แม่น้ำโขงและปลาบึกที่เห็นมา

ผมไปเที่ยวอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายหลายครั้ง ทุกครั้งที่ไปมักจะไปพักรีสอร์ตตามิละริมฝั่งแม่น้ำโขง  ตื่นเช้ามาดูพระอาทิตย์ดวงกลมโตขึ้นเหนือขุนเขา พร้อมกับนั่งจิบกาแฟทอดสายตาดูสายน้ำโขงไหลคดเคี้ยวหายลับเข้าไปในดินแดนลาว เป็นความสุขสงบง่ายๆ ที่ไม่เคยลืม

ครั้งหนึ่งในชีวิต พวกเราควรจะมีโอกาสมาดูพระอาทิตย์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขงนะครับ เห็นเรือหาปลาแล่นตัดแสงสะท้อนสีเหลืองอร่ามของดวงอาทิตย์กลางลำน้ำ เป็นภาพที่บรรยายไม่ถูกจริงๆ

เมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อน ผมไปเที่ยวอำเภอเชียงของเพื่อไปดูการจับปลาบึก ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่บ้านหาดไคร้ หมู่บ้านเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีหาดทรายสวยงาม

บ้านหาดไคร้เป็นหมู่บ้านเดียวในประเทศไทยที่มีประเพณีการล่าปลาบึกเป็นประจำทุกปี แม้ว่าแม่น้ำโขงจะไหลผ่านหลายพื้นที่หลายจังหวัดในประเทศ แต่หาดไคร้มีลักษณะภูมิประเทศเหมาะสมกับการล่าปลาบึก ด้วยกระแสน้ำบริเวณนั้นไม่ไหลเชี่ยว ก้นน้ำเป็นทราย ในฤดูแล้งระดับน้ำไม่ลึก จึงเหมาะเป็นแหล่งจับปลาบึก

ทุกปีในเดือนเมษายน ปลาบึกจะว่ายทวนน้ำจากทะเลสาบเขมร เดินทางไกลนับพันกิโลเมตรมาตามแม่น้ำโขง ผ่านเขมร ลาว ไทย ขึ้นมาวางไข่บริเวณเกือบถึงชายแดนจีน  บรรดาพรานล่าปลาบึกจะมารวมตัวกันวางตาข่ายที่เรียกว่า “มอง” กั้นกลางลำน้ำโขงเพื่อดักปลาบึก และปีนั้นหาดบ้านไคร้ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ ด้วยเจ้าชายอากิชิโนแห่งญี่ปุ่นได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตร

ผมโชคดีมีโอกาสเห็นปลาบึกในธรรมชาติเป็นครั้งแรกในชีวิต  ปลาบึกตัวนั้นชาวบ้านจับขึ้นมาได้ เป็นเพศเมียน้ำหนัก ๒๐๐ กิโลกรัมเศษ รูปร่างคล้ายปลาสวาย ขนาดลำตัวยาวเมตรกว่า  ผมยังได้เห็นปลาบึกอีก ๒-๓ ตัวในเวลาไม่กี่วัน บางตัวโชคดีมีคนซื้อไปปล่อย หลายตัวมีพ่อค้าจากภัตตาคารมารับซื้อไปประกอบอาหารตัวละไม่ต่ำกว่า ๕ หมื่นบาท

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าทุกวันนี้มนุษย์มีความรู้เรื่องปลาบึกน้อยมาก มันยังเป็นสัตว์ลึกลับตลอดกาล

ปีนั้นมีปลาบึกถูกจับได้ ๗ ตัว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีชาวประมงแถวนี้เคยจับได้เฉลี่ยปีละ ๒๐-๓๐ ตัว แต่หลังจากเขื่อนม่านวานกั้นแม่น้ำโขงทางภาคเหนือของจีนเริ่มเก็บกักน้ำ ปริมาณปลาบึกที่จับได้ก็ลดลงไปเรื่อยๆ

ปีนี้ผมมาเยี่ยมแม่น้ำโขงที่เชียงของอีกครั้งหนึ่ง ผมเดินไปตามหาดทรายริมฝั่งโขงเพื่อดูให้เห็นกับตาจากที่ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจนเหือดแห้ง ต่ำที่สุดในรอบ ๒๐ ปี

น้ำแห้งจริงๆ ครับ

เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าบอกว่า ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในประเทศจีน ทุกวันนี้น้ำในแม่น้ำโขง ไม่ได้ขึ้นลงตามธรรมชาติอีกต่อไป บางปีน้ำมากจนเกิดอุทกภัย บางปีแล้งจัด  สาเหตุสำคัญของปัญหาระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากในหน้าแล้งเป็นเพราะปีนี้ทางตอนใต้ของจีนมีปริมาณฝนน้อย ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจึงน้อยกว่าปรกติ และทำให้เขื่อน ๘ แห่งที่กั้นแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหลานชางในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ปั่นไฟผลิตกระแสไฟฟ้า

ผมล่องเรือไปตามลำน้ำโขงเหนือหาดไคร้ขึ้นไป ภูมิประเทศเต็มไปด้วยเกาะแก่ง มีโขดหินน้อยใหญ่เป็นเกาะแก่งกลางน้ำมากมาย  ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นที่วางไข่ของปลาบึกมากกว่าแถวประเทศจีน ชาวบ้านบอกอีกว่าที่ผ่านมาจับปลาบึกได้แค่ตัวเดียว ปีนี้ไม่รู้ว่าจะจับปลาบึกได้อีกหรือไม่ และปลาชนิดอื่นๆ ก็จับยากขึ้นด้วย ตั้งแต่การไหลของน้ำตามธรรมชาติเปลี่ยนไปนับจากการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าระบบนิเวศในลำน้ำโขงที่เปลี่ยนไปน่าจะส่งผลกระทบต่อการวางไข่และการกระจายพันธุ์ของปลาบึกอย่างแน่นอน

ชะตากรรมของปลาบึกกับพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน ดูจะเป็นเส้นขนานกันจริงๆ

จากสารคดี เมษายน 2553

Comments

  1. คนคู่

    ฤา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงจนเหือดแห้ง ต่ำที่สุดในรอบ ๒๐ ปี… มันส่งผลให้น้ำใจคนไทยในยามนี้แห้งแล้งกันได้ถึงเพียงนี้

    ชะตากรรมของปลาบึก…ประชาชนผู้ต่ำต้อย กับพลังงานไฟฟ้า…รัฐบาล ดูจะเป็นเส้นขนานกันจริงๆ (ขออนุญาตตัดต่อข้อความ ปล.หากจะต้องถูกสอบสวนเพื่อขยายผล กรุณาแจ้งข้อหาให้ถูกต้องว่า คดีล้มคนทรงเจ้า

  2. Pingback: Tweets that mention แม่น้ำโขงและปลาบึกที่เห็นมา | -- Topsy.com

  3. *-*

    😉 ทามมัยตัวไหญ่จังเลย 😐 🙄
    😛 😳 ใหญ่จิงๆ
    และหน้ากลัวด้วย :mrgreen: :mrgreen:
    เห็นแล้วขนลุก 😳 😛 🙄 😆 :mrgreen: เลย :mrgreen: 😆 :mrgreen: 😀 ❗

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.