อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


lamyai

ลำไย ไหทองคำ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เจ้าของเพลงผู้สาวขาเลาะ ถูกนายกรัฐมนตรีวิจารณ์ถึงท่าเต้น นี่เป็นกระบวนการเกิดขึ้นของ “ข่าว” ตามธรรมชาติ หรือเจตนาสร้างข่าวเพื่อกลบการอนุมัติจัดซื้อรถเกราะล้อยางจากประเทศจีน (ที่มาภาพ : crop ภาพจากเฟซบุค ลำไย ไหทองคำ)

เรื่องท่าเต้นของคุณ ลำไย ไหทองคำ หรือ สุพรรณษา เวชกามา นักร้องลูกทุ่งสาวเจ้าของเพลง ผู้สาวขาเลาะ กลายเป็นประเด็นทันทีที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ถึงความไม่เหมาะสมของท่าเต้น

ใครที่เคยดูคอนเสิร์ตคุณลำไย หรือดูคลิปในอินเตอร์เน็ตคงตื่นตาตื่นใจไปกับการแสดงบนเวที ที่ทั้งนักร้องและแดนเซอร์ต่างพากันเต้นกระจาย

หากวงการเพลงไทยสากลมีวงบอดี้สแลม หรือยุคหนึ่งมีซิลลีฟูลส์ที่สร้างสีสัน สะกดผู้ชมด้วยการเล่นสดสุดมันบนเวที วงการเพลงลูกทุ่งหมอลำตอนนี้ก็น่าจะมี คุณลำไย ไหทองคำ นี่เองเป็นหัวขบวน

อย่างไรก็ตาม ด้วยท่าเต้นที่อาศัยความเซ็กซี่เป็นจุดขาย ชุดแต่งกายที่วาบหวิว ก็ทำให้การแสดงของคุณลำไยถูกนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๐ ใจความตอนหนึ่งว่า “อย่างกรณีคลิปวีดีโอ บางอันคลิปดีๆ กลับมีคลิปไม่เหมาะสมต่อท้าย อย่างคลิปของลำไย ไหทองคำ รู้จักลำไย ไหทองคำ กันหรือไม่ อัตลักษณ์การสร้างเนื้อสร้างตัว ขอบคุณผู้หญิงแก่ๆ คนหนึ่ง ขอบคุณครูที่สอนวิธีการเต้นจนหนูมีชื่อเสียง เต้นแบบนี้หรือ เกือบจะโชว์ของสงวน พูดไปก็ไม่ดี เดี๋ยวหาว่าผมบ้า แต่อยากให้ช่วยกันแก้ไขปัญหา”

หลังจากนั้นนายกฯ ยังให้สัมภาษณ์เรื่องเดียวกัน โดยระบุว่าสังคมต้องช่วยกันตักเตือน สื่อมวลชนก็ต้องช่วยเตือน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะคนดูชอบดู

การให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ทำให้ผู้คนในสังคมพากันพูดถึงคุณลำไย ไหทองคำ อย่างกว้างขวาง ใครที่ไม่เคยรู้จักก็ค้นอินเตอร์เน็ตว่านักร้องคนนี้คือใคร จนทำให้ยอดไลค์เพลงผู้สาวขาเลาะของเธอในยูทูบ ที่เคยสูงอยู่แล้วสูงขึ้นไปอีก

ครั้งแรกที่ได้ยินคนกล่าวถึงเรื่องนี้ ผู้เขียนคิดว่านายกรัฐมนตรี คงเข้าไปยุ่มย่ามให้โอวาทกับผู้อาวุโสน้อยกว่าเหมือนที่เคยทำ แต่เมื่อเห็นข่าวรัฐบาลอนุมัติงบซื้อรถหุ้มเกราะจากจีนตามมาติดๆ กัน เหตุการณ์เมื่อครั้งทำรายงานและจัดเสวนาหัวข้อ “สร้างข่าวกลบ ลบกระแส นักข่าวรู้ไม่เท่าทันหรือเต็มใจให้หลอก?” ร่วมกับเพื่อนนักข่าวก็ผุดขึ้นมาทันที

ประเด็นสำคัญของงานเสวนานี้ คือแต่ละวัน นอกจากข่าวสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ยังมีกลุ่มอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เข้ามามีบทบาทในการสร้างข่าว ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อต้องกลบข่าวด้านลบหรือข่าวที่ตนไม่ต้องการ หรือเพื่อพลิกสถานการณ์จากฝ่ายรับมาเป็นฝ่ายรุก

ในอดีต เคยมีกรณี “คู่ข่าว” ที่ถูกจับสังเกตว่าเป็นการเจตนาสร้างข่าวกลบ ลบกระแส เช่น ข่าวประชาชนติดเชื้อไข้หวัดนก ถูกกลบโดยข่าวประกาศปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และข่าวนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี บุคคลมีชื่อเสียงกินไก่โชว์ที่ท้องสนามหลวง, ข่าวรัฐบาลแก้ปัญหาน้ำท่วมล่าช้าถูกกลบโดยข่าวรองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เป็นห่วงการใช้ภาษาไทยคำว่า “ชิมิ”, ข่าวความสูญเสียจากการชุมนุมทางการเมือง ถูกกลบโดยข่าวปลาหมึกพอลทำนายแชมป์ฟุตบอลโลก หรือแม้แต่ในต่างประเทศ ข่าวความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนักศึกษาฝึกงานทำเนียบขาวถูกกลบโดยการให้ข่าวว่ากองทัพจะเปิดฉากทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ข่าวความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐฯ ในสงครามอัฟกานิสถาน ถูกกลบโดยการให้ข่าวว่าใต้ดินอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยสินแร่

ทุกวันนี้แนวคิด หรือทฤษฎีเรื่อง นายประตูข่าวสาร (gatekeeper) หรือ การจัดวาระข่าวสาร (agenda setting) ของนักข่าวหรือสื่อมวลชนอาจเปลี่ยนไป นักข่าวไม่ใช่ผู้กุมอำนาจในการเผยแพร่ข่าวหรือกำหนดทิศทางว่าสังคมว่าควรสนใจประเด็นใดแบบเบ็ดเสร็จ โลกโซเชียลมีเดียทำให้ทุกคนกลายเป็นสื่อหรือผู้นำเสนอข่าวได้ แต่ทฤษฎีหรือแนวคิดเรื่องการ “สร้างข่าวกลบ ลบกระแส” นั้นแทบไม่เปลี่ยนไปเลย

จริงหรือไม่ว่าการอนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น ๑ (VN1) จำนวน ๓๔ คัน จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยงบประมาณสูงถึง ๒,๓๐๐ ล้านบาท  โดยให้กองทัพบกเดินทางไปเซ็นสัญญาจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ควรถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์มากกว่านี้ เช่นเดียวกับที่ประชาชนเคยวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเรือดำน้ำ หรือโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงอย่างเผ็ดร้อน

หากไม่มีกรณี ลำไย ไหทองคำ ที่กลายเป็นทอร์คออฟเดอะทาวน์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน การอนุมัติซื้อรถเกราะจากจีนน่าจะเป็นอีกครั้งที่การทำงานของรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

อะไรทำให้วิธีการเก่าๆ ของรัฐบาลประสบความสำเร็จ ? น่าจะเป็นสิ่งที่คนในสังคมให้ความสำคัญ

เพราะกระบวนการสร้างข่าวกลบลบกระแสแบบนี้คงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเวลาไม่นาน ไม่ใช่กรณี คุณลำไย ไหทองคำ เป็นกรณีสุดท้าย

หมายเหตุ : เก็บตกจากรายงาน และวงเสวนา “สร้างข่าวกลบ ลบกระแส นักข่าวรู้ไม่เท่าทันหรือเต็มใจให้หลอก?” การอบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔