วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

photocamp13 01

ลงพื้นที่ครั้งที่ ๒ ของค่ายสารคดี ครั้งที่ ๑๓ เมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เริ่มเขาใกล้การลงพื้นที่จริงของมืออาชีพยิ่งขึ้น

แม้ไม่ยาวนานเป็นสัปดาห์หรือกว่าสัปดาห์อย่างการทำงานจริงของพวกพี่ๆ นักสารคดี แต่ก็มีการค้างแรมในพื้นที่

และครูเพียงแต่เตรียมพื้นที่และแหล่งข้อมูลเอาไว้ให้ ส่วนการคุ้ย เจาะ เก็บข้อมูล เป็นเรื่องที่นักสารคดีมือใหม่ต้องลุยเอง เผชิญความไม่แน่นอนเรื่องการนัดหมาย ลูกเล่นลูกไม้ และอุปสรรคปัญหาอื่นๆ ของแหล่งข้อมูลและพื้นกันเอาเอง

 

photocamp13 04 photocamp13 03

โจทย์สำหรับการลงพื้นที่อภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ครั้งนี้คือ สารคดีภาพ

ในค่ายครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมายังไม่เคยสอนเรื่องนี้ ค่ายสารคดี ครั้งที่ ๑๓ เป็นรุ่นแรกที่ได้เรียนวิชานี้ด้วย

หลักการทำงานก็เช่นเดียวกับสารคดี คือมีภาพ และเรื่อง (text)

แต่มีข้อต่างที่ชัดเจนคือ สารคดีภาพ หรือ foto essay เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ คือมีภาพเป็นตัวนำ หัวใจสำคัญข้อแรกของสารคดีภาพ รูปจะต้องเด่น และเล่าเรื่อง

ส่วนเรื่องก็มีโครงสร้างเช่นเดียวกับงานสารคดีที่ต้องมี ชื่อเรื่อง เปิดเรื่อง ตัวเรื่อง และปิดเรื่อง

แต่เป็นตัวเรื่องที่สั้นกระชับ เข้มข้น ครบความ อย่างการวิ่งระยะสั้น หคือคั้นเอาแต่หัวกะทิเท่านั้น ไม่ต้องบรรยายขยายรายละเอียดยืดยาว เพราะแก่นหรือเป้าหมายของสารคดีภาพ คือการเล่าเรื่องด้วยภาพ

photocamp13 07photocamp13 08

ชิ้นหนึ่งเป็นผลงานจากพื้นที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร ซึ่งตอนนี้มีระบบการแพทย์แผนไทยอยู่ในลำต้นของประเทศ จากการริเริ่มบุกเบิกของ ภญ.ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร

นักสารคดีมือใหม่ได้ภาพที่น่าตื่นตา เป็นภาพการ “เผายา” จุดไฟเผาตัวอย่างบนหน้าท้องคน ปรับสมดุลเพิ่มธาตุไฟให้ร่างกาย

photocamp13 02

อีกชิ้นเป็นเรื่อง “บ้านเล่าเรื่อง” เปิดเปิดได้สั้นกระชับ ครบเครื่องครบความ ได้ยินเสียง เห็นฉากสถานที่ เห็นตัวละคร เชื่อมเข้าสู่ตัวเรื่องอย่างฉับไวภายใน ๒ ย่อหน้า

รายละเอียดดี มีจุดขัดแย้ง มีอ้างตรงอ้างอ้อม ครบความตามสูตรพื้นฐานงานสารคดี

photocamp13 06

photocamp13 05

และอีกชิ้นชื่อเรื่องสุดเร้าใจว่า “ตู้ยาในกระถาง” เล่าเรื่องบ้านดงบัง หมู่บ้านปลูกยาสมุนไพรส่งให้โรงงานผลิตยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์กลางดงการค้าต้นไม้ที่เข้มข้นด้วยการใช้สารเคมี

เปิดเรื่องด้วยการบรรยายผ่านสายตาผู้เขียน และบอกพิกัดพื้นที่อย่างเก๋ไก๋-ด้วยป้ายข้อมูล แทนการเขียนแบบทางการ

ดังที่คัดมาในย่อหน้าถัดจากนี้

สายตาเคลื่อนผ่าน กระจกหน้าต่างให้อิสรภาพรายทางได้แสดงตัว จากท้องทุ่งเขียวผ่านหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับ เลี้ยวลัดลงทางดิน สัมผัสบรรยากาศที่เปลี่ยนไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลง ป้ายสีฟ้าสะดุดตาบอกพิกัดสถานที่ชื่อสะดุดใจ 34 หมู่ 6 บ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรีที่นี่คือ “กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง”

เล่าประวัติ ๘๐ ปี ของชุมชนได้แบบรวบรัด แต่ชัดเจน เข้าใจ มองเห็นภาพ

ตอนถัดๆ ไป เห็นแนวคิด ตัวยาสมุนไพร ภูมิปัญญา วิถีพอเพียง พอใจในชีวิต ความอบอุ่นในชุมชนและครอบครัว ทั้งผ่านคำแหล่งข้อมูล และการคลุกคลีสัมผัสพื้นที่ของผู้เขียน

และปิดเรื่องได้อย่างสะทกสะเทือนใจ

สมัยกล่าวอีกว่า ยุคสมัยปัจจุบันคนรุ่นใหม่ละทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่กับบ้านพักคนชราเสียมากจนบ้านพักคนชราไม่สามารถรองรับปริมาณผู้สูงอายุได้ ราวกับเหล่าหนุ่มสาวละทิ้งทั้งถิ่นกำเนิดและผู้ให้กำเนิด

“อย่าทิ้งถิ่นเกิดตัวเอง จงกลับบ้านไปหาพ่อแม่”

แววตาชายชราสั่นไหวชั่วขณะ และเพียงพอที่ทำให้หัวใจเราสั่นไหวเช่นกัน

เป็นแบบอย่างงาน “สารคดีภาพ” ที่ดีได้อย่างเต็มภาคภูมิ


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา