วิชาสารคดี ๑๐๑
ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

hierachy01

ค่ายสารคดียุค 4.0 คนลาเรียนยังฟังคอมเมนต์จากครูได้ผ่านออนไลน์

ผ่านเข้าสู่กลางเดือนที่ ๒ ถือเป็นช่วงกลาง ของค่ายสารคดี #๑๓ เป็นช่วงที่นักเขียนกับคู่ช่างภาพได้ส่งงานชิ้นที่ ๒ ให้ครูอ่านและให้คำแนะนำติชมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาฝีมือ

เป็นที่น่ายินดีว่าในงานชิ้นที่ ๒ นี้ บางชิ้นรู้จักใช้ “สรรพนาม” อย่างหลากหลายขึ้น แทนก็เอ่ยอ้างชื่อซ้ำๆ

หลายชิ้นเขียนเล่าได้ดี มี “วรรคทอง” เป็นจุดเด่น คอยปลุกคนอ่านไม่ให้แบบผ่านๆ แล้วไม่ประทับใจ

และกล่าวได้ว่างานทุกชิ้นมีการย่อหน้าเป็นแล้ว

“ย่อหน้า และวรรคตอน” เรื่องพื้นฐานของงานเขียนที่เป็นปัญหาใหญ่มากเรื่องหนึ่งของนักเขียนใหม่ แม้พวกเขาจะเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษากันแล้ว

งานชิ้นแรกในค่าย เกินร้อยละ ๘๐ พูดได้ว่ายังเว้นวรรคและย่อหน้าแบบงานวรรณศิลป์ไม่เป็น ซ้ำร้ายบางคนทั้งเรื่องอาจมีเพียง ๓ ย่อหน้า ตามโครงสร้างเรียงความ

ในงานชิ้นที่ ๒ ทุกคนเริ่ม “รู้ทัน” และทำเป็น

แต่ด้วยมุมมอง ประสบการณ์การอ่าน และการเขียนทำมาก่อน ครูก็อาจยังมีจุดชี้แนะให้พิจารณา ลองย่อหน้า วรรคเล็ก วรรคใหญ่ ชิดประโยค ตัดบางคำ หรือลองสลับประโยค โดยที่ยังไม่ต้องแก้ถ้อยคำ ฯลฯ ลองดูไหม?

ไม่ใช่ว่าที่ทำมานั้นผิด แต่เป็นการเปิดประตูให้เห็นทางเลือกในการปรับแก้

hierachy02

วิทยากรบันดาลใจวันนี้ วันชัย ตัน อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดีผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสารคดีกว่า 30 ปี

ผ่านพ้นเรื่องพื้นฐานไปแล้ว ขั้นต่อไปของบันไดพัฒนาการเขียน คือรู้ทันเกณฑ์การประเมินค่า ซึ่งได้แก่ ประเด็น ข้อมูล การเขียน
สารคดีเรื่องหนึ่งจะเป็นที่นิยม ชื่นชม ติดอกติดใจนักอ่านได้หรือไม่ ก็ไม่พ้นไปจากปัจจัยเหล่านี้

  • ประเด็น คือหัวเรื่องที่เรานำมาเล่า : แปลก ใหม่ ลึกลับ คนอยากรู้ อยู่ในกระแส อยู่ในใจคน มีคุณค่า ฯลฯ
  • ข้อมูล เก็บให้ลึก กว้าง มาก จนรู้สึกอิ่ม-พอ
  • การเขียน อาจถือเป็นตัวชี้วัดข้อสำคัญที่สุดของการเล่าเรื่องด้วยภาษาเขียน เป็นพลังที่สำคัญ เป็นตัวชี้ขาดสุดท้ายของงานแต่ละชิ้น

มีคำกล่าวว่า “ประเด็นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” บอกความสำคัญของปัจจัยชี้วัดตัวแรก ผู้เขียนมีฝีมือไม่มาก เก็บข้อมูลมาไม่ลึก แต่ถ้ามองเห็นและรู้จักเลือกหยิบหัวข้อประเด็นมาเล่าได้ตรงใจ ก็อาจคว้าชัยครองใจคนอ่านได้ง่าย

ในอีกทางหนึ่ง หากเราจงใจหรือต้องเขียนเรื่องที่ดูแสนจะทำธรรมดา ก็อาจถือเป็นมวยรองในแง่ประเด็น แต่ก็ยังมีสิทธิ์พลิกกลับมาทำคะแนนขึ้นนำได้ หากเราทำงานให้หนักในการเก็บข้อมูล และสร้างสรรค์การเล่าเรื่องได้บรรเจิด

หรือหากแม้กระทั่งประเด็นก็ไม่โดดเด่น ข้อมูลก็เก็บได้ไม่เต็มที่ ก็ยกมีขั้นตอนท้ายสุดคือความพยายามในการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาษาเขียนให้วิจิตร ซึ่งในเงื่อนไขสถานการณ์เช่นนี้อาจอยู่ในข่ายวิกฤตที่นักเขียนต้องเหนื่อยหนัก แต่ถ้าทุ่มเทมากพอก็จะกลายเป็นโอกาสให้เกิดชิ้นงานจากความทุ่มเท ที่จะแซงโค้งสู่ใจคนอ่านได้อย่างไม่เกินความหมายมามากนักต่อนักแล้ว

hierachy03

ตัวอย่างประเด็นงานเขียนชิ้นที่ ๒ ของค่ายสารคดี ๑๓
๑.ปัญหาแรงงานเพื่อนบ้านพม่าขณะนี้
๒.ครูฝรั่งโรงเรียนนานาชาติ
๓.คนไร้บ้าน-จิตเวช
๔.คนชงชาญี่ปุ่น
๕.ตามรอยหมู่บ้านขุนส่า
๖.ชีวิตยาม
๗.คอสเพลย์ Re-enactor ทหารสงครามโลก
๘.คนขายอาหารเหนือรผ่านออนไลน์
๙.Ploe Dance เต้นกับเสา

เห็นหัวเรื่องแล้วคนอ่านคงตัดสินเองได้ อยากหยิบชิ้นไหน
เห็นหัวเรื่องแล้วอยากหยิบนี้…

นั่นล่ะ–ประเด็นดีมีชัยไปครึ่ง (แรก)

และการที่จะคุมทั้ง ๓ ตอนให้ได้แบบ “อยู่มือ” การรู้จักและเข้าใจประเภทของงานสารคดีก็มีส่วนด้วย

เป็นความบังเอิญที่ไม่ได้ตกลงหรือมีข้อกะเกณฑ์ใดๆ แต่ประเด็นในกลุ่มตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดจัดอยู่ในประเภทสารคดีชีวิตทั้งหมด อาจเป็นเรื่องของคนคนเดียว ผู้คน ชุมชน สังคม แต่สาระของเรื่องเจาะจงที่การเล่าชีวิตคน นี้คือสารคดีชีวิต

hierachy04

การเข้าใจกลุ่มประเภท และกำหนดประเด็น ส่งผลไปถึงการเก็บข้อมูล

บางประเด็นเราอาจทำได้แค่การสังเกตณ์การห่างๆ ในฐานะคนดู ข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นแบบหนึ่ง

บ้างสามารถเข้าร่วมคลุกคลี ใกล้ชิด มีส่วนร่วม

รวมทั้งการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็จะมีมิติของการสัมผัสจริงที่ลึกกว่า ในแง่ของการเข้าถึงและรู้สึก

ซึ่งผลจากวิธีและการเก็บข้อมูล ก็จะส่งลูกต่อเนื่องถึงตอนที่ถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียน

บางหัวข้อเรื่อง ถ้าตั้งประเด็นหรือเก็บข้อมูลมาไม่ดี ก็ง่ายที่จะถูกมองว่าเป็นแค่เอกสารประชาสัมพันธ์ของแหล่งข้อมูลก็เป็นได้

hierachy05
ตัวอย่างการแปรผลจากการเก็บข้อมูลสู่ผลงานเขียน

แต่แล้วความมั่นใจตลอด 20 ปีของฉันก็พังลง ฉันทำไม่ได้แม้แต่จะหมุนตัวเองไปกับเสาในคลาสแรก ฉันจินตนาการภาพตัวเองเป็นนักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ที่โล้ตัวบนเสาอย่างสวยงาม แต่ภาพที่ออกมาช่างแตกต่าง เหมือนสิงโตทะเลที่เอาตัวเองหนีบกับคันเบ็ด แต่นั้นก็เป็นก้าวแรกที่ทำให้ฉันรู้ว่า โพลแดนซ์มันไม่ง่ายเลย

(ณัฐมน สะเภาคำ)

:> ทำได้โดดเด่นเนื่องจากการเก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วมด้วยการ “เข้าไปเป็น”

“เราก็พาพวกเขาดำดิ่งสู่เนื้อหาที่ลุ่มลึกขึ้น ใครจะรู้ว่าสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเสื้อผ้า เหรียญตรา หมวก จะเป็นแสงไฟนำทางพวกเขาไปสู่โลกที่กว้างใหญ่ขึ้น และมองเห็นถึงความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่าง ๆ”

(ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร)

:> เด่นจากการรู้จักเก็บโคว๊ซเด็ด ที่คมคายและเป็นใจความสำคัญของแหล่งข้อมูลเอาไว้ได้

“ตอนผมติดทหาร แม่ผมร้องให้ เพราะไม่มีคนทำนา” อดีตทหารบกเหล่าปืนใหญ่ เล่าถึงช่วงอดีตและความภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้ชายที่ได้รับใช้ชาติและทางบ้านขาดเสาหลัก ลูกชายคนโตอย่างเขา จำต้องยอมทิ้งเกียรติภูมิไว้ในความทรงจำ ผันหน้ากลับเข้าสู่ผืนนา แต่ปัญหาฝนแล้งทำให้ต้องคิดหนัก

(วันวิสาข์ พิมโสดา)

:> รู้จักใช้สรรพนาม เลี่ยงการต้องอ้างชื่อแหล่งข้อมูลซ้ำๆ และเห้นถึงความพยายามในการสรรคำมาถ่ายทอดมุมมองคนเขียนได้อย่างถึงอารมณ์และได้อรรถรส