ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ศรัณย์ ทองปาน

siaogarng01
“เซี่ยวกาง” (บางทีสะกด “เสี้ยวกาง”) เป็นศัพท์ช่างไทย ใช้เรียกรูปเทพทวารบาลผู้รักษาประตูทางเข้าออกแบบหนึ่ง ที่ทำเป็นบุคคลมีหนวดมีเคราเหมือนชาวจีน แต่งกายเป็นไทยผสมจีนผสมแขก คือแต่งตัวคล้ายรัดเกราะแบบจีนๆ สวมชฎา สวมสนับเพลา (กางเกง) แต่นุ่งทับด้วยโสร่งที่ทิ้งชายผ้าห้อยยาวแหลมลงมา แลดูเป็นแขกๆ ในมือถืออาวุธต่างๆ ที่พบบ่อยคือถือกริช หรือไม่ก็เหน็บกริชไว้ที่เอว ให้ดูเป็น “แขก” มากขึ้นไปอีก

เข้าใจว่าทวารบาลรูปเซี่ยวกางมีทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเป็นอย่างน้อย มีทั้งที่เป็นไม้สลักปิดทอง และเขียนเป็นภาพจิตรกรรมไว้บนบานประตูหน้าต่าง เลยไปจนถึงทำเป็นลายรดน้ำบนบานประตูตู้พระธรรมก็เคยเห็นเหมือนกัน

siaogarng03

เซี่ยวกางที่จะกล่าวถึงในที่นี้อยู่ที่ประตูทางเข้าหน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรุงเทพฯ ด้านถนนพระสุเมรุ เซี่ยวกางที่นี่ ตนหนึ่งยืนบนหลังจระเข้ มือหนึ่งถือสามง่าม อีกมือถือกริช ส่วนอีกตนยืนมาบนหลังมังกร สองมือถือดาบกับโล่ ตั้งแต่เคยเห็นมาหลายสิบปี จะมีคราบดำๆ เปื้อนปากเปื้อนหนวดเคราทั้งสองตนอยู่เสมอ จำได้ว่าประตูนี้เคยซ่อมและทาสีปิดทองใหม่ไปแล้วหลายรอบ แต่สักพักเดียวก็จะกลับมามีคราบดำๆ อีก เพราะเซี่ยวกางที่นี่มีคนนิยมนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคราบดำๆ เหล่านั้นคือร่องรอยของการ “แก้บน”

ธรรมเนียมนี้น่าจะเก่าแก่พอสมควร อย่างน้อยๆ ก็กว่า 70 ปีมาแล้ว พบหลักฐานลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ เล่ม 26 ว่าทรงพบเห็น “ร่องรอย” การแก้บนเซี่ยวกางที่บานประตูหน้าพระอุโบสถวัดบวรฯ มาตั้งแต่ปี 2486 เมื่อเสด็จกลับจาก “ลี้ภัยการเมือง” ที่เกาะปีนัง มายังกรุงเทพฯ ไม่นาน ลายพระหัตถ์ตรัสเล่าไว้ว่า

“ได้ความว่าแก้บนกันเป็นอย่างใหม่ คือเอาฝิ่นไปทาที่ปากเซี่ยวกางที่บานประตู แลดูก็เห็นปากมอมทั้ง 2 ตัว…ดูก็ประหลาดนักหนา”

เข้าใจว่าชาวบ้านคงเห็นรูปเซี่ยวกางดูเหมือนคนจีนแก่ๆ มีหนวดมีเครา สมัยนั้นยังมีคนจีนแก่ๆ ที่ชอบสูบฝิ่นอยู่ ก็เลยไปคิดเอาว่า “อาแปะ” สองท่านที่หน้าวัดบวรฯ คงชอบ “ของพรรค์นั้น” ด้วย เลยไปตั้งจิตอธิษฐานไปบนบานด้วยยาฝิ่น พอได้สำเร็จตามที่ต้องการแล้ว ก็เลยต้องเอาไปแก้บน โดยนำเอาฝิ่นที่เป็นเหมือนยางดำๆ เหนียวๆ ไปป้ายปากไว้

นับจาก 2486 จนถึงเดี๋ยวนี้ก็กว่า 70 ปี แต่เซี่ยวกางก็ยังคงปากดำเป็นคราบอยู่ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ดำด้วยฝิ่นเสียแล้ว เพราะตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ให้เลิกโรงยาฝิ่นในกรุงเทพฯ และจัดการเผากล้องสูบฝิ่นโชว์กลางสนามหลวงไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 กว่าๆ ฝิ่นก็ชักหายาก กลายเป็นของผิดกฎหมายร้ายแรง หรือต่อให้หาได้ ก็ยังมีราคาแพงเกินกว่าจะเอามาป้ายปาก “อาแปะ” แก้บนได้อีก

น่าสนใจว่าในกรณีนี้ ของแก้บนเสี้ยวกางที่บานประตูวัดบวรฯ เลยเลื่อนเคลื่อนจากฝิ่นไปเป็นของดำอย่างอื่นแทน นั่นคือกาแฟ

siaogarng02

คุณลุงขายกาแฟรถเข็นแถวนั้นเคยให้เล่าฟังว่า พอมีลูกค้ามาซื้อ “โอยัวะ” กาแฟดำร้อนใส่ถุง ก็รู้ได้ทันทีว่าต้องมาแก้บนเซี่ยวกาง สมัยก่อน จำได้ว่าเวลาเย็นค่ำที่ประตูวัดปิดแล้ว จะมีประตูเหล็กม้วนดึงลงมาปิดไว้อีกชั้น เคยผ่านไปเห็นถุงกาแฟแขวนโตงเตงอยู่หน้าประตู แต่ไม่นานมานี้ คือพร้อมๆ กับการซ่อมประตูครั้งล่าสุด มีการตั้งราวสแตนเลสสวยงามไว้ให้ ถุงกาแฟจึงย้ายไปแขวนไว้กับราวอันใหม่แทน


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี