เบื้องหลังการขาย National Geographic ให้ Fox

article-0-1846CE8D00000578-539_964x524

เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๘ National Geographic เป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) มหาเศรษฐีอันดับ ๑ ใน ๑๐๐ ของโลก เจ้าของอาณาจักรสื่อชาวออสเตรเลีย และเจ้าของกลุ่มนิวส์คอร์เปอเรชัน เครือข่ายโทรทัศน์ฟอกซ์นิวส์ ทุ่มเงิน ๗๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐซื้อหุ้น ๗๓ เปอร์เซ็นต์ของนิตยสารนี้

และยังมีข่าวต่อเนื่องว่า ภายหลังเข้าซื้อกิจการฝ่ายบริหารออกคำสั่งปลดพนักงานประมาณ ๙ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๘๐ คน จาก ๒,๐๐๐ คน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร เนื่องด้วยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าต้นทุนการทำงานขององค์กรสูงมาก

เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีก่อน ผมได้รับทุนไปดูงานของ National Geographic ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา นิตยสารเก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของโลก อายุ ๑๒๗ ปี มียอดพิมพ์สูงสุดฉบับหนึ่ง คือ ๑๐ ล้านเล่มต่อเดือน และตีพิมพ์เป็นภาษาอื่นอีก ๒๒ ภาษา รวมทั้งภาษาไทย

ฉบับแรกตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม ปี ๒๔๓๑ ดำเนินงานโดย National Geographic องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๓๑ โดยนักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์ ๓๓ คน ภารกิจของสมาคมคือ “เพิ่มพูนและทำให้ความรู้ทางภูมิศาสตร์กระจ่าง เนื่องจากการสนับสนุนการปกปักรักษาวัฒนธรรมของโลก ประวัติศาสตร์ และการสำรวจธรรมชาติ”

สมาชิกของสมาคมเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่นักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ อาจารย์ นักธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยทั่วโลกกว่า ๕,๐๐๐ คน ทำการวิจัย ศึกษา สำรวจตั้งแต่เรื่องธรรม-ชาติ โลก ทะเล ท้องฟ้า จักรวาล ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม และชีวิตของผู้คน ระยะแรกจำกัดเรื่องราวเพียงในทวีปอเมริกา ต่อมาจึงสำรวจไปทั่วโลก

เนื้อหาแต่ละฉบับจะมีสารคดีสี่ห้าเรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องราวในสหรัฐอเมริกา จึงมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นนิตยสารที่ค่อนข้างอนุรักษ-นิยม ให้ความสำคัญกับความภาคภูมิใจในวิถีแบบคนอเมริกัน อย่างไรก็ตามนิตยสารนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการสำรวจ ค้นพบงานวิจัยใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก อันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติตลอดเวลา ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา

National Geographic เป็นนิตยสารฉบับแรกที่ตีพิมพ์ภาพสี และเป็นผู้นำการตีพิมพ์ภาพถ่ายชีวิตสัตว์ใต้ทะเล พฤติกรรมของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ช่างภาพขององค์กรมีส่วนสำคัญในการค้นพบงานวิจัยสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อย เพราะต้องใช้เวลาเก็บภาพนาน ช่างภาพหลายคนจึงกลายเป็นนักวิจัยไปในตัว เหล่านี้เป็นเหตุให้นิตยสารได้รับยกย่องว่ามีภาพถ่ายสวยที่สุด

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับบรรณาธิการคนหนึ่ง เขาเล่าวิธีการทำงานว่า

“เราใช้ช่างภาพฟรีแลนซ์จากทั่วโลกประมาณ ๖๐ คน แต่ละคนมีความชำนาญต่างกันไป อย่างถ้าต้องการภาพแรดดำ เราก็ติดต่อช่างภาพในแอฟริกาให้จัดการ ส่วนราคาประมาณ ๒๕,๐๐๐ ดอลลาร์ต่อ ๑๐ สัปดาห์ ช่างภาพถ่ายงานสารคดีเรื่องหนึ่งใช้ฟิล์มไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ ม้วน”

สมัยนั้นยังใช้ฟิล์มสไลด์ถ่ายภาพ ไม่ใช่ดิจิทัล หนึ่งม้วนมี ๓๖ ภาพ คูณด้วย ๘๐๐ ม้วน การลงทุนถ่ายภาพจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล

หัวใจสำคัญของนิตยสารนอกจากภาพถ่าย คือแผนที่ซึ่งทุกฉบับจะแถมให้ เช่น แผนที่โลก แผนที่ประเทศ แผนที่ประวัติศาสตร์ แผนที่ดวงดาว แผนที่ภูมิศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อตีพิมพ์แล้วหลายครั้งได้รับความเชื่อถือมากกว่าแผนที่ของทางการเสียอีก

ในประวัติศาสตร์ทหารอเมริกันใช้แผนที่ของ National Geographic เพื่อช่วยในการยกพลข้ามทะเลแคริบเบียน บุกประเทศเกรเนดาเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน เช่นเดียวกับ เหงวียนวันกัญ (Nguyễn Văn Canh) ผู้ซื้อแผนที่ทวีปเอเชียของนิตยสารเพื่อหนีออกนอกประเทศทางทะเลหลังจากเวียดนามใต้ถูกยึดครองเมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ยังได้บุกเบิกทำรายการสารคดีออกอากาศทางโทรทัศน์ ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

ทุกวันนี้ National Geographic มีรายได้จากการจำหน่ายนิตยสารและผลิตรายการทีวีปีละประมาณ ๑.๔ หมื่นล้านบาท มีสินทรัพย์รวมกว่า ๔ หมื่นล้านบาท แต่หลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนตลอด เนื่องจากคนไม่นิยมอ่านนิตยสารหรือสิ่งพิมพ์กันแล้ว ส่งผลให้นิตยสารจำนวนมากต้องปิดกิจการลง

จากที่ National Geographic เคยมียอดจำหน่ายสูงสุดถึงฉบับละ ๑๒ ล้านเล่ม ปัจจุบันเหลือไม่ถึง ๖ ล้านเล่ม และถูกวิจารณ์ว่าเป็นนิตยสารของคนสูงอายุ ไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งสนใจเสพข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์มากกว่า

ส่วนรายการสารคดีทางโทรทัศน์ แม้จะมีคุณภาพสูง แต่ก็มีคู่แข่งมากมาย เช่น BBC, Discovery ฯลฯ

เมื่อประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องขายหุ้นให้กลุ่มทุนใหญ่อย่างเมอร์ด็อก รวมถึงการปลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายและปรับโครงสร้างองค์กรที่เทอะทะ แต่คงไม่ล้มเลิกกิจการเพราะแบรนด์นิตยสารเก่าแก่มีมูลค่าสูงมาก

เมอร์ด็อก วัย ๘๔ ปี เป็นเจ้าพ่อสื่อใหญ่อันดับ ๒ ของโลก เป็นรองเพียงแค่กลุ่มวอลต์ดิสนีย์ เขาเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Sun ของอังกฤษ ผู้บริหารบริษัท Dow Jones & Company ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ที่ขายดีที่สุด
ในสหรัฐอเมริกา และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Dow Jones Industrial Average เป็นเจ้าของสตูดิโอภาพยนตร์ 20th Century Fox ยังไม่รวมธุรกิจสื่ออีกนับร้อยแห่งทั่วโลก เขาเคยพยายามซื้อทีมสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด แต่ไม่สำเร็จ

เมอร์ด็อกฉลาดพอที่จะรู้ว่า นอกจากชื่อเสียงและภาพลักษณ์อันดีด้วยคุณภาพของนิตยสารนี้ คลังภาพมหาศาลซึ่งหายาก ข้อมูล งานวิจัย และการค้นพบจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ทั่วโลกมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปีนั้นคือสมบัติเจ้าคุณปู่อันประมาณค่ามิได้

เมอร์ด็อกทุ่มเงินซื้อกิจการคิดเป็นเงินไทยประมาณ ๒.๕ หมื่นล้านบาท เพื่อครอบครองคลังสมบัติ จึงนับว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทของเขาที่มีรายได้เกือบ ๑ ล้านล้านบาท

ส่วนความน่าเชื่อถือของนิตยสารจะเป็นอย่างไรโปรดติดตามต่อไป โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่นิตยสารฉบับนี้เกาะติดมานาน ขณะที่เมอร์ด็อกมีแนวคิดขวาจัดและไม่เชื่อความเห็นของนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนที่เตือนว่าสภาพภูมิอากาศของโลกกำลังร้อนขึ้น เขาอาจชี้นำให้ National Geographic เลิกตีพิมพ์เรื่องราวที่สะท้อนความเป็นจริงเรื่องดังกล่าวให้ประชาชนรับรู้ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่เครือข่ายโทรทัศน์ฟอกซ์นิวส์กำลังทำ

ระหว่างอิทธิพลทางการเงิน ความอยู่รอดขององค์กร กับความน่าเชื่อถือในงานวิจัย จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร อีกสักพักคงได้รู้กัน

Comments

  1. Pingback: ฉบับที่ ๓๗๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ‹ สารคดี.คอม

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.