ชีวิตและความตายของกระเบนราหู

เคยสังเกตความแตกต่างไหมครับ

เวลาเราเห็นภาพถ่าย หรือดำน้ำลงไปใต้ท้องทะเล เราจะเห็นความสวยงามของปลานานาชนิด เพราะทะเลน้ำใส แต่เราแทบจะไม่เคยมีโอกาสเห็นภาพถ่ายใต้น้ำของปลาในแม่น้ำเลย เพราะความขุ่นของน้ำ จนแทบจะมองอะไรไม่เห็น

ปลาน้ำจืดจึงเป็นสัตว์น้ำที่ศึกษายากกว่าปลาทะเล ยิ่งปลาที่หากินลึกระดับผิวดิน นาน ๆ จะโผล่ขึ้นมาระดับผิวน้ำ ยิ่งลำบากในการศึกษารู้จักวิถีชีวิตของพวกเขา

กระเบนราหูเป็นปลาหากินผิวดินที่ได้ชื่อว่า เป็นปลาลึกลับมานานแสนนานจนถึงปัจจุบัน หลายคนคงไม่ทราบว่า ปลากระเบนราหูเป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ มีอายุเก่าแก่ย้อนกลับไปหลายสิบล้านปี จนเพื่อนร่วมโลกสมัยนั้นคือไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กระเบนก็ยังอุตส่าห์ผ่านร้อนผ่านหนาวมีชีวิตรอดมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ดูเหมือนใกล้สูญพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์อย่างเรา

กระเบนราหูเป็นปลาที่ในโลกนี้มีเฉพาะใน เกาะบอร์เนียว แม่น้ำโขง แม่น้ำในเขมรและ แม่น้ำในภาคกลางของไทยอาทิ เจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง มันจึงได้รับการตั้งชื่อ ว่า Himantura chaophraya เพื่อเป็นเกียรติตามสถานที่ค้นพบครั้งแรกคือแม่น้ำเจ้าพระยา

และสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “ราหู” เนื่องจากขนาดลำตัวที่ใหญ่เหมือนราหูอมจันทร์ตามคติของคนโบราณ อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า หากใครพบเห็นหรือจับปลากระเบนราหูน้ำจืดได้ จะพบกับความโชคร้าย

ขนาดของปลาชนิดนี้ใหญ่จนกลายเป็นปลากระเบนน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เคยมีคนพบน้ำหนักถึง 600 กิโลกรัม ความกว้าง 2.5-3 เมตร ความยาวตั้งแต่ปลายส่วนหัวจรดปลายหางที่บันทึกไว้ได้ใหญ่ที่สุด คือ 5 เมตร และเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากปลากระเบนแมนตา (Manta spp.) ที่พบได้ในทะเล

ทุกวันนี้ทั่วโลกได้ระบุว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ IUCN จัดให้กระเบนชนิดนี้มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ในระดับโลก สำหรับในประเทศไทยจัดว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered)

สำหรับผู้เขียน การได้เห็นปลาชนิดนี้จึงนับเป็นความโชคดีมากกว่าความโชคร้าย และภาวนาว่าอยากเห็นเป็นบุญตาครั้งหนึ่งในชีวิต

ประเทศไทยนับเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติที่สำคัญมากของสัตว์มหัศจรรย์ชนิดนี้  กระเบนราหูจึงถือเป็นสัตว์น้ำคู่บารมีของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลองอันควรค่าต่อการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง

แต่สำหรับกระเบนราหูแล้ว การได้พบมนุษย์น่าจะเป็นโชคร้ายมากกว่าโชคดี

ที่ผ่านมามักมีข่าวอยู่เป็นระยะว่า มีการตกปลากระเบนราหูได้ จับขึ้นมาแล้วก็มาแล่เนื้อขายกันริมแม่น้ำ

แต่แล้วปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดโศกนาฎกรรมในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปรากฏว่ามีปลากระเบนราหูค่อย ๆ ลอยน้ำตายไปทีละตัวสองตัว และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนระยะเวลาไม่กี่วัน พบว่ามีปลากระเบนลอยน้ำตายไม่ต่ำกว่า 50 ตัว บางตัวน้ำหนักมากถึง 200 กิโลกรัม ก่อนหน้านี้ หากมีข่าวการล่าปลากระเบนเพียงตัวเดียว ก็เป็นข่าวใหญ่โตแล้ว แต่ตอนนี้ตายในช่วงเวลาเดียวกันถึง 50 ตัว

นักวิชาการได้ประเมินว่า เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง เพราะคาดว่าปลาที่พบน่าจะพบเพียง 1 ใน 3 ของที่ตายทั้งหมด คือตายประมาณ 150 ตัว จากที่คาดว่าในแม่น้ำภาคกลางของไทยมีประชากรปลากระเบนราหูไม่เกิน 200 ตัว

การตายของปลากระเบนราหูครั้งนี้ อาจเปรียบเทียบได้กับ เสือโคร่ง 50 ตัวในป่าห้วยขาแข้งถูกยาเบื่อตายทีเดียวพร้อมกัน

ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ แถลงสรุปสาเหตุ การตายของปลากระเบนราหูในลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ว่าเกิดจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานราชบุรีเอทานอลทำให้แอมโมเนียในน้ำสูง เป็นพิษต่อปลากระเบนเฉียบพลัน

กรมควบคุมมลพิษใช้วิธีตั้งสมมติฐานว่าระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระ จากการรั่วไหลของน้ำกากส่าโรงงานราชบุรีเอทานอล โดยจำลองแหล่งน้ำธรรมชาติและเติมน้ำกากส่าและวัดระดับแอมโมเนียทุกๆ 15 นาที พบว่าในเวลา 46 ชั่วโมง ที่น้ำไหลจากโรงงานมาถึงจุดที่พบปลาตาย มีค่าแอมโมเนียเพิ่มสูงถึง 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตรเกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำถึง 18 เท่า ทำให้ปลากระเบนตายเฉียบพลัน เพราะปลาไม่สามารถขับแอมโมเนียออกจากร่างกายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมีออกซิเจนต่ำ

สอดคล้องกับผลตรวจเนื้อเยื่อปลากระเบนที่พบสารไซยาไนด์ ของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ระบุว่าไซยาไนด์เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ปลากระเบนมีอาการอัมพาต และเมื่อเจอแอมโมเนียอิสระยิ่งทำให้เกิดพิษกับปลากระเบนสูงมากขึ้น

หลายคนคงสงสัยว่า สารพิษไซยาไนต์มาจากไหน คำตอบคือ มาจากมันสำปะหลัง ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลและผงชูรส จากโรงงานหลายแห่งริมแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่ราชบุรียันสมุทรสงคราม(แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีสาเหตุจาก ทัวร์ตกปลาจากเมืองจีน ที่เข้ามาบ่อยขึ้น มีการโรยสารไซยาไนต์ลงในแม่น้ำ เพื่อตกปลากระเบนได้ง่ายขึ้น ซึ่งต้องมีการสืบสวนต่อไป)

ที่สลดใจคือ ก่อนหน้านี้โรงงานแห่งนี้ได้ลักลอบปล่อยน้ำเสียออกมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน มีผู้แอบถ่ายคลิปได้ และพอวันที่ 6 ตุลาคม ก็พบปลากระเบนราหูลอยตาย

แต่บรรดาหน่วยราชการในจังหวัดก็ดาหน้าออกมาปกป้องว่า โรงงานแห่งนี้ไม่ได้เป็นสาเหตุของการตายของปลากระเบนราหู

เมื่อหลักฐานของกรมควบคุมมลพิษชัดขนาดนี้ ก็ต้องดูต่อไปว่า หน่วยราชการจะกล้าจัดการกับโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ไหม เพราะเจ้าของเป็นนักธุรกิจชื่อดังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย

ล่าสุดทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งปรับโรงงานแห่งนี้ในการปล่อยน้ำเสียเป็นเงิน 400,000 บาท อันเป็นโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายเงินไม่ถึงครึ่งล้าน แลกกับสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่อุตส่าห์อยู่รอดมาหลายสิบล้านปีร่วม 50 ตัว ไม่รวมปลาในกระชังหลายพันตัวที่ลอยตายจากน้ำเน่าเสีย

หรือว่า ปลากระเบนราหูตาย  แล้วไง

Momentum  29 /10

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.