วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกริ่น

critic01

เสาร์ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๐
เป็นการพบกลุ่มครั้งที่ ๓ แต่ถือเป็นก้าวที่ ๔ ของการเรียนในค่ายสารคดี

ก้าวแรกฟังบรรยายในห้องเรียน ว่าด้วยเรื่องพื้นฐานงานสารคดี ก้าวที่สอง-ครูพาลงพื้นที่ด้วยกัน ก้าวที่สาม-แต่ละคนกลับสู่โลกส่วนตัว สร้างสรรค์งานของตัวเอง ส่งให้ครูอ่าน

สู่ก้าวที่ ๔ ฟังคำวิจารณ์จากผลงานที่ครูได้อ่าน

วิจารณ์กันในห้องรวม ให้เห็นทั้งด้านดีและด้านที่ไม่ควรทำ ถือเป็นบทเรียนเป็นวิทยาทานให้แก่กันและกัน ในห้วงคืนวันของการฝึกฝนตนเอง

เจ้าของผลงานต้องไม่ตกใจหรืออับอาย หากควรดีใจที่อย่างน้อยที่สุด งานเขียนชิ้นแรกของนักเขียนใหม่ก็มีคนคนอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจแล้วอย่างน้อย ๑ คน

เกณฑ์

critic02

งานเขียน ๒๕ ชิ้น ครู ๓ คน จะแบ่งกันอ่าน อาจเขียนความเห็น หรือทำเครื่องหมายขีดฆ่า ย่อหน้า วรรคตอน เติมคำ ตั้งคำถาม ฯลฯ ไว้ตามที่มีข้อสังเกต ให้เจ้าของพิจารณา

ที่เป็นความเห็น เจ้าของอาจปรับแก้หรือยืนยันร่างเดิมก็ได้

ยกเว้นในเรื่องที่เป็นกฎเกณฑ์ของงานสารคดี อาทิ การต้องยึดกุมต่อข้อเท็จ การไม่แต่งเติมบทสนทนา การเล่าเรื่องจริงให้คนอ่านเชื่อว่าเป็นจริง เป็นต้น หากผิดพลาดต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นผลงานชิ้นนั้นก็หลุดจากความเป็นสารคดี

นอกนั้นก็เป็นการวิจารณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในรายละเอียดตามสูตรโครงสร้าง “เสาหลัก ๔ ต้น” ของงานเขียนสารคดี ชื่อเรื่อง เปิดเรื่อง ตัวเรื่อง ปิดเรื่อง

การย่อยข้อมูลเป็นเรื่องเล่า การใช้อ้างตรง (direct quote) – อ้างอ้อม (indirect quote)
การสร้างจุดเด่นของเรื่องด้วยวรรคทอง
ฯลฯ

หลายชอ้นทำได้ดีแบบคน “รู้ทัน” และเข้าใจงานเขียนสารคดี

ภาวิณี คงฤทธิ์ ฉายภาพตลาดหัวตะเข้ตามความรู้สึกจากที่เธอได้เห็น ว่า : มันก็น่าแปลกที่ชุมโบราณริมน้ำกับศิลปะสมัยใหม่อย่างกราฟฟิกตี้ สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว เป็นการไฮบริดที่ฉันว่าน่าสนใจมากกว่าเบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมูที่ฉันเห็นในร้านสะดวกซื้อเสียอีก

อังคณา แก้ววรสูตร แสดงสำบัดสำนวนการเปรียบเปรยแบบคมคาย เมื่อเล่าถึงจุดที่เหนื่อยล้าของตัวละคร (แหล่งข้อมูล) ในเรื่อง : ว่ากันว่า เวลาเยียวยาทุกสิ่ง แต่ชุมชนริมน้ำที่เคลื่อนช้าๆ อย่างไม่อนาทรร้อนใจกับกาลเวลา ช่วยเยียวยาได้ดีกว่า

และบางทีจุดแข็งหรือจุดเด่นของเรื่องก็อยู่ในคำเล่าของแหล่งข้อมูลนั่นเอง ซึ่งผู้เขียนฟังแล้วต้องคว้าไว้ให้ได้ ไม่หลุดลอย ดังที่ อธิวัฒน์ อุตัน ถ่ายทอดถ้อยคำธรรมดาๆ ของลุงเจ้าของร้านกรอบรูปผู้ใจดีกับเด็กศิลป์ว่า : “วันหนึ่งเด็กมันก็ไปพูดปากต่อปาก ไวยิ่งกว่าสื่อเสียอีก”

เฉลิมชัย กุลประวีณ์ โยงเรื่องเสาเข็มบ้านเรือนริมน้ำ เข้ากับความมั่นคงของชุมชนโดยนัยแบบล้ำลึกว่า : ต่อให้ตลาดหัวตะเข้ผ่านวิกฤติอะไรมามากมาย ทั้งภายนอกหรือภายใน ตลาดแห่งนี้ยังยืนหยัดอยู่ในพื้นที่แห่งนั้นด้วยรากฐานที่แข็งแรง รากฐานจากเสาปูนจำนวนมากที่คอยประคับประคองเรือนไม้

critic03

กฎ

๔ ข้อ เบื้องต้นที่มือใหม่ควรระวัง

๑.หลีกเลี่ยงการ “ฟันธง” โดยผู้เขียน การเชิดชูชื่นชมแหล่งข้อ หรือชุมชน แบบที่ผู้เขียนรู้สึก “อิน” ไปด้วย แทนการทำเช่นนั้น จง “สำแดงแจ้งประจักษ์” ให้คนอ่านเห็นเองจากตัวเรื่องนั่นแล
๒.การเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เลี่ยงการใช้คำเชื่อมจำพวก และ ที่ ซึ่ง อัน ดังนั้น โดยที่ เพราะ ฯลฯ จนขึ้นย่อหน้าใหม่ไม่ได้
๓.ใส่ใจเรื่อง ย่อหน้า วรรคตอน งานเขียนวรรณศิลป์ควรย่อหน้าบ่อยๆ ตามการดำเนินไปของเรื่อง หรือเมื่อเป็นประเด็ใหม่ และเว้นวรรคเล็ก (๑ เคาะ) เมื่อจบประโยค วรรคใหญ่ (๒ เคาะ) เมื่อจบความ บางทีการจัดย่อหน้า-วรรคตอนใหม่อย่างเหมาะสม จะทำให้งานเขียนชิ้นนั้นดีขึ้นทันที โดยยังไม่ต้องแก้ไขถ้อยคำใดๆ
๔.ใช้สรรพด้วย อย่าเพียงแต่กล่าวชื่อใครซ้ำๆ ลองใช้ เขา เธอ หล่อน นาง หญิงคนนั้น หญิงสาวผู้เป็น…

ก่อ

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงงานแรกโดยที่ครูยังไม่ได้สอนลงรายละเอียดเรื่องเทคนิควิธีการเขียนมาก่อนเลย เป็นงานเขียนจากการฟังอบรมเพียงวันเดียว และครูบอกให้ทำแบบสบายๆ
แต่ครูมาวิจารณ์จริงจัง เพื่อหวังผลการเจริญเติบโต แบบไม่ต้องเสียเวลาคลำทางลองผิดลองถูกกับสิ่งที่ตายตัวแน่นอนอยู่แล้ว

ย้ำคำเดิมว่านักเขียนใหม่อย่าได้อับอายหรือตกใจ

การเรียนรู้ตลอดสายด้วยการลงมือทำซ้ำๆ จะช่วยให้คนด้อยพรสวรรค์แต่หนักแน่นพรแสวง-เติบโตได้เร็วและอย่างงดงาม

ขอให้โชคดีในการเดินทางต่อ…บนเส้นทางสายนี้