ด.ญ. จันทมณี ถือเงินทอง

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

เรื่อง ชีวิตและบทกวี

กวีนิพนธ์เป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่มีเนื้อหาและใจความลึกซึ้งกินใจผู้อ่าน แต่ปัจจุบันกวีนิพนธ์กลับได้รับความสนใจน้อยลง เนื่องจากผู้อ่านสนใจหนังสือประเภทนิตยสารและหนังสือแฟชั่น บุคคลส่วนใหญ่ที่สนใจหนังสือประเภทดังกล่าวได้แก่พวกนักเรียนและนักศึกษา ที่จะเป็นความหวังของชาติในอนาคต ดังนั้นเราจึงควรปลูกฝังเยาวชนเหล่านี้ ให้หันมาสนใจหนังสือที่มีประโยชน์และมีสาระมากขึ้น

ใบไม้ที่หายไป และเพียงความเคลื่อนไหว เป็นหนังสือประเภทกวีนิพนธ์ที่มีประโยชน์ ให้ข้อคิด และมีค่ายิ่งสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นอ่านหนังสือ เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบธรรมชาติกับการดำเนินชีวิตที่ผู้แต่งได้ประสบพบมาในช่วงเวลาต่างๆ จึงทำให้บทกวีได้สะท้อนถึงชีวิตที่บางครั้งจะพบกับความสุข ความทุกข์ ความยากลำบาก ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ความวิตกกังวล ฯลฯ ซึ่งทุกสิ่งที่ได้กล่าวมานี้คือ ชีวิต

ใบไม้ที่หายไป เป็นบทกวีที่พรรณนาถึงการดำเนินชีวิตที่ได้นำธรรมชาติมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า มนุษย์และธรรมชาตินั้นต้องพึ่งพาอาศัยกันจึงจะอยู่ด้วยกันได้ และมีการบรรยายถึงเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นความคิดเห็นและแง่มุมของผู้หญิงซึ่งบทกวีที่ถ่ายทอดออกมาจึงมีเนื้อหาไพเราะ อ่อนโยน แต่แฝงความหนักแน่นไว้ภายใน รวมไปถึงรูปเล่มก็มีรูปภาพเกี่ยวกับธรรมชาติจึงทำให้สอดคล้องกันได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

“จุดหมาย” เป็นบทกวีที่กล่าวถึงการทำฝันให้เป็นจริง โดยการที่จะทำสิ่งใดหรือการเปลี่ยนแปลงอะไร จะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่หวังพึ่งผู้อื่น

          ไม่เคยมีรุ้งงามในความฝัน
ไม่มีวันสุขปลื้มลืมทุกข์ไห้
ไม่ต้องการคำหวานล้ำคำใคร
ไม่อยากได้สิ่งมายาค่านิยม

บทสุดท้ายของกวีได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ถ้าฝันสิ่งใดไว้ก็จะต้องทำให้เป็นจริง ถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ถ้ามีฝันแล้วกล้าทำ ทุกสิ่งที่ได้ฝันไว้ก็จะประสบความสำเร็จ

          ทั้งหมดนี้มิใช่เพียงความฝัน
หากยึดมั่นจะรุดถึงจุดหมาย
รอผู้กล้าเท่าที่มีช่วยคลี่คลาย
จะงมงายหรือถูก-ต้องขอลองดู
จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2515

กวีได้เปรียบเทียบตัวเรากับต้นไม้ได้เป็นอย่างดี ในบท “ชีวิตและเงื่อนไข” ถึงเราจะถูกติเตียนเรื่องใดๆ ก็ตามก็ต้องอ่อนหวาน อ่อนโยน เช่นเดียวกับต้นหญ้าที่ลู่ตามลม ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จก็จะต้องอดทน อดกลั้น และยืนหยัดให้ถึงที่สุด เฉกเช่นต้นไม้ที่ทนอยู่กลางแดด ลม ฝน และพายุ ที่โหมกระหน่ำเข้ามา โดยต้นไม้ไม่แสดงปฏิกริยาโต้ตอบ ถ้าปฏิบัติได้เช่นนี้ เราก็จะเปรียบได้กับต้นไม้ที่อยู่ได้อย่างมั่นคง

          แล้วชีวิตอ่อนใส เขียวใบไม้
ค่อยพลิกไหว พบละอองของแดดอ่อน
บทเริ่มต้น ตมลีลา ความอาทร
ผลิใบซ้อนก่อนใบซบทบลงดิน
จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2524

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ข้าพเจ้าขอแนะนำก็คือ เพียงความเคลื่อนไหว ซึ่งบทกวีในหนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงการดำเนินชีวิตที่ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงทางสังคมและการเมือง โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้โน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้เห็นถึงนามธรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยว่าอุดมการณ์เป็นสิ่งที่แทนหัวใจมนุษย์ได้ ซึ่งนี่ก็คือทัศนคติของผู้ชายที่มองการเมืองไทย หนังสือเล่มนี้มิใช่มีเพียงแค่ภาษาไทยเท่านั้น ในช่วงท้ายเล่มยังมีภาคภาษาอังกฤษอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่สนใจกวีนิพนธ์ แต่ชนชาติอื่นๆ ก็ให้ความสนใจกวีนิพนธ์เช่นกัน

“กระรอกขาว” เป็นบทกวีบทหนึ่งที่กล่าวถึงสัตว์ป่าที่น่ารัก น่าเอ็นดู คือกระรอก แต่เนาวรัตน์กลับนำกระรอกมากล่าวถึงการใช้ชีวิตที่รุนแรง คือการนำกระรอกมาใส่กรงและให้อยู่ภายใต้อำนาจนั้น ถึงกระรอกจะวิ่งหาทางออกเพียงใดก็ไม่สามารถออกได้

          หาพบยังกระรอกเอ๋ย
หนทางที่เจ้าเคยสร้างขึ้นได้
ทางยาวที่เจ้าสูญเสียไป
ใครกันจับเจ้าใส่ไว้ในกรง
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, 2518

และเหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม เนาวรัตน์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับนักแสวงหา ซึ่งจะแสวงหาสิ่งที่มีความสุขสบาย แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่โหดร้าย และมีสิ่งที่ชั่วร้ายอยู่นานัปการ และที่มักมีคนพูดเสมอว่า การกระทำอย่างนั้นจะเกิดความสุข สิ่งที่พูดมาคือสิ่งลวงตา บทกวีนี้คือ “พระจันทร์ที่ไร้เงา”

          ท่านนักแสวงหาท่านผู้มากับความใหม่
ท่านประสงค์สิ่งใดและมิได้ดังประสงค์
โลกนี้ล้วนร้อนร้ายทุรนทุรายอยู่ในกรง
กรอบวัดจำกัดวงให้ท่านวิ่งอยู่ทุกวัน
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

โลกของเราถูกสร้างมาเป็นอย่างดีเพื่อให้การดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้ใดมากำหนดก็ตาม แต่ผู้ที่นำการดำเนินชีวิตและธรรมชาติมาผูกมัดรวบรวมเป็นบทกวี ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถมาก ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีผู้ให้ความสนใจกวีนิพนธ์ไม่มากก็ตาม แต่ จิระนันท์ พิตรปรีชา และ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กลับนำข้อนี้มาเป็นจุดสนใจ ให้ผู้อ่านมาสนใจกวีนิพนธ์อีกครั้ง

ที่ข้าพเจ้านำหนังสือทั้งสองเล่มมาแนะนำ เพราะใบไม้ที่หายไป และเพียงความเคลื่อนไหว เป็นบทกวีที่สอดคล้องกันได้เป็นอย่างดี ตรงที่ผู้แต่งได้นำประสบการณ์และเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบมา รวมทั้งการนำแง่คิดและทัศนคติมาใช้ในการแต่งบทกวีด้วย ผู้แต่งได้ใช้ภาษา ถ้อยคำ และกลวิธีการเขียนที่มีพลังถ่ายทอดอารมณ์ของผู้เขียนสู่ผู้อ่าน บทกวีที่ออกมาจึงมีความสมบูรณ์อย่างที่สุด

การเลือกหนังสือกวีนิพนธ์มาอ่านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตนเองนั้น ผู้อ่านต้องเข้าใจความหมายที่แฝงไว้ในบทกวีนั้น รวมทั้งการใช้ถ้อยคำที่ทำให้บทกวีมีความโดดเด่น น่าอ่าน และแฝงคติที่ดีไว้ ซึ่งใบไม้ที่หายไป และเพียงความเคลื่อนไหว มีคุณสมบัติที่กล่าวแล้วมาทั้งหมด ดังนั้นหนังสือทั้งสองเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รักการอ่าน