ครั้งหนึ่งที่ “นครวัด” (1)

ครั้งหนึ่งที่ “นครวัด” (1)

“See Ankor and die”
อาร์โนลด์ ทอยน์บี
นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ

– 1 –

มิถุนายน 2550 , เมืองเสียมเรียบ

ที่ชั้นบนสุดของปราสาทนครวัด ผมพบว่ารูปอัปสรายามต้องแสงอาทิตย์ที่สาดมาทางทิศอัสดงคตนั้นงดงามอย่างน่าตื่นตะลึง แต่พอตัดสินใจยกกล้องดิจิตอลขึ้นบันทึกภาพ ก็จะพบว่าเลข “0” สว่างวาบอยู่บนหน้าปัด – – บอกสถานะกล้องว่าไม่สามารถบันทึกภาพได้อีกต่อไปเว้นแต่จะลบภาพเก่าที่บันทึกในช่วงตลอด 3 วันที่ผมสัญจรอยู่ในแถบภาคเหนือของภาคเหนือของกัมพูชาออกสัก 7-10 ภาพ

ยืนอึ้งอยู่พักใหญ่ ผมก็ยอมจำนน ด้วยครั้นจะหันไปพึ่งกล้องฟิล์มติดเลนส์เอนกประสงค์ 24-120 มม. ที่เอามาด้วยก็ทำไม่ได้เสียแล้ว  เพราะฟิล์ม 20 ม้วนที่เตรียมมาก็ใช้ไปจนหมดตั้งแต่วันวาน ทั้งประเมินแล้วว่าตนเองใจไม่แข็งพอที่จะลบภาพปราสาทต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะมีโอกาสสัญจรมาเยือนอีกเมื่อใดออกจากหน่วยความจำได้ลงคอ

ตัดใจยืนนิ่งซึมซับบรรยากาศยามเย็นที่ค่อยๆ ทิ้งตัวลงโอบคลุมปราสาทอันขรึมขลัง สังเกตความเคลื่อนไหวรอบตัว ตั้งใจจดจำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้มากที่สุด 

ห่างไปไม่ถึง 50 เมตร นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ทยอยลงจากปรางค์ประธานปราสาทนครวัดอย่างช้าๆ แต่ละคนมีสีหน้าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อยเพราะต้องไต่บันไดที่ลาดชันเกือบ 70 องศาผ่านความสูงราวตึก 5 ชั้น แขวนชีวิตเอาไว้กับลวดสลิงที่ทางการขึงเอาไว้ให้พยุงตัวระหว่างลงไปสู่ชั้นล่าง

บางที ภาพตรงหน้าผมนี้ อาจเป็นสิ่งเดียวที่คอยย้ำเตือนว่ากำลังอยู่ในปราสาทหินอายุเกือบพันปีในพุทธศักราช 2550 มิใช่ในช่วงที่มันถูกสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 1656-1695 โดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

การที่ผมต้องรอคิวเพื่อที่จะไต่ลงจากชั้นบนสุดของปราสาทก็เป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนมโนสำนึกว่าในอดีต สถานที่นี้สร้างขึ้นสำหรับเทพเจ้าเท่านั้น มิได้สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เดินดินอย่างผมปีนป่ายขึ้นมาชื่นชมความงาม

ด้วยดินแดนขอมสมัยโบราณ ได้อิทธิพลทางศาสนาจากอินเดีย โดยเฉพาะความเชื่อตามคติพราหมณ์-ฮินดู อันเป็นบ่อเกิดลัทธิ “เทวราชา” ที่เชื่อว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าที่อวตาร (แบ่งภาค) ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ทั้งยังเป็นที่มาของประเพณีที่กษัตริย์ขอมทุกพระองค์ต้องสร้างเทวาลัยถวายเทพเจ้าหรือนัยหนึ่งคือสร้างให้ตนเอง เพื่อที่เวลาที่จากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปหลอมรวมกับเทพเจ้าที่ตนนับถือไม่ว่าจะเป็น พระศิวะ หรือ พระวิษณุ อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น เทวาลัยหรือปราสาทเหล่านี้จึงเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ ต้องสร้างให้มีลักษณะเป็นศาสนาสถานที่โดยวางผังตามคติฮินดูเรื่องเขาพระสุเมรุซึ่งเชื่อว่าที่ประทับของเทพอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยมหานทีสีทันดร โดยสถานที่นี้นั้นถือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

ความเชื่อเช่นนี้เอง ที่มีพลังถึงขั้นทำให้พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สั่งประชากรในอาณาจักรให้เคลื่อนย้ายก้อนหินนับหมื่นก้อนที่นักโบราณคดีคาดการณ์ว่ามีปริมาตรกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตรจากแหล่งตัดหินที่ภูเขาพนมกุเลนซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 กิโลเมตร แล้วสร้างมหาปราสาทที่กว้าง 850 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร มีปรางค์ประธานสูง 65 เมตร ยังไม่นับปรางค์องค์รองอีก 4 ยอดที่มีความสูงลดหลั่นกันไป

ทั่วปราสาท มีเสาหินหนักกว่า 10 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ไม่ต่ำกว่า 1,800 ต้น ระเบียงโดยรอบมีภาพสลักหินเล่าเรื่องราวคติฮินดู อาทิ รามายณะ มหาภารตะ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ยาวหลายกิโลเมตร โดยภาพสลักนี้ปรากฏอยู่ทุกตารางนิ้วของกำแพงจนแทบไม่เหลือที่ว่าง ซึ่งความอัศจรรย์นี้เอง ทำให้หลายคนไม่เชื่อว่านี่เป็นผลงานของมนุษย์ แต่น่าเป็นการนิรมิตของเทพมากกว่า !

ดังเช่นความเชื่อของชาวเขมรต่อนิทานเรื่อง “นางนาคกับพระทอง” ที่เล่าถึง “พระทอง” โอรสกษัตริย์เมืองหนึ่งซึ่งคิดขบถแล้วถูกลงโทษโดยการเนรเทศ จากนั้นพระองค์ได้ไปทำสงครามแย่งดินแเดนจามแล้วพบกับนางนาคจนแต่งงานกัน เป็นผลให้พญานาคซึ่งเป็นพ่อเขยเนรมิตเมืองให้อยู่ พร้อมปกป้องคุ้มครองให้เกิดความมั่งคั่งและมั่นคง ต่อมาพระองค์มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า “เกตุมาลา” ที่พระอินทร์ถือว่าเป็นลูก จึงมีการส่ง “เวศุกรรมเทวบุตร” ลงมาสร้างปราสาทหินถวาย

ไม่เฉพาะชาวเขมรเท่านั้น ในหมู่ชาวต่างชาติก็มีลักษณะความเชื่อดังกล่าวอยู่เช่นกัน เพราะเมื่อ 400 ปีก่อน นักบวชชาวสเปนรูปหนึ่งที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์เขียนบทความกล่าวถึงนครวัดว่า

“…นี่เป็นเมืองที่ชาวโรมันสร้างขึ้น…”

ก่อนที่การค้นคว้าทางโบราณคดีในชั้นหลังจะทำให้เราทราบว่าผู้สร้างคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แล้ว โดยยังทราบถึงฟังก์ชั่นของนครวัดด้วยว่าเป็น “วัด” ในศาสนาฮินดู นอกจากนี้ยังเป็น “สุสาน” สำหรับฝังศพกษัตริย์อีกด้วย ดังที่นักปราชญ์ไทยท่านหนึ่งผูกคำศัพท์แล้วเรียกว่า “มฤตกเทวาลัย” นั่นเอง

พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในปรางค์ประธานของปราสาทนครวัด

– 2 –

ความจริง “นครวัด” มิใช่ชื่อดั้งเดิมของปราสาทหินแห่งนี้

หลักฐานต่างๆ ชี้ว่าเดิมนครวัดชื่อ “บรมวิษณุโลก” อันหมายถึงพระวิษณุเป็นเจ้า – – เทพเจ้าที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 นับถือ ไม่ใช่ “นครวัด”

เพียงแต่ชื่อ “บรมวิษณุโลก” ถูกสลักในจารึกซึ่งพบในภายหลังถูกลืมเสียสนิทจากความรับรู้ของชาวเขมรรุ่นตั้งแต่พุทธศักราช 1974 ลงมา เพราะกองทัพสยามสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยาได้บุกโจมตีเมืองพระนครหลวงจนแตกแล้วทำลายเสียราบคาบ ทำให้กษัตริย์ขอมองค์หลังๆ ต้องย้ายราชธานีไปให้ไกลจากกรุงศรีอยุธยาที่กำลังทวีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทิ้งปราสาทสำคัญอย่างบรมวิษณุโลกไว้ให้รกร้างอยู่กลางป่าทึบ
นานวันเข้า คนเขมรรุ่นต่อมาก็ไม่รู้ว่าเมืองพระนครหลวงอันเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัดอยู่ที่ใด พอเจอเข้ากับบรมวิษณุโลกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งใหญ่โตโอฬารก็เข้าใจผิดว่านี่คือเมืองพระนครหลวง เลยไพล่เรียกไปว่า “นอกอร” หรือ “อังกอร์” อันหมายถึง “นคร”

ส่วน “นครวัด” น่าจะมีที่มาจากการที่ปราสาทแห่งนี้ถูกเปลี่ยนรูปแบบใช้งานมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในภายหลัง โดยมีการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานและดัดแปลงบางส่วนของปราสาทเป็นพระอุโบสถเช่นบริเวณ “ห้องพระพัน” ที่คนเขมรออกเสียงว่า “ห้องเปรียะเปือน” โถงด้านทิศตะวันตกอยู่ระหว่างชั้นสองกับชั้นสามของตัวปราสาทที่สันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพระพุทธรูปนับพันองค์ประดิษฐานอยู่และส่วนหนึ่งก็น่าจะถูกย้ายขึ้นมายังชั้นบนสุดของปราสาทที่ผมยืนรอคิวลงสู่พื้นดินในเวลานี้

ระหว่างรอ เพื่อนร่วมทางท่านหนึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะเปลี่ยนฟังก์ชั่นใช้งานไปเพียงใด แต่นครวัดก็ยังหลงเหลือร่องรอยของคติฮินดูอยู่อย่างชัดเจน “อย่างอุบายในการให้ผู้ที่มากระทำการสักการะบูชาเทพเจ้า ต้องค้อมตัวคารวะเทพเจ้าในขณะที่ขึ้นสู่ชั้นยอดปราสาทโดยสร้างบันไดที่สูงชันซึ่งไม่ได้ออกแบบมาสำหรับมนุษย์ที่พวกเรากำลังไต่ขึ้นลงอยู่นี้”

ซึ่งก็คงจริง เพราะด้วยความสูงของมัน ผมก็ไม่คิดว่ามนุษย์ยุคก่อนจะมีธุระอะไรบนนี้เว้นแต่กษัตริย์ที่ต้องกระทำการสักการะบูชาเทพเจ้า

เพียงแต่ในยุคที่กระแสการท่องเที่ยวครอบคลุมไปทั่วโลก ตรรกะนี้ดูจะเลือนลางไปเสียแล้ว…