ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ศรัณย์ ทองปาน

kanesha04

พระคเณศ หรือพระพิฆเนศ ดั้งเดิมเป็นเทวดาของแขกฮินดู ในเทวปกรณัมว่าเป็นโอรสของพระศิวะ (พระอิศวร) กับพระอุมา พระคเณศมีรูปกายเป็นมนุษย์ แต่มีเศียรเป็นช้าง

ในอินเดียนับถือว่าพระคเณศเป็นเทพเจ้าแห่งอุปสรรค ดังนั้นจึงต้องบูชาก่อนการบูชาเทพองค์อื่นหรือกระทำกิจกรรมอื่นใด เพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาบรรลุผลสำเร็จ เคยพบเห็นในอินเดียใต้ว่าจะมีเทวรูปพระคเณศเล็กๆ ตั้งอยู่ในซุ้มหน้าบ้านหน้าร้าน แต่เช้าเจ้าของบ้านเจ้าของร้านก็จะออกมาบูชาท่านด้วยหญ้าแพรกอันเป็นของมงคล เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ให้กิจการงานดำเนินไปอย่างปลอดโปร่งราบรื่น

kanesha03

ส่วนเมืองไทยสมัยโบราณ นับถือกันว่าพระองค์เป็นเทพผู้สร้างช้าง (อาจเพราะมีเศียรเป็นช้าง) จึงได้รับการบูชากันในหมู่พราหมณ์พฤฒิบาศ ซึ่งเป็นกลุ่มพราหมณ์ที่ดูแลพิธีกรรมเนื่องด้วยเรื่องการจับช้างเลี้ยงช้างโดยเฉพาะ พระคเณศในฐานะนี้ปรากฏชี่อเรียกในเอกสารเก่าว่า “พระเทวกรรม”

ตั้งแต่ราวสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อเริ่มมีการศึกษาคติอินเดียโบราณผ่านวรรณคดีในภาคภาษาอังกฤษ เกิดนิยมนับถือพระคเณศว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา จึงนำไปใช้เป็นตราของ “วรรณคดีสโมสร” รวมถึงใช้เป็นตราของกรมศิลปากร แล้วต่อมาเมื่อเกิดวิทยาลัยนาฏศิลปในสังกัดของกรมศิลปากรขึ้น วิทยาลัยนาฏศิลปจึงใช้สัญลักษณ์เป็นรูปพระคเณศเช่นเดียวกับกรมศิลปากร และนั่นคงทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในหมู่ศิลปิน แล้วจึงกลายเป็นเทพเจ้าแห่งการขับร้องฟ้อนรำไปด้วย คตินี้เป็นคตินิยมในฝ่ายไทยโดยเฉพาะ ดังจะเห็นเวลาไหว้ครูในสายดนตรีนาฏศิลป์จึงจะตั้งเศียรพระพิฆเนศไว้บนโต๊ะในหมู่ศีรษะครูด้วย (แต่ปัจจุบัน วิทยาลัยนาฏศิลปสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงวัฒนธรรม แยกขาดจากกรมศิลปากรไปแล้ว)

kanesha02

ประมาณสิบกว่าปีมานี้ ในเมืองไทยเกิดธุรกิจใหม่ในการไปสร้างศาลประดิษฐานพระคเณศองค์ใหญ่ยักษ์ขึ้นตามวัดหลายแห่ง พระคเณศกลุ่มนี้กลายเป็นเทพเจ้า “อเนกประสงค์” คือเชื่อกันว่ากราบไหว้ขอได้ทุกสิ่งอัน ทั้งการเล่าเรียน การเงิน การงาน ความรัก แต่ที่น่าสนใจมาก คือจากความเชื่อดั้งเดิมที่พระคเณศมีสัตว์พาหนะคือหนู อย่างในเทวาลัยของพระคเณศก็จะมีรูปหนูหมอบคอยรับใช้อยู่หน้าประตู แต่พร้อมๆ กับการสร้างพระคเณศองค์ใหญ่ๆ อย่างที่ว่ามาแล้วนั้นเอง ก็เลยไปสร้างรูปหนูตัวโตๆ ตั้งเอาไว้ที่ฐานเทวรูป พร้อมกับเผยแพร่ความเชื่อ (อย่างไทยๆ) ว่าหนูเป็นเหมือน “เลขานุการ” ของพระคเณศ ดังนั้นเวลาใครต้องการอะไรก็อย่าไปขอกับพระคเณศโดยตรง (เพราะท่านมีคนไปขอโน่นขอนี่เยอะแยะมากมาย ท่านจำไม่ได้หรอก-ประมาณนั้น) แต่ให้ไปกระซิบบอกคุณหนูที่เป็น “หน้าห้อง” ของท่านเอาไว้ให้ช่วยดูแลให้

kanesha01

เราจึงเห็นคนไปยืนกระซิบกระซาบความนัยตรงข้างหูรูปปั้นหนูกันอยู่ตลอดเวลา – ไม่ต่างกับประเพณีการวิ่งเต้นอย่างที่ปฏิบัติกันทั่วไปในวงราชการ ซึ่งนิยมเดินเรื่องไปฝากฝังให้ “หน้าห้อง” ของท่านช่วย “ชง” เสนอขึ้นไปให้ “ท่าน” เซ็น นั่นเอง

งานนี้ คนอินเดียคง งง!


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี