ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ละครรำ-ละครยก

ธรรมเนียมที่ถือกันว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าโปรดปรานการดูละครและการฟ้อนรำ พบได้ทั่วไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนถึงในอารยธรรมอินเดีย ตามเทวาลัยที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า จึงต้องมีนางรำประจำ เพื่อถวายการขับร้องฟ้อนรำให้เทพเจ้าพอพระทัย

ในเมืองไทยเราเองจะเห็นได้ว่าศาลและวัดหลายแห่งก็มีคณะละครชาตรีไปตั้งประจำสำหรับเล่นแก้บน บางแห่งก็จับตอนเล่นเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังต่อเนื่อง เช่นที่ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ สำหรับแก้บนเจ้าพ่อหลักเมือง ที่วัดโสธรวรารามฯ เล่นแก้บน “หลวงพ่อโสธร” ที่วัดเพชรสมุทรฯ สมุทรสงคราม เล่นแก้บน “หลวงพ่อบ้านแหลม” ฯลฯ

บางแห่งก็เน้นเพียงชุดรำสั้นๆ อย่างที่เรียกกันว่า “รำถวายมือ” เช่นที่ศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ

นอกจากนั้นก็ยังมีการแก้บนด้วยการละเล่นอื่นๆ อย่างลิเก งิ้ว รำวง จนถึงภาพยนตร์ ตามศาลเจ้า ตามเทศกาล และตามการบนบานศาลกล่าวของเจ้าภาพ บางแห่ง ผ่านไปทีไรก็เห็นขึ้นจอหนังกลางแปลงฉายหนังแก้บนเจ้าพ่อกันตลอดทั้งปี

แต่อย่างที่คงพอนึกออก การแก้บนด้วยละครจริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทองมาก ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีกันได้ทุกคน

คนเรานั้นมักหาวิธี “หลอก” ผีสางเทวดาต่างๆ อยู่เสมอ เคยได้ยินว่ามีผู้ไปบนบานเจ้าพ่อหลักเมืองด้วย “ละครกรมศิลป์ฯ” (คงเห็นว่าเจ้าพ่ออาจจะเบื่อละครชาตรีที่ดูประจำอยู่ทุกวัน) ครั้นพอได้สำเร็จตามความต้องการ ถึงเวลาจะแก้บนก็เรียกแท็กซี่ไปที่ศาลหลักเมืองแล้วให้รออยู่ก่อน เข้าไปถึงก็จุดธูปอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองมา เปิดประตูเรียกให้ขึ้นรถ แล้วให้แท็กซี่ขับอ้อมรอบสนามหลวงไปโรงละครแห่งชาติ ซื้อตั๋วละครกรมศิลป์สองใบ ให้ตัวเองใบหนึ่ง ให้เจ้าพ่อหลักเมืองใบหนึ่ง เป็นต้น

chatri-01

ทำนองเดียวกัน ตั้งแต่โบราณ คนที่ไม่ค่อยมีเงิน (หรือภาษาเก่าเขาเรียกว่า “เบี้ยน้อยหอยน้อย”) ที่ไปบนละครไว้ พอถึงตอนจะแก้บน ก็เสไปเลือกใช้ “ละครยก” แทน เช่นที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ใน สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๖ ว่าตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ (ช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ ต่อต้นรัชกาลที่ ๕) เมื่อเสด็จไปวัดบวรนิเวศวิหารครั้งใด

“ก็เคยเห็นละครยก กับทั้งตุ๊กตาและช้างม้าผ้าแดงที่หน้าประตูวัดมีอยู่ไม่ขาด คือเป็นเครื่องแก้สินบนพระชินสีห์”

“พระชินสีห์” ที่ทรงกล่าวถึงนี้ คือพระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปโบราณที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วน “ละครยก” อย่างที่ทรงกล่าวถึงนี้ เดี๋ยวนี้คนคงไม่รู้จักกันแล้ว

ละครยกทำเป็นเหมือนโรงละคร หรือเวทียกพื้นเล็กๆ ขนาดไม่กี่นิ้ว ตั้งตุ๊กตาดินปั้นเป็นตัวๆ ไม่มีรูปทรงอะไร แล้วระบายสีอย่างหยาบๆ สมมติเอาว่าเป็นตัวละคร จำนวนสามตัว ผู้เขียนเคยเห็นของจริงครั้งสุดท้ายในร้านสังฆภัณฑ์ที่เมืองจันทบุรีเมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว มานึกทีหลังก็ออกจะเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้ แต่ใครที่สนใจอาจพอหาดูรูปได้ในหนังสือ พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง ของอาจารย์โชติ กัลยาณมิตร ผู้ล่วงลับ อาจารย์อธิบายว่า “ละครยกนี้นอกจากจะใช้นำไปแก้บนตามวัดหรือตามศาลเจ้าแล้ว ยังใช้ถวายศาลพระภูมิอีกด้วย”

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “พระ” เป็น “เจ้า” หรือเป็น “ศาล” ก็อาจถูกหลอกได้พอๆ กัน

สมัยหลังมานี้ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น “ละครยก” จึงกลายรูปเปลี่ยนร่างเป็นตุ๊กตานางรำพลาสติก สีสันฉูดฉาดไปหมดแล้ว อย่างที่เห็นกันทั่วไป