More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ยัติภังค์

We Married as a Job ละครส่งเสริมสร้างครอบครัว ยุคสังคมคนโสด

ภาพจาก – http://couch-kimchi.com

ปี พ.ศ.๒๕๕๖ ได้มีผลสำรวจโดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งญี่ปุ่น(Japan Association for Sex Education) ที่ได้รับเผยแพร่เป็นที่ฮือฮาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในแดนปลาดิบ เพราะนอกจากเดิมจะมีภาวะการกลายเป็นสังคมคนแก่แล้ว(สังคมที่มีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปในสัดส่วนร้อยละ ๑๐) , มีอัตราการเกิดต่ำ ยังมีสภาพเป็นสังคมคนโสดอีกด้วย เพราะคนอายุน้อยกว่า ๔๐ ส่วนใหญ่ไม่สนใจในการมีคู่รัก พวกเขาแทบไม่เคยออกเดท มีเพศสัมพันธ์แต่ก็เป็นลักษณะแบบความสัมพันธ์ระยะสั้น ซึ่งนำไปสู่การไม่แต่งงาน กลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทางแก้ให้ได้

อาการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Celibacy syndrome หรือในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า เซกกุสุ ชิไน โชโกงุน ซึ่งเมื่อสมาคมฯ สอบถามเหตุผล พวกเขาก็มักเผยว่าการสร้างความสัมพันธ์ในแบบคู่รักนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับตน และไม่เห็นว่าการมีความรักจะนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้นในชีวิต

มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่ามันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบครอบครัวดั้งเดิมในอดีต ที่สามีทำงานนอกบ้านในบริษัทที่มั่นคง อยู่ไปตลอดชีวิต ภรรยาทำหน้าที่แม่บ้าน หลังยุคเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา รูปแบบดังกล่าวก็เปลี่ยนไปมาก ฝ่ายชายไร้แรงจูงใจในการงานที่ไม่มั่นคงเหมือนเมื่อก่อน ขณะที่ผู้หญิงเองก็กลายเป็นพนักงานบริษัท และคนทำงานมากขึ้น มีความมั่นใจและทะเยอทะยานขึ้น หลายคนมีเพศสัมพันธ์แบบคืนเดียวเพราะชีวิตตนเองไม่ได้มีรายมั่นคงถึงขั้นหวังจะสร้างครอบครัว ขณะเดียวกันสถานะทางเพศที่ไม่เท่าเทียมกันในญี่ปุ่น ทำให้เกิดปัญหาเมื่อผู้หญิงทำงานหลายคนจำต้องลาออกมาเลี้ยงลูกโดยแรงกดดันของสังคม

Koi Dance อันโด่งดัง

หากใครเคยติดตามละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ที่เรียกว่าเทรนดี้ดราม่า จะพบลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งในการนำปัญหาสังคม วิถีชีวิตร่วมสมัยในญี่ปุ่นมาดัดแปลงสร้างโดยตลอด ผู้คนที่ใช้ชีวิตแบบสังคมคนโสดเองก็ไม่แตกต่างกันเมื่อปรากฎในละครยอดนิยมช่วงปลายปี ๒๕๕๙ อย่าง We Married as a Job ผลงานกำกับของ ฟูมิโนริ คาเนโกะ ที่ดัดแปลงจากมังงะของ สึนามิ อุมิโนะ นำแสดงโดย เก็น โฮชิโนะ และ ยูอิ อารางากิ ซึ่งโด่งดังจนท่าเต้นเพลงประกอบละครเรื่องที่เรียกว่า Koi Dance ถูกนำไปเต้นเลียนแบบกันอย่างแพร่หลายตามอินเทอร์เน็ต

ฮิรามาสะ วิศวกรระบบฝีมือดีของบริษัทไอทีแห่งหนึ่ง ทั้งชีวิตไม่เคยมีแฟน ไม่เคยคบหาใคร ไม่คิดแต่งงาน และไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เขาเป็นคนประเภทที่เรียกว่าไม่ฝักใฝ่เรื่องทางเพศ(Asexuality ) หมกมุ่นอยู่กับงานและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ฮิรามาสะจับพลัดจับผลูได้รู้จักกับ มิคุริ หญิงสาวจบปริญญาโทที่เพิ่งไร้งานทำ และมารับงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดให้กับห้องพักของเขาเพราะรายได้งาม การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นไม่เกิดปัญหาเหมือนกับแม่บ้านคนก่อนๆ แล้ววันหนึ่งเธอก็เสนอเงื่อนไขแปลกๆ เพื่อให้ได้ทำงานแม่บ้านนี้ต่อไปนั่นคือการให้พวกเขาทั้งคู่แต่งงานกันหลอกๆ ภายใต้สัญญาว่าจ้างที่หวังว่าได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย และด้วยสถานการณ์พาไปหลายอย่างทำให้เขายอมรับข้อเสนอนั้นในที่สุด

ด้วยพล็อตที่ดูแสนคุ้นเคยแบบละครตลก-โรแมนติก หากในรายละเอียด We Married as a Job ได้สะท้อนให้เห็นบุคลิกลักษณะของหนุ่มสาวยุคใหม่ ฮิรามาสะที่แม้จะเก่งและประสบความสำเร็จในการงาน แต่กลับมีปัญหาในการแสดงความรู้สึก โดยเฉพาะความรัก ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือภาษากาย กลายเป็นคนปิดกั้นความรู้สึกของตนไปในที่สุด ขณะที่มิคุริแม้จะเรียนสูง แต่ก็ใช่ว่าจะได้งานทำ ชีวิตของเธอเป็นสาวสมัยใหม่ที่หมกมุ่นกับการได้รับการยอมรับ และมีงานที่มั่นคง – และเมื่อภายหลังทั้งคู่มีความรักซึ่งกันและกัน บทละครก็พลิกสถานการณ์หลายอย่างให้กลับตาลปัตร ไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิตคู่แบบที่ทั้งคู่คาดหวัง ราวกับสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตคู่ในอดีตที่ทำให้ต้องปรับตัวกันอีกครั้ง ไม่ต่างจากหนุ่มสาวยุคสังคมคนโสด

We Married as a Job มีสัญลักษณ์ประจำเรื่องคือ นกที่บินมากินอาหารในห้องพักของฮิรามาสะเป็นประจำ มันอ่อนแอเกินจะไปหาภายนอกได้ เมื่อกินเสร็จก็บินจากไป อันเปรียบเทียบสภาพชีวิตแต่งงานหลอกๆ ของทั้งคู่ที่ฝืนวิถีจารีตปรกติ(ชื่อละครภาษาญี่ปุ่นจะมีความหมายว่า การหนีเป็นความน่าอายที่ช่วยเราได้ ) และดูเหมือนจะไม่ใช่แค่คู่ของพวกเขาเท่านั้น ในละครยังมีชีวิตรักที่ผิดขนบจารีตของสังคมในญี่ปุ่นทั้งสิ้น ตั้งแต่ยัตจังเพื่อนสาวของมิคุริที่เลือกจะหย่ากับสามีเมื่อพบว่าเขานอกใจ และใช้ชีวิตแบบแม่ใบเลี้ยงเดี่ยว, ความรักของต่างวัยของสาวออฟฟิศระดับอาวุโสกับหนุ่มเจ้าชู้อายุน้อยกว่า, และความรักระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งล้วนมองสิ่งเหล่านี้อย่างมีความหวัง ตรงกันข้ามละครก็ให้ภาพลักษณ์ของผู้ชายที่เป็นสามีตามขนบที่เป็นพนักงานบริษัทอย่าง พ่อ และพี่ชายมิคุริ หากไม่เคยช่วยเหลือภรรยาทำงานบ้าน งานครัว พวกเขาก็ถูกตำหนิได้ถึงความไม่ได้เรื่องได้ราว

ในละครยังเสริมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันหลายอย่าง ตั้งแต่ตัวมิคุริ ซึ่งช่างจินตนาการในลักษณะของคนที่โตมากับวัฒนธรรมร่วมสมัย เธอจะมโนประเด็นต่างๆ ไปเป็นรายการโทรทัศน์ การ์ตูน วิดีโอเกมได้อยู่เนืองๆ สะท้อนลักษณะของคนยุคปัจจุบัน, การแชร์ห้องให้เช่า, สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่กำลังรุกตลาดในญี่ปุ่น, ความช่างค้นข้อมูลทุกเรื่องของฮิรามาสะในกูเกิล ที่กำลังมาแทนที่เว็บยอดนิยมอย่าง Yahoo ! Japan และการปรับตัวให้อยู่รอดของบริษัท หรือการค้าในชุมชนที่ไม่มีอะไรง่าย เหมือนแต่ก่อน

อันแสดงให้เห็นว่าปัญหาวิกฤตต่างๆ ในสังคมแก้ได้ด้วยความพยายามทำความเข้าใจมัน เปิดรับ ปรับตัวในความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เพื่อให้สังคมไม่หยุดนิ่งตายตัว

เช่นเดียวกับบทสรุปแบบปลายเปิดของเรื่องที่มองว่า หลังจากนี้พวกเขาทั้งคู่จะมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง หรือใครจะทำงานใครจะเลี้ยงลูก หรือพวกเขาอาจอยู่กันแบบไม่มีทายาทก็ได้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะพวกเขารู้ถึงสิ่งสำคัญของชีวิตคู่แล้วว่า

คือการปรับตัว เรียนรู้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

อ้างอิง :