ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ


bikestandard02“ในฐานะที่ผมผลิตจักรยานอยู่ หนึ่ง มันทำให้เกิดมาตรฐาน สอง ผู้บริโภคมั่นใจในจักรยานที่เป็นแบรนด์ของคนไทย สาม ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเหมือน ๆ กัน ต่อไปจักรยานที่ไม่มีคุณภาพก็จะไม่นำเข้ามาในตลาดประเทศไทย”

ธนทัศน์ ปะนามะตัง ผู้จัดการโรงงานผู้ผลิตจักรยานเทอร์โบ (Turbo Bicycle) ให้ความเห็นถึงแผนการกำหนดมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วน เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนของจักรยาน ไม่ว่าไฟท้าย ไฟหน้า เฟรม ล้อ กระดิ่ง ฯลฯ ผลิตขึ้นอย่างมีมาตรฐาน มีการลง “ตราประทับ” คล้ายตรามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

หลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์ขี่จักรยานมาบ้าง จักรยานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานนั้นถึงแม้จะราคาถูก แต่เมื่อใช้ไปพักหนึ่งอาจเกิดการชำรุด ซี่ล้อพัง บันไดหัก หรือหากสัดส่วนเฟรมไม่ได้มาตรฐาน ขี่ไปไม่นานจะรู้สึกเหนื่อยผิดปรกติ หรือแม้แต่เกิดอุบัติเหตุ นั่นเป็นเพราะจักรยานผลิตจากวัสดุรวมทั้งกระบวนการที่ไม่ได้มาตรฐาน

เรากำลังให้ความสำคัญกับจักรยานที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวันตามบ้านเรือน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “จักรยานแม่บ้าน” ไม่ใช่จักรยานนำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศที่ผลิตตามมาตรฐานอยู่แล้ว

อันที่จริงการกำหนดมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนในประเทศไทยนั้นมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ แต่จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัย รวมถึงได้มาตรฐานสากล

ดร. ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ประธานกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ ๔๓ จักรยานและชิ้นส่วน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ ร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของการกำหนดมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนว่า “การกำหนดมาตรฐานจะทำให้เกิดผลดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และยังทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อจักรยานได้ง่าย ผมยกตัวอย่างจักรยานประเภทเดียวกัน ราคาใกล้เคียงกัน ก่อนนี้เราอาจดูไม่ออกว่าคันไหนคุณภาพดีหรือไม่ เมื่อซื้อไปแล้วคุณภาพไม่ดี พังเสียหายง่าย ก็เกิดความรู้สึกในแง่ลบกับการใช้จักรยาน ต่อไปเมื่อมีมาตรฐานจะคล้ายการติดฉลากประกันคุณภาพ ตามข้อกำหนดเช่นว่าซี่ล้อต้องออกแบบอย่างนี้ เฟรมต้องรับน้ำหนักได้เท่านี้ ผู้บริโภคจะเข้าใจในเบื้องต้นว่าจักรยานคันนี้ใช้งานได้ดี ไม่พังง่าย เวลาเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์เสริมก็ง่าย ผู้ผลิตก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะเมื่อมีมาตรฐานก็เพิ่มโอกาสในการส่งออก อนาคตอาจมีบริษัทที่ผลิตเฉพาะบันไดจักรยานส่งขายไปทั่วโลก”

bikestandard01

จากมาตรฐานเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ มีข้อกำหนดที่จะได้รับการพัฒนา ยกตัวอย่างเรื่องวัสดุที่ใช้รับน้ำหนัก

“เวลานี้เทคโนโลยีจักรยานพัฒนาไปไกลมาก รถน้ำหนักเบา แต่รับแรงได้มากขึ้น ความทนทานมากขึ้น นี่คือคุณภาพที่ดี” ดร. ประพัทธ์พงษ์ยืนยัน พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่าขณะนี้ยังมีจักรยานที่คุณภาพไม่ดี ผลิตไม่ได้มาตรฐาน เข้ามาในตลาด ส่วนหนึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ มีการซื้อไปแจก บริจาค ซึ่งใช้งานสักพักก็พัง การกำหนดมาตรฐานใหม่จะช่วยตรวจสอบเรื่องคุณภาพการผลิตและความปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค

ในการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อนำเสนอการจัดทำมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วน ที่โรงแรมมิโด ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ เป็นการประชุมร่วมสามฝ่าย ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ และกลุ่มผู้บริโภค โดยมีข้อเสนอว่าจะใช้มาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) ในการกำหนดมาตรฐาน เช่น ISO8098 เรื่องความสูงเบาะรถ น้ำหนักที่ใส่ตะกร้า ISO4210 เรื่องการรับน้ำหนักของล้อ

ทั้งนี้มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการ ว่าการกำหนดมาตรฐานควรเริ่มต้นจากชิ้นส่วนที่สำคัญก่อน คือ เบรก เฟรม และยาง เนื่องจากจะเกิดประโยชน์แก่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนกลุ่มผู้บริโภคให้ความเห็นว่า แม้การมีมาตรฐานจะส่งผลให้ราคาของจักรยานเพิ่มขึ้น ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยินดีซื้อจักรยานที่มีคุณภาพและปลอดภัย

อย่างไรก็ตามธนทัศน์ในฐานะผู้ผลิตจักรยานสัญชาติไทยแบรนด์เทอร์โบ จำหน่ายตั้งแต่จักรยานเด็กคันเล็ก ๆ ไปจนถึงจักรยานเสือหมอบ เสือภูเขา เน้นตลาดผู้บริโภค “ระดับล่าง” (low-end) ถึง “ระดับกลาง” (middle-end) ให้ความเห็นว่า ด้วยมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้นอาจมีผลให้ราคาจักรยานสูงขึ้นในช่วงแรก แต่ในระยะยาวเมื่อกลไกตลาดได้รับการปรับแต่งจนเข้าที่เข้าทาง มีการตรวจสอบมาตรฐานผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นระบบเดียวกัน ราคาของจักรยานน่าจะปรับลดลงตามกลไกการแข่งขัน เรื่องต้นทุนการผลิตมีผลต่อการปรับราคาจักรยานไม่มากนัก

ถึงตอนนี้การกำหนดมาตรฐานจักรยานและชิ้นส่วนอยู่ระหว่างร่างรายงาน เก็บแบบสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง ชุมชน ต่อจากนั้นจะทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งหากเห็นด้วยก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวใหญ่ของการกระตุ้นและส่งเสริมสังคมจักรยาน