ผีสางเทวดา  เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


nailhim01

วัดเพลง (กลางสวน) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เคยเป็นวัดร้างมาร่วมๆ ร้อยปี ก่อนจะกลับมายกฐานะขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาอีกครั้งช่วงทศวรรษ 2520 ที่นี่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิองค์หนึ่งเรียกกันว่า “หลวงพ่อตาแดง” ชาวบ้านในละแวกนั้นนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ มักมาแก้บนด้วยจุดประทัดหรือไข่ต้ม

ที่มาของ “หลวงพ่อตาแดง” มีตำนานว่าสมัยที่ยังมีหวย ก. ข. มีชาวบ้านมาขอโชคขอลาภจากพระประธานในวิหารวัดเพลงกันมาก และสมหวังอยู่เนืองๆ จนขุนบาลฯ ผู้เป็นเจ้ามือออกหวยส่งคนมาตอกตะปูที่ดวงตาของพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นเหมือนการลงอาคมสะกดให้หลวงพ่อไม่อาจมองเห็นตัวหวยที่จะออกได้อีก ภายหลังเกิดมีน้ำสีแดงไหลออกมาตามรอยตะปูเลยเป็นที่มาของนาม “หลวงพ่อตาแดง”

ถึงตรงนี้คงต้องขยายความเรื่อง หวย ก.ข. เพิ่มเติมสักเล็กน้อย คือสมัยก่อน “หวย” ไม่ได้ออกเป็นตัวเลข แต่เจ้ามือหวยซึ่งประมูลสัมปทานได้ (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขุนบาลฯ”) จะเป็นผู้เลือก “ตัวหวย” ที่จะออกในแต่ละวันขึ้นมาด้วยตัวเอง (ใช่แล้ว! สมัยก่อนหวยไม่ได้ออกแค่เดือนละสองครั้ง แต่ออกทุกวัน วันละสองรอบ!!)

ตัวหวยนี้ เดิมเป็นรูปภาพบุคคลที่มีชื่อเป็นภาษาจีน แต่คนไทยมาคิดตั้งชื่อให้ใหม่หมดตามชื่อตัวอักษรไทย เพื่อให้เรียกได้สะดวกปาก มีทั้งหมด 36 ตัว เช่น ก. สามหวย ข. ง่วยโป๊ ฯลฯ จึงเรียกกันว่า หวย ก.ข.

หวย ก.ข. เป็นการพนันที่ถูกต้องตามกฎหมาย เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนมายกเลิกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ในปี 2459 เนื่องจากในหลวงทรงเห็นว่าหวยเดือนละ 60 งวดนี้เป็นการพนันที่มอมเมาประชาชนอย่างยิ่ง มาสมัยหลัง รัฐบาลจึงเปลี่ยนให้มีการออกลอตเตอรีตามแบบฝรั่งขึ้น คือเป็นชุดตัวเลข ไม่ใช่ตัวอักษรอย่างเก่า ผูกศัพท์ใหม่ขึ้นมาเรียกว่า “สลากกินแบ่ง” คำว่า “หวย” ของเดิมจึงถูกเลื่อนไปใช้เรียกการพนันที่อ้างอิงผลการออกสลากกินแบ่ง คือเป็น “หวยเถื่อน” ตรงกันข้ามกับสลากกินแบ่งของ “รัฐบาล”

nailhim02 nailhim03

ย้อนกลับมาที่เรื่องการตอกตะปูที่ว่าอีกครั้ง เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ข่าวลือ เพราะมีหลักฐานปากคำจากฝ่ายขุนบาลฯ เองด้วย ท่านกาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา สง่า กาญจนาคพันธุ์ 2440 – 2523) เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้” ว่าสมัยหนุ่มๆ ตัวท่านเองเคยได้ยิน “ยี่กอฮง” อดีตเจ้ามือหวยคนสำคัญของกรุงเทพฯ และ “ขุนบาลฯ” คนสุดท้าย เล่าให้ฟังว่า

“พระพุทธรูปวัดร้าง…บางรายให้หวยคนถูกบ่อยก็มี คือถูกแล้วลือกันคนก็ไปขัดมาก…ท่านรู้ ท่านก็เล่าว่าต้องไปเซ่นแล้วเอาเหล็กตะปูไปตอกที่ขาหรือใต้บั้นเอว เป็นเคล็ดว่าขออย่าบอกหวยให้ใครเลย…”

ไม่เฉพาะแต่ที่วัดเพลง (กลางสวน) แม้วัดอื่นๆ ละแวกใกล้เคียง เช่นวัดไก่เตี้ย ริมคลองชักพระ (คลองบางกอกน้อย) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ก็มีพระพุทธรูปปางสมาธิ “หลวงพ่อโต” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าถูกขุนบาลฯ ให้คนมาควักตา พร้อมกับเอาเหล็กมาตอกไว้กลางหลังและซอกคอ ด้วยสาเหตุเดียวกัน

หากแต่ “ยี่กอฮง” เอง ก็คงคาดไม่ถึงว่าหลังจากที่ท่านล่วงลับไปแล้ว คฤหาสน์เดิมของท่านจะกลายเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจพลับพลาไชย แล้วมีผู้ไปตั้ง “ศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮง” ไว้บนดาดฟ้า จนเป็นที่นับถือเซ่นไหว้กัน และเช่นเคย ศาลแห่งนี้ก็กลายเป็นที่ “ขอหวย” และ “ยี่กอฮง” ก็ได้เป็นที่รู้จักกันใหม่อีกครั้งในฐานะ “เทพเจ้าหวยองค์แรกแห่งสยามประเทศ” ถึงขนาดมีการปั๊มเหรียญรูปเหมือนของท่านให้เช่าบูชาเป็นเครื่องรางของขลังของเซียนหวยและเหล่านักการพนันโดยเฉพาะ


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์ นิตยสาร สารคดี