คอคอดกระ ถึงเวลาปัดฝุ่นอีกครั้ง

P3291101-149

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อภิมหาโครงการใหญ่ ๆมักจะมีการหยิบขึ้นมากล่าวถึง หรือไม่ก็มีการโยนหินถามทาง เช่นเดียวกับโครงการขุดคลองคอคอดกระ ในยุคสมัยของคสช. ก็เริ่มมีการพูดปัดฝุ่นกันอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวกันว่าการขุดคลองคอคอดกระเพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย พูดกันมาประมาณสามร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาเริ่มชัดเจนสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมอินโดจีน ได้ขอสำรวจคอคอกกระ หรือกิ่วกระ บริเวณแคบสุดของแหลมมลายู ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอกระบุรี จังหวัดระนองกับ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ระยะทาง 50 กิโลเมตร โดยมีแนวคิดว่าจะมีการขุดคลองเชื่อม เพื่อร่นระยะเวลาการเดินทางของเรือเดินสมุทร จากฝรั่งเศสมาเวียดนาม โดยไม่ต้องไปอ้อมแหลมมลายู ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมหาอำนาจคู่แข่งสำคัญในยุคนั้น

 

พออังกฤษทราบเรื่องก็พยายามล็อบบี้ไม่ให้ไทยอนุญาตให้ฝรั่งเศสขุดคลองคอคอดกระ ด้วยเกรงว่าฝรั่งเศสจะแผ่อิทธิพลมากเกินไปในภูมิภาคนี้ และกระทบกระเทือนกับธุรกิจการเดินเรือของอังกฤษในสิงคโปร์ ดังนั้น ไทยแม้จะเป็นประเทศเสรี แต่อยู่ในสถานะรัฐกันชนและโดนบีบจากทั้งสองฝ่าย ฝั่งพม่า มลายูก็เป็นของอังกฤษ ฝั่งอินโดจีนก็เป็นของฝรั่งเศส ก็พยายามประคับประคองสถานการณ์ให้ดีที่สุด

และในเวลานั้นการเมืองภายในราชสำนักสยามก็ยังไม่เป็นเอกภาพ เสนาบดีและขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งตระกูลบุนนาคมีบทบาทสูง มีอำนาจในการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ในเวลานั้น สนับสนุนให้ขุดคลองนี้ในเขตปกครองของตน เพราะหวังจะได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการให้สัมปทานแก่ฝรั่งเศส

ส่วนรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน อำนาจทางการเมืองเพิ่งเริ่มต้น ก็เกรงใจอังกฤษผู้มีอิทธิพลสูงสุดในสยามประเทศเวลานั้น สุดท้ายก็ทรงอนุญาตให้ฝรั่งเศสสำรวจพื้นที่ไปเรื่อย ๆ แต่การเรื่องการขุดคลองก็ยืดเวลาออกไป จนเรื่องเงียบหายไป

กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง โอกาสขุดคลองคอคอดกระก็ลดน้อยลง เมื่อสนธิสัญญายุติสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ ได้มีการระบุชัดเจนว่า ไทยรับรองว่าจะไม่ขุดคอคอดกระเพื่อเชื่อมมหาสมุทอินเดียวกับไทย โดยมิได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่อยากให้ไทยมาทำธุรกิจการเดินเรือแข่งกับสิงคโปร์

ในปีพ.ศ. 2501 ปรีดี พนมยงค์ก็เคยเสนอให้ขุดคลองคอคอดกระ แต่ก็มีหลายเหตุผลคัดค้าน โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคง การแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองส่วน

จากนั้นรัฐบาลเกือบทุกยุค ก็มีการพูดถึงโครงการขุดคลองคอคอดกระมาตลอด และดูจะเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด เมื่อทางวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระใน พ.ศ. 2544
ผลการศึกษานั้น ตัดคำว่าคอคอดกระ และให้ใช้คำว่า คลองไทย แทน เพราะสรุปว่าบริเวณที่จะขุดเชื่อมทะเลสองฝากฝั่งนั้น คงไม่ใช่คอคอดกระ ด้วยเหตุผลทางวิศวกรรมศาสตร์และทางภูมิศาสตร์ เพราะสภาพพื้นที่บริเวณคอคอดกระเป็นภูเขาและหิน มีความยากลำบากมาก และปัญหาความมั่นคงเนื่องจากบริเวณคอคอดกระอยู่ที่ชายแดนพม่าปากแม่น้ำกระบุรี

บริเวณที่มีความเป็นไปได้และเกิดประโยชน์สูงสุดในการขุดคลองไทย คือ เส้นทาง 9A ผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ระยะทาง 120 กิโลเมตร

และล่าสุดมีข่าวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนสนใจที่จะร่วมลงทุนอภิมหาโครงการแห่งนี้

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจผู้คร่ำหวอดในวงการเดินเรือสินค้าระหว่างประเทศมานาน ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า

คลองไทย หรือคอคอดกระจะสามารถร่นระยะเวลาเดินทางอ้อมแหลมมลายูได้เพียง 2 วัน หากเปรียบเทียบกับคลองสุเอซ หรือคลองปานามา สามารถร่นระยะเวลาได้ประมาณ 7 วัน

ประเทศจีนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้คลองคอคอดกระ ร่นระยะเวลาในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปประเทศจีน ซึ่งเรือบรรทุกน้ำมันจะมาใช้บริการมากที่สุด ขณะที่ประเทศอื่นจะไม่ได้ประโยชน์มาก เวลา 2 วันไม่ค่อยมีนัยะสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์มีสิ่งอำนวยความสะดวกระดับโลกอีกมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ท่าเรือ อาคารสถานที่ ความชำนาญของผู้คนในธุรกิจเดินเรือ ฯลฯ

ขณะที่ประเทศไทยจะเก็บค่าธรรมเนียมเรือผ่านคลองได้ประมาณลำละ 40,000 ดอลล่าร์ เทียบกับคลองสุเอซได้ลำละ 200,000 ดอลล่าร์ ไม่แน่ใจว่าคุ้มการลงทุนหรือไม่ เพราะปริมาณเรืออาจจะไม่ได้มากพอ

งบประมาณการก่อสร้างอาจจะเกือบ 1 ล้านล้านบาท รวมถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึก อาคาร คลังสินค้าและการผลิตบุคคลากรเพื่อรองรับ แต่ยังไม่รวมปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะกระทบกับการท่องเที่ยวทางทะเล อันมีชื่อเสียงของประเทศ และสร้างรายได้มหาศาลมาโดยตลอด

และคงต้องพิจารณาถึงปัญหาความมั่นคงของประเทศทางภาคใต้ ซึ่งส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น

ข้อมูลอันถูกต้อง และการให้ความสำคัญกับทุกมิติอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าน้ำหนักด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ความมั่นคง คือคำตอบที่ดีสุดว่า สมควรจะสร้างคลองไทย หรือคลองคอคอดกระหรือไม่

กรุงเทพธุรกิจ 19 มิย. 57

Comments

  1. กมล

    น่าสนใจเปิดเวทีให้คนไทยทั่วประเทศได้แสดงมุมมอง ที่จะตัดสินใจ โดยการเอาข้อมูล ที่มีอยู่ทั้งหมด ทุกด้าน ไม่ว่าดี หรือเลว บวกหรือลบ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วิศวกรรม ฯลฯ มากางให้คนไทยได้ดูแล้วแสดงความคิดเห็น ไม่กระจุกแต่ในห้องวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ แต่ต้องเป็นคนไทยทุกคน ครับ

  2. zasa

    ถ้าโครงการนี้ไม่คุ้มทุนหรือมีปัญหาเรื่องความมั่นคงให้ดูตัวอย่างจากโครงการสนามบินหนองงูเห่าทุกวันนี้มีเครื่องบินบินขึ้นลงทุกนาที โครงการนี้จะสร้างงานและทำเงินให้กับประเทศไทยมหาศาล สร้างเสร็จภายในสิบปีนี้สายเรือก็เพิ่มขึ้นอีกสิบเท่าตัว แล้วทำไมต้องไปใช้ช่องแคบมะละกาอีก? ตอนนี้จีนไปลงทุนขุดคลองนิคารากัวไปแล้ว ถามว่าถ้าจีนเสนอตัวลงทุนขุดให้แล้วจะมีข้ออ้างใดอีก ที่บอกว่าขุดแล้วจะเป็นการแบ่งแยกประเทศ ถามว่าแบ่งเป็นประเทศอะไร ใครเป็นคนแบ่ง แล้วทางผู้ลงทุนเขาจะยอมไหม กองทัพเรือที่ประจำการรักษาคลองจะยอมมั้ย เปิดตาให้สว่างจากความมืดมนและฝุ่นควันของทางลูกรัง เข้าสู่ศตวรรษแห่งความรุ่งโรจน์ อย่าให้ความเขลาเบาปัญญามาบดบังแสงสว่างเหมือนครั้งนึงเคยมีคนบอกว่าสนามบินหนองงูเห่าทำไม่ได้เพราะชื่อบอกว่าเป็นหนองบึง

  3. kaka

    คสช.ทำได้แน่นอนครับ ทำเถอะครับ ถ้ามาเลมันขมขุ่ก้อเอาทหารวางกำลังให้เหมือนดูแลพระนครยามสงครามเลยครับ เมื่อคลองเสร็จ หลังจากนั้น 10 ปี ไทยรวยๆๆๆๆ แน่เลยครับ มีสวัสดิการให้ทุกคน ตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่แม่เฒ่าเลย สบายกันทั้งประเทศ ส่วนมาเล ต้องหนีมาทำงานในไทยแน่ สิงคโปร์ก้อหนีตายมาทำงานที่ไทย ส่วนอินโดก้อเช่นกันครับ ไม่แน่อินโดอาจมีประเทศเกิดไหมแน่

  4. สวร

    สร้างเลยครับ ผมเห็นด้วย ประเทศไทยจะได้เป็นมหาอำนาจทางเศษฐกิจ สักที ท่านนายก

  5. ธนวัฒน์

    เห็นด้วยที่จะขุดครับจะทำไห้เมืองไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษจกิจ เมืองไทยควรจะขุดตั้งนาน แล้วนักการเมืองมัวแต่หาประโยชน์จากโครงนี้มานานแล้วครับ

  6. Sathit

    ผมเชื่อว่าท่านประยุทธทำแน่. เพราะท่านไม่ใช่นักการเมืองที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก

  7. ทนงศักดิ์

    ถ้าคลองสำเร็จรายได้ไม่ได้มีเฉพาะค่าผ่านคลองเท่านั้นครับ จะมีรายได้อื่นๆ อีก เช่น ขายน้ำมันเติมเรือ ขายน้ำ ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ในเรือ รายได้จากการซ่อมบำรุงเรือ เกิดการจ้างงานอีกหลายแสนอัตราทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รอบๆคลองจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ต่างประเทศจะนำสินค้ามาซื้ขายแลกเปลี่ยน จะมีรายได้จากการบริการรับสต็อกและถ่ายสินค้า และที่สำคัญสินค้าไทยไม่ต้องผ่านมือพ่อค้าคนกลางชาวต่างชาติอีกทอดหนึ่ง จะไม่ถูกกดราคาเพราะเราเป็นเจ้าของตลาดเอง สินค้าไทยจะขายง่ายขึ้นเพราะเราย่อมต้องขายสินค้าที่ผลิตในประเทศของเราก่อน ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำก็จะเบาบางลง ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปแก้ปัญหาราคาสินค้าทุกปีไม่จบสิ้น ประเทศไม่ต้งสูญเสียงบประมาณให้กับริ้นเหลือบที่คอรับชั่นหากินกับการแก้ปัญหาราคาสินค้า
    (ขุดคลองเส้นเดียวได้ประโยชน์มหาศาล และแก้ปัญหาประเทศได้อีกมากมาย)

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.