ชลธร วงศ์รัศมี : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

change-warisara01
ให้ฉันลงชื่อแล้วได้อะไร เราจะเซ็น petition ใน Change.org กันไปอีกนานแค่ไหน แค่คลิกไม่กี่คลิกจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หลายคนอาจสงสัย…เมื่อเห็นคำว่า Change.org สะพัดทั่วโซเชียลมีเดียแทบจะในทันทีที่ประเด็นปัญหาร้อน ๆ แจ้งเกิดในสังคม ราวกับว่าปัญหาคือไฟ แล้วโลโก้ตัว C สีแดงสดใสคือควัน

“คนทั่วโลกใช้ Change.org เปลี่ยนปัญหาใกล้ตัวให้กลายเป็นเรื่องรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม”

คือข้อความทักทายของเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้คับข้องใจเข้ามาสร้างสิ่งที่ฟังดูยิ่งใหญ่อย่าง “แคมเปญ” ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือเขียนคำร้อง (petition) เล่าเรื่องราวปัญหาที่เจอมา ระบุว่าต้องการให้ใครแก้ไขปัญหานั้น อยากให้แก้อย่างไร รณรงค์ให้คนเข้ามาอ่านลงชื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

www.change.org บรรจุคำร้องเล็ก ๆ อย่างขอให้ร้านบาร์บีคิวพลาซ่าเปลี่ยนกระทะที่มีช่องใส่น้ำซุปแคบเกินไป เรียกร้องให้รัฐซ่อมถนน แก้ปัญหาคนล้นสถานีรถไฟฟ้า จนถึงเรื่องใหญ่อย่างรณรงค์ให้ปล่อยนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ปิดเหมืองทองคำ คัดค้านซิงเกิลเกตเวย์ ยกเลิก พ.ร.บ. GMO หรือแคมเปญโดนใจวัยรุ่นเรื่อง “คนไทยไม่เห็นด้วยกับนางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย ประเด็นเรื่อง MV ‘เที่ยวไทยมีเฮ’” ซึ่งมีผู้สนับสนุนล้นหลาม และอีกหลายเรื่องที่ Change.org ช่วยส่งแรงกดดันไปผลักเคลื่อนกลไกแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง

อะไรคือพลังที่อยู่หลังแพลตฟอร์มนี้ เคล็ดลับปลุกแคมเปญให้เปรี้ยงปังต้องปั้นอย่างไร ลงชื่อไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมา หลังบ้านของ Change.org เขาทำงานกันแบบไหน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในวัฒนธรรมดิจิทัลมีลักษณะเฉพาะอย่างไร ฯลฯ สารคดี ชวนคุยกับ วริศรา ศรเพชร หรือเอย ผู้อำนวยการด้านการรณรงค์ Change.org ประจำประเทศไทย ผู้มีประสบการณ์สื่อสารประเด็นทางสังคมระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย รวมทั้งการรับหน้าที่ Head of Communications วางแผนการสื่อสารให้แคมเปญรณรงค์ด้านสิทธิเด็กผู้หญิงที่มีภาคปฏิบัติการทั่วโลกอย่าง “Because I am a Girl” ก่อนมาทำให้คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “petition” มากขึ้นเมื่อ ๒ ปีก่อน

การทำแคมเปญแบบ Change.org แตกต่างจากแคมเปญที่เคยทำมาอย่างไร
แคมเปญมีหลายแบบ แคมเปญที่เอยทำมาก่อนมีสเกลใหญ่ มีแผนการรณรงค์ยาวนาน เรียกร้องการแก้ไขจากหลายส่วน ทั้งด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ การกำหนดนโยบายในแต่ละประเทศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อของคนในสังคม สำนักงานใหญ่ซึ่งเอยทำงานอยู่พยายามไกด์ให้ทั่วโลกมีแบรนด์เดียวกัน แล้วทีมในแต่ละประเทศปรับให้เข้ากับประเทศตัวเอง ไม่อย่างนั้นพลังรณรงค์กระจัดกระจาย ผลที่ได้จะลดลง เช่นแคมเปญ Because I am a Girl ผลักให้ UN กำหนดให้วันที่ ๑๑ ตุลาคม เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งคือ International Day of the Girl Child และมีไอเดียให้แลนด์มาร์กของแต่ละประเทศเปลี่ยนสีเป็นสีชมพูในวันนี้ ถ้าแต่ละประเทศคิดว่า…ฉันจะทำอะไรของฉันเอง ภาพนี้ก็จะไม่เกิด แต่ตอนนั้นทีมทั่วโลกร่วมไปในทิศทางเดียวกัน ตึกเอ็มไพร์-สเตต พีระมิด ลอนดอนอายส์ น้ำตกไนแอการา ฯลฯ เปลี่ยนเป็นสีชมพูหมดเลย ทำให้เราได้ข่าว ได้ภาพ คนรู้จักแคมเปญมากขึ้น

ส่วนแคมเปญของ Change.org จะเป็นแคมเปญที่ทีมงานไม่ได้เป็นคนสร้าง ไม่ได้ควบคุม message เราเป็นแพลตฟอร์มหรือพื้นที่เปิดให้ใครก็ได้มาสร้างเรื่องรณรงค์อะไรก็ได้ที่เขาเห็นว่าสำคัญ คนธรรมดา ๆ นี่แหละคือเจ้าของข้อเรียกร้องต่าง ๆ เราไม่ได้มานั่งคุมว่า เฮ้ย ! เปลี่ยนเรื่องนี้เดะ หรือเรื่องนี้อย่าเปลี่ยน ไม่อนุญาต ! ไม่ใช่ นอกจากนี้คนสร้างแคมเปญยังเป็นผู้นำการรณรงค์ในทุกขั้นตอนด้วย ทีมงาน Change.org มีหน้าที่ช่วยเหลือคนที่มาสร้างเรื่องรณรงค์ให้เขาประสบความสำเร็จ โดยให้คำแนะนำเรื่องกลยุทธ์การรณรงค์ต่าง ๆ เชื่อมเขากับสื่อ พัฒนาเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มให้เอื้อต่อคนธรรมดาสามารถประสบความสำเร็จในการรณรงค์

ลักษณะเฉพาะอีกอย่างของแคมเปญบน Change.org คือใช้เวลารณรงค์ไม่นาน ไม่ได้ลากยาวเป็นปี ๆ และแคมเปญที่สำเร็จมักมีข้อเรียกร้องชัดเจน…ชัดเจนแบบ (ใคร่ครวญครู่หนึ่ง)…โคตรชัด คือต้องการขอให้ใครเปลี่ยนแปลงอะไร ให้คนที่ร่วมลงชื่อเข้าใจได้ทันทีว่าเรียกร้องอะไรและเห็นโอกาสที่จะสำเร็จ

ขอตัวอย่างข้อเรียกร้องที่โคตรชัดหน่อย
เช่นถ้าเราอยากให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมเลิกกินเครื่องดื่มหวาน ๆ การรณรงค์ที่หลายคนคุ้นกันอาจออกไปในแนวให้ความรู้ประชาชน โน้มน้าวผ่านการสื่อสารในที่สาธารณะ แต่ถ้าเป็นแคมเปญบน Change.org ต้องมาคิดว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนพฤติกรรมคน อะไรหรือใครล่ะที่จะส่งอิทธิพลให้เปลี่ยนได้ กฎหมายไหม บริษัทที่ขายเครื่องดื่มเหล่านี้ไหม แล้วอยากให้เขาทำอะไร ติดป้ายเตือนว่ากินหวานมาก ๆ อันตราย หรือลดน้ำตาลลง ถ้าบริษัทไม่ฟังแล้วใครล่ะที่เขาจะฟัง มีหน่วยงานอะไรที่คุยกับเขาได้ หรือว่าเขาห่วงภาพลักษณ์ สื่อมีผลกับเขาไหม เป็นต้น ตอบได้แล้วถึงเอามาตั้งข้อเรียกร้องสำหรับแคมเปญ ไม่ใช่การตั้งเรื่องรณรงค์แนว “เรียกร้องให้คนไทยทุกคนเลิกกินน้ำหวาน !” มันกว้างเกินไป

อะไรคือตัวชี้วัดว่าแคมเปญได้ชัยชนะแล้ว
ชัยชนะไม่ได้เป็นขาว-ดำเสมอไป เช่น ที่อังกฤษมีการเรียกร้องผ่าน Change.org ให้หนังสือพิมพ์ The Sun ยกเลิกหน้า ๓ ซึ่งลงรูปผู้หญิงเปลือยอกมาต่อเนื่อง ๔๐ กว่าปี คนลงชื่อเยอะมาก เกิดขบวนการเคลื่อนไหวใหญ่โตในประเทศ มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง สุดท้ายสื่อหลายแห่งรายงานว่า The Sun ยกเลิกหน้านี้ไปแล้ว และหน้านี้ก็ไม่ลงรูปผู้หญิงเปลือยอกจริง ๆ คนรณรงค์ก็เฮสิ ประกาศชัยชนะโลด เสร็จ…สักพักหนึ่ง The Sun ก็บอก อุ๊ย ! ล้อเล่น แล้วเอาผู้หญิงเปลือยอกมาลงใหม่ แถมสาวคนนี้ยังขยิบตาแซวด้วยแบบนี้เราจะเรียกว่าแคมเปญนี้ชนะไหม ตรงนี้ทีมงาน ไม่ใช่คนตัดสินว่าแบบนี้ชนะหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจ้าของแคมเปญว่าพอใจกับผลที่เรียกร้องให้กำจัดหน้า ๓ แล้ว The Sun ทำยึกยักแบบนี้ไหม แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ผลมากกว่าที่คิดไว้ในแง่มีคนตระหนักถึงประเด็นนี้มากขึ้น คนจำนวนมากตื่นตัวแล้วหันมามองเรื่องนี้ จะเรียกว่าประสบความสำเร็จได้ไหม และตอนนี้เจ้าของแคมเปญก็รวมผู้คนได้มากมาย ขยายการรณรงค์ไปครอบคลุมเรื่องการเหยียดเพศผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ The Sun แล้ว

ในกรณีของการคัดค้าน พ.ร.บ. คอมฯ ซึ่งมีผู้ลงชื่อคัดค้านใน Change.org กว่า ๓ แสนคน แต่รัฐไม่เห็นว่ารายชื่อเหล่านี้มีความหมาย และคนลงชื่อก็ท้อแท้ไม่แน่ใจว่าลงชื่อไปแล้วได้อะไรขึ้นมา อย่างนี้ถือว่าชนะไหม
แคมเปญที่ชนะไม่จำเป็นต้องมีรายชื่อเยอะ และแคมเปญที่มีรายชื่อเยอะก็อาจจะไม่ชนะเสมอไป แต่สิ่งที่บอกได้จากรายชื่อเยอะ ๆ คือเรื่องนั้นได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก มีการตื่นตัวในเรื่องนั้น ๆ ในวงกว้าง มีการตั้งคำถาม การพยายามตอบ การท้าทาย ถกเถียง หาทางแก้ปัญหา คือเกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีพลังมากกว่าจำนวนรายชื่อหรือแม้แต่ตัว petition เอง petition เป็นตัวจุดประกาย แต่จำนวนรายชื่อมาก ๆ คือสิ่งที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวของประชาชน และการเคลื่อนไหวของประชาชนนั่นเองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถ้าเราจับตาต่อไปอย่างไม่ท้อถอย ถ้าเป็นไปได้ก็รักษาคลื่นการเคลื่อนไหวของสังคมเอาไว้ หาจังหวะและมุมตั้งคำถาม หาพลังสนับสนุน แล้วพาคนที่ร่วมแคมเปญกับเราไปด้วยตลอดทาง

หลาย ๆ เรื่องที่เราอยากเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เท่าเทียม วัฒนธรรมที่ฝังลึก ขนบธรรมเนียมที่มีมานาน ต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่ห่างกันหลายช่วงตัวระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจกับคนที่ต้องการเปลี่ยน ฉะนั้นนิยามชัยชนะแบบตรง ๆ ตัว แบบขอสิ่งนี้ได้สิ่งนี้ อาจจะไม่เหมาะกับทุกกรณี แล้วถ้าอย่างนั้นการเซ็น petition จะ “ได้อะไรขึ้นมา” ล่ะ อย่างที่บางคนถาม การเคลื่อนไหวทางสังคมนี่ละคือสิ่งที่ได้มา และเป็นกระบวนการที่มีพลังมาก ทำให้สังคมตั้งคำถามมากมาย วัฒนธรรมที่ฝังรากมานานแต่ไม่เข้ากับยุคสมัยก็อาจเริ่มสั่นคลอน จากมีกำลังทรัพย์น้อย ๆ ในการต่อสู้ตอนแรก พอคนเริ่มเห็น เห็นด้วย และเห็นใจ ก็อาจทำให้ระดมทุนมาทำแคมเปญใหญ่ ๆ ได้

change-warisara02

ลักษณะแคมเปญของ Change.org ในไทยกับต่างประเทศ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมบ้านเรารวมถึงเอเชียด้วยเป็นวัฒนธรรมที่คำนึงถึงกลุ่ม ครอบครัว ชุมชน เลยไม่ค่อยมีแคมเปญอย่างที่เราเห็นในอเมริกาหรือยุโรป เช่น ช่วยชีวิตลูกชายฉัน หรือเรียกร้องเรื่องหมาของ Johnny Depp จะไม่ค่อยมีแคมเปญเล่าเรื่องตัวเองชูโรงแล้วเรียกร้องเพื่อตัวเองหรือญาติ ๆ ตัวเองเท่านั้น แคมเปญจำนวนมากในประเทศไทยเรียกร้องให้เปลี่ยนกฎหมายนั้น เปลี่ยนนโยบายนี้ แก้ปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน ปิดเหมือง ฯลฯ เป็นแคมเปญที่ส่งผลต่อคนจำนวนมหาศาลและใช้เวลานานมาก ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศจะเห็นแคมเปญที่อาศัยเรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวเยอะกว่าและมักได้การตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้คนที่ได้ฟังเรื่องราว แล้วส่งผลต่อความรู้สึกเขา เกิดขึ้นตู้ม ๆ รวดเร็ว คนกดดัน ตามผู้มีอำนาจตัดสินใจ ปึ้ง ! ชนะ ! มันเกิดขึ้นเยอะกว่าในประเทศเรา

เรียกได้ว่าแคมเปญบน Change.org ในไทยส่วนใหญ่ผ่านการคิดแบบเป็นระบบมาแล้ว
อาจเรียกว่าเป็นแคมเปญที่เน้นการเรียกร้องระดับนโยบาย หรือมีผลนอกเหนือไปจากตัวเอง เป็นสิ่งที่ส่งผลยิ่งใหญ่แต่ใช้เวลารณรงค์นาน แคมเปญของ Change.org ในประเทศอื่นที่วัฒนธรรมไม่เหมือนเรา จะมีแคมเปญแบบใหญ่ ๆ เร็ว ๆ เยอะกว่า แต่ทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วยแคมเปญจะเดินหน้าช้าเร็วขึ้นอยู่กับว่าเรียกร้องกับใครด้วย เช่น ถ้าเรียกร้องกับบริษัทต่าง ๆ ก็อาจเดินหน้า หรือแม้แต่ได้ชัยชนะเร็วขึ้น โดยเฉพาะกับบริษัทที่ห่วงภาพลักษณ์ เราต้องมาพิจารณาว่าใครล่ะที่แคร์ภาพลักษณ์ หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐแคร์ไหม ก็อาจจะแคร์ แต่บางทีเขาอาจโดนเรียกร้องความรับผิดชอบตลอดเวลาอยู่แล้วอาจจะชิน มีความต้านทานต่อแรงกดดันสูง หรือบุคคล ถ้าเขามีภาพลักษณ์อย่างหนึ่งที่ต้องการให้สังคมเห็นแล้วขัดกับสิ่งที่เขาโดนโจมตี การพุ่งไปที่ภาพลักษณ์ของเขาอาจช่วยให้เขารีบตอบกลับ ให้ความช่วยเหลือ หรือบางคนมีภาพลักษณ์ไม่ดีนัก แล้วต้องอาศัยภาพลักษณ์ทำมาหากิน เขาจะยิ่งห่วงภาพลักษณ์เป็นพิเศษแล้วรีบตอบข้อเรียกร้อง วิธีนี้จะแมตช์ได้ดีมากกับ Change.org โดยเฉพาะในประเทศไทย การต่อสู้จะได้ผลเมื่อใช้สื่อ ใช้การกดดันเรื่องภาพลักษณ์ร่วมกัน จุดนี้เป็นแท็กติกหนึ่งเท่านั้น แต่สำคัญสำหรับประเทศเรา

แสดงว่ากลไกนี้ต้องพุ่งเป้าไปที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เขาห่วงภาพลักษณ์
ใช่ คือเราเลือกกลยุทธ์อะไร เราต้องมาวิเคราะห์ว่าเป้าหมายของเราเขามีแนวโน้มจะฟังหรือไม่ฟังใคร ฟังเพราะอะไร จะรู้ได้ว่าเขาจะฟังไหม ก็ต้องดูด้วยว่าเขาอ่อนไหวเรื่องอะไร อะไรสำคัญสำหรับเขา สมมุติว่านักการเมืองคนหนึ่งมีภาพลักษณ์ที่รักครอบครัว คนชื่นชมเขาในส่วนนี้ แล้วเรามีแคมเปญเกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่ไม่รักครอบครัว เช่น วันลาคลอดที่น้อยเกินไป เราก็สามารถสื่อสารแคมเปญกับนักการเมืองคนนี้ได้โดยใช้จุดนี้ อ้าวไหนบอกรักครอบครัวไง รักแต่ครอบครัวตัวเองรึเปล่าพี่ ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจไม่แคร์ภาพลักษณ์ แต่แคร์รายรับ แคร์ลูกค้า เจ้านาย หรือบอร์ดผู้บริหาร ต้องดูไปเป็นกรณี ๆ

ไม่ใช่ทุกแคมเปญใช่ไหมที่ Change.org จะเข้าไปช่วยคิดกลยุทธ์รณรงค์ให้
เราช่วยเจ้าของแคมเปญทุกคนไม่ได้ เพราะเรามีแคมเปญมากมาย และทีมมีคนน้อยมาก น้อยจนเวลาทั้งทีมไปประชุมกับใครเขาจะตะลึง ฮะ ! Change.org มีคนแค่เนี้ย เพราะฉะนั้นเราต้องเลือก แต่ไม่ได้เลือกในแง่ที่ว่า เฮ้ย ! เห็นด้วยกับแคมเปญนี้ว่ะ แคมเปญนี้ไม่เห็นด้วยช่างหัวมัน เรามีเกณฑ์อยู่หลายอย่าง เช่น เลือกแคมเปญที่มีโอกาสชนะ เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่เราจะผลักดัน ทีนี้เกณฑ์ของชัยชนะอย่างที่บอกว่าไม่ใช่ขาวหรือดำเสมอไป โดยเฉพาะถ้าเป็นแคมเปญที่ตั้งเป้าสื่อสารกับรัฐบาลหรือข้อเรียกร้องใหญ่ ๆ เจ้าของแคมเปญก็รู้ว่าอาจไม่ชนะหรอก แต่การที่มีคนแหวกกระแสกล้ามาลงชื่อก็แทบจะถือว่าเป็นชัยชนะสำหรับเจ้าของแคมเปญแล้ว ชัยชนะที่คนมีพื้นที่ในการพูดสำหรับประเทศเราถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่เขานำไปใช้รณรงค์ต่อได้ ดูจากอะไรอีก…ดูว่าข้อเรียกร้องชัดเจนไหม บางแคมเปญข้อเรียกร้องไม่ชัดเจนหรอก ทีมเราก็ติดต่อไปให้เขาทบทวนดี ๆ ว่าข้อเรียกร้องคืออะไรแน่ พยายามขุดกัน…บางทีข้อเรียกร้องชัดเจนนะ แต่เรียกร้องอย่างนี้มันจะชนะไหม เราอาจต้องไปเรียกร้องสิ่งอื่นที่สุดท้ายจะส่งผลให้สิ่งที่เขาต้องการเกิดขึ้นได้จริง ๆ นอกจากนี้ต้องดูว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจคือใคร เรียกร้องกับคนที่สามารถเปลี่ยนเรื่องนี้ได้หรือเปล่า บางทีแคมเปญเล็ก ๆ เกี่ยวกับชุมชนเล็ก ๆ เรียกร้องท่านนายกรัฐมนตรีอาจไกลตัวไป เรียกร้องกับครูใหญ่ในโรงเรียนอาจมีโอกาสชนะมากกว่า เร็วกว่า

กุญแจสำคัญที่ทำให้แคมเปญชนะคืออะไร
ข้อเรียกร้องชัดเจน เรียกร้องถูกคน และที่สำคัญคือคนเราจะลงมือทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการคิดเท่านั้น ไม่ใช่แค่ดูข้อมูลดิบ ๆ สถิติ ตาราง เลขนี้ ๆ แล้วเฮ้ย ๆ คนได้รับผลกระทบมากเท่านี้ ลงชื่อเลย มันไม่ใช่แค่นั้น ถ้าทั้งข้อมูลทั้งข้อเท็จจริงทำให้เกิดอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกร่วมด้วยได้ ไม่ว่าจะสงสารหรือ เฮ้ย ! อย่างนี้ไม่ยุติธรรมเลย อึดอัดโว้ย หรืออารมณ์เศร้า ดีใจกับเขาด้วย หรืออะไรก็ตามนั่นคือทำให้คนขยับได้ แคมเปญที่ประสบความสำเร็จมักจะสื่อสารความรู้สึกกับคนได้

อย่างแคมเปญเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา ๑๔ คนเมื่อปี ๒๕๕๘ (แคมเปญ : ปล่อยตัวนักศึกษาทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข) เรื่องนี้น่าสนใจตรงเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ว่าเรื่องเล่า (narrative) เป็นเรื่องของเพื่อน ทำให้คนเข้าใจมากขึ้น เช่น การใช้แฮชแท็กว่า #FreeOurFriends รูปวาดลายเส้นง่าย ๆ ของทั้ง ๑๔ คน แท็กติกต่าง ๆ ที่ใช้ กิจกรรมโพสต์อิท รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ดูเต็มไปด้วยความรักที่มีให้กับเพื่อน ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เขาต้องการสื่อแทบจะเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้ว พักเอาไว้ แทนที่จะมานั่งพูดเรื่องมาตรา เรื่องความไม่เท่าเทียม เรื่องสิทธิ ก็มาเล่าว่าหน้าตา ๑๔ คนนี้เป็นอย่างไร แล้วมีคนที่แคร์เขา มีครอบครัว มีเพื่อน มันน่าสนใจ มันซึ้ง ตัวแคมเปญเองก็ชื่อ Change.org/FreeOurFriends ซึ่งถ้าเกิดไม่ใช่เพื่อนเขามาตั้งแคมเปญ หรือถ้าไม่ได้ใช้มุมนั้น มันก็อาจเป็น “ปล่อยนักศึกษา ๑๔ คน” ความรู้สึกก็จะต่างไป เหมือนเทียบกันระหว่าง “ปล่อยลูกสาวผม” กับ “ปล่อย ด.ญ. ชล” มันคนละความรู้สึกกันเลยใช่ไหม ทุกคนมีเพื่อน แล้วต้องรักใครสักคนในชีวิต ก็สามารถเข้าใจอารมณ์กันได้ “ผมรอกินข้าวเย็นกับลูก แต่เขาไม่กลับมา” อ่านแค่นี้คนทั่วไปก็เข้าใจได้ถึงความเศร้า แล้วรู้สึกต่อไปได้ถึงความไม่แฟร์ วิธีนี้ได้ผลในทุกวัฒนธรรมที่สื่อสารกับคน เพียงแต่ว่าคนที่มาสร้างแคมเปญหลายคนจะไม่ค่อยนึกถึงมุมนี้

กรณีการใช้แรงงานทาสในเรือประมงไทย (IUU Fishing) หรือแคมเปญที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ แคมเปญเหล่านี้ได้รับความสนใจจากสังคมไทยมากแค่ไหน
พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วเศร้านะ โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกเลยมีอาการแบบสิทธิมนุษยชนเหรอ มนุษย์สัญชาติไหนล่ะ ชาติเดียวกับฉันรึเปล่า เรื่อง IUU Fishing เราเคยคุยกับทีมงาน Change.org ที่อังกฤษว่าเรื่องนี้มุมไหนที่คนจะสนใจและมีโอกาสชนะ เพราะเรื่องนี้ใหญ่และสลับซับซ้อนมาก มีหลายมุม ไปมุมไหนถึงจะเริ่มให้เกิดแรงกระตุ้นขึ้นมาที่เราจะต่อยอด ก็คุยกับอังกฤษว่า…ถ้ากุ้งจับที่ประเทศเรา แล้วส่งไปขายต่อที่ประเทศยู (อังกฤษ) ขายที่ห้างไหน ประเทศยูพุ่งเป้าไปที่ห้างเหล่านั้นได้ไหม ถ้าเราคิดว่าคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจกุ้งได้กำไรจากการส่งออกไปที่ห้างเหล่านี้ เขาจะฟังลูกค้าเขาไหม ถ้าโดนตัดแหล่งที่จะส่งออกเขาจะเปลี่ยนวิถีการผลิตไหม พอคุยกันถึงมุมนี้เราเลยคิดว่าโอกาสที่จะทำแคมเปญลักษณะนี้ได้น่าจะอยู่ที่อังกฤษ แต่สุดท้ายแล้วโมเมนต์ของการรณรงค์ที่อังกฤษก็หายไปเพราะว่าไม่ใช่แค่ประเทศเราที่สนใจเรื่องใกล้ตัวมากกว่า ที่นู่นมีข่าวเรื่องแรงงานทาสบนเรือประมงไทยขึ้นมาตู้มหนึ่งบนสื่อบางแห่งแล้วก็หายไป คนหันไปสนใจเรื่องอื่นในประเทศตัวเอง เราต้องรอโมเมนต์ที่มันใช่ หรือสร้างโมเมนต์ใหม่ขึ้นมาเอง ตอนนี้กรีนพีซทำเรื่องนี้อยู่ โดยร่วมมือกับ Change.org หาคนสนใจเรื่องนี้เพื่อมามีส่วนร่วมกับกรีนพีซ

ตอนโรฮิงญาก็ค่อนข้างสะท้อนความจริงว่าคนสนใจเรื่องอะไร ในออสเตรเลียมีคนพยายามรณรงค์ให้รัฐบาลช่วยโรฮิงญาแต่คนลงชื่อน้อย กลับไปได้รับความสนใจที่อินโดนีเซียเพราะเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเยอะ มีคนเห็นใจชาวโรฮิงญาเยอะ ในประเทศไทยเราเผยแพร่แคมเปญเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา หรือแม้แต่ผู้อพยพชาวซีเรียเหมือนกัน แต่ผลตอบรับไม่ดีเท่าในอินโดนีเซีย ในทางตรงกันข้ามกลับมีแคมเปญของไทยบอกให้โรฮิงญากลับบ้านไป

น่าสนใจว่า…ถ้ามีคนมาตั้งแคมเปญที่ความคิดเห็นไม่ตรงกับทีมงาน ทีมงานจะทำอย่างไร
คิดต่างไม่ผิดกติกา เราแทบจะไม่เคยลบแคมเปญไหนออกจากเว็บเลย ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญที่บางคนอาจจะเห็นว่าเพี้ยนหรือขำไป หรือเรื่องแค่เนี้ยทำไมต้องเรียกร้องด้วยฟระ หรือแม้แต่แคมเปญที่เราไม่เห็นด้วย ถ้าเราสามารถลบแคมเปญที่ไม่เห็นด้วยได้ตามใจ แล้วจะเป็นพื้นที่เปิดได้ยังไง เรามีอำนาจอะไรไปเซ็นเซอร์ความคิดของคนอื่น แม้จะเป็นสิ่งที่เราเห็นว่ากะโหลกกะลา ไร้สาระ มันอาจเป็นสาระของคนอื่น ไม่ใช่สิทธิของเราที่จะไปสกัดดาวรุ่ง พันธกิจของเราคือ empower คนให้สร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราอยากเห็น หรือแม้แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะ “ดี” ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว (subjective) แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากเห็นเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในละแวกบ้าน หรือประเทศ หรือในโลก

สิ่งที่ทำไม่ได้ใน Change.org มีอะไรบ้าง
อย่างประเด็นโรฮิงญา มีอยู่แคมเปญหนึ่งบนเว็บเรามีถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือ hate speech ซึ่งขัดกติกาชุมชนของเรา ข้อตกลงการใช้บริการและระเบียบชุมชนของเราห้ามเรื่องนี้อย่างชัดเจน และยังมีกติกาอีกหลายข้อเพื่อรักษาให้พื้นที่นี้ปลอดภัย ป้องกันการละเมิดสิทธิกัน นิยามของถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังของเราคือ “การสนับสนุนความเชื่อหรือการกระทำที่โจมตีหรือกล่าวหากลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติบางอย่างร่วมกัน เช่น อายุ สีผิว ความทุพพลภาพ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ ชาติกำเนิด เผ่าพันธุ์ ศาสนา เพศ รสนิยมทางเพศ อาการทางการแพทย์” เช่นการด่าคนกลุ่มหนึ่งเพราะเขาเป็นเกย์ถือเป็นเฮตสปีช

กระบวนการดูแลพื้นที่ Change.org ปรกติแล้วเราพึ่งชุมชนผู้ใช้งาน เหมือนเฟซบุ๊กจะมีระบบว่าถ้ามีคนฟ้องเฟซบุ๊กก็จะเข้าไปดูใช่ไหม แต่แคมเปญโรฮิงญาเราเห็นเอง ก็คุยกับทางฝ่ายกฎหมาย ซึ่งเขาไม่มาก้าวก่ายหรอกว่าแกต้องลบ จะเป็นลักษณะปรึกษากันมากกว่า กระบวนการคือเราติดต่อเจ้าของแคมเปญว่าประโยคนี้ที่คุณเขียนเป็นเฮตสปีช ลบไหม ถ้าไม่ลบเราจำเป็นต้องลบทิ้งเองนะ หรืออาจต้องลบแคมเปญไปเลย ในกรณีที่เราติดต่อเขาไม่ได้เราจำเป็นต้องลบเอง บางแคมเปญมันก้ำกึ่ง มันไม่ใช่ขาวกับดำ ลบประโยคนี้ไหม มันเป็นเฮตสปีช โอเคลบ แคมเปญก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่ถ้าหัวใจของแคมเปญมันผิดกติกาชุมชนอย่างชัดเจน เช่น สนับสนุนความรุนแรง หรือเป็นเฮตสปีชทั้งแคมเปญ ตัวข้อเรียกร้องหลักคือความเกลียดชัง เราจำเป็นต้องลบทั้งแคมเปญ โดยต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างที่ว่ามา การลบแคมเปญถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ Change.org ไม่ใช่แบบไม่ชอบเว้ย ลบเลยได้พร่ำเพรื่อ โดยเทคนิคเราลบได้เองอยู่แล้ว แต่เพราะเราเคารพกัน เราเป็นแพลตฟอร์ม ไม่ใช่เจ้าของเรื่องรณรงค์เหล่านี้

มีเรื่องราวอะไรบ้างที่เปิดประเด็นจาก Change.org เป็นที่แรก
เอยว่ามันเป็นธรรมชาติของการสร้างแคมเปญอยู่แล้ว บางเรื่องอาจเป็นข่าวอยู่ คนเห็นข่าวก็ไม่ได้ละ ต้องสร้างแคมเปญ พอเรื่องร้อนขึ้นมาปั๊บก็จะมีแคมเปญขึ้นมาทันที ในทางกลับกันหลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน แต่พอเรารู้แล้วส่งต่อให้นักข่าวเห็น มีสมาชิกคนหนึ่งสร้างแคมเปญเกี่ยวกับเรื่องทางขาดในชุมชนเขา แม่ลูกคู่หนึ่งขับรถผ่านเส้นทางนี้บ่อย ๆ ถนนซ่อมอยู่แต่ไม่มีป้ายอะไรเลย ขับรถอยู่ ตก ตายทั้งแม่ลูก ไม่เห็นมีข่าวอะไร พอมีแคมเปญก็กลายเป็นข่าว กับอีกแคมเปญหนึ่งคือพี่นก อาภาณี มิตรทอง เขาเป็นคนพิการแล้วจองตั๋วไทยสมายล์ จะไปขึ้นเครื่องอยู่แล้ว จองที่นั่งคนพิการแต่ทางสายการบินไม่มีรถเข็นให้ เขาเลยสร้างแคมเปญ กลายเป็นประเด็น เรื่องนี้คนไม่เคยรู้ (แคมเปญ : ให้สายการบินไทยสมายล์จัดให้บริการ Cabin Wheelchair เพื่อคนพิการ)

หรืออย่างแคมเปญของคุณอ๋อง นิธิพันธ์ วิประวิตร เรื่องฉากข่มขืนในละคร (แคมเปญ : เลิกเผยแพร่คติการล่อลวงข่มขืนว่าเป็นสิ่งปรกติ) เกิดขึ้นเพราะข่าวใหญ่กรณีข่มขืน แต่ไม่ค่อยมีใครมองเรื่องนี้ในมุมแบบคุณอ๋อง ไม่ได้มีข่าวออกมาในมุมนี้ก่อนที่จะมีตัวแคมเปญ คือคุณอ๋องเห็นข่าวข่มขืนแล้วหดหู่มาก เหมือนคนทั่วไปในสังคมตอนนั้นนั่นแหละ แต่พอกลับบ้านเปิดทีวีกลับเห็นละครที่ทำเหมือนการข่มขืนเป็นเรื่องขำ ๆ หรือเป็นเรื่องที่พระเอกทำได้เดี๋ยวนางเอกก็รักเอง เลยมาสร้างเรื่องรณรงค์ หรือการเรียกร้องให้โรงแรมหยุดกีดกันผู้ติดเชื้อเอชไอวี เรียกร้องให้ห้างหยุดขายปลานกแก้ว และอื่น ๆ หลายแคมเปญ เป็นเรื่องที่เริ่มจากตัวแคมเปญแล้วค่อยมีข่าวและกระแสสังคมตามมา

จำได้ว่าหนึ่งในกระแสที่เริ่มจาก Change.org คือเรื่องกระทะของร้านบาร์บีคิวพลาซ่า
(หัวเราะ) เรามีแคมเปญที่ดูเล็ก ๆ หรือบางคนเรียกว่าไร้สาระ เราพูดถึงทางโซเชียลฯ เมื่อไรมักจะโดนด่า ว่าเรื่องแบบนี้ต้องมีแคมเปญด้วยเรอะ แต่เราพูดถึงเพราะอยากให้คนเห็นว่าเรื่องอะไรก็ได้นะที่อยากเปลี่ยน มาใช้เว็บเราได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักรณรงค์ฮาร์ดคอร์เท่านั้น แต่คนไม่ค่อยเข้าใจเรา อยากให้เราทำเรื่องที่ขลัง ๆ เท่านั้น แคมเปญพวกนี้ก็อย่างขอให้ร้านนี้เอาไก่รสนี้กลับมาขายใหม่ ขอให้กระทะบาร์บีคิวใหญ่ขึ้น ขอให้อย่ายกเลิกทอปปิงไอศกรีมเรื่องเหล่านี้มาเริ่มที่เราก่อน แต่บางทีขยายไปเป็นเรื่องที่คนพูดถึงเยอะเพราะบริษัทอยากเอาใจลูกค้า หรืออยากมีภาพลักษณ์ว่าใส่ใจลูกค้าก็รีบตอบรับแคมเปญ บางที่จัดอีเวนต์เป็นเรื่องเป็นราว เชิญเจ้าของเรื่องรณรงค์ไปด้วยนะ

มีกรณีไหนที่สะท้อนถึงความเป็นไปได้ของการพลิกมุมในการเรียกร้องบ้าง
การรณรงค์ไม่ใช่แค่การให้เลิกสิ่งนั้น หยุดสิ่งนี้เท่านั้น แต่เป็นการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ด้วย เช่น แคมเปญที่พยายามเสนอให้พัฒนามักกะสันเป็นพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมแทนที่จะต้านไม่ให้สร้างศูนย์การค้าอย่างเดียว หรือเจ้าของแคมเปญอย่างพี่อุ้ย ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ที่ลูกชายพิการเพราะความผิดพลาดทางการแพทย์ เขาเลยกลายมาเป็นคนขับเคลื่อนเรื่องนี้ เขามาสร้างอยู่หลายแคมเปญเลย เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนซึ่งพวกเราก็รู้ว่าหลายที่โคตรแพง (แคมเปญ : ขอให้ตั้ง คกก. ควบคุมราคา รพ. เอกชน) พี่อุ้ยถามว่ามันต้องแพงขนาดนี้เลยไหม ค่าใช้จ่ายคือค่าอะไร มีกรณีตัวอย่างหนึ่งของคนที่เคยเจอปัญหาจากเรื่องแบบนี้มาเล่าว่า โรงพยาบาลเก็บค่าอะดรีนาลินเพื่อกระตุ้นหัวใจลูกของเขาราคาหลอดละ ๒๐๐ บาท ๑๔๘ หลอด รวมราคา ๒๙,๖๐๐ บาท แต่เมื่อตรวจสอบในเวชระเบียนพบว่าสั่งจ่ายไปแค่ ๓๐ หลอด ยิ่งไปกว่านั้นผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจบอกเขาว่าอะดรีนาลินใช้ได้ไม่เกิน ๒ หลอดต่อชั่วโมง แล้วช่วงแพทย์สั่งให้อะดรีนาลินใช้เวลาครั้งละ ๔-๕ ชั่วโมง คำนวณดูแล้วการใช้อะดรีนาลินตลอดการรักษาของลูกสาวเขาไม่น่าจะเกิน ๑๐ หลอด แถมต้นทุนในปีนั้นหลอดละประมาณ ๓ บาทเท่านั้น พี่อุ้ยถามว่ามันคืออะไร มีใครเป็นคนควบคุม อยากชาร์จแพงแค่ไหนก็ได้ พี่อุ้ยบอกว่าเราจะมองโรงพยาบาลเป็นเหมือนธุรกิจอื่นไม่ได้เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตาย เป็นเรื่องสวัสดิภาพของประชาชน ควรต้องมีหน่วยงานมาควบคุม เหมือนที่เรามีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค

ตั้งคำถามถึงโครงสร้างเลย คำถามใหญ่มาก
คือคนทั่วไปเข้าไปโรงพยาบาลเอกชนเห็นราคาแล้วอาจจะไม่กล้าป่วย ทีนี้เขาก็รวมตัวกัน เฮ้ย ! แกก็โดน ฉันก็โดนเรอะ บางคนป่วยอยู่นาน หมดตัว ตอนคนไปยื่นรายชื่อเห็นลูกของคนป่วยคนหนึ่งร้องไห้อย่างเศร้า ทีนี้ข้อเรียกร้องของพี่อุ้ยคือให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ถ้าเป็นวัฒนธรรมที่ต่างไปก็อาจมองที่ครอบครัวเดียว แล้วเรียกร้องให้ยกเลิกค่ารักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นของครอบครัวนั้นออก คืนเงินให้ แต่ไม่ ข้อเรียกร้องของพี่อุ้ยคือให้ตั้งกรรมการเพื่อคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน โดยคณะกรรมการต้องรวมประชาชนคนธรรมดาเข้าไปด้วย แล้วข้อเรียกร้องนี้สำเร็จ ปัจจุบันนี้มีคณะกรรมการ และมีคนธรรมดาที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปเป็นกรรมการด้วย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของข้อเรียกร้องให้แก้ไขสิ่งที่คิดว่าไม่ดีด้วยการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา

คิดได้หลายมุมมากว่าจะเลือกเรียกร้องให้เปลี่ยนที่จุดคานงัดไหนในวงจรของปัญหา
บางทีคนไม่รู้หรอกว่าปัญหานี้จะแก้ด้วยคำตอบอะไร แต่ว่าแค่เราเริ่มต้นเรียกร้องโอกาสชนะก็เพิ่มขึ้นแล้ว สมมุติว่าพี่อุ้ยไม่ได้ตั้งข้อเรียกร้องอย่างนี้ แต่มาตั้งข้อเรียกร้องว่าให้โรงพยาบาลเอกชนที่แพงสุด ๆ ทั้งหลาย ระบุมาสักห้าโรงพยาบาล ลดค่ารักษาพยาบาลลง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ สมมุติว่าเรียกร้องแบบนี้ปุ๊บ แต่พอทำแคมเปญไป มีการสนทนาหาทางแก้ปัญหากับหลายฝ่าย กระทรวงสาธารณสุขอาจบอกว่าเอาอย่างนี้ เราจะช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ ควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน โอเคไหม บางทีสิ่งที่ได้มันอาจจะไม่ตรงกับข้อเรียกร้อง เพราะคนที่เรียกร้องหรือคนลงชื่อสนับสนุนก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เสมอไป Change.org เป็นแพลตฟอร์มของคนธรรมดาที่ได้รับผล
กระทบจากปัญหาต่าง ๆ หรืออยากสร้างการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้กันไประหว่างกระบวนการรณรงค์ ผ่านการร่วมกันหาทางออกกับผู้มีอำนาจตัดสินใจนั่นแหละ

พลังของคนธรรมดาสำคัญมากนะ
เมื่อไรที่คนธรรมดาทั่วไปรู้ตัวและเชื่อมั่นว่า
มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้สังคมเราคงสนุกเลยละ

change-warisara03

ความเป็นแพลตฟอร์มของคนธรรมดาทำให้เกิดอะไรที่ไม่น่าเกิดได้เกิดขึ้นบ้าง
พลังของคนธรรมดาสำคัญมากนะ เมื่อไรที่คนธรรมดาทั่วไปรู้ตัวและเชื่อมั่นว่ามีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ สังคมเราคงสนุกเลยละ (ยิ้ม) เราดีใจที่เห็นผู้ใช้ Change.org ในเมืองไทยมาสร้างเรื่องรณรงค์มากขึ้น ๆ และหลากหลายด้วย มีคนเคยบ่นให้ฟังว่าทำไมมีแคมเปญมากมายไปหมด เรื่องเล็กเรื่องน้อยอะไรก็มีหมด เยอะไป มึน เราก็เข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันมันน่าดีใจที่คนธรรมดารู้สึกว่า เฮ้ย เราก็รณรงค์ได้นี่หว่า อาจจะชนะก็ได้นะ ลองดูซิจะเป็นไง มันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในพลังของตัวเองในฐานะประชาชนคนหนึ่งในระดับหนึ่งแล้ว พอได้รณรงค์ก็ได้เรียนรู้ มีนักข่าวมาสัมภาษณ์อีก อะไรเนี่ย นี่มีคนอยากฟังเราด้วยเหรอ โห ยิ่งถ้าแคมเปญชนะ คราวนี้ติดใจเลย บางคนตอนเริ่มรณรงค์เป็นคนธรรมดา ๆ จบแคมเปญกลายเป็นนักรณรงค์ขั้นเทพ เป็นคนมีชื่อเสียงมีเครือข่ายใหญ่โต ขยายการรณรงค์ไปกว้างขึ้นอีก เข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ง่ายขึ้นอีก จริง ๆ แล้วเมืองไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คนมาสร้างเรื่องรณรงค์น้อยกว่านะ มีญี่ปุ่นเท่านั้นที่น้อยกว่าเรา เราเลยเห็นเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีแคมเปญเยอะขึ้น ๆ

การเป็นแพลตฟอร์มของคนธรรมดา บางทีผู้มีอำนาจตัดสินใจก็ไม่ชินว่าคนพวกนี้เป็นใคร มาเรียกร้องฉันทำไม เรามีรายการวิทยุอยู่ ผู้มีอำนาจตัดสินใจบางคนมาออกรายการแล้วเข้าใจว่านี่คือการสนทนาหาทางออกร่วมกับคนที่มาเรียกร้อง บางคนถึงกับสัญญาออกอากาศว่าจะไปดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้ แต่บางคนมาพูดสิ่งที่ทำให้คนทำแคมเปญรู้สึกว่าแบบนี้ไม่ได้ละ สงสัยต้องเร่งระดมพลังหนักกว่านี้ เช่นพูดว่า “ไม่ต้องมาเรียกร้องหรอก ยังไงก็ทำสิ่งที่คิดจะทำอยู่แล้ว” หรือ “คนที่มาเรียกร้องแบบนี้เป็นพวกโลกทัศน์แคบ” ผู้มีอำนาจตัดสินใจบางคนแสดงความเห็นว่า “ทำไมประชาชนไม่มาเรียกร้องตามช่องทางที่ถูกต้อง” เราก็มาคิด…ช่องทางที่ถูกต้องแปลว่าอะไร หรือ “ทำไมไม่มาตามช่องทางปรกติ ทำจดหมายมาสิ” คือ
ถ้าไปตามช่องทางนั้นพี่จะได้ยินเสียงน้องไหม พี่จะสละเวลาอันมีค่ามาตอบน้องทางรายการวิทยุไหม หรือว่าจะต้องรอนานแค่ไหน สำหรับผู้รณรงค์ ช่องทางที่ถูกต้องคือช่องทางที่เปิดโอกาสให้เขาได้พูด แล้วคนที่สมควรจะได้ยินก็ได้ยิน แล้วมันผิดตรงไหน

นี่เป็นคำตอบว่าทำไมข้อเรียกร้องกับสิ่งที่ได้ไม่ตรงกัน เพราะคนเรียกร้องเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมที่ทำเรื่องนี้มาเป็นสิบปีถึงรู้ว่านี่คือทางที่ดีที่สุดนะ แต่มันเป็นทางที่บอกว่า เฮ้ย ! ไม่ไหวแล้วโว้ย ต้องเปลี่ยนนะ แล้วเดาว่าเปลี่ยนอย่างนี้จะเวิร์ก จากนั้นก็ไปหาทางแก้ปัญหาด้วยกันกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ มันไม่ใช่การไปกดดัน หรือโจมตีให้ตายกันไปข้าง แต่เป็นบทสนทนา ปัญหาเป็นอย่างนี้ ๆ เอายังไงดี ไม่ได้ ๆ เอาอย่างนี้ งั้นอย่างนี้ละกัน รับได้ไหม การเข้ามาใน Change.org อย่างน้อยที่สุดคือเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว หรืออาจถึงกับเป็นจุดเริ่มต้นของ “ชัยชนะ” แบบตรง ๆ ตัว ไม่วันนี้ก็วันหน้า ในทางกลับกันคือถ้าไม่เริ่มอะไรเลย ก็ไม่มีวันได้อะไรขึ้นมา

เจอกรณีที่องค์ประกอบในการแก้ปัญหาสะดุดไปหมด จนหาจุดที่จะผลักแคมเปญให้สู้ต่อไม่ได้ไหม แล้วทำอย่างไร
เจอสิ บางทีเราอาจจะต้องจัดลำดับความสำคัญ ถึงขั้นไหนแล้ว…สมมุติตัน ต้องกลับมาที่เกณฑ์ มีจุดที่ทำให้ผลักไปต่อได้ไหม งั้นเรื่องนี้เราไปไม่ได้ พักไปทำเรื่องอื่นก่อน แล้วพอมีโมเมนต์ขึ้นมา มีข่าว มีการเปลี่ยนผู้บริหาร มีพัฒนาการใหม่ ๆ ค่อยไปขุดขึ้นมาอีกที เราต้องรู้บทบาทของเราด้วย บทบาทของ Change.org เป็นเรื่องของ public engagement เป็นการพาประชาชนไปด้วยกันกับประเด็นปัญหาและกระบวนการหาคำตอบ แต่ถ้าเกิดว่าตอนนั้น momentum มันต้องการการล็อบบีหลังบ้านหรือวิธีอื่น ๆ แล้วตัวเจ้าของแคมเปญหรือส่วนอื่น ๆ ในสังคมเขามีศักยภาพทำได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะต้องทำในส่วนนั้น

การสะดุดเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน บางทีนักข่าวไม่สนใจก็มี เราก็พยายามคิดจะทำยังไงให้เขาสนใจ เรื่องคณะผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ขอเข้าใช้โรงแรมทาวน์อินทาวน์จัดงานสัมมนาแล้วโรงแรมปฏิเสธ นักข่าวไม่สนใจ แม้แต่คนที่ลงชื่อบางคนก็มาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กว่าต้องเห็นใจโรงแรมบ้าง ก็เห็นใจได้ แต่มันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ติดเชื้อ ตัวผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างเจ้าของโรงแรมก็ไม่สนใจภาพลักษณ์เพราะเขามีแขกเต็มทุกวัน ก็ต้องหาทางอื่นเช่นติดต่อสมาคมโรงแรมไทย บางทีไปตันที่เจ้าของแคมเปญที่มาตั้งแคมเปญแล้วหายไป หรือไม่เข้าใจว่าเขาเป็นเจ้าของนะ เขาเป็นคนนำ เขาเป็นคนที่ต้องพาคนอื่นไปด้วยกัน ไม่ใช่ Change.org ทำให้เกิดขึ้น แบบนี้ก็ยากเลย

หรือบางทีผู้ใช้บริการ Change.org เองไม่เอาด้วย ไม่ลงชื่อ ไม่สนใจ บางเรื่องทีมงานอยากทำแทบตาย ทำงานกับสื่อไปแล้ว คนไม่ลงชื่อก็ไม่มีประโยชน์ที่จะผลักต่อ ถ้าเรายังไม่มีคนที่สนใจเรื่องนี้อยู่ในฐานผู้ใช้ของเรามากพอ ก็อาจจะต้องหาวิธีต่อไปว่าทำอย่างไรให้ฐานนี้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาบรรยากาศในโลกเราแบ่งขั้วมาก ทำให้คิดเรื่องนี้มากว่าบทบาทของเราจะพัฒนาต่อไปอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้แต่ละคนได้เห็นเรื่องรณรงค์ที่หลากหลาย รวมทั้งเรื่องที่ตัวเองอาจไม่เห็นด้วย จะได้ไม่ติดอยู่ในโลกของตัวเอง หรือมีแต่คนที่คิดเหมือนเราอยู่รายรอบ

จากเหตุการณ์ที่กลุ่มคัดค้าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และซิงเกิลเกตเวย์ ยกระดับการต่อสู้เมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วยการโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ ทั้งการแฮ็กข้อมูลและทำให้เว็บของรัฐใช้งานไม่ได้ชั่วคราว ในฐานะไดเร็กเตอร์ขององค์กรที่เคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล คิดว่าวิธีนี้เหมาะสมหรือไม่
ความเหมาะสมไม่เหมาะสมขึ้นอยู่กับบริบทหลายอย่าง กลยุทธ์การเคลื่อนไหวบางอย่างอาจใช้ได้ในสังคมหนึ่ง แต่อาจทำให้อีกสังคมหนึ่งตกใจเกินไป หรือได้รับความเดือดร้อนเกินกว่าสังคมจะรับได้ ซึ่งอาจเป็นผลเสียกับการรณรงค์มากกว่าจะเป็นผลดี ในทางกลับกัน บางสังคมไม่มีกลไกอะไรให้คนได้แสดงออกเลย หรือการเคลื่อนไหวแบบนิ่ง ๆ เรียบร้อย ๆ อาจไม่ได้ผล ต้องกระตุกแรงหน่อย สรุปคือต้องดูบริบทของสังคมด้วย

การโจมตีเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็มีหลายระดับ ไม่ใช่ว่าการโจมตีทุกอย่างคือการแฮ็ก และการแฮ็กก็มีวัตถุประสงค์หลากหลาย เหมือนกับการ “ประท้วงบนท้องถนน” ที่มีหลายระดับความเข้มข้น การโจมตีเว็บไซต์แบบ DDoS หรือการที่คนจำนวนมากเรียกใช้เว็บไซต์พร้อม ๆ กันทำกันมานานแล้วในประเทศอื่น ๆ ค.ศ. ๑๙๙๙ กลุ่มผู้ประท้วงองค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) ทำให้เว็บของงาน World Trade Summit ง่อยไปชั่วคราว อาจเรียกได้ว่าเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์เพื่อสร้างความไม่สะดวกชั่วคราวเพื่อส่งสาร ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทำลายล้าง ไม่ใช่แม้แต่การแฮ็ก เป็นการเคลื่อนไหวโดยคนธรรมดา ๆ บนโลกออนไลน์ที่ทางกลุ่มผู้นำประท้วงบอกว่ามารวมตัวกันเกือบ ๕ แสนคน นัยว่าไม่ต้องการให้ WTO เผยแพร่สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น propaganda ให้กับคนทั่วโลกอีกต่อไป

วิธีแฮ็กเว็บไซต์ การชุมนุมประท้วงปิดถนน กับอีเมลจำนวนมากมายที่ Change.org ส่งไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจทุกครั้งที่มีผู้ลงชื่อในแคมเปญ จะถือว่าวิธีการเหล่านี้อยู่ในแนวเดียวกันไหม
การรณรงค์ต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดอะไรสักอย่างซึ่งอาจไม่เคยมีมาก่อน หรือเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งโดยกระบวนการแล้วมันอาจต้องกระตุกให้เกิดแอ็กชันขึ้นมา ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้รับความสนใจและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร เหมือนนั่งพับเพียบพูดเบา ๆ บางทีไม่มีใครได้ยิน ในบางกรณีเลยทำให้เกิดแรงเสียดทานขึ้นมาได้ เกิดความไม่สบายใจไม่สบายตัวทั้งกลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจและแม้แต่ผู้สนับสนุนแคมเปญเอง

เอยมองว่าการลงชื่อบน Change.org คือการแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน และส่งสาร การส่งอีเมลไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจและการไปยื่นรายชื่อที่ระดมได้จากแพลตฟอร์ม คือการสื่อสารกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ให้รู้ว่ามีประชาชนต้องการความสนใจและต้องการให้เขาออกมาทำอะไรบางอย่าง เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาและหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่พิเศษมากบน Change.org เพราะไม่ใช่แค่เปิดพื้นที่ให้คนแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ เท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้ามาอยู่ในขั้นตอนการรณรงค์ด้วย ให้สามารถมีสายตรงถึงผู้เรียกร้องผ่านทางเว็บไซต์ได้เลย ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เข้าใจจุดนี้จะไม่มองว่าการได้อีเมลแจ้งเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเขาเป็นการสร้างความเดือดร้อน บางคนดีใจเสียอีกที่ได้รับทราบปัญหาและเข้าใจประชาชนหรือลูกค้าของตัวเองดีขึ้น ผู้มีอำนาจตัดสินใจในหลาย ๆ ประเทศชอบตอบคำถามหรือข้อเรียกร้องผ่านเรื่องรณรงค์บน Change.org เพราะตอบทีเดียวทุกคนที่ลงชื่อได้เห็นหมด ไม่เหมือนการมานั่งตอบจดหมายลูกค้าที่บ่นเรื่องเดียวกันทีละฉบับ ทั้งนี้ทั้งนั้นการส่งอีเมลหาผู้มีอำนาจตัดสินใจอยู่คนละแนวกับการแฮ็กเว็บไซต์แน่นอน

วิธีการกระตุกความสนใจแรง ๆ แบบนี้มักเกิดขึ้นในบริบทสังคม-วัฒนธรรมแบบไหน
วิธีการเคลื่อนไหวออนไลน์เหล่านี้ จริง ๆ เกิดมาแล้วทั่วโลก ทั้งตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ รวมทั้งประเทศประชาธิปไตยในตะวันตกด้วย เอยคิดว่าบริบทของการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็คืออินเทอร์เน็ตเคยเป็นสิ่งใหม่ การเข้าถึงจำกัด แต่ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ และรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ก็สนใจจะกำหนดกฎเกณฑ์การใช้อินเทอร์เน็ตเหมือนที่ทำกับพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ในบางกรณีก็เลยเถิดถึงขั้นละเมิดสิทธิ ส่วนอีกฝั่งเห็นว่าไม่ควรควบคุม เห็นว่าการมอนิเตอร์ไปจนถึงการปิดบังข้อมูลต่าง ๆ อันตรายกว่าการเปิดเผย มีผลเสียมากกว่าการปล่อยเสรี การเซ็นเซอร์ก็เป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต เลยมีการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างที่เราเห็นกัน

ช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มี digital mentality กับรัฐที่ยังคงเป็น mass media mentality หากเกิดการแข็งขืนต่อสู้กันต่อไป คาดว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เอยมองว่าโลกในยุคก่อนอินเทอร์เน็ต ข้อมูลข่าวสารรวมศูนย์กว่านี้มาก สารออกมาจากศูนย์กลางหรือคนที่มีสื่อ ทำให้ควบคุมจัดการได้ง่ายกว่าถ้าต้องการ แต่อินเทอร์เน็ตทำให้คนมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแสดงออกได้จากทุกทิศทุกทาง ในแง่หนึ่งเป็นการปรับโครงสร้างทางอำนาจ กลายเป็นคนธรรมดา ๆ มีสื่ออยู่ในมือ แต่ละคนสามารถสร้างและเผยแพร่สารของตัวเองได้ และไม่ใช่ในลักษณะกระจายเสียงเท่านั้น แต่สามารถสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้ฉับพลัน และอาจเกิดการรวมตัวกันในกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันตามมา ถ้าเสรีภาพเหล่านี้ถูกจำกัดจะส่งผลถึงด้านอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งเสรีภาพในการคิดและแสดงความคิดเห็น ซึ่งนึกภาพออกได้ไม่ยากว่าจะส่งผลต่อไปในอีกหลายด้านยังไง ทั้งนี้ไม่ได้กำลังบอกว่าเสรีภาพจะต้องไร้ขีดจำกัด แน่นอนว่ามันต้องมีกฎเกณฑ์ มีกติกา เพื่อคุ้มครองผู้ใช้อินเทอร์เน็ต คงไม่มีใครอยากโดนกระหน่ำเกรียนโดยไม่มีทางสู้ใช่ไหม ก็เหมือนที่เราต้องมีกติกาต่าง ๆ ในสังคมออฟไลน์ แต่จะออกมาในรูปแบบไหนจึงจะได้ผลและชอบธรรม เป็นเรื่องที่สังคมร่วมกันกำหนดโดยต้องเข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตดีพอ

จากข่าวที่ได้ยินว่า Change.org จะปรับแผนธุรกิจใหม่เพื่อหาทางให้อยู่ต่อไปได้ยาว ๆ ทาง Change.org ประเทศไทย ได้เตรียมพร้อมรับมือไว้อย่างไร
อย่างหนึ่งที่เราทำมานานแล้วคือการเชื่อมคนที่สนใจประเด็นทางสังคมต่าง ๆ เข้ากับองค์กรที่ทำงานแก้ปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการหารายได้อย่างสอดคล้องกับพันธกิจของเรา ในแง่ที่ช่วยให้คนที่มาร่วมรณรงค์มีโอกาสเพิ่มดีกรีการมีส่วนร่วมผ่านองค์กรที่ทำงานเรื่องนั้นโดยตรง เช่น หลังลงชื่อในแคมเปญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราอาจเห็น pop-up จากองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่นกรีนพีซ ให้เราเลือกรับข่าวสาร หรือเลือกไม่รับก็ได้ หากผู้ใช้อนุญาต องค์กรนั้นจึงจะติดต่อมา และถ้าไม่อยากให้ติดต่ออีกก็สามารถบอกเลิกได้ตลอดเวลา นี่คือช่องทางหนึ่งที่เป็นรายได้ของเรา เพื่อให้ผู้ใช้เว็บไซต์ของเราได้ใช้งานฟรี

ตอนนี้เป้าหมายของ Change.org ทุกประเทศทั่วโลกคือเลี้ยงตัวเองได้ วิธีการที่เราจะเลี้ยงตัวเองเป็นทางเดียวกับวิธีทำงานของเราคือพาผู้ใช้ของเราไปด้วยกัน เรากำลังจะเปิดให้ผู้ใช้ Change.org สมัครสมาชิกรายปี ช่วยให้เรามีทุนทำงานและบ่มเพาะนักรณรงค์ให้เกิดขึ้นในสังคม ทำให้คงแพลตฟอร์มที่เปิดให้เข้าใช้ฟรีได้ต่อไป ก็หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้ แต่การสนับสนุนยังมีได้อีกหลายทาง ทั้งสร้างแคมเปญ ลงชื่อแคมเปญ แชร์แคมเปญ และช่วยทำให้แคมเปญชนะ

ที่ผ่านมามีความเสี่ยงอะไรที่พบจากการทำงานบ้าง
ก็มีความเสี่ยงทั้งในเรื่องของรัฐบาล กฎหมาย เรื่องของแบรนด์ โดนฟ้องก็เคย หน้าที่ของเราในฐานะแพลตฟอร์มคือสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรักษาพื้นที่แห่งนี้ไว้ให้เป็นพื้นที่เปิดที่ปลอดภัย มันก็ย่อมมีความเสี่ยงตามมา ใครโดนเรียกร้องบ่อย ๆ หรือขัดใจมาก ๆ ก็อาจจะเคืองเรา คนที่โดนเรียกร้องบางกลุ่มมีอิทธิพล มีต้นทุนมากทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หลายครั้งเราต้องยอมเสี่ยงถ้าจะรักษาพันธกิจ รักษาตัวตนและ core values ของเราไว้ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์สำหรับผู้ใช้และสังคม บางครั้งก็มีแคมเปญอ่อนไหวที่ต้องตัดสินใจ ถ้าเรายอมเสี่ยงแล้วแพลตฟอร์มโดนปิด คนอีกกี่แสนคนจะไม่มีพื้นที่นี้ ถ้าลบแคมเปญง่ายแต่จะอยู่ยังไง แล้วจะเปิดแพลตฟอร์มกันทำไม ถ้ามีอะไรแล้ววิ่งหนีกันตลอด ถ้าเสี่ยงไปเพื่อไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาก็ต้องคิด แต่เวลาเรายอมเสี่ยงก็ต้องมี

ในแง่ของแบรนด์ก็มีความเสี่ยงในภาวะที่สังคมแบ่งแยกกัน บางแคมเปญมีทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) แปลก ๆ มาละ เช่นทึกทักว่าเราเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ การที่เราเป็นพื้นที่เปิด หลายคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมีแคมเปญสองเรื่องที่ขัดกันเอง จะยุให้คนทะเลาะกันหรือไง บางทีเราอ่านคอมเมนต์แล้วเสียใจ แต่เทียบกับกำลังใจแล้วกำลังใจเยอะกว่า