ตามรอย “ศรีบูรพา” ถวิลหา “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ที่ “มิตาเกะ”

ตามรอย “ศรีบูรพา” ถวิลหา “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ที่ “มิตาเกะ”

 

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน
แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

ข้อความสุดท้ายที่ ม.ร.ว.กีรติ เขียนให้นพพรก่อนเสียชีวิต 
จากนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา”

-1-

วันปลายฤดูใบไม้ร่วงปี 2550 , อุทยานแห่งชาติชิชิ บู ทามาไก ประเทศญี่ปุ่น

ท่ามกลางอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส แทบไร้สุ้มเสียงหรือสำเนียงใดรอบตัว สิ่งที่ปรากฎตรงหน้าคือความเงียบ

ผมพบตัวเองอยู่ท่ามกลางทิวสนอายุนับพันปีที่ยืนต้นสูงเสียดฟ้า

ข้างหน้า คือทางเดินเล็กๆ ทอดยาวลับหายเข้าไปในราวป่า

หลายครั้งที่ได้มีโอกาสสัญจรตามรอยเท้าของบุคคลสำคัญไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่มีสถานที่ใดเลยก็ว่าได้ที่ให้ความรู้สึกรำลึกถึงคนผู้ก่อนชัดเจนมากเท่าภูเขา “มิตาเกะ” ที่ยืนอยู่ในขณะนี้

สำหรับคนญี่ปุ่น “มิตาเกะ” คือภูเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยทิวสนอายุพันปี เป็นปอดของกรุงโตเกียว(เทียบได้กับดอยสุเทพของเชียงใหม่) ที่ได้รับการรักษาไว้ในสภาพสมบูรณ์และพิถีพิถันอย่างยิ่งในการจัดการกับความเจริญที่รุกล้ำเข้ามา

แต่สำหรับผมที่จากบ้านมาไกลนับพันกิโลเมตร ที่นี่มีความหมายยิ่งไปกว่านั้น

เพราะมิตาเกะเป็นสถานที่ที่ให้แรงบันดาลใจกับ “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” แต่งนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ประดับไว้ในบรรณพิภพ

“ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” คือ นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ของสยามซึ่งจับปากกาต่อต้านศักดินาและเผด็จการในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ไปจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕๐๐ จนองค์การยูเนสโกยกย่องเขาให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลไปเมื่อปี ๒๕๔๘

ข้างหลังภาพ เป็นนวนิยายที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เด็กนักเรียนรุ่นทุนนิยมผสมอำมาตยาธิปไตยเบ่งบานสมัยนี้พอจะรู้จักอยู่บ้าง ขณะที่วรรณกรรมอันทรงคุณค่าจากปลายปากกาของกุหลาบอีกหลายเรื่องนั้นถูกเยาวชนจำนวนมากในยุคนี้ลืมไปเรียบร้อยโรงเรียนอำมาตยาธิปไตย

อาจเพราะถูกจริตกับสังคมไทยคือ เป็นนวนิยายรักหวานปานน้ำผึ้งและจบด้วยโศกนาฏกรรมสะเทือนใจระหว่างพระเอก “นพพร” กับนางเอก  “คุณหญิงกีรติ” ซึ่งต่างกันทั้งวัยและฐานะรวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสัมผัสมาระหว่างการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

นพพร เติบโตมาในยุคหลังการ “อภิวัฒน์ 2475” ซึมซับรับกระแสสังคมที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างเต็มที่ ขณะเจอคุณหญิงกีรติ เขาเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปศึกษาต่อในญี่ปุ่นที่ขณะนั้นเป็นประเทศในทวีปเอเชียประเทศเดียวซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีและการทหารได้ก้าวหน้าเทียบเท่าชาติมหาอำนาจตะวันตก

ส่วนคุณหญิงกีรติ เติบโตมาในสังคมแบบจารีตที่เชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างเคร่งครัด แม้กระทั่งเรื่องการแต่งงานเธอนั้นก็ยังไม่มีสิทธิที่จะเลือกคู่ครองของตนเอง

สุดท้ายกว่านพพรจะรู้ว่าคุณหญิงกีรติรักเขา คุณหญิงกีรติก็ป่วยใกล้เสียชีวิตแล้ว และเขากำลังจะแจ่งงานกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เหลือเพียงภาพวาดสีน้ำมันภาพหนึ่งที่คุณหญิงมอบให้เขา

 

   

       ข้างหลังภาพถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง โดย 2 ผู้กำกับต่างยุคสมัย

ในภาพนั้นจารึกสถานที่แห่งหนึ่งที่มีรอยความทรงจำบางอย่างของทั้งสองคนเอาไว้

“ภาพนั้นวาดด้วยสีน้ำมัน แสดงถึงลำธารที่ไหลผ่านเชิงเขาแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาทึบตามลาดเขา อีกด้านหนึ่งของลำธารเป็นทางเดินเล็กๆ ผ่านไปบนชะง่อนหิน บางตอนก็สูง บางตอนก็ต่ำ ตะปุ่มตะป่ำไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย มีพรรณไม้เลื้อยและดอกไม้ป่าสีต่างๆ บนต้นเล็กๆ ขึ้นเรียงรายอยู่ตามหินผานั้น

“ไกลออกไปบนหินใหญ่ก้อนหนึ่งอยู่ต่ำลงไปจนเกือบติดลำธาร แสดงภาพของคนสองคนนั่งอยู่ ภาพนั้นเป็นภาพที่วาดให้เห็นในระยะไกล และไม่แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นบุรุษคนหนึ่งกับสตรีคนหนึ่ง หรือว่าเป็นบุรุษทั้งสองตน แต่ว่าเป็นบุรุษคนหนึ่งนั้นแน่ บนภาพมีตัวหนังสือเขียนว่า ‘ริมลำธาร’ …ตอนล่างของมุมหนึ่งเขียนไว้ด้วยตัวหนังสือเล็กๆ ว่า ‘มิตาเกะ’…”

บริเวณสถานีรถรางที่จะนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปสู่เชิงเขามิตาเกะ

-2-

71 ปี ต่อมา ผมยืนอยู่ที่มิตาเกะ ได้เห็นสิ่งที่คุณกุหลาบบรรยาย นึกขอบคุณคนญี่ปุ่นที่นอกจากมีระเบียบวินัยอันยอดยิ่งแล้ว ยังมีจิตใจเป็นนักอนุรักษ์ที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย เพราะสถานที่นี้ได้รับการักษาเอาไว้เป็นอย่างดีโดยถูกกันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ชิชิ บู ทามาไก และซ่อนหมู่บ้านชนบทอันสงบงามเอาไว้ข้างในอย่างกลมกลืน

ผมไม่ทราบว่าคุณกุหลาบขึ้นภูเขามิตาเกะอย่างไร รู้แต่ในนิยาย กว่าจะถึงที่นี่ตัวเอกทั้งคู่ต้องนั่งรถไฟจากกรุงโตเกียวมาแล้วเดินเท้าขึ้นเขา ขณะที่สมัยนี้สามารถมามิตาเกะได้สะดวกทั้งรถไฟและรถยนต์ มาถึงก็นั่งรถรางชักลากด้วยสายเคเบิลแล้วต่อด้วยกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปสู่ความสูงระดับ ๔๖๖ เมตร และที่นั่นจะมีเส้นทางเดินป่าสู่ยอดสูงสุดรออยู่

ลึกลงไปในหุบเขาข้างทางเดินมีลำธารสายหนึ่งรินไหลตลอดทั้งปี ที่นั่นเองที่มี “สวนหิน” ซึ่ง ณ จุดใดจุดหนึ่งคุณกุหลาบเคยใช้เป็นฉากในนิยายของเขา

ระหว่างทางเดินขึ้นสู่ยอดเขาจะผ่านหมู่บ้านเล็กๆ เป็นระยะ

ที่ยอดเขามีศาลเจ้ามูซาชิ มิตาเกะตั้งอยู่พร้อมตำนานของหมาป่าสองตัวที่เคยนำซามูไรหลงทางคนหนึ่งกลับบ้าน ยังผลให้เขาซาบซึ่งบุญคุณจนมาสร้างศาลรำลึกความดีของพวกมันเอาไว้

 

ศาลเจ้ามูซาชิ มิตาเกะ

เมื่อมาอยู่ที่นี่ ผมอดคิดถึงแผ่นดินเกิดไม่ได้ – – แผ่นดินเกิดซึ่งขณะนั้นตกอยู่ภายใต้ท็อปบู๊ตเผด็จการทหารที่บงการโดย “มือที่มองไม่เห็น”

“มือ” ที่ครั้งหนึ่งศรีบูรพาใช้เวลาทั้งชีวิตต่อสู้ขับเคี่ยวมาอย่างกล้าหาญร่วมกับรัฐบุรุษอีกท่านหนึ่ง ก่อนจะถูกนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังที่นอกจากจะไม่สืบทอดอุมการณ์แล้ว ยังนำวรรคทองของเขาไปมาใช้ผิดประเภทในขณะจัดชุมนุมออกบัตรเชิญการทำรัฐประหารและนำระบอบอำมาตยาธิปไตยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

ช่วงหนึ่งของทางเดินขึ้นสู่ยอดเขามิตาเกะ

ห้าโมงเย็น…

อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็ว แสงสีแดงเพลิงจับอยู่ที่ขอบฟ้าฝั่งตะวันตก

ผมเดินลงจากมิตาเกะผ่านหมู่บ้านเล็กๆ น่ารักที่เดินผ่านมาเมื่อช่วงบ่าย

ช่วงหนึ่งผมสังเกตเห็นว่ามีคุณตาคุณยายคู่หนึ่งเดินจูงมือกันลงจากภูเขา มีเด็กๆ ที่เดินกลับจากโรงเรียน

นึกถึงศรีบูรพาเมื่อคราวที่เขาลงจากภูเขาแห่งนี้แล้วเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อทำหน้าที่ของเขาต่อหลังจากการดูงานหนังสือพิมพ์อาซาฮีที่ญี่ปุ่นเสร็จสิ้นลงพร้อมกับนวนิยายอมตะเรื่องหนึ่ง

หน้าที่ของเขาในเมืองไทยจบลงเมื่อยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มต้นขึ้นในปี 2500

ศรีบูรพาตัดสินใจออกจากประเทศไทยเพื่อลี้ภัยการเมืองแล้วก็ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีก

ครั้งหนึ่ง เขาเคยเขียนไว้ว่า “ในเวลาสงบ ท้องฟ้าโปร่ง สว่างจ้าด้วยแสงตวัน ไครๆ ก็แลเห็นว่าเรายืนอยู่ที่ไหน เวลาพายุกล้าฟ้าคนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปไนอากาส ไม่เห็นตัวกัน ต่อพายุสงบฟ้าสว่าง ไครๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า เรายืนอยู่ที่เดิม และจักหยู่ที่นั่น” *

ประโยคนี้หากลองศึกษาประวัติของกุหลาบ จะพบว่าสารที่เขาต้องการส่งนั้นหมายถึงการยึดถือจรรยาบรรณของคนทำงานสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเคร่งครัด ต่อต้านการปกครองที่กดขี่ประชาชน ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย “ของประชาชน” ที่ไม่มีอำนาจนอกระบบมาลุอำนาจอยู่เบื้องหลังอย่างไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม

วันที่หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับและองค์กรภาคประชาชนและกลุ่มการเมืองจำนวนมากหลงเชิดชูอำนาจนอกระบบ

ผมคิดถึง “สุภาพบุรุษนักหนังสือพิมพ์” นาม “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ขึ้นมาจับใจ

– – – – – – – –

* คงการสะกดตามแบบเดิม

6 thoughts on “ตามรอย “ศรีบูรพา” ถวิลหา “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ที่ “มิตาเกะ”

Comments are closed.