามารถบันทึกภาพสำคัญในประวัติศาสตร์ประเทศไทยไว้ให้ได้ดีที่สุด แต่ลำพังช่างภาพประจำของสารคดีเองอาจไม่เพียงพอ กำลังเสริมจากเด็กค่ายสารคดีเท่าที่ติดต่อได้ จึงเข้ามาร่วมทำหน้าที่

วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นเช้าอันสับสน และการตัดสินใจสำคัญสำหรับนิตยสารสารคดีฉบับตุลาคม

ท้ายที่สุดหลังจากหารือกันถึงทางออกในหลายวิธี สิ่งที่ดีที่สุดคือการถอดสารคดีพิเศษเรื่องอาหารราวกว่า ๘๐ หน้าที่ทำเสร็จพร้อมเข้าโรงพิมพ์นั้นออกทั้งหมด คงไว้แต่คอลัมน์ที่เข้าโรงพิมพ์ไปก่อนแล้ว และใช้ ๕-๖ วันลงแรงจัดทำสารคดีพิเศษบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ให้เสร็จทันจัดพิมพ์วางแผงนิตยสาร (ที่อาจจะออกล่าไปบ้าง) โดยไม่ตกเดือน

เรากำหนดเรื่องที่จะลงว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง และแบ่งงานสำหรับการเขียน พร้อมกับจัดหาภาพเก่าต่างๆ จากคลังภาพของศูนย์ข้อมูลสารคดี กำหนดการและข่าวสารต่างๆ จากราชการทยอยกันออกมาเรื่อยๆ คลื่นประชาชนมหาศาลที่พากันเดินทางเข้าไปที่ ศิริราช สนามหลวง บริเวณนอกพระบรมมหาราชวัง และเส้นทางการเคลื่อนพระบรมศพ ทำให้การทำงานของช่างภาพเป็นไปอย่างยากลำบาก บางคนบอกว่าถูกล็อกกับที่ขยับไปไหนไม่ได้อีกด้วยมวลชนที่หนาแน่น ทั้งที่อยากเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้มีโอกาสถ่ายภาพที่ดีกว่าเดิม ไม่นับความร้อนที่แผดเผาในวันนั้นจนหลายคนแทบหมดสภาพ

ตกดึกคืนนั้นเราเริ่มระดมกำลังพลเสริมจากค่ายสารคดีหลายรุ่น ทั้งนักเขียนและช่างภาพรุ่นใหม่ที่มีใจอยากร่วมทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์สำหรับตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี พร้อมกับการนำเสนอบนหน้าเฟซบุกเพื่อเผยแพร่เรื่องราวให้ทันสถานการณ์ต่อเนื่องไปอีกวันต่อวัน

แต่ละวันภาพถ่ายนับพันๆ ภาพถูกส่งเข้ามาที่สำนักงาน โดยมีบรรณาธิการภาพนั่งเฝ้าหน้าจอคัดเลือกภาพที่ดีที่สุดตลอดทั้งวันจนดึกดื่น นักเขียนออกสัมภาษณ์ อ่านเอกสาร และเร่งเขียนต้นฉบับส่งเข้ามาโดยมีบรรณาธิการต้นฉบับ “จำเป็น” (ซึ่งยังเป็นตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ของสารคดี) ช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง ปรับแก้ไขความและภาษาให้สมบูรณ์ในเวลาจำกัด บรรณาธิการศิลปะและผู้ช่วยเริ่มออกแบบการนำเสนอสารคดีพิเศษและจัดเรียงเนื้อหาที่เสร็จแล้วพร้อมภาพประกอบ เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรอ่านตรวจสอบหาคำผิดพลาดโดยเฉพาะคำราชาศัพท์ เลขานุการกองช่วยประสานงานต่างๆ พวกเราทำงานกันในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ควรจะเป็นวันหยุด พร้อมๆ กับที่ผู้คนเดินทางไปร่วมแสดงความรักความอาลัยที่มีต่อพ่อตลอดทั้งวันและคืน

ระหว่างนั้นช่างภาพบางคนที่ตระเวนถ่ายภาพโพสต์เข้ามาในกลุ่มทำงานเฉพาะกิจว่า ไม่ไหวแล้ว ด้วยความรู้สึกอันหนักอึ้งกับการถ่ายภาพผู้คนที่รันทดโศกเศร้าน้ำตานองหน้า นักเขียนที่ไปสัมภาษณ์ผู้คนต่างเต็มไปด้วยความสลดหดหู่ร่วมกับแหล่งข่าว แต่ทุกคนก็ถอดคำสัมภาษณ์แล้วเรียบเรียงส่งเข้ามาตามกำหนดเดดไลน์ปิดต้นฉบับในเช้าวันจันทร์ที่ ๑๗ ตุลาคม

ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ในเที่ยงคืนวันจันทร์ที่ ๑๗ ด้วยความหวังว่าสารคดีฉบับนี้จะปิดเล่มเสร็จทันในเช้าวันพุธที่ ๑๙

“ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด” ผมเชื่อว่าทีมงานสารคดีทุกคนบอกกับตัวเองเช่นนั้น หลายคนอาจต่อท้ายด้วยว่า “เพื่อพ่อ”

เปิดเพลงที่มีคนอัปขึ้นยูทูบร้อง “…ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน…” จากนี้จะเปล่งเสียงร้องจากสุดก้นบึ้งหัวใจอีกได้อย่างไร เมื่อ “มหาบุรุษ-ราชันผู้ยิ่งใหญ่” ได้จากพวกเราไปแล้ว…จริงๆ…

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com