passport02Passport  

สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา


เรื่อง / ภาพ : สุชาดา ลิมป์

มอง “มาเก๊า” มุมที่ไม่ใช่คาสิโนบ้างดีกว่า

ไม่ต้องชะเง้อไกล แค่ก้มมองปลายเท้าตัวเอง

macau02
macau02
macau02
macau02

ไม่ว่าจะตั้งต้นจากตรงไหน บนพื้นถนนทางเท้าของเมืองนี้ก็มีกระเบื้องโมเสกแผ่นเล็กแผ่นน้อยที่จัดเรียงเป็นลวดลายต่างๆ กระจายอวดสายตาผู้มาเยือนอยู่ทั่วเมือง

ข้างหลังภาพมีเรื่องราวน่ารู้…

ด้วยอดีตกาลของมาเก๊า-พื้นที่บนชายฝั่งทางใต้ของจีน เคยเป็น “หมู่บ้านเกษตรกรรมและประมงขนาดเล็ก” มาก่อน ชาวมาเก๊า (Macanese) แต่เดิมคือชาวจีนกวางตุ้งและฟูเจี้ยน พูดภาษากวางตุ้งเป็นภาษาแม่ รองลงมาเป็นภาษาแมนดาริน จนยุคที่ประเทศมหาอำนาจฝั่งยุโรปต่างขยายอำนาจทางการเมืองและการค้ายังเอเชีย จึงเริ่มมีพ่อค้าและนักเดินเรือโปรตุเกสทำการค้าและตั้งหลักแหล่งในมาเก๊า มิตรภาพสองประเทศนำมาสู่สัญญาเช่าดินแดนมาเก๊าต่อจากจีน และประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งในจังหวัดโพ้นทะเลของโปรตุเกส แม้เวลานั้นจีนยังไม่ได้ตอบรับอย่างเป็นทางการ แต่หลังเหตุการณ์ที่โปรตุเกสช่วยจีนปราบ โจรสลัดในเขตทะเลจีนใต้ ปี ๒๔๓๐ จีนก็ยกมาเก๊าให้ตอบแทน ชนพื้นเมืองในมาเก๊าจึงมีชาวโปรตุเกสเข้ามาผสมเชื้อชาติ ใช้ภาษาโปรตุเกสและภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลาย

ว่ากันเรื่องการมาถึงของโปรตุเกสในยุคนั้น ได้นำสถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมหลายอย่างจากตะวันตกสู่มาเก๊า ทั้งตึกรามบ้านช่อง โบสถ์ และ “ถนนทางเท้าที่ปูด้วยกระเบื้องโมเสก”

macau05
macau06
macau07

น่าสนใจว่าโดยมากเป็นรูปเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเล อย่างลอนคลื่น พืช หรือสัตว์น้ำ เช่น ม้าน้ำ ปลา หมึก กุ้ง ฯลฯ เป็นได้ว่าเพื่อสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของย่านการค้าบนพื้นที่ชายฝั่งแห่งนี้ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมและประมงมาก่อน

กระเบื้องโมเสกสีขาว-ดำจึงไม่เพียงทำหน้าที่ดึงดูดสายตาให้ถนนทางเท้าธรรมดาเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ ยังเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะเล่าอดีตของเมือง ให้คนที่รื่นรมย์กับการทอดน่องได้อ่านบันทึกความทรงจำที่ผสมวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกจนเป็นหนึ่งในรากเหง้าของเมือง

นี่คือของดี-มรดกที่ตกทอดถึง “เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน”

ซึ่งสำหรับเรา น่าจดจำกว่าภาพมหานครคาสิโน-สวรรค์ของนักเสี่ยงโชค