กลับไปหน้า สารบัญ ยึดไม้เรียวครู  "ยุติ" หรือ "เริ่มต้น" ความรุนแรง
ส นั บ ส นุ น

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ
  • เด็กควรได้รับการคุ้มครอง ให้พ้นจากการกระทำ ที่รุนแรงทุกรูปแบบ

  • ทุกวันนี้แม้ครูที่ลงโทษเด็ก ด้วยการตีจะมีอยู่น้อยคน แต่ครูส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ มักลงโทษเด็กด้วยอารมณ์ และรุนแรงเกินกว่าเหตุ การยกเลิกการลงโทษเด็ก ด้วยการตี จะช่วยหยุดการกระทำ ที่รุนแรงของครูเหล่านี้ได้

  • การให้เด็กสำนึกผิด ด้วยการทำกิจกรรม น่าจะก่อให้เกิดผลด ีต่อตัวเด็ก ต่อโรงเรียน และต่อสังคม มากกว่าการลงโทษ ด้วยความรุนแรง

   "เหตุผลที่ผมแก้ไขระเบียบการลงโทษใหม่ มีสามประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมโลก และรัฐธรรมนูญใหม่กำลังให้ความสำคัญ แต่สังคมไทยที่ผ่านมายังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้มากนัก โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองเด็ก ให้พ้นจากการกระทำที่รุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งจากครอบครัว สังคม และสถานศึกษา สังคมไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสังคมโลก เราจึงควรเน้นเรื่องนี้ให้มากขึ้น
   "ประเด็นที่สอง ในการปฏิรูปการศึกษา เราอยากให้เด็กรักที่จะเรียนหนังสือด้วยตัวของเขาเอง โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบังคับ มีความสนุก เพลิดเพลินในการเรียน ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า สถานศึกษาเป็นบ้านหลังที่สอง และครูทุกคนเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเขา ผมคิดว่าจริง ๆ แล้วครูทุกคนมีวิญญาณ และสำนึกของความเป็นครูอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ครูมีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น บางครั้งครูมีอารมณ์หงุดหงิดจากทางบ้าน ก็มาระบายออกกับเด็กที่โรงเรียน ด้วยการเฆี่ยนตี หากเราห้ามไม่ให้ครูลงโทษเด็กด้วยวิธีการที่รุนแรง ก็น่าจะเป็นการเตือนสติ ให้ครูเกิดความยั้งคิดได้บ้าง และเมื่อครูเลิกตีเด็กโดยใช้อารมณ์ เด็กก็จะอยากไปโรงเรียนมากขึ้น
   "ประเด็นสุดท้าย ทุกวันนี้แม้ครูที่ลงโทษเด็กด้วยการตีจะมีอยู่น้อยคนแล้วก็ตาม แต่เราพบว่าครูไม่น้อยกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มนี้มักจะลงโทษเด็กด้วยอารมณ์ และลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ อย่างเช่นกรณีครูที่ใช้กีตาร์ตีเด็ก หรือกรณีครูที่สุพรรณบุรีเฆี่ยนเด็ก ๑๐๘ ที การออกคำสั่งห้ามครูไม่ให้ลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี จะช่วยยุติการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง และไร้เหตุผลของครูเหล่านี้ได้ 
   "ผมคิดว่าไม่มีใครได้อะไรเลย จากการทำโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง ถ้าครูลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง เช่นเด็กชกกันแล้วครูลงโทษเด็กด้วยการเฆี่ยนตี เด็กก็จะซึมซับวิธีการแก้ปัญหา ด้วยความรุนแรงไว้ในตัว และเมื่อโตขึ้น เด็กก็จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาต่อไป แต่ถ้าเราลงโทษเด็ก โดยให้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ให้เขาตระหนัก และซึมซับในหน้าที่พลเมือง จากการปฏิบัติจริง เช่น เมื่อเด็กกระทำความผิด เขาควรต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำลงไป ด้วยการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ เก็บเศษกระดาษ หรือทำงานในเชิงสร้างสรรค์ เด็กก็จะมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง  และได้เรียนรู้โลกความจริงภายนอกมากขึ้น เพราะเมื่อเขาอยู่ในสังคมภายนอก ถ้าเขาทำความผิด เขาก็จะต้องรับผิดชอบต่อความผิด ที่ทำลงไปเช่นเดียวกัน เพียงแต่บทลงโทษในสังคมจริง จะรุนแรงกว่าในโรงเรียนหลายเท่า 
   "กลุ่มที่ยังยึดติดกับสุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ เพราะเขากลัวว่าถ้าไม่ตีแล้วต่อไปเด็กจะไม่กลัวครู ดื้อด้าน แต่ผมเชื่อว่าเด็กทุกคน มีวุฒิภาวะต่อการรับรู้เหตุผลที่ครูจะบอก ถ้าครูมีเหตุผลที่ดีพอ เด็กก็จะรับฟัง อย่างเช่นเหตุการณ์ที่ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง เล่าให้ผมฟังเมื่อหลายวันก่อน เขาเล่าว่าที่ประเทศของเขา ไม่มีการใช้ไม้เรียวมาตั้งแต่สมัยเขาเป็นเด็กแล้ว ถ้าเด็กนักเรียนคนไหนดื้อซ้ำซาก ครูจะใช้วิธีเรียกเด็กคนนั้นมาหา แล้วเอาไม้เรียวตีมือตนเองให้เด็กเห็น โดยให้เหตุผลกับเด็กว่า การที่เด็กยังดื้ออยู่แสดงว่าครูสอนไม่ดี เขาตีมือตัวเองจนกระทั่งเด็กร้องไห้ เพราะสงสารครู และสัญญาว่าจะไม่กระทำผิดอีก 
   "ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่แวดล้อมตัวเด็กเต็มไปด้วยความรุนแรง ตั้งแต่อยู่ในครอบครัว เมื่อก่อนพ่อแม่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด แต่เดี๋ยวนี้พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน โยนภาระให้พี่เลี้ยงหรือโรงเรียนอนุบาล บางครอบครัวพ่อแม่ทะเลาะกัน ในบ้านเต็มไปด้วยความรุนแรง พอไปโรงเรียนก็เจอความรุนแรงจากครูที่โรงเรียนอีก ผมไม่อยากเห็นสังคมที่ใช้ความรุนแรง อยากให้เด็กได้รับแต่สิ่งที่เป็นความอ่อนโยน เอื้ออาทรกันมากกว่า ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้ต้องการสรุปว่า ถ้าเลิกใช้ไม้เรียวแล้วสังคมจะดีขึ้น ความรุนแรงจะลดลง แต่ผมเชื่อว่าในแนวทางใหม่ หลักของเหตุและผลน่าจะดีกว่า การให้เด็กสำนึกผิดด้วยการทำกิจกรรม น่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อตัวเด็ก ต่อสถานศึกษา และต่อสังคมมากกว่าการลงโทษด้วยความรุนแรง ซึ่งไม่มีใครได้อะไรเลย 
   "สำหรับมาตรการควบคุม ไม่ให้ครูใช้ความรุนแรงรูปแบบอื่น เรามีคณะกรรมการของโรงเรียน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาการลงโทษของครู ว่าเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ เช่น ถ้าครูให้เด็กประถม ๑ ทำกิจกรรมที่หนักเกินอายุ ครูก็จะมีความผิดทางวินัย อย่างไรก็ตาม ระเบียบการลงโทษนี้ จะไม่ประสบความสำเร็จเลย หากขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เราอยากให้ผู้ปกครอง สื่อมวลชน และองค์กรท้องถิ่นเข้ามาร่วมตรวจสอบตรงนี้ด้วย เพราะเราคงไม่สามารถตรวจสอบครูกว่า ๗ แสนคนจากสถานศึกษากว่า ๔ หมื่นแห่งได้ว่าคนไหนละเมิดคำสั่งนี้บ้าง 
   "บางท่านอาจมองว่า สังคมบ้านเรายังไม่พร้อม จะใช้วิธีการลงโทษรูปแบบใหม่ แต่ผมคิดว่าการเริ่มต้นย่อมดีกว่าการไม่เริ่มต้นอย่างแน่นอน เพราะสังคมจะพร้อมก็ต่อเมื่อ มีระเบียบกติกาออกมา แล้วสังคมก็ปรับตัวเข้าหา แม้ว่าช่วงเริ่มต้นอาจมีปัญหาบ้าง เรื่องความไม่พร้อม ความไม่คล่องตัว แต่ถ้าเราไม่กล้าหาญเริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่วันนี้ มัวแต่ถามว่าพร้อมหรือยัง แล้วเมื่อไหร่ล่ะครับที่เราจะได้เริ่มต้น 
   "ผมเชื่อว่า เมื่อโลกเปลี่ยน วัฒนธรรมก็ต้องเปลี่ยน วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยน ไม่มีวัฒนธรรมทางความคิดใดหรอกครับที่ถูกต้องตราบชั่วฟ้าดินสลาย แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า วิธีคิดและวัฒนธรรมที่ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องการสร้างขึ้นมาใหม่ จะสอดรับกับรัฐธรรมนูญ และแนวทางปฏิรูปการศึกษา ที่ต้องการให้เด็กเติบโตขึ้นมา บนความรักความอบอุ่น และความเอื้ออาทรอย่างแน่นอน"

  อ่านคัดค้าน คลิกที่นี้
รศ. ดร. สมพงษ์ จิตระดับ 
ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา เพื่อเด็กด้อยโอกาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

click hereอ่าน (ฝ่ายคัดค้าน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม *
*