นางาซากิรำลึก คนตายเขียนไม่ได้ แต่คนเขียนได้ตายทั้งเป็น

บริเวณกำแพงทางออกอาคารพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ (Nagasaki Atomic Bomb Museum )มีภาพถ่ายขาวดำเด็กชายแบกทารกไว้ที่หลัง ได้ตรึงผู้เขียนให้หยุดดูนานก่อนออกจากสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความโหดร้ายของสงครามที่มีต่อชาวเมืองนางาซากิจากการทิ้งระเบิดปรมาณูของทหารอเมริกัน เมื่อ ๗๒ ปีก่อน

ภาพถ่ายนี้เป็นหนึ่งในสัญญลักษณ์ความทุกข์เวทนา สะเทือนใจผู้พบเห็น และบอกอารมณ์ความรู้สึกของสงครามอย่างหมดจด

Joe O’Donnell ช่างภาพสงครามชาวอเมริกันผู้ถ่ายภาพนี้ได้ในเมืองนางาซากิ ในปีค.ศ. ๑๙๔๕ ภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ให้สัมภาษณ์เบื้องหลังภาพนี้ว่า

“เมื่อผมเดินทางมาถึงเมืองนางาซากิ ผมเห็นผู้คนอุดจมูกด้วยผ้าขาว กำลังเผาซากศพจำนวนมากในหลุมขนาดใหญ่

สักพักผมเห็นเด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณสิบขวบกำลังเดินมา เขาแบกเด็กทารกคนหนึ่งบนหลังดูเหมือนเป็นภาพปกติที่จะเห็นพี่ชายแบกน้องตัวเล็กขึ้นหลังเดินไปมา

แต่ภาพของเด็กคนนี้แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เด็กเดินตีนเปล่ามาที่เผาศพ มีทารกบนหลังหงายศีรษะขึ้น ราวกับเพิ่งหลับ

เขาเดินมาถึงปากหลุม และจ้องมองลงไปอย่างสงบ

เด็กชายยืนนิ่งเกือบสิบนาที จนมีชายคนหนึ่งเดินมาหา ค่อย ๆ ปลดเชือกที่คล้องตัวทารกออกมาจากหลังเด็กชาย ผมเข้าใจทันทีว่าทารกตายแล้ว และเอาร่างทารกไปวางบนกองฟืนที่กำลังลุกโชน

ไฟลามศพทารก เสียงเผาศพดังเป็นระยะ เด็กชายยืนนิ่งเงียบมองเปลวไฟราวกับไร้วิญญาณ ผมสังเกตเห็นริมฝีปากมีสีแดง เขากัดริมฝีปากล่างจนเลือดหยดออกมา

เขายืนอยู่ตราบจนไฟไหม้ศพน้องชายของเขาจนเป็นเถ้าหมด ดวงอาทิตย์กำลังลับฟ้า แล้วเขาเดินจากไปอย่างเงียบ ๆ”

๙ สิงหาคม ๑๙๔๕ ระเบิดปรมาณูได้ระเบิดเหนือเมืองนางาซากิ สามวันหลังจากระเบิดลูกแรกได้ถล่มเมืองฮิโรชิม่า มีคนตาย ๑๔๐,๐๐๐ คน เพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามกับสหรัฐอเมริกา หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ ๖๗เมืองของญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึงหกเดือนเพราะกองทัพประเมินแล้วว่า หากใช้กองทหารบุกเกาะญี่ปุ่น อาจจะถูกต่อต้านอย่างหนัก และต้องสูญเสียทหารอเมริกันนับล้านคน แนวทางที่สูญเสียชีวิตทหารน้อยกว่า คือการทิ้งระเบิดปรมาณูเป้าหมายทางพลเรือน เพื่อข่มขวัญศัตรูว่ามีอาวุธมหาประลัยแต่เมื่อญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้ ระเบิดปรมาณูลูกที่สองก็ตามมา

อันที่จริงนางาซากิไม่ใช่เป้าหมายหลักการทิ้งระเบิด ทหารอเมริกันวางแผนว่าจะทิ้งเมืองโคคูระ เช้าวันนั้นเครื่องบิน B-29 ได้บินไปเหนือเมือง ปรากฏว่ามีหมอกควัน มองไม่เห็นเป้าหมายข้างล่างนักบินวนเหนือเมืองถึงสามรอบ แต่ทัศนวิสัยแย่มาก จึงตัดสินใจเลือกแผนสำรองบินมาเป้าหมายที่สองคือนางาซากิ นักบินได้ปล่อยระเบิดพลูโตเนียมที่มีอานุภาพทำลายสูงสุดออกจากเครื่องบิน เมื่อเวลา ๑๑.๐๒ น.

เวลานั้นนางาซากิมีพลเมืองประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ คน ระเบิดมหาประลัยทำให้มีผู้เสียชีวิต ๗๐,๐๐๐ กว่าคน บาดเจ็บนับแสนคน และเมืองพังพินาศ ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยเกือบหมด

หลักฐานสำคัญชิ้นแรกเมื่อผู้เขียนเดินเข้าไปอาคารจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ระเบิดปรมาณูนางาซากิ คือ ซากนาฬิกาแขวนเก่า ๆ เคยตั้งอยู่ห่างจากศูนย์การระเบิด ๘๐๐ เมตร เข้มสั้นชี้เลข ๑๑ เข็มยาวชี้เลข ๑ นาฬิกาหยุดเดินเวลา ๑๑.๐๕ น.เมื่อระเบิดได้กระทบพื้นดิน

๑๑.๐๕ เวลาหยุดโลก หยุดชีวิตชาวเมืองนางาซากิ

ผู้เขียนเดินดู ซากชิ้นส่วนสิ่งของต่างๆ ที่ยังหลงเหลือเป็นหลักฐาน ข้อมูลเหตุการณ์ สาเหตุการเกิดช่วงเวลาเครื่องบินทิ้งระเบิดลงมา ถ่ายภาพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและซากปรักหักพังของเมืองผู้รอดชีวิต แต่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยโรคลูคีเมีย(มะเร็งเม็ดเลือดขาว) จากพิษของสารกัมตภาพรังสีและคำพูดแสดงความรู้สึกของชาวบ้าน ลูกเล็กเด็กแดง ที่ต้องมารับเคราะห์แทนผู้กระหายสงคราม

บางตอนมีคำพูดของผู้รอดตายว่า

“ ท้องทุ่งไหม้เกรียมเป็นสีแดงเพลิง ไฟยังลุกไหม้ผู้คน
แม่ของฉัน อยู่ในกองเพลิง
พี่สาวของฉัน อยู่ในกองเพลิง
และมีเพียงเถ้าถ่านที่หลงเหลืออยู่”
ซากู ชิโมฮิรา วัย ๑๑ ขวบ

“ขอให้ฉันกลับไปอยู่อดีตเถิด ขอเพียงแค่ครั้งเดียว
ฉันต้องการแม่ ฉันต้องการพ่อ
ฉันต้องการพี่ชาย ฉันต้องการพี่สาว”
ฟูจิโอ ชึจิโมโต วัย ๕ ขวบ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ในวันที่นางาซากิโดนพิษร้ายของสารพลูโตเนียมอาบกินไปเกือบทั้งเมืองโดยที่ชาวเมืองไม่ได้มีส่วนรับรู้ในการก่อสงครามเลย แต่ต้องมาเป็นผู้รับเคราะห์ร้ายโดยตรง

ผู้รอดชีวิตจำนวนมาก ก็เหมือนกับตายทั้งเป็น เมื่อคนในบ้านตายหมดเหมือนอย่างหัวหน้าครอบครัวชื่อ อัทซูยูกิ มัทซูโอะ บันทึกไว้ว่า

“๙ สิงหาคม นางาซากิ โดนระเบิดปรมาณู ฉันมาถึงบ้านเมื่อพลบค่ำแห่งความตายมีใครอยู่ไหม

ภายใต้ซากปรักหักพัง

ฉันพบเมียบาดเจ็บสาหัส และศพลูกสองคนข้างถนน เธอได้เล่าว่าลูกตายอย่างไร (อายุหนึ่งและสี่ขวบ)เธอบอกว่าลูกของเราตายมีรอยยิ้มในอ้อมกอดของแม่

แม่วางลูกสองคนลงบนพื้น

เมื่อไม่มีอะไรมาหุ้มตัวลูก ฝูงแมลงวันก็บินมาไต่ตอม

ลูกชายคนโตอีกคนบาดเจ็บสาหัสก่อนจะตายตามไป

นอนตายอยู่ข้าง ๆ แม่

๑๑ สิงหาคม ฉันรวบรวมกองฟืนเผาลูกทั้งสามคน รุ่งขึ้นหมอกน้ำค้างยามเช้าได้ชำระเถ้าถ่านของลูกสามคนไปหมด
๑๓ สิงหาคม เมียทนพิษบาดแผลไม่ไหวตายไปอีกคน
๑๕ สิงหาคม ฉันเผาศพเธอ วันเดียวกับที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

หลังจากสูญเสียทุกสิ่ง ฉันยืนสงบนิ่ง เมื่อระเบิดปรมาณูสี่ลูกซ้อนระเบิดตัวฉัน ฉันจุดไฟเผาศพ ให้เปลวไฟลุกไหม้ไปพร้อมกับคำยอมแพ้สงคราม”

คนตายเขียนไม่ได้ แต่คนเขียนได้ตายทั้งเป็น

สารคดี สิงหาคม 2560

Comments

  1. www.linux.net

    If job sɑfety is high iin your checklist of priorities, his is one other factor tһat
    іsmt provided by freelancіng. Mаny ⲣeople
    should be assured of steady income, at a rate that they will count on,
    with a purpose tߋ ргeseгve thir bills and on a
    regular basis living expenses aas much аs date. Freеlancing willl
    not provide the joЬ annd revenue security thɑt youd hace from being on the workers of
    a reguⅼation firm.

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.