รอยแผลที่ “เจืองเอ็ก”

รอยแผลที่ “เจืองเอ็ก”

5

สักครั้งหนึ่งในชีวิต เคยบ้างไหมที่เดินอยู่ในเมืองใหญ่แล้วรู้สึกว่ามีอณูความเศร้าปกคลุมอยู่ในบรรยากาศรอบตัว 

“พนมเปญ” ทำให้ผมรู้สึกแบบนั้น

ชื่อ “พนมเปญ” มีที่มาจากภูเขาลูกเตี้ยๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองอันเป็นที่มาของคำว่า “พนม” (ภูเขา) ส่วน “เปญ” มาจากนามของหญิงชราท่านหนึ่งซึ่งเคยตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณนี้

พลิกประวัติศาสตร์ เมืองหลวงของประชาชาติกัมพูชาผ่านสงครามนับครั้งไม่ถ้วนไม่ว่าจากการรุกรานโดยศัตรูภายนอกหรือสงครามกลางเมืองระหว่างคนเผ่าพันธุ์เดียวกัน

ถ้าเมืองแห่งนี้เป็นคน มากกว่าครึ่งชีวิตที่อยู่ท่ามกลางเพลิงสงครามและความเกลียดชัง

สำหรับคนคนพนมเปญรุ่นปัจจุบัน รอยแผลที่ลึกที่สุดและส่งผลกระทบต่อจิตใจพวกเขาที่สุดเกิดขึ้นในยุคเขมรแดงครองเมือง

ช่วงเวลาที่คนฝรั่งเศสเรียกขานสั้นๆ ง่ายๆ  ว่า “Khmer Rough” (ขะแมร์-รูจ)

                                                      – 1 –

เจืองเอ็ก (Choeung Ek) คือหนึ่งในรอยของแผลเป็นของเมืองนี้

โดยที่ตั้ง จะไปเจืองเอ็กต้องออกจากกรุงพนมเปญไปทางใต้ประมาณ 17 กิโลเมตร

เจือกเอ็ก ไม่ใช่หมู่บ้าน ไม่ใช่เขต แต่เป็นค่ายกักกันในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจระหว่างปี 2518-2522

สามปีนี้อยู่ในช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่าสงครามเย็น มีการต่อสู้ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียตกับค่ายโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

ในสามปีนี้ สถานการณ์ในอินโดจีนเขม็งเกลียวและตึงเครียดอย่างยิ่ง ที่ลาว รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยถูกโค่นล้ม ประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ในเวียดนามใต้ สหรัฐฯ หาทางถอนตัวจากหล่มสงครามโดยทิ้งให้รัฐบาลเวียดนามใต้สู้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือที่กำลังฮึกเหิมโดยลำพัง

กัมพูชาถูกขนาบด้วยสมรภูมิสงคราม เจอผลกระทบอย่างจังมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อนหน้านั้น เมื่อสมเด็จนโรดม สีหนุ กษัตริย์และผู้นำกัมพูชาใช้นโยบายเป็นกลาง ท่ามกลางการแทรกซึมจากกองกำลังฝ่ายต่างๆ ที่พยายามใช้ประเทศนี้เป็น “แนวหลัง” ส่งกำลังไปโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

ด้วยแรงบีบจากสหรัฐ ในที่สุดเจ้าสีหนุก็โดนรัฐประหารในช่วงต้นปี 2513 นายพลลอนนอลที่ขึ้นมาเถลิงอำนาจจัดการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ ตั้งรัฐบาลทหารที่มีนโยบายเข้าข้างสหรัฐฯ สุดลิ่มทิ่มประตู ทว่าครองอำนาจเพียง 5 ปี ลอนนอลก็ไปไม่เป็นเมื่อเจ้าสีหนุหันไปร่วมกับเขมรแดง (กองกำลังคอมมิวนิสต์) ศัตรูเก่า ยังผลให้การเคลื่อนไหวในชนบทของคอมมิวนิสต์เข้มข้นขึ้นจนปิดล้อมและตัดขาดพนมเปญจากโลกภายนอกได้ในต้นปี 2518

ในที่สุดรัฐบาลลอนนอลก็ล้ม สงกรานต์ปีนั้นเขมรแดงยาตราทัพเข้ากรุงพนมเปญ เปลี่ยนกัมพูชาเป็นคอมมิวนิสต์ไปอีกประเทศหนึ่งต่อจากเวียดนามและลาว

6

                                             – 2 –

“เจืองเอ็ก” เป็นผลโดยตรงจากเหตุการณ์นี้

ตรุษสงกรานต์ปี 2518 ชาวกัมพูชาพบว่าเขมรแดงไม่ได้ดีกว่ารัฐบาลทหารที่หนุนหลังโดยสหรัฐแต่อย่างใด ด้วยระบอบเขมรแดงคือการปกครองโดยคณะบุคคลนำโดยพอลพตที่ต้องการ “ปฎิวัติเบ็ดเสร็จ” ให้กัมพูชาเป็น “คอมมิวนิสต์สมบูรณ์”

อันหมายถึงทุกระบบการผลิตเป็นไปเพื่อรัฐและสังคม ไม่มีชนชั้น เป็นสังคมอุดมคติ (Utopia)

เขมรแดงทำสิ่งนี้ในชั่วระยะเวลาอันสั้นด้วยวิธีที่โหดร้ายที่สุดเท่าทีโลกเคยพบ

เมื่อเถลิงอำนาจได้ เขมรแดงจัดการอพยพคนออกจากจากเมืองทั่วประเทศ ไล่ปัญญาชน พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ และคนทุกอาชีพไปใช้แรงงานหนักในระบบนารวม (Commune) จากนั้นจำแนกว่าใครเป็น “ศัตรูทางชนชั้น” แล้วนำไป “กำจัดทิ้ง”

ส่วนเจ้าสีหนุ ก็ถูก “สหายรัก” หักหลัง “ถีบหัวส่ง” หลังใช้งานเสร็จ โดยขังเอาไว้เป็น “นกในกรงทอง” ที่พระราชวังกลางกรุงพนมเปญนานนับปี เพื่อรับหน้าคอมมิวนิสต์จีนที่คอยสอดส่องดูแลกษัตริย์ผู้เป็นปิยมิตรของตนด้วยการส่งทูตนั่งรถมาดูปาหี่ที่เขมรแดงจัดขึ้นด้วยการเอาพระองค์มานั่งหน้าพระราชวังปีละไม่กี่ครั้งเพื่อยืนยันว่าเจ้าสีหนุยังมีชีวิตอยู่ จากนั้นก็ปล่อยให้พระองค์ใช้ชีวิตอย่าง “พอเพียง” ด้วยการไม่ส่งอาหารเข้าไปให้จนทำให้พระองค์ต้องลงมือจับจอบเสียมขุดดินในพระราชอุทยานเพื่อปลูกผักกินเองในพระราชวังอันโอฬาร

เรียกให้เก๋ เขมรแดงสร้าง “การเมืองใหม่” ในกัมพูชาตามทัศนะพวกเขา

ยุค ชัง (Mr.Youk Chhang) ผู้อำนวยการศูนย์ Documentation Center of Cambodia- DC-Camp ชาวกัมพูชาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นและวันนี้กำลังทำหน้าที่รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อเอาผิดอดีตผู้นำเขมรแดงในข้อหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และ “ประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เล่าว่าเจืองเอ็กเป็นหนึ่งในศูนย์ความมั่นคง (Security Center) หรือค่ายกักกันที่มีหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ

ที่ “เจืองเอ็ก” นอกจากเป็น “ค่ายกักกัน” แล้ว มันยังทำหน้าที่เป็น “ลานประหาร” นักโทษด้วย

วันที่ผมไปถึงเจืองเอ็ก บรรยากาศของสถานที่อันเป็นที่มาของตำนาน “ทุ่งสังหาร” (Killing Fields) ซึ่งภายหลังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายทั่วโลกนั้นยังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอุทาหรณ์ให้คนรุ่นหลังดูอย่างครบถ้วน

เมื่อมาถึงทางเข้า ทางเดินจะพาไปยังตึกทรงสถูปที่บรรจุกะโหลกศรีษะมนุษย์ไม่ต่ำกว่า 5 พันหัวรวมถึงเศษเสื้อผ้าผู้เสียชีวิตที่ถูกรวบรวบมากองไว้ที่เดียวกัน

ถัดจากนั้นทางเดินดินจะนำเราไปจนถึงป้ายเล็กๆ ที่เขียนข้อความว่า “ตรงจุดนี้ รถบรรทุกที่ขนนักโทษจากจะมาจอดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น” อันเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการฆ่าคนบนทุ่งสังหาร

จากตรงนี้ ทางเดินจะนำเราตามรอยนักโทษในอดีตไปยังศาลาเล็กๆ ที่แสดงภาพถ่ายผู้เสียชีวิตที่มิได้มีเพียงชาวกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังมีฝรั่งเคราะห์ร้ายอีก 9 คนรวมเข้าไปด้วย ก่อนจะนำเข้าสู่พื้นที่ทุ่งสังหารซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมจำนวนมาก

หลุมเหล่านี้ลึกราว 3-5 เมตร ขุดด้วยแรงงานนักโทษ เมื่อขุดเสร็จนักโทษเหล่านี้จะถูกฆ่าด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าเอาดาบแทง ยิงทิ้ง ชอร์ตไฟฟ้า ฯลฯ ก่อนจะถูกโยนลงไปหลุมทับถมจนเป็นกองพะเนินแล้วฝัง

สำหรับที่เจืองเอ็ก หลุมแบบนี้มีไม่ต่ำกว่าร้อยหลุม ทุกหลุมยังกรุ่นด้วยกลิ่นของความตายและความเศร้าสลด 

หลุมหนึ่งมีป้ายเขียนว่า “หลุมนี้พบศพเด็กและผู้หญิงมากกว่า 100 ศพ”

หลุมหนึ่งเขียนว่า “หลุมนี้พบศพไร้หัว 166 ศพ”

ต้นไม้ต้นหนึ่งมีกระดูกคนที่ถูกฆ่าวางกองอยู่โคนต้นพร้อมป้ายที่เล่าว่าครั้งหนึ่ง ตรงต้นไม้นี้เคยเป็นจุดที่ทหารเขมรแดงเฆี่ยนตีเด็กๆ จนเสียชีวิต

อีกต้นหนึ่งมีป้ายบอกว่าเป็น “ต้นไม้เวทมนตร์” (Magic Tree) ด้วยเคยเป็นที่แขวนลำโพงเปิดเสียงกลบเสียงโหยหวนของผู้เคราะห์ร้าย

“เมื่อพวกเขาฆ่าคนหนึ่ง จะบันทึกและบอกว่าใกล้ความสำเร็จอีกก้าวหนึ่ง เมื่อพวกเขาฆ่าสองคน จะบอกว่าใกล้ความสำเร็จเข้าไปอีกสองก้าว แต่สำหรับผมนี่คืออาชญากรรม” ยุคเล่า

ปัจจุบัน ที่นี่ยังคงมีการพบเศษกระดูกและเศษเสื้อผ้าที่ผู้เคราะห์ร้ายในยุคนั้นสวมใส่ซึ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อหน้าดินถูกน้ำฝนชะล้าง

นี่คือพลังของการฆ่า – – ฆ่าจนประเทศลุกเป็นไฟและถอยหลังลงคลองไปนานนับสิบปี

ผลจากการที่ผู้นำรับ “ความเห็นต่าง” ไม่ได้ ทั้งยังดื้อดึงว่าความคิดของตนถูกต้องแต่ฝ่ายเดียว

DSCF5914

                                                  – 3 –

มีนาคม 2552

ภาพที่ชาวกัมพูชาในสมัยนั้นอาจจินตนาการไม่ถึงถูกถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ

สหายดุจ หรือ กังกึ๊กเอียว อดีตผู้อำนวยการเรือนจำตุลแสลง ปรากฎตัวทางโทรทัศน์ในศาลที่มีคณะตุลาการนานาชาติพิจารณาคดี “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และ “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

นอกจากสหายดุจ อดีตผู้นำเขมรแดงที่ยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ยังเหลืออีก 5 คน คือ นายเคียว สมพอน (Khieu Samphan) นายเอียงสารี (Ieng Sary) นายนวน เจีย (Nuon Chea) และนางเอียง ธิริต (Ieng Thirit) ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยข้อหาเดียวกัน

ท่ามกลางคำเรียกร้องของฮุนเซน นายกรัฐมนตรี (ตลอดกาล) คนปัจจุบันของกัมพูชาว่าให้ดำเนินการกับเฉพาะคนพวกนี้เท่านั้น ไม่ต้องสืบต่อเพราะจะทำให้เกิด “ความขัดแย้ง” ขึ้นในประเทศ หลังการกัมพูชามีเสถียรภาพระดับหนึ่งจากการเจรจาประนีประนอมระหว่างกลุ่มอำนาจหลายฝ่ายจนเกิดการเลือกตั้งครั้งแรกโดยความสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2542

ทว่า ปัจจุบันคนกัมพูชาร้อยละ 90 มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ใครไม่ประสบด้วยตนเอง ก็มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายรวมเป็นหนึ่งในเหยื่อเหล่านั้น

เรียกได้ว่าบทสรุปความโหดร้ายของการตีกันเองระหว่างผู้นำฝ่ายต่างๆ ในชาติครั้งนั้น ฝากแผลเป็นเอาไว้ในใจคนกัมพูชาทั้งประเทศ

ในพนมเปญ รอยแผลนี้ยังปรากฏอยู่ในสถานกักกันอีกแห่งคือตุลเสล็ง โรงเรียนที่ถูกดัดแปลงเป็นที่ทรมานนักโทษด้วยวิธีที่โหดที่สุดเท่าที่มนุษย์คิดออกไม่ว่า การชอร์ตไฟฟ้า การทรมานด้วยการจับกดน้ำ ทั้งยังมีกฎแปลกๆ ที่แสดงถึงสภาพจิตใจผู้บัญญัติ อาทิ  ห้ามนักโทษร้องเวลาถูกทรมาน  

* * * * * * * *

สายของวันที่แดดจัดจ้า ผมเดินสำรวจรอยแผลของพนมเปญและประชาชาติกัมพูชา

ทว่าข้อความของนักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งกลับดังก้องสะท้อนโครมครืนอยู่ในใจ

“ตาข่ายแห่งความทรงจำครอบคลุมกาลเวลา แต่เป็นฐานให้แก่ความเป็นจริงในปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคต ฉะนั้นการถักทอตาข่ายแห่งความทรงจำใหม่จึงเป็นความเจ็บปวดในทุกสังคม แม้กระนั้นก็เป็นความจำเป็น เพราะไม่มีสังคมใดสามารถเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ชั่วนาตาปีด้วยความทรงจำที่ไม่ทำให้ตนเองพร้อมจะเผชิญกับปัจจุบันและเข้าใจปัจจุบันได้จริง”

การปกปิดไม่ชำระสะสางประวัติศาสตร์คือคำตอบในการเดินสู่อนาคตจริงหรือ ประชาชาติกัมพูชาจะเดินหน้าไปโดยทิ้งปมปนระวัติศาสตร์ไว้เช่นนี้ในนาม “ความสมานฉันทน์” เพื่อรอวันที่แผลนี้จักปะทุขึ้นอีกในอนาคตหรือ

DSCF5938

หันหลับมามองเมืองไทย ผมนึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 – – 6 ตุลาคม 2519 – – และพฤษภาประชาธรรม 2535 ซึ่งวันนี้หลักฐานปรากฎมากขึ้นว่ามี “ไอ้โม่ง” บางคน (และอาจจะหลายคน) วางแผนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์หลังเหตุการณ์ที่สังเวยด้วยเลือดของประชาชนและ “ไฮแจ็ค” ชัยชนะของประชาชนไปทุกครั้ง

ต่อมาคือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงปลายปี 2551  

ล่าสุดคือการจลาจลช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

ทั้งหมดเกิดขึ้นในดินแดนที่เคยได้ชื่อว่า  “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม”

อ่านประวัติศาสตร์จะพบคำตอบ

คำตอบที่ชัดเจนว่าในเมืองไทยตอนนี้ ผู้ร้ายตัวจริงในกลุ่มชนชั้นนำหลายคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ยังคงมีหน้ามีตา ย้อมสีเป็น “กาขาว” ให้น่านับถือและทำหน้าที่เป็น “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”  “เล่นเกมอำนาจ”  “ทะเลาะกันเอง” และหลอก “หญ้าแพรกไปแหลกลาญ” อยู่อย่างต่อเนื่องก่อนจะเจรจาเกี้ยเซี้ยกันในที่สุดโดยยึดประโยชน์ของกลุ่มตนเป็นใหญ่

พวกเขายังคงทำได้เพราะสังคมไทยนั้น “ลืม” และไม่ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ทั้งของตนเองและเพื่อนบ้าน

ผมไม่ปรารถนาให้เหตุการณ์นี้ซ้ำรอยอีกในกัมพูชา และแน่นอนว่าไม่อยากเห็นมันเกิดขึ้นในประเทศไทย

ก็ได้แต่หวังว่าบรรดา “ผู้นำเสื้อสารพัดสี” ที่ทะเลาะกันอยู่ในเวลานี้จะหันกลับไปอ่านประวัติศาสตร์

และสังวรณ์ว่าถ้ายังหลอกประชาชนไปตายเพื่อตนเองอีก ในอนาคต “ศาลประชาชน” รอคุณอยู่

ดุจเดียวกับที่อดีตกลุ่มผู้นำเขมรแดงเผชิญชะตากรรมให้เราเห็นอยู่ ณ เวลานี้

One thought on “รอยแผลที่ “เจืองเอ็ก”

Comments are closed.