ครั้งหนึ่งที่ “นครวัด” (2)

ครั้งหนึ่งที่ “นครวัด” (2)

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 บนกำแพงระเบียงทิศใต้ฝั่งตะวันตก

– 3 –

สำหรับคนไทย ไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของนครวัดคือภาพสลักส่วนหนึ่งบนกำแพงระเบียงทิศใต้ฝั่งตะวันตก ณ ชั้นแรกสุดของปราสาท ที่เล่าเรื่องการยกทัพไปตีอาณาจักรจามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ยาวเกือบ 1 กิโลเมตร โดยจัดแบ่งเป็นกองทัพจากเมืองต่างๆ อย่างชัดเจน 

ส่วนหนึ่งของกระบวนทัพ มีจุดเด่นตรงที่ทหาร ๓ คนหันหลังคุยกันอย่างสนุกสนานในระหว่างเดินทัพ และที่นั้น ในอดีต เคยมีอักษรขอมโบราณซึ่งแปลได้ว่า “นี่ เสียมกุก” จารึกอยู่ อันทำให้ผู้พบเห็นคิดไปว่าเป็นกองทัพสยามจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันจากรึกนั้นสูญหายไปแล้ว)

นี่เอง ทำให้ชาวสยามยุค 2007 อย่างผมอุทานในใจด้วยความสนเท่ห์ว่า โอ ! ช่างแกะสลักชาวขอมโบราณช่างสื่อลักษณะชนชาติสยามที่รักสนุกแม้แต่ในยามสงครามได้อย่างยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร

แต่ข้อมูลทางวิชาการก็บอกผมว่ามีการตีความภาพนี้แตกต่างกันไป

จิตร ภูมิศักดิ์ ตีความภาพนี้ว่าเป็น “ชาวสยามจากลุ่มน้ำกก” โดยยกหลักฐานด้านนิรุกติศาสตร์ (อักษรศาสตร์) ว่า กุก ในภาษาไทยอ่านว่า กก โดยระหว่างที่อาณาจักรขอมของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 รุ่งเรืองนั้น ชาวสยามแห่งลุ่มน้ำกกที่นำโดยขุนเจื่องซึ่งพงศาวดารล้านนาระบุว่าเป็นผู้ครองอาณาจักรเชียงแสน และเป็นบรรพบุรุษของพ่อขุนเม็งรายมหาราชก็กำลังรุ่งเรืองและทำการรบอยู่กับเมืองแถง ซึ่งชาวแถงเอง ก็มักส่งทหารไปช่วยจามรบขอมอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ ที่จะมีการช่วยเหลือกันทางทหารระหว่างสองอาณาจักร

ขณะที่ ศ.ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ตีความว่านี่เป็นกองทหารจากสุโขทัย เพราะเอกสารจีนเรียกคนไทยว่า “เสียม” มานานแล้ว ทั้งยังพิจารณาว่า ทหารแต่งตัวแบบคนป่าที่สลักอยู่นั้นมีใบหน้าที่คล้ายกับคนไทยคือหน้ารูปไข่ คิ้วโก่ง ดังนั้นนี่จึงน่าเป็นกองระวังหน้าจากสุโขทัยที่ส่งมาช่วยเมืองแม่ในฐานะประเทศราช

ส่วนนักวิชาการฝรั่งเศสตีความว่านี่เป็นทหารรับจ้างชาวสยาม

“นี่ เสียมกุก”

ประเด็นเรื่องการไร้ระเบียบวินัยของทหารนั้น ถ้าเราพินิจภาพนี้ให้ละเอียดโดยเปรียบเทียบกับภาพอื่นก็จะพบว่า ในภาพสลักของพลทหารของละโว้ก็มีบางคนหันหน้าหันหลังคุยกันอยู่เช่นกัน เพียงแต่ไม่เด่นชัดเท่าทหารสยามเท่านั้น

ขณะที่ปัญหาการตีความนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน วันที่ผมสัญจรไปเยี่ยมๆ มองๆ ดูกองทหารเสียมกุก ก็พบเสียงเซ็งแซ่ของทัวร์ไทยปี 2007 ที่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 10 คณะ ซึ่งทุกคณะเมื่อผ่านมาตรงนี้ก็จะมีการหยุดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ ไม่ว่าจะเป็น

“นี่ทหารไทย” – –  “เอนี่มันนิสัยคนไทย” – – หรือแม้แต่กระทั่ง

“เสียดายถ้านครวัดยังเป็นของไทยคงมีการศึกษาได้มากกว่านี้”

ซึ่งทัศนะหลังสุดนั้น อันตรายอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ด้วยถ้าพิจารณาประวัติศาสตร์ช่วงที่มีการก่อสร้างนครวัดให้ดีแล้ว ช่วงนั้นเป็นเวลาก่อนเกิดสิ่งที่เรียกว่าอาณาจักรของคนไทยนานหลายร้อยปี

ถ้ามองแบบประวัติศาสตร์ชาตินิยม นครวัดก็จะเกิดก่อนอาณาจักรแรกของคนไทยคือสุโขทัย (พ.ศ. 1781-1981) ราว 86 ปี (พ.ศ.1656-1695) ทั้งยังเกิดก่อนอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) เกือบ 2 ศตวรรษ ดังนั้นการเหมาว่านครวัดในจังหวัดเสียมราฐที่สยามเคยยึดมาเป็นเมืองขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่อยุธยาจะเกี่ยวข้องกับรัฐชาติไทยสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดเมื่อปี 2475 จึงเป็นเรื่องที่หาคำอธิบายไม่ได้อย่างสิ้นเชิง และเป็นการสร้างความรับรู้ที่ก่อปัญหาอย่างยิ่ง

– 4 –

เย็นวันนั้น ผมเดินลงจากชั้นบนสุดของปราสาทด้วยความหวาดเสียวปนเสียดาย

จะว่าไปแล้ว นี่เป็นความไม่ประสาอีกประการหนึ่งในการเตรียมตัวเดินทางมาที่นี่ ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับนครวัดที่จินตนาการเอาไว้ผิดไปเสียหมดเมื่อมาถึงสถานที่จริงไม่ว่าความงาม ความขรึมขลัง ที่อัศจรรย์ที่สุดคือ ขนาดปราสาทซึ่งนักโบราณคดีท่านหนึ่งเปรียบไว้อย่างเห็นภาพว่า ถ้านำปราสาทหินพนมรุ้งหรือปราสาทหินพิมายไปเทียบ มันจะมีขนาดเพียงแค่ซุ้มประตูหนึ่งของนครวัดเท่านั้น !

ยังไม่รวมความวิจิตรพิสดารของลวดลายถูกสลักเสลาเอาไว้บนทับหลัง กำแพง ฯลฯ

และความอัศจรรย์ ความงาม และความวิจิตรของปราสาทหินแห่งนี้เอง เป็นเหตุให้หน่วยความจำและฟิล์มทั้งหมดที่เตรียมไปไม่พอ และทั้งหมดนี้หากตั้งใจเดินดูอย่างพินิจพิจารณา 3 วันก็ไม่น่าพอ

ถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับผมนครวัดก็เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่ดี

แม้ในปี 2007 นี้ จะมีฝรั่งหัวใสในนามองค์กร The New Open World Corporation (NOWC) จัดอันดับ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่แทนที่ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบันที่เคยจัดอันดับไปแล้วด้วยคะแนนโหวตผ่านอินเทอร์เน็ตในลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ในรายการอคาเดมี่แฟนเทเชียโดยนครวัดถูกเขี่ยออกจากลิสต์ไปตามระเบียบ

เพราะคุณค่าของบางอย่างมันวัดไม่ได้จากการโหวตที่ไม่มีมาตรฐานและกฎเกณฑ์กำกับ

ต้องไม่ลืมว่าการโหวตทางอินเทอร์เน็ตนั้น ปัจจัยสำคัญก็คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรแต่ละประเทศที่มีการส่งสถานที่ของตนเองเข้าแข่งขัน ลองคิดดูว่า กัมพูชาจะมีประชากรสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เมื่อเทียบกับประเทศอย่างจีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา เปรู จอร์แดน อินเดีย เม็กซิโก กรีซ สเปน ชิลี ฝรั่งเศส ตุรกี ญี่ปุ่น รัสเซีย เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ ซึ่งรายได้ต่อหัวประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจล้ำหน้ากว่ากันมาก

แน่นอน วันหนึ่งผมจะต้องกลับไปอีกครั้ง

กลับไปเพื่อศึกษานครวัด และไปซึมซับความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมอันเป็นต้นรากทางวัฒนธรรมหลายอย่างของคนไทยปัจจุบัน

ถึงตรงนี้ บางทีคงต้องยืมคำของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เอ่ยแก้คำของอาร์โนลด์ ทอยน์บี ที่ว่า

See Ankor and again and again…