แลไปรอบบ้าน  บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


สุเจน กรรพฤทธิ์

“แอกของสื่อไทย” ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่เราลืม

ปี 2482 จอมพล ป. ประชุมกับผู้แทนหนังสือพิมพ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) คนที่ 2 จากซ้าย สวมปลอกแขนไว้ทุกข์กับเสรีภาพหนังสือพิมพ์ประท้วงจอมพล ป.

ถึงนาทีนี้ คงมีน้อยคนที่จะไม่ทราบข่าวคราวของ “ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “กฎหมายคุมสื่อ” ที่ถูกผลักดันโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากการแต่งตั้งของ คสช. จนผ่านที่ประชุม สปท. ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2560

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ปัจจุบัน กฎหมายนี้อยู่ในขั้นตอนของการรอการพิจารณาจาก ครม.และ สนช.

ถ้าสกัดสาระของกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะพบว่รายละเอียดสำคัญคือ การตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่จะมีกรรมการ 15 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากสภาวิชาชีพสื่อและส่วนราชการ

สภานี้มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อบังคับ ฯลฯ ต่างๆ เกี่ยวกับสื่อมวลชน รวถึงการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โถ้าสื่อหรือองค์กรไหนไม่ปฏิบัติมีโทษปรับ 6 หมื่นบาท จำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัญหาให้ถกกันนั้นมีมหาศาล เช่น นิยามของคำว่า “จริยธรรม” ที่กว้างขวางราวมหาสมุทร ตีความได้ร้อยแปดพันประการ การวิจารณ์รัฐบาลก็อาจเป็นการ “ละเมิดจริยธรรม” ได้

การนำเสนอความรู้ใหม่ ปรากฎการณ์ใหม่ เรื่องของความก้าวหน้าในแง่ของวิธีคิดโดยมีเหตุผลรองรับ ก็อาจเป็นการ “ละเมิดจริยธรรม” ได้เช่นกัน

คิดเล่นๆ ด้วยตัวอย่างสุดฮาว่า เสนอข่าวการพิสูจน์ว่าน้ำที่คนจำนวนมากเข้าใจว่าเป็นน้ำมนต์ แต่จริงๆ เป็นน้ำสกปรกจากห้องน้ำที่ผุดจากดิน นี่อาจถูกตีความว่าเป็นการ “ละเมิดจริยธรรม” เพราะทำลาย “ศรัทธาของประชาชน” ต่อน้ำส้วมบ่อนั้น

หรือเสนอข่าวแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินว่า “โลกไม่กลมอีกต่อไป” โดยมีข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนหนักแน่น ทั้งที่เป็นเรื่องของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ นี่ก็อาจ “ผิดจริยธรรม” เพราะคนเชื่อแบบเดิมมากกว่าเช่นกัน

สังคมไทยจะถอยหลังขนาดไหนในสภาพกฎหมายแบบนี้

ยังไม่นับคำถามเรื่องตัวแทนสภาวิชาชีพนั้นเป็นตัวแทนของสื่อที่มีมากมายในยุคนี้ได้จริงหรือไม่ คำจำกัดความของ “สื่อ” คืออะไร คนเล่นเฟซบุ๊กฟอลโลว์เป็นแสนเป็นสื่อหรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามานั่งในสภาวิชาชีพจะขัดกับการหลักการตรวจสอบหรือไม่ ฯลฯ

ประวัติศาสตร์บอกเราว่าในอดีต ไทยเรามี “กฎหมายคุมสื่อ” มาแล้วหลายฉบับ

ลักษณะพิเศษคือ กฎหมายนี้มักเกิดหลังรัฐประหาร และสื่อรุ่นก่อนต้องใช้เวลาต่อสู้เพื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าวยาวนานนับสิบปี

เอาเข้าจริง เรื่องนี้ย้อนกลับไปก่อนปี 2475 ได้ด้วยซ้ำ เพราะปรากฎกฎหมายคุมสื่อรุ่นบรรพบุรุษในประวัติศาสตร์ก่อนปี 2475 อยู่ 2 ฉบับ

ฉบับแรก พ.ร.บ.ว่าด้วยสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2465 มีมาตรา 5 ระบุว่า บทประพันธ์ที่มีจุดมุ่งหมาย ยุยงให้กระทำความผิดต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอาณาจักรเป็นบทประพันธ์ที่เป็น “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” โทษคือ “ผู้ประพันธ์บรรณาธิการและเจ้าของ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำและปรับทั้งสองสถาน”

เมื่อเทียบกับค่าเงินในยุคนั้นถือว่า “ปรับหนัก” ถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว การตีความก็ยาก เช่น “ทำความผิดต่อพระราชอาณาจักร” คือการกระทำแบบใด รวมเอาการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผลเข้าไปด้วยหรือไม่

ปี 2470 ยังมีการกำหนดคำว่า “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ให้ชัดขึ้นว่าคือบทประพันธ์ที่ “มุ่งหมายทางตรงหรือทางอ้อม คือโดยอนุมานก็ดีแนะก็ดี กล่าวกระทบก็ดีกล่าวเปรียบก็ดี โดยปริยายหรือประการอื่นก็ดี เพื่อจะให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฤารัฐบาล ฤาราชการแผ่นดิน…”

ปัญหาก็ยังคงเดิมคือ ตีความได้กว้างจนครอบคลุมทุกเรื่องและกลายเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งกันได้

media01

จอมพล ป. ผู้ออก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484

กฎหมายคุมสื่อฉบับต่อมาที่นักหนังสือพิมพ์รุ่นบุกเบิกรู้จักดีคือ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ.2484 ออกในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปีที่สถานการณ์โลกตึงเครียดก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ มาตรา 21 ระบุว่าหากเจ้าพนักงานเห็นว่าสิ่งพิมพ์ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” สามารถตักเตือน หรือสั่งให้งดใช้เครื่องพิมพ์ (ปิดแท่นพิมพ์) “โดยมีกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้”

ตรงนี้เองที่ทำให้นักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าคุ้นกับประโยค “ล่ามโซ่แท่นพิมพ์” เพราะโดนไปหลายราย

ระยะนั้นกระแสชาตินิยมดำเนินไปอย่างเข้มข้นในเมืองไทย จอมพล ป. ขับเคี่ยวกับนักหนังสือพิมพ์รุ่นแรกอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเพื่อนๆ อย่างไม่ลดราวาศอก พบปะ/ปะทะคารมกันในหลายช่องทางทั้งหน้าหนังสือพิมพ์ จดหมาย ฯลฯ

สิ่งที่ผมพอสรุปได้คือ นักหนังสือพิมพ์รุ่นแรก “ไม่เคยก้มหัว” ให้กฎหมายนี้

เรื่องที่เหลือเชื่อคือ กฎหมายนี้มีอายุยืนยาวจนถึงปี 2550 ที่ผ่านมานี้ โดยที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้ “มีชีวิต/มีผลบังคับ” เพียงแต่ในช่วงมีรัฐบาลพลเรือนและรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันถูกหักล้างโดยอัตโนมัติเพราะ “รัฐธรรมนูญ” รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพสื่อมวลชน ก่อนที่จะโดนยกเลิกจริงๆ ด้วยการออก พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ที่มีเนื้อหาแค่เรื่องเทคนิคการขึ้นทะเบียนและจดแจ้งการพิมพ์เท่านั้น

media03

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ออก ปร.17

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจาก พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ.2484 วงการสื่อเข้าสู่ยุคมืดยิ่งขึ้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2501 ออก ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 (ปว.17) โดยมีสาระสำคัญคือ สอดส่องเรื่องการคุกคามสถาบัน โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่ “ส่งเสริมให้เกิดความหลงเชื่อนิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์” การวิจารณ์รัฐบาล โดยให้อำนาจยึดเครื่องพิมพ์และหนังสือพิมพ์ไม่เกิน 6 เดือน

ยุคนี้ นักหนังสือพิมพ์ไทยติดคุกเป็นทิวแถวด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ บ้างก็หนีออกนอกประเทศ สื่อที่ยังอยู่ก็ต้องเสี่ยงภัยทำงานภายใต้เพดานเสรีภาพอันจำกัด กว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกยกเลิก ต้องรอจนถึงปี 2517 (หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516)

media04

พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ผู้ออก ปร. 42

ทว่า 2 ปีให้หลัง เมื่อเกิดการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการออก คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) โดย พล ร.อ. สงัด ชลออยู่ มีเนื้อหาควบคุมสื่อเหมือน ปร.17 แต่เพิ่มโทษทางอาญากับผู้ฝ่าฝืนคือจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี ปรับ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผมเกิดและโตทันได้ยินนักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่คนหนึ่งบ่นถึง ปร.42 ว่า มันคือ “แอก” ที่กดขี่สื่อไทยมาทุกยุคทุกสมัย กฎหมายนี้ต่อมาถูกยกเลิกด้วย พ.ร.บ. ยกเลิก ปร.42 ในปี 2533

ที่น่าสนใจคือ ระบบกฎหมายบ้านเรานั้น ประกาศคณะรัฐประหาร จะถูกยกเลิกด้วย กฎหมายระดับ พ.ร.บ. ที่ต้องผ่านรัฐสภาที่มี ส.ส. ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องถึง 3 วาระ ต่างกับตอนประกาศใช้ที่ทำด้วยคนๆ เดียวซึ่งง่ายกว่ามาก

*****

พ.ร.บ. สื่อฉบับล่าสุดที่เป็นปัญหา ผมไม่แน่ใจว่าหากปล่อยให้ผ่านออกมา สื่อคงต้องใช้เวลาอีกนานในการต่อสู้เพื่อยกเลิก และผลกระทบน่าจะกระจายกว้างกว่า เพราะยุคปัจจุบันเรามี “สื่อ” มากมาย พรมแดนความเป็นสื่อก็พร่าเลือนไปจนเกือบแยกไม่ออกว่าใครเป็นสื่อ ใครไม่ใช่สื่อ

เพราะทุกคนก็ล้วนแต่เป็นสื่อได้ทั้งสิ้นจากช่องทางเผยแพร่ที่มีมากมายแค่ปลายนิ้ว (ในมือถือ)

แต่ถึงตรงนี้ คนที่ทำงานในสื่อเก่า (สิ่งพิมพ์) อย่างผม แม้จะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ก็คงไม่กล้าพูดว่า “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน”

เพราะในวิกฤติการเมืองหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สื่อส่วนมากของไทย ไม่เคยพิสูจน์ตัวเองได้เลยว่า “ปกป้องเสรีภาพของประชาชน”
ซ้ำร้ายสื่อ มองให้ดี เผลอๆ สื่อนี่แหละเป็น “ต้นเหตุแห่งวิกฤติการณ์” ในครั้งนี้