วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

sun-camp

“หนูอยากโดนด่าค่ะ”
เธอบอกเจตนาการมาสมัครเข้าร่วมค่ายสารคดี–ในความหมายว่าอยากให้มีคนช่วยวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนของเธอ
เป็นหนึ่งในหลายๆ คำตอบของผู้ผ่านคัดเลือกรอบแรก มานั่งสอบสัมภาษณ์
ปีนี้เป็นครั้งที่ ๑๓ แล้วที่นิตยสาร สารคดี จัด “ค่ายสารคดี” ต่อเนื่องมาปีละรุ่น ด้วยความปรารถนาที่จะสร้างนักเขียนและช่างภาพรุ่นใหม่ให้กับวงการสารคดีของเมืองไทย
ด้วยการเปิดรับเยาวชนอายุไม่เกิน ๒๕ เข้ามาเรียนฟรีๆ โดยไม่จำกัดเพศ วุฒิการศึกษา สถาบัน คณะ มาร่วมเรียนได้หมด ไม่มีสัญชาติก็เรียนได้

ผู้สมัครบางคนเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีตามคำขอของทางบ้านที่อยากให้รับช่วงธุรกิจของครอบครัว

บางบ้าน-เธอต้องเรียนครูเพราะพ่อแม่อยากให้รับราชการ แต่เธอฝันต่อที่จะเป็นครูนักเขียน

นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์อีกบางคนบอก “เรียนครูให้พ่อแม่ แต่จะมาเรียนการเขียนให้ตัวเอง”

นอกจากการชี้แนะแนวทางให้เทคนิควิธีการเบื้องต้น อีกนัยหนึ่งค่ายสารคดีจึงอาจเป็นเสมือนสถาบันนอกระบบการศึกษาที่ช่วยเปิดทางให้คนหนุ่มสาวได้มาแสวงตัวตนและค้นหาความฝันร่วมกับหมู่มิตรที่รักชอบในสิ่งเดียวกัน
“อยากให้ชีวิตที่เหลือมีคุณค่าทุกวัน” (ด้วยงานเขียน)
“การเขียนไม่ต้องพูดหลายรอบ” (ทำให้ฉันอยากเขียน)
“มันดึงฉันออกมาจากหลุม” (การได้รู้จักการเขียน)
บางความในใจของคนอยากเรียน
“สารคดีเขียนให้สนุกได้ไหม?” ผู้ถูกสัมภาษณ์ถามบ้าง เมื่อผู้สัมภาษณ์เปิดให้ถาม
“ได้สิ สารคดีต้องสนุก!”
“ค่ะ สารคดีต้องสนุก” เธอรับคำหนักแน่น ลุกจากเก้าอี้กำมือแน่น “หนูพร้อมเต็มที่ค่ะ รับรองจะทำทุกอย่างเพื่อให้ถึงเป้าหมาย”
“จะเป็นผลผลิตที่ดีของค่าย”
อีกบางคนให้สัญญา–หากรับเธอเข้าเรียน

จนกว่าจะพบกันใหม่
ในวันประกาศผลตัวจริง

เปิดเรียนวันแรก ๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ต่อเนื่องไป ๔ เดือน
งานเขียนสอบบรรจุหรือแต่งตั้งให้เป็นกันไม่ได้ มีแต่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน ไปจนถึงด้วยตัวเอง


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา