สัมภาษณ์ : สุชาดา ลิมป์
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

zikavirus

เราเคยผวา “ยุงลาย” พาหะร้ายของโรคไข้เลือดออกและไข้ชิคุนกุนยามาแล้ว วันนี้ยังต้องระวัง “ไข้ซิกา” (Zika fever หรือ Zika virus) เชื้อไวรัสตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) ลักษณะคล้ายโรคไข้เหลือง เดงกี เวสต์ไนล์ และไข้สมองอักเสบเจอี ที่กำลังระบาดในหลายประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร ตั้งแต่ทวีปแอฟริกาถึงเอเชีย หนักสุดเวลานี้คือบราซิล จนองค์การอนามัยโลกถึงกับประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ต้องขอบคุณสัตว์ทดลอง-ลิงวอกจากป่าซิกา ประเทศยูกันดา ที่นักวิจัยจับมาศึกษาโรคไข้เหลือง จนได้แยกเชื้อไวรัสนี้จากในน้ำเหลืองของมันเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๗ (ปี ๒๔๙๐) จึงตั้งชื่อโรคตามแหล่งอาศัยนั้น ก่อนจะพบว่าเป็นเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้เมื่อมีรายงานผู้ป่วยคนแรกในประเทศไนจีเรียเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๘ (ปี ๒๕๑๑) เราอาจยังไม่รู้ หากไม่มีข่าวศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรปประกาศให้ไทยเป็น “พื้นที่สีแดง” พบผู้ติดเชื้อกว่า ๑๐ รายในหลายจังหวัด และแม้ไม่ใช่โรครุนแรง แต่ยังไม่มียาเฉพาะเพราะวัคซีนยังอยู่ระหว่างพัฒนา นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงชวนพวกเราร่วมเฝ้าระวัง !

สถานการณ์ล่าสุด

“ปีนี้องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานว่าประเทศบราซิลและโคลอมเบียพบเด็กพิการ-ศีรษะเล็กผิดปรกติแต่กำเนิดหลายพันราย เมื่อค้นประวัติของแม่ย้อนหลังจึงพบการติดเชื้อซึ่งถ่ายทอดสู่ทารกตั้งแต่ในครรภ์ จึงประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ซึ่งประเทศสิงคโปร์ก็พบผู้ป่วยเป็นพร้อมกันในพื้นที่เดียวเยอะมาก

“ในไทยเคยตรวจพบรายแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ จากอาการไข้สูง ออกผื่น จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจไม่ใช่โรคหัดเยอรมันที่พบประจำ เวลานั้นไทยยังไม่พร้อมด้านการตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการ จึงส่งไปตรวจที่สหรัฐอเมริกา ผลแล็บระบุว่าเป็นเชื้อไวรัสซิกา จากนั้นมากรมควบคุมโรคจึงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยพบผู้ป่วยเกินห้าราย

“กระทั่งต้นปีนี้พบในพื้นที่ ๑๙ จังหวัด ตอนนี้เหลือ ๙ จังหวัดที่อยู่ในระยะเฝ้าระวังควบคุม สัปดาห์ก่อนเพิ่งมียอดผู้ป่วยใหม่ราว ๒๐ ราย อันที่จริงตัวเลขนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันหรอก เพราะผลแล็บจะออกหลังจากบันทึกจำนวนที่พบแล้ว ซึ่งโรคนี้มีระยะการป่วยสั้น ขณะที่ผมให้ข้อมูลอยู่ผู้ป่วยอาจหายเป็นปรกติหมดแล้วก็ได้

“เวลานี้ยังไม่มีจังหวัดไหนพบผู้ป่วยพร้อมกันเป็นกลุ่ม และยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อนหรือป่วยต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในต่างประเทศยังมีข้อมูลน้อยมากที่พบผู้เสียชีวิตจากไวรัสซิกา ในไทยไม่มีรายงานเลย”

แต่ประกาศให้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานทันที
“ใช่ เพื่อจะได้ทราบข้อมูลเท็จจริงว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร เพราะจัดเป็น ‘โรคติดต่ออุบัติใหม่’ ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะพบมากในอนาคตอันใกล้ ถือเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกนะครับ หลายโรคติดเชื้ออุบัติใหม่นับว่าอันตรายมาก แม้ไวรัสซิกาจะไม่จัดอยู่ในกลุ่มอันตราย แต่ก็เป็น ๑ ใน ๕๗ โรคที่ต้องเฝ้าระวัง

“ไม่เพียงติดต่อกันง่าย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังมักไม่แสดงอาการ และหายเองได้ใน ๑ สัปดาห์ ตามข้อมูลพบว่ามีเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัว ตาแดง ออกผื่นแดง แต่จะหายเองใน ๑ สัปดาห์เช่นกัน เพียงรักษาตามอาการ พักผ่อนให้พอ ดื่มน้ำให้มาก ถ้าต้องกินยาลดไข้ก็ขอให้เป็นพาราเซตามอลเท่านั้น อย่ากินยาบรรเทาปวดอื่น ๆ กรณีผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ติดเชื้อก็ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเสี่ยงต่อทารกพิการแต่กำเนิด และระหว่างที่ตนเป็นพาหะก็ต้องระวังการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย กลุ่มเสี่ยงจึงไม่ใช่แค่ทารกที่ติดต่อผ่านแม่ ยังเกิดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยด้วย

“เราจึงจำเป็นต้องให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ห้องแล็บทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนถือปฏิบัติอย่างเข้มงวด หากตรวจพบเชื้อไวรัสซิกาจะต้องรายงานทันที”

รัฐรับมืออย่างไร

“เราติดตามสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และดําเนินการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาตามมาตรการองค์การอนามัยโลกและกฎอนามัยระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ช่วงนี้ยิ่งเข้มงวดพิเศษกับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่ไปพาราลิมปิก เพราะบราซิลเป็นพื้นที่แพร่ระบาด อันที่จริงเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศได้ตรวจร่างกายพวกเขาก่อนไปแล้ว แต่เมื่อกลับมาก็ต้องตรวจซ้ำ หากสงสัยว่าใครเข้าข่ายจะขอวินิจฉัยเป็นพิเศษในห้องปฏิบัติการ โดยตรวจสองรอบ แต่ละรอบห่างกัน ๗ วัน ให้แน่ใจว่าไม่พบเชื้ออยู่จริง ๆ

“ในส่วนของชุมชนที่จัดอยู่ในพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง เราประสานความร่วมมือกับทาง อปท. ออกหน่วยช่วยพ่นยาฆ่ายุงให้ตามบ้านเรือน และคอยติดตามอาการของผู้ป่วยที่พบล่าสุด แม้ระยะฟักตัวของโรคนี้จะแสดงอาการภายใน ๑๔ วัน แต่เพื่อความปลอดภัยเราจะเฝ้าระวังเป็นสองเท่า คือพ้นจากระยะฟักตัวแล้วจะติดตามผลต่ออีก ๒ สัปดาห์ เมื่อพ้น ๒๘ วันแล้วหากไม่พบรายใดมีโรคแทรกซ้อนจึงจะถือว่าพื้นที่นั้นปลอดภัย

“ประชาชนไม่ต้องตระหนกจนเกินไปหรอกครับ ไม่มีประเทศไหน พื้นที่ไหนในโลกที่ปลอดโรคจริง ๆ สิ่งสำคัญคือมาตรการรับมือกับโรคนั้น ๆ ซึ่งมาตรฐานสาธารณสุขในบ้านเรานั้นมั่นใจได้ในระดับสากล”

วิธีแบบประชาชนล่ะ
“ต้องดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด ช่วงฤดูฝนนี้มีน้ำขังเยอะ ต้องช่วยกันเก็บบ้าน ทำลายขยะ ไม่เว้นสิ่งเล็ก ๆ อย่างเปลือกลำไยแห้งหรือฝาขวดน้ำ รู้ไหมแค่มีน้ำขัง ๕ วัน ก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำได้แล้ว ยุงอาจวางไข่ใกล้ผิวน้ำบริเวณขอบเปลือกลำไยหรือขอบฝาขวด มองเห็นเป็นจุดดำ ๆ ซึ่งยุงลายหนึ่งตัววางไข่ได้ครั้งละกว่า ๑๐๐ ฟอง ในรอบชีวิตของยุงแต่ละตัวยังสามารถวางไข่ได้ถึงห้าครั้งเชียวนะ ลองคิดดูสิครับว่าในถังขยะนั้นยังมีอีกกี่สิ่งที่พร้อมขังน้ำได้

“ทีนี้เมื่อในบ้านปลอดภัยก็อย่าลืมระวังตัวจากนอกบ้านด้วย หลีกเลี่ยงไปสถานที่มียุงชุมหรือเพิ่งมีข่าวว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อ หากจำเป็นต้องไปให้สวมเสื้อผ้ามิดชิด ฉีดสเปรย์หรือทาโลชั่นกันยุงให้พร้อม

“เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่อาจประกบประชาชนได้ทั่วถึง ถ้าทุกคนดูแลตัวเองก็มีโอกาสน้อยมากที่จะติดเชื้อ”

ถึงตอนนี้ “ไวรัสซิกา” จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน-รักษา แต่น่ายินดีนักที่ประเทศไทยไม่เพิกเฉย ยังรู้มาว่าฝ่ายอาโบ-ไวรัส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์
การแพทย์ มีแผนจะขยายการติดตั้งวิธีการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการโรคไข้ซิกาในเร็ว ๆ นี้…