บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ “ หนี้ที่ใช้คืนไม่หมด”

เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน คอหนังจำนวนมากคงเคยผ่านสายตา Schindler’s List ภาพยนตร์ออสการ์ยอดเยี่ยมประจำปี ๑๙๙๓ โดยผู้กำกับการแสดงชื่อดัง สตีเวน สปีลเบิร์ก สร้างจากเรื่องจริงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารเยอรมนีได้สร้างค่ายกักกันชาวยิวเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวให้หมดสิ้น แต่นักธุรกิจนามชิลเดอร์ ผู้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนายทหารนาซี ทนเห็นการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมไม่ไหว จึงได้เป็นผู้ช่วยชีวิตชาวยิวอย่างลับ ๆให้รอดจากการถูกแก๊สรมควันตายเป็นจำนวนหลายพันคน

บ้านเราเองก็มีวีรบุรุษนิรนามในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ช่วยชีวิตเชลยศึกให้รอดพ้นจากการทำร้ายของทหารญี่ปุ่น ในการก่อสร้างทางรถไฟข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี แต่ไม่ค่อยมีใครเปิดเผยเรื่องราวของเขาให้สังคมได้รับรู้ คือผู้ชายชื่อบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์

ด้านหนึ่งธุรกิจของเขาเป็นที่รู้จักของคนในเมืองหลวงเมื่อสามสี่สิบปีก่อน คือรถเมล์บุญผ่อง รถเมล์เอกชนบริษัทหนึ่งที่ได้สัมปทานวิ่งรับผู้โดยสารในกรุงเทพมหานคร ก่อนที่ทางการจะยึดกิจการรถเมล์มาเป็นรัฐวิสาหกิจในเวลาต่อมา

แต่ดูเหมือนชื่อของบุญผ่องเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประเทศสัมพันธมิตร ผู้รำลึกถึงบุญคุณของท่านมากกว่าคนไทยเสียอีก

ในปีพ.ศ. ๒๔๘๕ กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ตัดสินใจสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างประเทศพม่าและประเทศไทย เพื่อขนส่งกองทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์จากไทยเป้าหมายคือยาตราทัพบุกยึดพม่าและอินเดียให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

524660_551194038265723_1230165708_n

กองทัพญี่ปุ่นจึงได้เกณฑ์แรงงานพลเรือนชาวเอเชียกว่าสองแสนคน และทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรอังกฤษ ออสเตรเลียส่วนใหญ่ที่จับได้ในสิงคโปร์ มาเลเซียอีกกว่าหกหมื่นคน เพื่อสร้างทางรถไฟระยะทางสี่ร้อยกว่ากิโลเมตรให้เสร็จภายในปีเดียว จนได้รับการขนานนามว่าทางรถไฟสายมรณะ เพราะคำกล่าวว่า “หนึ่งไม้หมอน คือ หนึ่งชีวิตของเชลย” และเมืองกาญจนบุรี เป็นชัยภูมิสำคัญที่กองทัพญี่ปุ่นเลือกสร้างทางรถไฟ ค่ายเชลยถูกสร้างขึ้น ตลอดเส้นทางตัดผ่าน

เชลยศึกพันธมิตรหลายพันคนต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ การทำงานหนัก การถูกคุมขัง
แต่เชลยศึกจำนวนมากก็รอดตายจากการแอบช่วยเหลืออย่างเงียบ ๆ ของคนไทยหลายคนผู้แอบช่วยส่งเสบียงและยารักษาโรคให้กับเชลยเหล่านี้ด้วยมนุษยธรรม แม้ว่าหากถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ อาจถูกทรมานหรือถูกยิงทิ้งเสียชีวิต

เวลานั้น นายบุญผ่อง สิริเวชชะภัณฑ์ เป็นนายกเทศมนตรีมีฐานะดีในเมืองกาญจนบุรี อาศัยบนถนนปากแพรกซึ่งเป็นย่านการค้าของเมือง เป็นพ่อค้าไทยเจ้าของร้านสิริโอสถ ผู้ค้าขายกับทหารญี่ปุ่น ได้รับสัมปทานส่งอาหารให้แก่ค่ายเชลยไปจนถึงทางตอนใต้สุดของทางรถไฟสายมรณะ และประมูลตัดไม้หมอนรถไฟขายให้กับทหารญี่ปุ่นด้วย เวลานั้น ปากแพรกเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าสำคัญ คือแหล่งซื้อขายสินค้าที่ใกล้ค่ายทหารที่สุด และบุญผ่องยังได้เปรียบร้านอื่นที่สามารถพูดภาษาอังกฤษติดต่อกับทหารญี่ปุ่นและเชลยศึกได้เป็นอย่างดีด้วย จึงได้รับความไว้วางใจในการเข้าออกในค่ายเชลยศึก
จากอาชีพพ่อค้าที่เริ่มจากการขายสินค้าอย่างเดียว แต่เมื่อได้เข้าไปรับรู้ความทุกข์ยากทรมานของเชลยศึกในค่ายโดยเฉพาะผู้ป่วยจากไข้มาลาเรีย ที่ไม่มียาควินินพียงพอจะรักษาคนไข้ได้ ทุกวันมีคนป่วยตายเอาศพโยนลงแม่น้ำ และในที่สุดเมื่อบุญผ่องได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากหมอเวรี่ ศัลยแพทย์ชาวออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม เขาจึงยอมเสี่ยงชีวิตลักลอบเอายาควินินมาให้หมอเวรี่รักษาคนไข้รอดตายอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งซุกซ่อนอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องใช้ต่าง ๆ แอบมาในเข่งผัก เพื่อมอบให้กับเชลยศึกส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ หลายครั้งต้องแอบว่ายน้ำเข้ามาในค่ายตอนกลางคืน โดยรอบคอแขวนเครื่องเวชภัณฑ์ และต่อมายังให้ด.ญ.ผณี ลูกสาววัยสิบขวบแอบนำยามาให้เชลยศึกเพื่อไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นสงสัย

นอกจากนี้นายบุญผ่องยังเป็นผู้ลอบติดต่อกับเชลยสงคราม ช่วยส่งเอกสารลับบอกพิกัดของสะพานฯให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรหลายครั้งหลายหนจน ทำให้พันธมิตรทิ้งระเบิดลงสะพานข้ามแม่น้ำแควได้อย่างแม่นยำ

คุณป้าลำใย น้องสะใภ้ของบุญผ่องได้เคยเล่าว่า

“สะพานมันอยู่ในป่าในดงน่ะ ใครจะไปเห็นได้ชัด ตอนนั้นเชื่อได้ว่าพี่บุญผ่องต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระเบิดลงถูกจุด”

บางครั้งเชลยศึกหลายคนไม่มีเงิน บุญผ่องให้เชลยกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อของ จอห์น โคสต์ อดีตเชลยศึกชาวอังกฤษ ได้เคยบันทึกว่า “พวกเชลยผอมโซ ขาดอาหารและไม่มีเงิน เขาก็ให้กู้โดยมีสิ่งของ เช่นนาฬิกา แหวน หรือซองบุหรี่เป็นประกัน พวกเรายังไม่ค่อยเชื่อใจเขานัก แต่กาลเวลาพิสูจน์ เขามีสัจจะตามคำพูดทุกอย่าง เขาคืนสิ่งของให้กับทุกคนที่มาไถ่”

สุดท้ายเมื่อคุณสุรัตน์ ผู้เป็นภรรยาของบุญผ่องทราบเรื่อง ก็เกิดการทะเลาะกันในครอบครัวอย่างรุนแรง ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้ครอบครัวมีอันตราย แต่อีกฝ่ายหนึ่งยอมเปลืองตัวเพื่อช่วยชีวิตผู้คนไม่ให้ตายไปต่อหน้า แม้ต้องเดิมพันชีวิตด้วยครอบครัว ภรรยา ลูกสาวและครอบครัวของสิริเวชชะพันธุ์ทุกคน

กระทั่งปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สงครามโลกใกล้สงบ กองทัพญี่ปุ่นกำลังพ่ายแพ้ทุกสมรภูมิรบ บุญผ่องได้ถูกลอบยิงในเมืองได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากคนที่ไม่พอใจบุญผ่องช่วยเหลือทหารเชลยศึก ต่อมาหมอเวรี่ได้เคยบันทึกไว้ว่า “บุญผ่องรอดตายจากการถูกยิง กระสุนทะลุเข้าที่หน้าอก” แต่ด้วยฝีมือความพยายามอย่างสุดชีวิตของทีมแพทย์ของอดีตเชลยศึกเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งบุญผ่องรอดพ้นอันตราย มีชีวิตยืนยาวต่อมาจนออกมาทำธุรกิจรถเมล์บุญผ่อง โดยได้รับการช่วยเหลือจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยกรถบรรทุกร่วม ๒๐๐ คันที่ยึดได้จากทหารญี่ปุ่น ให้เขามาประกอบธุรกิจรถประจำทางในเมืองหลวงในปีพ.ศ. ๒๔๙๐

หลังสงครามอดีตเชลยต่างชาติและชาวต่างชาติต่างยกย่องให้เขาเป็น…วีรบุรุษแห่งทางรถไฟสายมรณะ…ผู้ที่ชาวต่างชาติหลายพันคนยืนยันว่า “ พวกเขาเป็นหนี้บุญคุณนายบุญผ่องตลอดชีวิต เป็นหนี้…ที่ใช้คืนไม่หมด!!! ”

ในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ นายบุญผ่อง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลออสเตรเลีย อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ และทุกวันคริสต์มาส เขาและภรรยาได้รับจดหมายอวยพรและของขวัญจากเชลยศึกเป็นจำนวนมาก และพระนางเจ้าอลิซาเบธที่สองและพระสวามี เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนเมืองไทยในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับสั่งให้บุญผ่องและภรรยาเข้าเฝ้าและร่วมโต๊ะเสวยด้วย และได้รับการประดับยศเป็นพันโทบุญผ่องของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์

จนเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๕ มีการตีพิมพ์ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลียรายงานว่า วีรบุรุษสงครามโลกชาวไทยได้เสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจพอง มีการสัมภาษณ์อดีตทหารผ่านศึกหลายคน กล่าวยกย่องความกล้าหาญและทำให้พวกเขารอดชีวิตมาได้เพราะผู้ชายไทยคนนี้

ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดในวันเปิดพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด กาญจนบุรี เพื่อรำลึกถึงทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ รัฐบาลออสเตรเลียโดยนายจอห์น โฮวาร์ด นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้บันทึกความกล้าหาญของนายบุญผ่องเอาไว้โดยมอบใบประกาศยอมรับว่าพวกเขาเป็นหนี้นายบุญผ่อง โดยมอบให้กับหลายชายนายบุญผ่อง และระบุในใบประกาศว่า

“ ขอให้ประกาศนียบัตรฉบับนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความสำนึกในบุญคุณ อันหาที่สิ้นสุดมิได้ของเรา สำหรับการกระทำที่เปี่ยมไปด้วยคุณงามความดีของบรรพบุรุษของท่านและขอให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่นของมิตรภาพของเรา ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นับแต่สงครามเป็นต้นมา…”

ในช่วงชีวิตของคนเราที่อายุยืนยาวมาหลายสิบปี คนอื่นจะจำชีวิตของเราได้ในบางช่วงที่สำคัญเท่านั้น ชีวิตของคนคนหนึ่งจะให้คนอื่นจดจำอย่างไร เรามีสิทธิ์เลือกได้

สารคดี พฤษภาคม 2556

Comments

  1. ศิขรินทร์

    รับรู้จาก TPBS แต่ประวัติศาสตร์ที่สร้างจิตสำนึกและแรงบันดาลใจ กลับไม่เคยได้รับการส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้เลย น่าเสียดาย

  2. petchsuree

    ไปพิพิทธภัณฑ์ช่องเขาขาดมาสมแล้วที่ท่านได้รับการยกย่อง

  3. นายสิทธิพร วิมลสุต

    ขอยกย่องนับถือท่านบุญผ่อง สิริเวชะพันธ์ ในความกล้าหาญในความมีความเห็นใจ ความสงสารเพื่อนร่วมโลกและท่านก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทย ไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่นั้นคนไทยจะลำบากมากกว่านี้

  4. Pingback: บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ – วีรบุรุษสงครามทางรถไฟสายมรณะ |

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.