ฉือจี้ “ยิ่งทำงานหนัก ตัวตนยิ่งเล็กลง ”

จากภาพ : ประติมากรรมหมู่ นำโดยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ฉือจี้ ที่ฮั่วเหลียน

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากที่พายุไซโคลนพัดถล่มประเทศพม่า รัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้องค์กรต่างประเทศเข้าไปช่วยเหลือเด็ดขาดแต่ความจริงมีองค์กรต่างประเทศแห่งหนึ่ง ได้พูดจาทำความเข้าใจกับทางการพม่า จนสามารถเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยได้อย่างเงียบ ๆ เป็นรายแรก

หลายคนเคยอาจได้ยินชื่อมูลนิธิพุทธฉือจี้ ในประเทศไต้หวันมูลนิธิพุทธฉือจี้เป็นขบวนการด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอาสาสมัครกระจายอยู่ทั่วโลกมากกว่า 5 ล้านคน คอยช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ ตั้งแต่กรณีแผ่นดินไหวในประเทศจีน หรือผู้ประสบภัยจากเหตุสึนามิ ในเอเชีย ไปจนถึงการไปช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับผู้หิวโหยในทวีปแอฟริกา และในทวีปอเมริกาใต้ จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นองค์กรระดับโลกรอง ๆจากองค์การกาชาดสากลเลยทีเดียว

ทุกวันนี้มูลนิธิพุทธฉือจี้ มีอาสาสมัครตั้งแต่เศรษฐีหมื่นล้าน ไปจนถึงชาวบ้านที่พร้อมจะใช้เวลาว่างมาใช้แรงงาน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่นับรวมการบริจาคเงินที่ทำให้มีเงินบริจาคจากทั่วโลกปีละหลายหมื่นล้านบาท คนเหล่านี้มีทั้งผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ นายธนาคาร วิศวกร นายแพทย์ ผลัดกันมาทำงาน เป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิแห่งนี้ จนทำให้มูลนิธิสามารถดำเนินกิจการได้อย่างก้าวหน้า และมีการจัดการอันทันสมัยระดับโลก

แต่ในขณะเดียวกัน อาสาสมัครเหล่านี้จะมีลักษณะอ่อนน้อมถ่อมตน มาทำงานอย่างเงียบ ๆ และกลับไปอย่างเงียบ ๆ ไม่หวังลาภยศสรรเสริญ หรือเหรียญตราอันใด

เพราะความสุขอันแท้จริงของเขาคือได้ช่วยเหลือผู้อ่อนด้อยกว่าในสังคม ตามคำสั่งสอนของพุทธมหายาน ที่เชื่อว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ยากคือภารกิจสำคัญของชาวพุทธ

อาสาสมัครเหล่านี้หลายคนพกพาสปอร์ตติดตัวเสมอ เผื่ออาจจะต้องเดินทางทันทีเมื่อเกิดเหตุร้ายในโลกนี้

ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปดูงานมูลนิธิแห่งนี้ที่ประเทศไต้หวัน ทำให้รู้ว่า ก่อนที่มูลนิธิฉือจี้จะออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในต่างประเทศนั้น มูลนิธิแห่งนี้ได้ช่วยเหลือคนยากคนจนในไต้หวันมาตลอดระยะเวลา 40 ปี โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล ให้การศึกษาแก่ผู้ยากไร้ และมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง

เราพบว่ามูลนิธิแห่งนี้ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลทันสมัยขนาดพันเตียงขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ และก่อตั้งมหาวิทยาลัย มีคณะแพทย์ศาสตร์คอยผลิตแพทย์ที่สอนให้เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก ปฏิบัติกับคนจนไม่ต่างจากคนรวย ในขณะเดียวกันก็ได้ชื่อว่าเป็นคณะแพทย์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยแห่งหนึ่งในเอเชีย

ไม่น่าเชื่อว่ามูลนิธิเแห่งนี้เกิดจากคนตัวเล็ก ๆไม่กี่คนเมื่อสี่สิบปีก่อน ภิกษุณีท่านหนึ่งชื่อ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ได้พบกองเลือดระหว่างทาง จึงสอบถามชาวบ้านว่าเป็นเลือดผู้ใด ได้รับคำตอบว่า เป็นเลือดของหญิงชาวเขาคนหนึ่งที่แท้งลูกตาย เพราะเจ็บท้องใกล้คลอด ต้องเดินทางไกลมาโรงพยาบาล แต่หมอไม่ยอมรักษา เพราะคนป่วยไม่มีเงิน จึงเดินทางกลับและแท้งลูกกลางทาง

ท่านเจิ้งเหยียนได้ฟังด้วยความเวทนา จึงตั้งปณิธานว่าจะสร้างโรงพยาบาลเพื่อคนจนขึ้นมาให้ได้ โดยร่วมมือกับแม่บ้านแถวนั้นอีก 30 คน เที่ยวไปบอกบุญขอรับบริจาคเงินจากประชาชน จากปากต่อปากเป็นเวลาหลายปี ผู้คนได้เห็นความตั้งใจจริงของท่านเจิ้งเหยียนและขบวนการแม่บ้าน จนสามารถสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นสำเร็จเป็นแห่งแรก และสร้างต่อมาอีก 4 แห่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังสร้างโรงเรียน มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่โต มีคุณภาพสูงหลายแห่ง เพื่อให้การศึกษากับบุตรหลาน ให้เป็นคนดีมีคุณธรรมในสังคม

อันที่จริงชาวไทยพุทธก็สามารถบอกบุญหาเงินบริจาคกันได้มาก แต่น่าเสียดายที่เงินส่วนใหญ่มักไปสร้างโบสถ์ วิหารขนาดใหญ่อลังการ มากกว่าจะมาสร้างโรงพยาบาล หรือโรงเรียน
คนไทยหลายคนยังเชื่อว่า การทำบุญกับพระ หรือทำบุญให้วัด ให้กับผู้มีบุญ จะช่วยส่งผลบุญให้คนทำบุญ แต่หากไปให้ทาน หรือทำบุญกับคนยากคนจน คนเหล่านี้ไม่ใช่คนมีบุญ ทำบุญกับคนเหล่านี้จึงเรียกว่า ทำบุญไม่ขึ้น สู้ทำบุญกับพระกับวัดไม่ได้

แต่พอไปดูสำนักหรืออารามฉือจี้ที่เมืองฮวาเหลียน กลายเป็นสำนักเล็ก ๆ ไม่ได้ใหญ่โตสมฐานะ เหมือนเจ้าอาวาสวัดในบ้านเรา เตียงนอนของท่านเจิ้งเหยียน ก็เป็นเตียงไม้เก่า ๆที่ใช้งานมาสี่สิบกว่าปี

ที่สำคัญคือบรรดาภิกษุณีหรือผู้ปฏิบัติธรรมในอารามต้องตื่นแต่เช้ามาทำงาน ปลูกผัก ปลูกข้าว กันเอง ตามคติของท่านเจิ้งเหยียนที่ว่า ไม่ทำงาน ก็ไม่มีกิน
ส่วนเงินบริจาคนับหมื่นล้านในแต่ละปี จะตรงไปสู่การทำกุศลทั้งสิ้น จะมีการทำบัญชีชัดเจนว่าใช้ในกิจการสังคมสงเคราะห์งานใด
รายได้ไม่มีการแบ่งประเภทวัดครึ่ง กรรมการครึ่งแบบบ้านเราเด็ดขาด

วันต่อมาผมไปดูศูนย์เก็บขยะรีไซเคิ้ล และนับถือใน “จิตอาสา” ของชาวไต้หวัน ยิ่งนัก

แต่ละวันจะมีอาสาสมัครขับรถบรรทุกออกไปเก็บขยะตามจุดต่าง ๆ ที่คนไต้หวันนำมาทิ้ง แต่เขาจะมีกติกาว่า ทุกคนต้องแยกขยะก่อนนำมาทิ้ง และเขาจะรู้กันว่า วันไหนรถขยะจะมาเก็บขยะประเภทใด อาทิ วันจันทร์เก็บเฉพาะขยะพลาสติก วันพุธเก็บเฉพาะกระดาษ ฯลฯ

หลังจากนั้นรถบรรทุกจะเอาขยะมากองไว้ที่ศูนย์เก็บขยะ อันเป็นที่ดินที่มีคนบริจาคให้กับมูลนิธิฉือจี้ และจะมีอาสาสมัครตั้งแต่เด็ก ๆ คนทำงานบริษัท แม่บ้าน เอามือมาช่วยแยกขยะอย่างไม่รังเกียจ เพื่อนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าเพื่อนำไปรีไซเคิ้ลต่อไป

เชื่อไหมว่ารายได้จากกองขยะเหล่านี้ที่กระจายอยู่ทั่วไต้หวัน สามารถนำมาเป็นเงินทุนส่วนหนึ่งที่สร้างสถานีโทรทัศน์ ต้าอ้าย ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ได้สำเร็จ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลสูงสุดแห่งหนึ่งเมื่อเทียบกับสถานีโทรทัศน์นับร้อยช่องในประเทศ และออกอากาศผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก

อาสาสมัครที่มาแยกขยะ เชื่อมั่นว่างานที่เขาทำ ไม่ใช่งานอันต่ำต้อย ช่วยทำให้เกิดรายการดี ๆ ให้คนในโลกดู เป็นการให้การศึกษาที่กว้างไกลที่สุด

คณะที่เดินทางร่วมไปไต้หวัน มีอาสาสมัครฉือจี้ที่เป็นคนไทยด้วย ผมมาทราบตอนหลังว่า อาสาสมัครท่านนี้เป็นนักธุรกิจระดับพันล้านในเมืองไทย เคยชอบเล่นการพนัน ท่านบอกว่าแต่ก่อนเป็นคนอารมณ์ร้อน ไม่เคยยอมใคร ไม่เคยไหว้ใครก่อนตามวิสัยผู้มีอำนาจวาสนา แต่วันหนึ่งได้ดูรายการโทรทัศน์ของฉือจี้ผ่านดาวเทียม เห็นกิจกรรมที่ทำแล้วน่าสนใจ จึงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยทำงาน ผ่านไปได้หลายปี ตอนนี้ชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว เลิกเล่นการพนัน ใจเย็นขึ้น สามารถยกไหว้ผู้ต่ำต้อยกว่าได้สนิทใจ

ชาวพุทธฉือจี้ถือคติที่ว่า “ยิ่งทำงานหนัก ตัวตนยิ่งเล็กลง ”

สวนทางกับชาวไทยที่ “ยิ่งทำงาน ตัวตนยิ่งใหญ่ขึ้น”

จนใหญ่คับบ้านคับเมืองกันให้วุ่นวายถึงทุกวันนี้

 

Comments

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.