ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ศรัณย์ ทองปาน

sadet-tia4

ถ้าหนุ่มๆ สาวๆ จะนิยมไปบนบานแม่นากพระโขนงเรื่องไม่ให้ “ติดทหาร” ในทางกลับกัน เขาก็ว่ากันว่า อย่าได้ไปขอเรื่องนั้นกับ “เสด็จเตี่ย” เป็นอันขาด!

ดวงพระวิญญาณของ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั้น มีผู้นับถือกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์นัก ชนิดที่เรียกว่าบนบานขอได้หมด ยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่องไม่ให้ “ติดทหาร” เพราะเมื่อยังมีพระชนม์ชีพ กรมหลวงชุมพรฯ ท่านทรงเป็นทหารเรือและทรงรักทหารเรือของท่านเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการไปบนบานเรื่องนี้กับท่านจึงเป็นการ “ผิดฝาผิดตัว” คือว่ากันว่า “ติด” สมใจทุกรายไป เพราะท่าน “ชอบ” ให้ใครๆ ไปเป็นทหารกัน

สำหรับกองทัพเรือ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พ.ศ. 2423-2466) พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ทรงมีฐานะเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” แต่สำหรับชาวบ้าน “เสด็จเตี่ย” ทรงมีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

มีหลักฐานว่าตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพ มักทรงปวารณาพระองค์เองเป็น “พ่อ” หรือเป็น “เตี่ย” ของทหารเรือและชาวบ้านทั้งหลาย ในความรับรู้ของคนทั่วไป พระองค์จึงทรงเป็นเจ้านายที่ “เข้าถึง” ได้ ที่สำคัญ ยิ่ง “เสด็จเตี่ย” ทรงมีประวัติว่าสนพระทัยในเรื่องไสยศาสตร์เป็นพิเศษ ชนิดที่ผู้ที่ทันได้พบเห็นระบุว่าทรงสักเลขยันตร์ต่างๆ เต็มทั้งตัว และทรงเคยร่ำเรียนวิชาอาคมกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นอีกหลายรูป อาทิ “หลวงปู่ศุข” พระครูวิมลคุณากร แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ดังนั้น ตั้งแต่สิ้นพระชนม์ไปได้ไม่นาน กรมหลวงชุมพรฯ ก็เริ่มกลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” และใครๆ ที่นับถือก็อาจประกาศตัวเป็น “ลูกเสด็จเตี่ย” ได้ทั้งนั้น อย่างที่เคยเห็นตัดเป็นสติกเกอร์แปะอยู่ตามหน้ากระจกรถยนต์

และเมื่อเป็น “เจ้า” ก็ต้องมี “ศาล” ดังนั้นจึงมีผู้ตั้งศาลเสด็จเตี่ยขึ้นเซ่นไหว้ และมีมากขึ้นเรื่อยๆ

sadet-tia1

sadet-tia3

sadet-tia2

ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ นายทหารเรือผู้ใฝ่ใจในการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ เคยค้นคว้ารวบรวมเอาไว้ในหนังสือ “ภาพชุดศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” (2544) ท่านพบว่ามีการตั้งศาล พระรูป และพระอนุสาวรีย์กว่า 500 แห่งทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทั้งในหน่วยราชการ วัด โรงเรียน หมู่บ้านจัดสรร โรงพยาบาล ธนาคาร ฯลฯ และเชื่อแน่ว่าจนถึงวันนี้ก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

ตามจังหวัดชายทะเลหลายแห่งนิยมประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ของกรมหลวงชุมพรตามซึ่งก็มักจะมีการตั้งศาลเคียงคู่กันไว้ด้วย หรือถึงแม้ไม่มีตัวศาล แต่พระรูปนั้นเองก็จะกลายเป็นที่นับถือกันในฐานะ “รูปเคารพ”

ในศาลหรือตามรอบๆ พระอนุสาวรีย์ เราจึงพบเห็นของต่างๆ ที่นำมาถวายเป็นเครื่องสักการะ ซึ่งก็คงคัดสรรของที่เชื่อกันว่าจะเป็นที่โปรดปรานของดวงพระวิญญาณ โดยเฉพาะของที่เกี่ยวเนื่องกับทหารเรือ เช่นอาวุธที่ปลดประจำการแล้วสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปืนประจำเรือ เครื่องยิงทุ่นระเบิด หรือตอร์ปิโด

อีกอย่างที่นิยมนำมาถวายคือเรือรบจำลอง ซึ่งเข้าใจว่าทหารประจำการในเรือรบราชนาวีลำนั้นๆ เป็นผู้นำมาถวายไว้แทนตัว เช่นเดียวกับห่วงชูชีพจากเรือต่างๆ ที่มีนามของเรือลำนั้นๆ อยู่


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี