เรื่อง / ภาพ : สุชาดา ลิมป์

passport02Passport  

สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา

 



ใต้แผ่นดินกัมพูชาไม่ได้มีแต่ระเบิด ยังมากด้วยอัญมณี

เห็นกับตาแล้วเมื่อปี ๒๕๕๘ เพื่อนชาวขแมร์ชวนมาเที่ยวบ้านที่หมู่บ้านโฎนโณย ตำบลเตรียะส์ อำเภอสวายเจก จังหวัดบ็อนเตียยเมียนเจ็ย (บันทายมีชัย) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ จังหวัดที่หน่วยงานเฮอริเทจวอทช์ (Heritage Watch) อ้างว่าเป็นพื้นที่ถูกลักลอบขุดค้นโบราณวัตถุมากสุดในระยะไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะตามหลุมฝังศพโบราณและแหล่งโบราณสถานต่างๆ

เอาเข้าจริง แม้รัฐบาลกับหน่วยงานพิทักษ์โบราณวัตถุของเอกชนจะพยายามปกป้องหลักฐานอันล้ำค่าในการศึกษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ก่อนยุคเมืองพระนคร แต่สำหรับพื้นที่ส่วนบุคคลก็ยังจนปัญญาจะห้าม

“แถวบ้านผมนี่มีแต่ของจริงทั้งนั้น ของปลอมไม่มีหรอก แล้วก็จะขายกันแพงมาก”

Passport - ลูกปัดเขมรโบราณ ใต้ถุนบ้านยังมี

กิจกรรมเสริมรายได้ของชาวกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่ยังยากจน หากโชคดีเจอพวกลูกปัดแก้วเม็ดเหลี่ยมหลากสี หรือลูกปัดแก้วเม็ดกลมสีแดงสดใสในสภาพสมบูรณ์ก็ยิ่งได้ราคาสูง

ซ็อมบัด โญว์ (NHOV SAMBATH) หนุ่มวัยปลายยี่สิบเล่าขณะพาซ้อนมอเตอร์ไซค์ตระเวนชุมชน ดูกิจกรรมยามเย็นที่ชาวบ้านยังรวมกลุ่มกันในเขตรั้ว “ขุดหาลูกปัดโบราณ” ขายเป็นรายได้เสริม

beads02

เครื่องมือขุด-สำรวจไม่มีอะไรมากไปกว่าจอบ เสียม และเส้นเหล็กแหลมขนาดยาวสุ่มทิ่มลงในชั้นดินเพื่อตรวจหาโลหะ ตรงไหนสะดุดก็ลองขุดดู

beads03

จะเรียกว่าพบได้ง่ายมากหรือบังเอิญก็ไม่รู้ เพียงเดี๋ยวก็พบลูกปัดสีส้มเม็ดจิ๋วไม่ต่างจากหัวเจ้ามดแดง แต่เหล่านักขุดสมัครเล่นแยกออกทันทีว่าใช่ แล้วคัดทิ้งเพราะขนาดเล็กเกินกว่าจะขาย

beads04

ยุคที่การซื้อ-ขายลูกปัดทำได้สะดวกผ่าน eBay และจ่ายเงินง่ายผ่านระบบ Pay Pal เราอาจลืมกันไปว่ากว่าจะขุดเจอแต่ละเม็ดเป็นความยากลำบาก

beads05

เศษดินจากแหล่งที่พบคือร่องรอยที่ฝังอยู่ในเครื่องมือโลหะชนิดต่างๆ เพื่อส่งต่อเรื่องราวยุคเขมรโบราณ 

อีกบ้านกำลังขะมักเขม้นเริ่มขุดหลุมใหม่ พบกองลูกปัดจำนวนหนึ่ง อายุไม่น่าจะเก่าแก่นักแต่ก็ดูสวย เพื่อนช่วยสื่อความภาษาถิ่นให้ว่าแต่ละบริเวณที่ขุดอาจพบทั้งลูกปัดแก้วและลูกปัดหิน ซึ่งไม่ได้เจอบ่อยเหมือนก่อนแล้ว บางทีขุดทั้งเดือนเจอเม็ดเดียว ที่เหลือเป็นพวกจาน ชาม มีด กริช

“พวกลูกปัดนี่บางเม็ดขายได้ราคาเป็นพันบาทเลย แต่ถ้าเจอเม็ดสวยจริงๆ ก็อาจไม่ขาย เอาไปทำแหวน ต่างหู สร้อยข้อมือ แล้วเคลือบทองไว้ใส่เอง อย่างแหวนที่พ่อผมใส่ก็ขุดเองนะ เจอแถวบ้านนี่ล่ะ”

beads06

เมื่อผ่านการขัดเจียรแล้วผิวจะยิ่งเงามากจนสะท้อนให้เห็นตัวเองในเม็ดลูกปัด 

เพื่อนชาวขแมร์ส่งแหวนวงหนึ่งของใครสักคนในวงขุดให้เราดู คือการเฉลยโดยนัยว่าเหตุใดชาวบ้านที่ดูไม่น่าจะมีเงินเก็บนักจึงต่างมีเครื่องประดับสวยมูลค่าสูงใส่กัน

beads07

หินที่พบได้มากที่สุดคือ คาร์เนเลียน (หินสีส้ม) สะท้อนการรับอิทธิพลจากอินเดีย

เรายังสนใจกองลูกปัดที่พวกเขาขุดหาได้ โดยเฉพาะเม็ดกลมสีส้ม เจ้าของตั้งใจขายเหมาทั้งกอง ครั้นตื๊อว่าแค่อยากเก็บเป็นที่ระลึกจึงใจอ่อนแบ่งขายให้เม็ดละ ๓๐๐ บาท สองเม็ด ๕๐๐ บาท

“แบบสีสันสวยงามอย่างนี้ ถ้าเจอเม็ดเงาๆ นำไปทำความสะอาดหน่อยแล้วไม่ต้องซ่อมแซมนะ ปล่อยตำหนิขรุขระไว้เป็นสัญลักษณ์ของความเก่าแก่ ขายกันที่ตลาดเม็ดหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ บาท”

ข้อมูลจากเพื่อนช่วยให้ควักเงินไทยจ่ายคล่องขึ้น แม้ไม่ได้จะนำไปขายต่อ

แต่เพราะเรื่องราวของลูกปัดใต้แผ่นดินกัมพูชาคุ้มค่าพอให้รีบเป็นเจ้าของ