รายงาน : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : นาซา

enceladus

14 เมษายน 2560 – นาซาเพิ่งประกาศยืนยันว่ามีองค์ประกอบ “ครบถ้วน” ของการเกิด “สิ่งมีชีวิต” บนดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) หนึ่งในบริวารของดาวเสาร์

เอนเซลาดัสเป็นดวงจันทร์เล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกราว7 เท่า พื้นผิวรอบนอกหุ้มด้วยเปลือกแผ่นน้ำแข็งที่เต็มไปด้วยรอยแตกเป็นเส้นยาว เย็นติดลบถึงเกือบ 200 องศาเซลเซียส ภายใต้เปลือกน้ำแข็งคือมหาสมุทรลึกหลายกิโลเมตรซ่อนตัวอยู่ และรองรับใต้มหาสมุทรคือชั้นหินแกนกลาง โดยเอนเซลาดัสมักพ่นพวยก๊าซออกมาจากรอยแยกทั่วไปขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังมีสนามแม่เหล็กหุ้มช่วยป้องกันลมสุริยะจากดวงอาทิตย์

นอกจากน้ำที่เอนเซลาดัสมีเหลือเฟือแล้ว นาซายืนยันว่ามันมีองค์ประกอบการเกิดสิ่งมีชีวิตอื่นครบ คือ ธาตุพื้นฐาน ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ (C-H-N-O-P-S) ประกอบกับอีกสองปัจจัย คือ พลังงาน และเวลา

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการค้นพบอันน่าตื่นเต้นล่าสุดมาจากพวยก๊าซที่พ่นออกมา ซึ่งยานแคสซินีตรวจสอบแล้วพบว่าประกอบด้วยก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซแอมโมเนีย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเชื่อได้ว่าลึกลงไปมีปล่องภูเขาไฟใต้มหาสมุทร (คล้ายกับที่พบในมหาสมุทรของโลก) เป็นแหล่งพลังงานความร้อนที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะก๊าซไฮโดรเจนถือเป็นอาหารหรือแหล่งพลังงานของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว

ดังนั้นในมหาสมุทรอันมืดมิดใต้เปลือกแผ่นน้ำแข็งเย็นเฉียบบนดาวเอาเซลาดัส อาจมีสิ่งมีชีวิตที่กำลังวิวัฒนาการขึ้นมาอาศัยอยู่ แต่จะมีรูปแบบชีวิตอย่างไร จะรู้ได้จากการส่งยานไปสำรวจเจาะลึกในอนาคต

ทั้งนี้แสงแดดไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็น เพราะมีตัวอย่างของการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในความมืดมิดหลายพันเมตรใต้มหาสมุทรในโลกของเรานี่เอง

ส่วนดวงจันทร์อีกดวงที่อาจมีองค์ประกอบครบถ้วนคล้ายกัน คือ ยูโรปา ของดาวพฤหัสบดี แต่ยังต้องส่งยานไปสำรวจให้ชัดเจนต่อไป

นับเป็นการยืนยันครั้งแรกว่ามีดาวเคราะห์ที่มีองค์ประกอบต่างๆ ของการเกิดสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับที่พบบนโลก และน่าตื่นเต้นที่สุดคือ มันอยู่ในระบบสุริยะของเรานี่เอง ไม่ต้องไปค้นหาสิ่งมีชีวิตถึงระบบสุริยะอื่นแล้ว