ทีละคำถาม กับ ธีรภาพ โลหิตกุล

เรื่อง : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

author11 author11a

 

ชื่อ : ธีรภาพ โลหิตกุล
อาชีพ : นักเขียน
เป็นและเคยเป็น : นักเขียน คนเขียนบทโทรทัศน์ บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ วิทยากร อาจารย์พิเศษ คลุกคลีอยู่ในวงการสารคดีมากว่า ๒๐ ปี
ปัจจุบัน (๒๕๔๘) : นักเขียนสารคดีอิสระ เลี้ยงลูกสาว-สองคน และภรรยา (สาว) ด้วยรายได้หลักจากงานเขียน

ต่อไปเป็นรายละเอียดในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับแง่มุมชีวิตของนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทยคนนี้ ผ่านการนั่งสนทนากับเขาร่วม ๓ ชั่วโมง (แต่ต้องตัดคำถามของเราออกเพราะความจำกัดของพื้นที่)

๑. คุณพ่อผมเป็นนักอ่าน ทำให้ลูก ๆ ได้ซึมซับบรรยากาศวรรณกรรมไปด้วย

จุดเปลี่ยนน่าจะอยู่ในช่วงหลัง ๑๔ ตุลา บรรยากาศทางการเมือง กระแสสังคมตอนนั้น ทำให้เราหนักมาทางเรื่องจริง ต่อมาติดตามหนังสือรายเดือนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ฟ้าเมืองไทย ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้อ่านงานของ คำพูน บุญทวี เป็นนิยายกึ่งสารคดี เราชอบแนวนี้ กระทั่งมาเจอฮีโร่ในดวงใจ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล งานหลังออกจากป่าของเสกสรรค์ทำให้ผมได้รับแรงบันดาลใจมาก ๆ ว่าเราสามารถเขียนเรื่องจริงให้มีอรรถรสทางวรรณกรรมได้ ฐานที่มาจากนักเขียนรุ่นก่อนถูกตอกย้ำและหลอมรวมกันระหว่าง fiction (เรื่องแต่ง) กับ non-fiction (เรื่องไม่แต่ง-เรื่องจริง) มาลงตัวที่งานของเสกสรรค์ ทำให้ผมมั่นใจว่าเราเสนอเรื่องจริงให้มีชีวิตได้

เขียนเรื่องจริงให้มีชีวิต ให้มีมิติ ใช้กลวิธีทางวรรณกรรมมานำเสนอสารคดี งานของผมจำนวนมากมีตัวละคร แต่เป็นตัวละครที่มีอยู่จริง ๆ นี่เป็นแนวหลักของผมเลยก็ว่าได้

๒. คนที่เปิดโอกาสให้เขียนสารคดีครั้งแรก คือคุณปกรณ์ พงศ์วราภา ตอนนั้นผมมาทำงานประจำอยู่ที่นิตยสารไฮคลาส ได้หน้าที่หลักทำสารคดี กำลังไฟแรง ใส่เต็มที่ในเรื่องการนำเสนอทางวรรณกรรม ได้แบบมาจากการบรรจบกันระหว่างงาน ‘รงค์ อาจินต์ กับเสกสรรค์

ประจำอยู่กองบรรณาธิการไฮคลาส ปี ๒๕๒๖-๒๕๒๙ ปี ๒๕๓๐ มาเข้านิตยสาร อ.ส.ท. แนวเบี่ยงเบนมาทางการท่องเที่ยวเยอะขึ้น แต่หัวใจของการนำเสนอยังเป็นเหมือนเดิม–เขียนให้ออกมาในเชิงวรรณกรรม

๓. ลาออกจาก อสท. มาทำงานอิสระ เป็นบรรณาธิการนิตยสารวัยรุ่น สักพัก ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ชวนให้ไปเขียนบทสารคดี “โลกสลับสี”

ปี ๒๕๓๒-๒๕๓๖ คลุกวงในอยู่กับงานสารคดีโทรทัศน์ ผมเขียนบทและดูแลการผลิตภาคสนาม ก่อนถ่ายกำหนดโครงเรื่องกับแก่นของเรื่องลงไปคร่าว ๆ ไปถ่ายทำแล้วกลับมาเขียนอย่างละเอียด

“โลกสลับสี “ เป็นสารคดีอย่างเต็มรูปแบบ แต่มีแต่เบื้องหน้า ไม่มีพิธีกรในพื้นที่ ขณะที่เรารู้สึกว่าเบื้องหลังก็มีอะไรมากมาย เล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง เขาก็ขอให้ช่วยเขียนลงหนังสือของเขา หลังสารคดีชุดแม่น้ำเจ้าพระยาออกอากาศ ผมได้รับการทาบทามให้เขียนคอลัมน์ประจำที่ แพรว รายปักษ์

๔. ผมเปรียบงานโทรทัศน์เหมือนการโยนหรือหย่อนก้อนหินลงน้ำ ออกอากาศแล้วจบ แต่ผลกระทบแรง คนดูเห็นเยอะ คนจำนวนไม่น้อยรู้จักผมในฐานะคนเขียนบทรายการ “โลกสลับสี” ขณะที่งานเขียนหนังสือเหมือนหย่อนใบไม้ลงน้ำ แรงกระเพื่อมน้อยมาก แต่อยู่นานกว่าจะจม

ผมได้ทั้งสองแรงพยุงให้เป็นนักเขียนสารคดีอิสระอยู่ได้ เมื่อนำผลงานไปรวมเล่มก็ไม่ต้องแนะนำตัวมาก

๕. แรงบันดาลใจในงานเขียนต้องมาจากการเดินทาง งานราว ๗๐ เปอร์เซ็นต์ต้องลงพื้นที่ใหม่ ลงไปแต่ละครั้งก็พยายามเก็บให้ได้หลาย ๆ ประเด็น แต่ก็ไม่ได้มุ่งเป้าว่าต้องเขียนให้เยอะนะ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าไปแล้วเราได้อะไรมากกว่า

๖. ตอนนี้เป็นนักเขียนอิสระมา ๑๐ กว่าปีแล้ว งานเขียนเป็นเหมือนเสาหลักในการดำรงชีพ งานคอลัมน์เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน หนังสือรวมเล่มเป็นเงินเก็บเงินก้อน ปีหนึ่งมีงานรวมเล่มสัก ๒ เล่มก็มีเงินเก็บ พออยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนภายใต้มาตรฐานที่ไม่ตั้งไว้สูงเกินไป แต่ที่สำคัญ งานอิสระต้องการวินัยสูงมาก ตอนนี้มีงานรวมเล่มเฉพาะที่เขียนคนเดียว ๒๓ เล่ม

๗. ผมยึดหลักเขียนให้สนุก–ไม่จำเป็นต้องขำ แต่ให้มีชีวิตชีวา

๘. เวลาสอนการเขียนสารคดี ผมบอกเสมอว่า ให้ใช้ก้อนกรวดอธิบายพื้นพิภพ ในพื้นที่มี “ก้อนกรวด” อยู่เยอะแยะ อยู่ที่ว่าจะเอาเม็ดไหนมาขัดให้แวววาวและอธิบายโลก

คนจะเป็นนักเขียนสารคดี ต้องตั้งคำถามกับโลกกับสังคม ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ ไม่ใช่ถามเพื่อต่อต้าน สิ่งที่พบเห็นล้วนเป็นประเด็นได้หมด ลงพื้นที่ต้องช่างซักช่างสังเกต

๙. นักเขียนสารคดีต้องไม่พอใจกับคำตอบง่าย ๆ ต้องค้นหลักฐาน ถ้าขัดแย้งกันก็เสนอทั้งสองด้าน งานจะหนักแน่นขึ้น ต้องเป็นนักค้นคว้าด้วย บางเรื่องไม่ต่างจากงานวิจัย

๑๐. สารคดีทำให้เราเป็นนักเรียนอยู่เสมอ

๑๑. วิธีการนำเสนอ คิดอะไรไม่ออกให้ใช้โครงสร้างวิชาเรียงความ แต่บางทีพบว่าตอนจบมันกว่า ก็ลองเอาตอนจบมาขึ้นก่อน โครงเรื่องไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ อาจสลับกันได้ ดูว่าเรียงอย่างไรให้สนุก แต่ละตอนอย่าบอกหมด อยากรู้ต้องอ่านต่อ ยั่วน้ำลายไว้

๑๒. ต้องสะสมมาจากการอ่าน คิด และลงมือทำ ไม่อย่างนั้นพัฒนางานไม่ได้ แรก ๆ ผมก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เขียนแล้วดีเลย แรก ๆ ก็…โอ๊ย เขียนมาได้ไง ห่วยมาก ๆ บางครั้งเรารู้สึกว่ามันออกไปทางลิเก๊-ลิเก อะไรอย่างนี้

๑๓. การเกิดของนักเขียน สมัยก่อนการเติบโตของนักเขียนอยู่ที่ บ.ก. สมัยนี้กลับกัน โลกอินเทอร์เน็ตทำให้นักเขียนเกิดได้ง่ายขึ้น บ.ก. บางฉบับยังต้องมาหางานดี ๆ ของนักเขียนใหม่ในเว็บไซต์ ข้อดีคือนักเขียนมีโอกาสเกิดง่ายขึ้น…จนอาจขาดความพากเพียร และสำนวนภาษาก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชอร์ตเมสเสจ ขณะที่สมัยก่อนมีข้อจำกัดเรื่องช่องทาง นักเขียนต้องพากเพียร แต่เดี๋ยวนี้โอกาสเปิดกว้างมาก อยู่ที่คุณแน่จริงหรือเปล่า

๑๔. อย่าคาดหวังสูงกับงานชิ้นแรก ผมเองเขียนมามากมายขนาดนี้ พอลงมือเขียน ผมยังคิดเสมอว่ากำลังยกร่าง หมายความว่ายังต้องผ่านการแก้ อะไรไม่พอใจผ่านไปก่อน เพื่อยกร่างให้ได้ จากนั้นจะประดับตกแต่งแก้ไขอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าขึ้นโครงไม่ได้ คุณจะท้อแท้หมดกำลังใจ อย่างจะเขียน ๓ หน้า พยายามขึ้นโครงให้จบแล้วพัก เปลี่ยนอิริยาบถ แล้วกลับมาดูใหม่ จะแก้งานได้ดี แต่ถ้านั่งแก้งานเดี๋ยวนั้นสมองจะวน พักให้สมองปลอดโปร่งแล้วจะแก้ง่ายกว่า

๑๕. นักเขียนอาชีพต้องทำการบ้านก่อน ไม่ใช่เขียนวันนี้ส่งพรุ่งนี้ มานั่งคิดพล็อตหน้าเครื่องคอมฯ งานจะร่อแร่ ไม่ดี ไม่ทัน

๑๖. นอกเหนือจากการทำงาน ผมมีความสุขกับการอยู่กับลูก การเลี้ยงลูกถือเป็นภาระหน้าที่ พอเขากลับมาจากโรงเรียนผมจะวางงานเลย มันมีความสำคัญ การให้เวลากับลูกจะช่วยปกป้องเขาจากสิ่งที่โฆษณาโหมเข้ามา

๑๗. จำไว้ว่าสารคดีไม่ใช่บทความ ต้องใช้จินตนาการในการร้อยเรียงเรื่องราว บทความวิชาการเป็นหน้าที่นักวิชาการ เราเป็นสื่อสารมวลชน เราเอาข้อมูลวิชาการมาผ่านการนำเสนอของเราเพื่อสื่อถึงมวลชน

หัวใจของสารคดีคือใช้ข้อมูลผ่านจินตนาการ เป็นกระบวนการนำความจริงมาผ่านจินตนาการเพื่อสร้างสรรค์ออกมาเป็นงาน

สารคดีในความหมายของผมคือ ต้องเป็นบันเทิงคดี ต้องต่างจากงานวิชาการ ผมคิดและเขียนภายใต้ความคิดว่ามันเป็นงานวรรณกรรม

๑๘. ที่ผ่านมาสารคดีถูกมองว่าน่าเบื่อ นิ่ง ตาย เป็นการเอาข้อมูลมาเขียน ใช่-มันต้องเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ส่วนกลวิธี ไม่มีข้อบังคับ พรรณนาฉากอย่างวรรณกรรมได้ การแต่งเติม ทำได้ถ้าไม่ทำให้ข้อเท็จจริงเสียหาย แต่สำหรับผม ผมใช้แรงบันดาลใจจากความจริง

๑๙. คนที่มีบทบาทในวงการวรรณกรรมยังติดภาพสารคดีรุ่นเก่าอยู่มาก ในทางกลับกัน ตลาดเปิดกว้างให้การต้อนรับสารคดีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้สำนักพิมพ์ให้ความสำคัญกับสารคดีมาก เพราะกระบวนการเขียนสารคดีมีการพัฒนา เติบโต คลี่คลายไปสู่ความมีชีวิต ให้คนรู้สึกว่าการอ่านสารคดีไม่ใช่การอ่านข้อมูลที่น่าเบื่อ แต่เป็นการศึกษาเรื่องราวผ่านงานวรรณกรรม รวมทั้งการเติบโตของวัฒนธรรมการท่องเที่ยวจากฉิ่งฉับทัวร์มาสู่การเที่ยวแบบเก็บเกี่ยวความรู้ ซึ่งสารคดีในเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สามารถเข้าไปรองรับตรงนี้ได้

๒๐. คุณตั้งข้อสังเกตว่างานของผมเป็นแนวมองโลกในแง่ดีหรือ ? ใช่-ผมมีแนวของผม แม้เขียนถึงเรื่องความทุกข์ยากก็ทำออกมาทางนั้นได้ มันคงเป็นผลมาจากแม่ แม่เป็นคนประนีประนอม มองโลกในแง่ดี ผมได้ซึมซับและส่งผลมาถึงงานของผมด้วย

  • ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 241 มีนาคม 2541