งานเขียนจากคอร์สเขียนสารคดีกับมืออาชีพ
ปิยวิทย์ ปทุมานนท์

seaprincess

“ดีจังเลยเนอะได้ไปทำงานบนเรือท่องเที่ยว เงินก็ดี ได้เที่ยวฟรี แถมยังได้ฝึกภาษาอีกด้วย” นี่คือคำพูดของหลายๆ คนที่บอกกับผมเมื่อรู้ว่าผมเคยไปทำงานเป็นลูกเรือบนเรือสำราญที่ล่องอยู่แถบอะแลสกา (Alaska) คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาพที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเมื่อเห็นคนไปทำงานบนเรือสำราญในต่างประเทศนั้นสวยหรูดูดีไปหมด ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะคำโฆษณาของบริษัทตัวแทนจัดหางานที่ต้องการดึงดูดคนให้ไปทำงานด้วย หรืออาจมาจากคำบอกเล่าของคนที่ไปทำงานบนเรือที่กลับมาพูดถึงแต่ด้านที่ดีๆ ของที่นั้น แต่ “เหรียญมีสองด้านเสมอ” ผมจึงนำประสบการณ์จริงจากการไปทำงานบนเรือสำราญมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ทุกคนได้เห็นเหรียญครบทุกด้าน

จุดเริ่มต้นเกิดจากความเบื่อ

หลังเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2540 ผมทำงานเป็นวิศวกรฝ่ายผลิตที่บริษัท Sony Semiconductor ซึ่งเป็นโรงงานผลิต semiconductor ในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี ผมทำงานที่นี่มา 4 ปีจนรู้สึกเบื่องานในโรงงานมาก แต่ก็ยังไม่รู้จะไปทำงานอะไรที่ผมชอบจริงๆ ผมตัดสินใจเปลี่ยนงานไปเป็นวิศวกรฝ่ายควบคุมคุณภาพที่บริษัท Microchip ซึ่งเป็นโรงงานผลิต semiconductor ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำอยู่ได้ 3 เดือนก็แน่ใจแล้วว่าผมไม่ชอบงานในโรงงานจริงๆ วันหนึ่งผมเห็นประกาศรับสมัครคนไปทำงานบนเรือสำราญของบริษัท Princess Cruise Lines ซึ่งมีสัญญาจ้างงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี จึงลองส่งใบสมัครไป หลังจากได้รับการสัมภาษณ์กับบริษัทจิมโบว์แมน ซึ่งเป็นตัวแทนจัดหางานและผ่านกระบวนการต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้ไปทำงานบนเรือสำราญในตำแหน่งที่มีชื่อเพราะๆ ว่า “Accommodation Attendant”

ลงเรือลำเดียวกัน

วันที่ 30 มิถุนายน 2544 ผมเดินทางไปขึ้นเรือที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา วันนั้นผมได้พบเพื่อนร่วมชาติทั้งชายหญิงจำนวนเจ็ดคนที่ไปลงเรือลำเดียวกัน ตอนนั้นผมอายุ 26 ปี พวกที่ผมเจอส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่ทั้งนั้น เกือบทั้งหมดเคยทำงานโรงแรมห้าดาวมาก่อน ทั้งจากแผนกแม่บ้านและแผนกให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม พวกที่มีประสบการณ์เหล่านี้จะได้ทำงานเป็นพนักงานดูแลห้องพักผู้โดยสาร บริกรในห้องอาหาร หรือบริกรในบาร์ ส่วนพวกที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานในโรงแรมมาก่อนอย่างผมเป็นได้แค่เพียงพนักงานทำความสะอาด ที่ลูกเรือเรียกกันง่ายๆ ว่า cleaner หรือถ้าเรียกให้หรูขึ้นมาหน่อยก็คือ Accommodation Attendant นั่นเอง เรือที่พวกเราไปทำงานนั้นเป็นเรือสำราญขนาดกลางชื่อว่า Sea Princess ข้อมูลในเอกสารแนะนำเรือระบุว่าเรือลำนี้มีขนาด 77,499 ตัน ความยาว 857 ฟุต ความสูง 188 ฟุต เป็นโรงแรมลอยน้ำที่มี 15 ชั้น มีห้องพักผู้โดยสารทั้งหมด 1,008 ห้อง ภายในเรือมีทั้งโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ บาร์ กาสิโน สปา ห้องอาหาร ห้องออกกำลังกาย ห้องสมุด ร้านค้า ร้านถ่ายรูป ร้านเสริมสวย และสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่เปิดโล่งอยู่บนชั้นดาดฟ้าไว้คอยสร้างความสำราญให้กับผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางไปกับพวกเรา

เส้นทางเดินเรือ

เรือ Sea Princess ออกเดินทางจากเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ทุกวันเสาร์ โดยจะล่องไปเส้นทางเดินเรือและแวะจอดตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ รอบๆ อ่าวอะแลสกา เช่น เมืองเคตชิแกน จูโน และสแกกเวย์ และพาผู้โดยสารเข้าไปชมทุ่งน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ Glacier Bay และ College Fjord การเดินทางจะไปสิ้นสุดที่เมืองซีวอร์ดในวันเสาร์ เราจะส่งผู้โดยสารชุดเดิมลงเรือและรับผู้โดยสารชุดใหม่ขึ้นเรือที่นี่ แต่ละรอบการเดินทางใช้เวลา 7 วัน เมื่อรับผู้โดยสารชุดใหม่ขึ้นมาแล้วเรือจะล่องผ่านเส้นทางเดิมมาเข้าท่าที่แวนคูเวอร์ในวันเสาร์ วนรอบไปมาแบบนี้ เรือเดินทาง 7 วันไม่มีวันหยุด ลูกเรือก็ต้องทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุดเช่นกัน

ทำงาน 7 วันไม่มีวันหยุด

การทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุดเป็นสภาพการจ้างที่ทุกๆ สายเรือทำกันเป็นเรื่องปรกติ งานทำความสะอาดถูกแบ่งเป็นสองกะคือ กะเช้า (09.00-21.00 น.) และกะกลางคืน (21.00-9.00 น.) ผมทำงานกะกลางคืนโดยได้รับมอบหมายให้ดูแลความสะอาดของ Princess Theatre โรงหนังและโรงละครขนาดใหญ่ กับ Wheelhouse Bar ที่อยู่บนชั้น 7 ของเรือ งานของผมจะเริ่มทำได้ก็หลังเที่ยงคืนไปแล้วเพราะโรงหนังและบาร์เลิกดึก พนักงานทำความสะอาดแต่ละกะจะอยู่ภายใต้การควบคุมของ supervisor ที่คนบนเรือเรียกันว่า “กาโป้” ซึ่งมาจากคำว่า capo ในภาษาอิตาลีที่แปลว่าเจ้านาย เจ้านายผมเป็นชาวโปรตุเกสที่มีวิธีการสอนงานที่แปลกที่สุดคือใช้วิธีจับผิดจุดที่เรายังทำไม่สะอาดไปทีละจุด พอเราแก้ไขจุดนี้แล้วก็จะไปจับผิดจุดอื่นซึ่งคนไม่มีประสบการณ์อย่างผมคาดไม่ถึงมาก่อน เช่น ทำความสะอาดเก้าอี้ต้องเช็ดฝุ่นที่ขาเก้าอี้ด้วย ทำความสะอาดประตูต้องเช็ดบานประตูและสันประตูให้หมดจด โต๊ะในบาร์ที่มีกระจกวางอยู่ก็ต้องแงะกระจกขึ้นมาเช็ดให้สะอาดแล้วค่อยวางกลับลงไป หากวันไหนที่โรงหนังมีการแสดงที่ยิงกระดาษเงินกระดาษทองเป็นฝอยๆ กระจายไปทั่วก็ต้องใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดเศษกระดาษออกไปไม่ให้เหลือ เมื่อทำความสะอาดโรงหนังและบาร์เสร็จแล้วก็ต้องขึ้นลิฟต์ไปชั้น 15 เพื่อไปทำความสะอาดห้องเตรียมอาหารที่มีตู้ทำน้ำแข็งขนาดใหญ่ทุกวัน ก่อนทำความสะอาดตู้น้ำแข็งผมต้องเปิดน้ำร้อนละลายน้ำแข็งให้หมด จากนั้นจึงนำเม็ดคลอรีนมาละลายน้ำแล้วเช็ดให้ทั่วทั้งตู้น้ำแข็งเพื่อฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ยังต้องเช็ดฝาผนังทุกส่วนที่เป็นสเตนเลสให้ครบทุกด้าน งานนี้ต้องทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของคลอรีนและยังต้องระวังไม่ให้น้ำคลอรีนกระเด็นมาถูกร่างกายเราอีกด้วย กว่าจะล้างห้องเตรียมอาหารเสร็จก็เกือบจะเช้าแล้ว งานสุดท้ายของวันคือลงไปชั้น 2 เพื่อเข็นผ้าเช็ดตัวที่ใส่ไว้ในรถเข็นผ้าที่มีผ้าเช็ดตัวเรียงไว้สูงท่วมหัวขึ้นลิฟต์ไปส่งให้พนักงานดูแลห้องพักตามชั้นต่างๆ สำหรับคนที่ไม่เคยทำงานใช้แรงงานแบบนี้มาก่อนนับว่าหนักหนาสาหัสเลยทีเดียว

Turnaround Day วันมหาโหด

วันเสาร์เป็นวันที่เราส่งผู้โดยสารชุดเก่าออกจากเรือไปและรับผู้โดยสารใหม่เข้ามาแทน พวกเราเรียกวันนี้ว่า turnaround day ช่วงเที่ยงคืนจนถึงตี 4 ของวันนี้พนักงานทำความสะอาดกะกลางคืนจะต้องไปช่วยกันขนกระเป๋าเดินทางที่ผู้โดยสารนำมาวางไว้ตามหน้าห้องพักไปเก็บไว้ที่ใต้ท้องเรือเพื่อรอการขนย้ายออกจากเรือในตอนเช้า งานนี้เป็นงานที่ใช้แรงงานอย่างมาก พวกเราทุกคนต้องลำเลียงกระเป๋าด้วยรถเข็นเล็กเพื่อนำไปส่งต่อให้เพื่อนๆ ขนไปใส่รถเข็นขนาดใหญ่ที่รออยู่หน้าลิฟต์ขนของ เราขนกระเป๋ากันทั้งคืน กระเป๋าแต่ละใบล้วนแล้วแต่หนักๆ ทั้งนั้น ผู้โดยสารต้องมาใช้ชีวิตบนเรือถึง 7 วันจึงขนสัมภาระกันมาเต็มอัตราศึก ไหนจะเครื่องแต่งกายสำหรับงานเลี้ยงต่างๆ เสื้อผ้าชุดลำลอง ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวอีกมากมาย กว่าพวกเราจะขนกันหมดก็แทบจะหมดแรง ผมขนกระเป๋าได้ 3 เดือนเอ็นข้อเท้าก็เริ่มอักเสบเดินแทบไม่ได้เลยทีเดียว

ล้างส้วม 30 ห้อง งานที่ท้าทายที่สุด

หลังจากที่เราช่วยกันยกกระเป๋าในช่วงกลางคืนของ turnaround day แล้ว ตอนเช้ายังมีงานที่ท้าทายอีกอย่างหนึ่งรอพวกเราอยู่ หลังรับประทานอาหารเช้าพวกเราทุกคนต้องไปช่วยดูแลห้องพักผู้โดยสาร ล้างห้องน้ำห้องส้วมในห้องพักผู้โดยสารคนละ 30 ห้อง เมื่อผู้โดยสาร check out ผมก็เริ่มเข้าไปทำความสะอาดทันที ผมต้องรีบเข้าไปเก็บกวาดขยะออกมาจากห้อง เช็ดทำความสะอาดกระจก อ่างล้างหน้า โถส้วม และตู้อาบน้ำ โดยจะต้องไม่ให้มีคราบน้ำและเส้นผมเส้นขนต่างๆ หลงเหลืออยู่เลย เมื่อแรกเริ่มหัดทำก็เช็ดทุกอย่างเอาให้สะอาดเต็มที่ ทำไปได้ 10 ห้องก็ยกแขนแทบไม่ขึ้น ห้องไหนแขกที่มาพักอาบน้ำก่อนออกไปก็เหนื่อยหน่อยเพราะต้องเช็ดกันตั้งแต่ฝาผนังลงมาถึงพื้น บางครั้งเจอห้องที่มีผู้โดยสารสูงวัยทำอุจจาระเลอะเทอะเรี่ยราดไว้ก็ต้องปิดปากปิดจมูกทำความสะอาดจนแล้วเสร็จ พวกเพื่อนๆ ที่มีประสบการณ์ช่ำชองเริ่มทำตอน 7 โมงเช้า ยังไม่ทันถึง 9 โมงก็เสร็จกันหมดแล้ว ส่วนผมทำกว่าจะเสร็จก็เลยไปจนเที่ยงถึงบ่ายโมงแทบทุกครั้ง ทำเสร็จกลับห้องพักได้ก็หลับเป็นตาย ตื่นมาอีกทีก็เกือบเข้างานแล้วทำให้ไม่ได้ออกไปเที่ยวบนฝั่งเหมือนคนอื่นๆ เขาเลย

ไม่เอาแล้วพอกันที

สามเดือนผ่านไปผมยังปรับตัวกับสภาพการทำงานบนเรือไม่ได้ เอ็นข้อเท้าอักเสบจากการยกกระเป๋า อาหารก็กินไม่ค่อยลงเพราะไม่ถูกกับอาหารฝรั่งเท่าไหร่ ผมเมาเรือทุกครั้งที่เรือออกจากท่า ภาษาก็ไม่ได้ฝึกอย่างที่คิดเพราะงานทำความสะอาดไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้โดยสารเท่าใดนัก เพื่อนๆ บนเรือส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์ เม็กซิโก โปแลนด์ ฮังการี โปรตุเกส ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เที่ยวก็ไม่ได้เที่ยวเพราะออกไปไม่ได้ นอกจากนี้ผมยังโดนเอารัดเอาเปรียบจากคนดูแลห้องพักผู้โดยสารอยู่บ่อยๆ คนพวกนี้ไม่ยอมทำความสะอาดห้องส้วมทุกวัน แต่จะรอให้ผมมาล้างในวัน turnaround day ทำให้ผมต้องทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเราทำไม่สะอาดคนพวกนี้ก็จะไปฟ้องหัวหน้าให้ดุว่าลงโทษเรา ตอนนั้นผมบอกกับตัวเองว่าไม่เอาแล้ว ทำไมเราต้องมาทนอยู่ในสภาพแบบนี้ จึงโทรศัพท์กลับมาบ้าน ผมเล่าให้แม่ฟังว่าสภาพชีวิตผมเป็นอย่างไร เอ็นข้อเท้าผมอักเสบผมทนไม่ไหวแล้ว ผมอยากจะกลับบ้าน “อยากกลับบ้านก็กลับมา ลูกคนเดียวแม่เลี้ยงได้” แม่ตอบมาตามสายด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา วินาทีนั้นผมรู้สึกจุกที่ลำคอ พูดอะไรต่อไม่ได้อีกแล้ว น้ำตาไหลอาบสองแก้มด้วยความรู้สึกซาบซึ้งใจ ในวันที่ผมรู้สึกท้อแท้ที่สุดคนที่พร้อมจะโอบอุ้มผมขึ้นมาคือแม่ของผมเอง ไม่อยากร้องไห้ให้แม่ได้ยินด้วยกลัวแม่จะเป็นห่วงมากไปกว่านี้จึงรีบตัดบทวางสายแล้วทรุดตัวนั่งข้างๆ ตู้โทรศัพท์นั้นอยู่เป็นนานสองนาน

แล้วจะอยู่ให้รอดได้อย่างไร

หลังจากคุยโทรศัพท์กับแม่แล้วผมกลับมาที่ห้องพัก วันนี้อาบน้ำแล้วสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน จู่ๆ ภาพวันที่เพื่อนๆ และเจ้านายเลี้ยงส่งผมก่อนจะมาลงเรือก็แวบเข้ามาในมโนนึก ถ้ายอมแพ้กลับไปตอนนี้ผมจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน โตป่านนี้แล้วจะกลับไปตกงานเป็นภาระให้แม่เลี้ยงก็ดูแย่เกินไป ผมถามตัวเองว่านี่เราอดทนถึงที่สุดแล้วหรือ คำตอบที่ได้คือยังไม่ถึงที่สุด ผมจึงตัดสินใจว่าจะอยู่สู้ต่อไปให้ถึงที่สุด แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าจะอยู่ต่อไปต้องทำอย่างไรจึงจะเอาตัวรอดได้ คำถามนี้ช่วยให้ผมค้นพบทางรอดที่ทำให้ผมอยู่บนเรือจนจบสัญญาจ้าง

ความพยายามอยู่ที่ไหนหนทางอยู่ที่นั่น

เมื่อผมตั้งใจที่จะทำงานให้ได้จนจบสัญญาจ้าง ผมเริ่มสังเกตว่าคนอื่นเขาทำงานกันอย่างไรถึงดูไม่เหน็ดเหนื่อยและทำเสร็จกันเร็วมาก โชคดีมีเพื่อนคนไทยชื่อโอ๊บ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานบนเรือมาก่อน มาทำงานกะเดียวกับผม ผมจึงไปปรึกษาและขอคำแนะนำ โอ๊บบอกผมว่า “นายสังเกตมั้ยว่าคนอื่นๆ มันหายไปไหนกันหมดช่วงตี 2 ถึงตี 4 พวกนี้ไปงีบเอาแรงกันทั้งนั้น การทำความสะอาดพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ไม่ต้องทำแบบ deep clean ทุกครั้ง ต้องทำวันเว้นวันสลับกันไปไม่งั้นจะเอาแรงที่ไหนมาทำกันล่ะ นายต้องรู้จักรักษาแรงเอาไว้บ้าง” ผมถึงบางอ้อก็วันนี้ ส่วนเรื่องการล้างห้องส้วม 30 ห้องในวัน turnaround day ให้เสร็จภายใน 3 ชั่วโมงนั้น เพื่อนคนไทยชื่อคมที่เชี่ยวชาญการล้างห้องน้ำมา on the job training ให้ผม คมสอนผมว่า “เคล็ดลับคือต้องขนขยะออกมาให้หมดเป็นอันดับแรก จากนั้นเริ่มทำความสะอาดโดยเริ่มจากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง กระจกในห้องน้ำถ้าไม่มีคราบยาสีฟันกระเด็นไปโดนก็ไม่ต้องไปเช็ด แต่ถ้ามีคราบก็เช็ดเฉพาะตรงคราบ อย่าไปเช็ดกระจกทั้งบานเพราะจะเสียเวลามาก ถ้าเห็นคราบสบู่แข็งกรังอยู่ตรงที่วางสบู่อย่าเสียเวลาไปขูดไปแคะเด็ดขาด ให้เอาผ้าเช็ดมือผืนเล็กๆ นั่นแหละชุบน้ำร้อนที่เปิดจากก๊อกให้ชุ่มแล้วเอาไปโปะทิ้งไว้ที่คราบสบู่ พอทำความสะอาดส่วนอื่นเสร็จแล้วค่อยกลับมาเอาผ้านั้นเช็ดคราบสบู่ออก น้ำร้อนจะทำให้คราบสบู่ที่แข็งกรังอ่อนตัวลงจนเช็ดออกได้ง่ายโดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย” โอ้โฮ มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมเราโง่อยู่ตั้งนาน เมื่อได้เคล็ดวิชามาแล้วผมก็ฝึกฝนจนชำนาญ หนึ่งเดือนผ่านไปผมทำทุกอย่างได้เหมือนที่คนอื่นทำ เมื่อทำงานเสร็จเร็วขึ้นผมจึงมีเวลาออกไปเที่ยวบนฝั่งกับเพื่อนคนไทย ออกไปสัมผัสชีวิตผู้คน ธรรมชาติที่งดงามและอากาศที่บริสุทธิ์ของอะแลสกาให้สมกับที่ได้มาถึงที่

ลาก่อนเจ้าหญิงแห่งท้องทะเล

เวลาผ่านไปไวเหมือนติดปีก วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นวันสุดท้ายที่ผมทำงานบนเรือ Sea Princess เช้าวันนั้นผมไปรับประทานอาหารเช้าพร้อมเพื่อนๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทุกคนแสดงความยินดีที่ผมได้กลับบ้าน บางคนก็ใกล้จะกลับเหมือนผม บางคนก็อีกหลายเดือนกว่าจะได้กลับไปหาครอบครัว คำถามยอดฮิตที่ทุกคนบนเรือมักจะถามเพื่อนเสมอคือ “นายจะกลับบ้านเมื่อไหร่” สำหรับผมแล้วการที่ทุกคนถามกันแบบนี้เพราะบนเรือนั้นเพื่อนดีๆ ที่พึ่งพากันได้หาไม่ได้ง่ายๆ เมื่อพบแล้วก็ย่อมเสียดายที่จะจากกันไป หลุยส์ เพื่อนชาวเม็กซิโกเคยบอกผมว่า “นายรู้ไหมว่านอกจากบนเรือแล้วมีที่ไหนที่คนมักจะถามกันว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่” ผมตอบหลุยส์ไปว่าไม่รู้ หลุยส์จึงเฉลยว่า “ในคุกไงล่ะ” นั่นสินะ ทุกคนที่ทำงานบนเรือต่างรอวันที่จะได้กลับบ้านไปพบกับพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาและลูกๆ อันเป็นที่รัก ทุกคนมาที่นี่ล้วนแล้วแต่มาหารายได้ บางคนแม้เหงาแสนเหงา เหนื่อยแสนเหนื่อย ก็ต้องอดทนทำไปเพื่อหลายๆ คนที่รออยู่ที่บ้าน วันนี้แล้วสินะที่ผมจะได้กลับบ้านไปพบหน้าพ่อแม่พี่น้องที่ไม่ได้เห็นหน้ากันมาเกือบปี ผมโบกมือลาเพื่อนๆ ที่ยืนส่งผมอยู่บนเรือ ผมมองภาพเรือ Sea Princess ลำใหญ่สีขาวสะอาดที่จอดเทียบท่าอยู่เบื้องหน้าอยู่พักใหญ่แล้วกล่าวอำลาเธอในใจว่า ลาก่อนเจ้าหญิงแห่งท้องทะเล ประสบการณ์ชีวิตต่างๆ ทั้งดีและร้ายที่ผมได้รับจากเธอนั้นมีค่ายิ่ง เธอทำให้ผมค้นพบว่าตัวผมเองเข้มแข็งและอดทนกว่าที่ผมเคยคิด ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าหากใจเราไม่ยอมแพ้เราจะหาทางออกให้กับทุกๆ ปัญหาได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนเรื่องราวต่างๆ ในช่วง 9 เดือนที่อยู่บนเรือลำนี้จะอยู่ในความทรงจำของผมตลอดไป