นิตยสารสารคดี Feature Magazine

www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๓ เดือน มีนาคม ๒๕๔๔
กลับไปหน้า สารบัญ

ลาดัก ทิเบตน้อยหลังปราการหิมาลัย

เรื่องและภาพ : จักรพันธุ์ กังวาฬ
 
(คลิกดูภาพใหญ่)       วันหนึ่งหลังกลับจากลาดักได้พักใหญ่ ผมนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน เหลือบมองรองเท้าผ้าใบที่ใส่อยู่แล้วอดขำไม่ได้

      ผมซื้อรองเท้าเก่าคู่นี้จากถนนข้าวสาร ในราคาร้อยกว่าบาท แล้วใส่มันไปลาดัก เมื่อไปถึงก็พบว่ามีรองเท้าแบบเดียวกัน วางขายเกลื่อนตลาดนัดและร้านค้า ทั้งคนลาดักเองก็ใส่รองเท้าแบบนี้ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ผมเดาเอาว่ารองเท้าจากถนนข้าวสารคู่นี้ เจ้าของเดิมคงซื้อมาจากลาดัก แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกให้ผมใส่มันกลับมาถึงบ้านเก่า
      ผมรู้จักลาดักตั้งแต่ห้าปีที่แล้ว เมื่อได้อ่านหนังสือ Ancient Future : Learning From Ladakh ของ เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮ็อดซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ และนักสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ในหนังสือกล่าวถึงดินแดนแสนไกล ที่ภูมิประเทศแปลกประหลาดดุจโลกพระจันทร์ และชุมชนโบราณที่ผู้คนยังมีชีวิตเรียบง่าย สงบงาม
      หลังปี ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อรัฐบาลอินเดีย ตัดสินใจเปิดดินแดนลาดักทางตอนเหนือสุดของประเทศ อันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะมีพื้นที่ชายแดนติดกับจีน และปากีสถาน ให้เป็นเขตท่องเที่ยว โลกภายนอกจึงได้รู้จักกับชุมชนลับแลหลังเทือกเขาหิมาลัย ที่ต่อมาถูกขนานนามว่า "Moonland--โลกพระจันทร์" หรือ "ทิเบตน้อย" แห่งนี้
      วัฒนธรรมอันน่าตื่นตาของชาวลาดัก ไม่ว่าวิถีชีวิต ศาสนา สถาปัตยกรรม และการแพทย์ ล้วนสืบสายมาจากวัฒนธรรมโบราณแห่งที่ราบสูงทิเบต ทว่าขณะที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน บุกรุกเข้ายึดครองทิเบต ทำลายวัดวาอาราม พร่าผลาญชีวิตผู้คน ทำให้ชาวทิเบตนับล้านคน ต้องแตกกระสานซ่านเซ็น ลี้ภัยจากแผ่นดินเกิด ลาดักในปกครองของอินเดีย กลับได้รับโอกาสให้ธำรงรักษา วัฒนธรรมของตนไว้ต่อไป
      เริ่มแรก เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮ็อดซ์ เข้ามาลาดักเพื่อทำวิจัยด้านภาษาศาสตร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การได้ใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มชนที่ดำรงชีพ ในวัฒนธรรมบุรพกาล ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ทว่ากลับมีความสงบสุข และพึงพอใจในตนเองอย่างลึกล้ำ ได้ทำให้เธอเกิดคำถามต่อชีวิตสมัยใหม่ ในสังคมอุตสาหกรรมอันสับสนยุ่งเหยิง กระทั่งเกิดดวงตาเห็นธรรมว่า อนาคตที่ทอดยาวไปข้างหน้าของมนุษยชาตินั้น มิได้มีเส้นทางอยู่สายเดียว ดังที่ถูกทำให้เข้าใจเช่นนั้นมาตลอด
      ห้าปีมาแล้วที่หนังสือของเฮเลนา ได้จุดประกายบางอย่างขึ้นในใจผม แม้ว่าเงื่อนไขอันจำกัดขณะนั้น จะทำให้ลาดักเป็นเหมือนดินแดนห่างไกลสุดขอบฟ้า แต่ความใฝ่ฝันที่จะไปเยือนสักครั้ง ไม่เคยเลือนหายตามกาลเวลา
      ดังนั้นเมื่อถึงวันที่พร้อม ผมจึงไม่รั้งรอเลยที่จะเก็บกระเป๋าออกเดินทาง แม้จะรับรู้ข้อมูลว่า ลาดักเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว ด้วยอิทธิพลจากโลกภายนอกก็ตาม
      ตอนนี้ ผมกำลังนึกถึงวันแรกที่นั่งอยู่บนรถบัส วิ่งข้ามทะเลภูเขา อันสลับซับซ้อนของเทือกหิมาลัย มุ่งสู่ลาดัก...
(คลิกดูภาพใหญ่)

๑.

      โกวเล้ง นักเขียนนามอุโฆษเชื้อสายจีนผู้ล่วงลับ เคยบรรยายการเดินทางสู่ทิเบต ไว้ในนวนิยายเรื่องหนึ่งของเขาว่า แม้กำลังรอนแรมอยู่กลางทะเลทรายอันแห้งแล้งเวิ้งว้าง แต่กลับมองเห็นยอดเขา ปกคลุมหิมะขาวโพลนตระหง่านอยู่ในที่ไกลตา ภูมิประเทศแปลกประหลาด ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ชั่วนาตาปีเช่นนี้ จึงเป็นแรงขับให้ชนชาติทิเบต เต็มไปด้วยตำนานลี้ลับเกี่ยวกับเทพเจ้า และปีศาจที่สถิตบนเขาสูงเสียดฟ้า
      คล้ายกับประสบการณ์ที่ผมได้พบระหว่างเดินทางสู่ลาดัก ระหว่างที่รถบัสจอดพัก ให้ผู้โดยสารกินอาหารมื้อกลางวันในวันที่ ๒ ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ในทะเลทรายบนที่สูงหลายพันเมตร ซึ่งมีแต่กรวดทราย ชาวอังกฤษที่ร่วมโต๊ะชี้ให้ดูเทือกเขาหิมะ ที่มองเห็นอยู่ไกล ๆ แล้วบอกว่าเขาไม่เคยเห็นอะไรที่งดงามเช่นนี้มาก่อนเลย
      แต่อย่างไรก็ตาม เราคงจะแกล้งลืมไม่ได้ว่ากำลังอยู่ในโลกยุคปี ๒๐๐๐ ที่ทุกห้วงเวลา มีข้อมูลปริมาณมหาศาลวิ่งพล่าน อยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คงแทบไม่มีดินแดนแห่งไหนในโลกอีกแล้ว ที่เป็นขอบฟ้าที่เลือนหาย ซึ่งสามารถหลีกพ้นจากอำนาจกล้ำกราย ของเทคโนโลยีสมัยใหม่
      ทุกวันนี้มีเที่ยวบินภายในประเทศอินเดีย บินตรงจากนิวเดลี สู่ลาดักอาทิตย์ละ ๒ เที่ยวบิน เป็นการเดินทางแสนสะดวก อย่างที่เรียกกันว่า "งีบหนึ่งก็ถึงแล้ว" (เว้นแต่จะถูกโรคแพ้ความสูงโจมตีอย่างฉับพลันทันทีที่ถึงลาดัก) กระนั้นผมยังเลือกเดินทางโดยรถโดยสาร ไม่บอกก็รู้ว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เหตุผลอีกข้อ ผมเชื่อว่าการนั่งรถข้ามเทือกเขาหิมาลัย จะเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืมอีกครั้งหนึ่งในชีวิตการเดินทาง ...ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
      ความสับสนอลหม่านขนานใหญ่ ควันเสียจากรถยนต์ อวลคลุ้งบนท้องถนน และเล่ห์กลของแขกเจ้าถิ่น ที่ได้พบเจอตลอดเวลา อาจทำให้นักท่องเที่ยวที่มานิวเดลีครั้งแรก รู้สึกเหมือนตกนรก ผมรู้สึกโล่งใจ เมื่อจากเมืองแห่งนี้ในตอนหัวค่ำ นั่งรถบัสข้ามคืน มาถึงเมืองมะนาลีรัฐหิมาจัลประเทศ ในตอนสายของอีกวันหนึ่ง เช้าต่อมาจึงต่อรถบัสอีกคัน ซึ่งใช้เวลาวิ่งอีกสองวันกว่าจะถึงลาดัก
      รถออกจากมะนาลีแต่เช้าตรู่ ฟ้ายังไม่สว่างดี ทิ้งเมืองที่ร่มครึ้มด้วยดงสนโบราณและชุ่มฉ่ำด้วยไอหมอกไว้เบื้องหลัง แล้วไต่ระดับความสูงขึ้นไปสู่เทือกเขา นับแต่นั้น เราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขุนเขาสลับซับซ้อน แผ่ไพศาลของหิมาลัย
      ถนนบนหิมาลัยแคบเล็ก ไม่มีไหล่ทาง คดเคี้ยวลัดเลาะไปบนไหล่เขาอันสูงชัน ด้านหนึ่งชิดผาสูงตระหง่าน อีกด้านเป็นหุบเหวลึกลิบลิ่ว ขณะสวนกับรถบรรทุก ผมมองลงไปนอกหน้าต่าง เห็นขอบล้อรถที่นั่งอยู่ หมิ่นเหม่จากขอบเหวชนิดเฉียดฉิว และบ่อยครั้งบนถนนเลียบเหว ที่รถของเราต้องวิ่งถอยหลัง ไปจนกระทั่งเจอถนนช่วงที่กว้างพอ เพื่อหลบให้รถบรรทุกทหารคันใหญ่วิ่งสวนไปได้
      แม้ว่าเป็นการเดินทางที่ต้องลุ้นระทึกอยู่เป็นระยะ แต่ทิวทัศน์ตระการตานอกหน้าต่างรถ ก็ช่วยฉุดให้จิตใจพ้นจากความกังวล เทือกเขารายรอบล้วนใหญ่โตมโหฬาร ธารน้ำแข็งที่ปกคลุมยอดเขา ถูกความร้อนหลอมละลาย กลายเป็นสายน้ำสีขาวบริสุทธิ์ หลั่งไหลสู่แม่น้ำเชี่ยวที่ก้นหุบ ลาดเนินบางแห่ง คลาคล่ำด้วยฝูงแพะแกะ ที่เจ้าของต้อนมา และเล็มทุ่งหญ้าฉ่ำเขียว เมื่อรถวิ่งผ่านชุมชนใหญ่หมู่บ้านเคลอง ก็เห็นนาขั้นบันได สลับซับซ้อนตามลาดเขา บ้านหลังน้อยก่อด้วยแผ่นหิน และทุ่งซึ่งพราวด้วยดอกไม้เล็ก ๆ

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ก่อนถึงเคลอง รถวิ่งผ่าน Rohtang Pass ช่องเขาที่อยู่สูง ๓,๙๗๘ เมตรจากระดับน้ำทะเล ต่อมาในตอนเย็น นักท่องเที่ยวบนรถตื่นเต้นกันใหญ่ เมื่อรถผ่านช่องเขา Baralacha La ที่ระดับความสูง ๔,๘๘๓ เมตร อันเป็นจุดสูงสุดของการเดินทางวันนี้ อาจเรียกถนนสายมะนาลี-เลห์เส้นนี้ว่า ถนนลอยฟ้าก็ได้ เพราะเป็นถนนที่สูงเป็นอันดับ ๒ ของโลก มีด่านช่องเขาในระดับ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ เมตรอยู่ตลอดเส้นทาง เฉพาะความสูงเฉลี่ยของมันก็ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ เมตรแล้ว
      ผลจากความสูงระดับนี้มิใช่เพียงฉากทิวทัศน์กว้างไกล แต่รวมถึงโรคแพ้ความสูง ซึ่งเตือนให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าตนเป็นแค่ "คนอื่น" ของดินแดนหิมาลัย ในหนังสือไกด์บุ๊กยี่ห้อยอดนิยม อย่างโลนลี่แพลนเนต เตือนไว้ว่า เหนือจากระดับความสูง ๒,๕๐๐ เมตร (เท่ากับความสูงของยอดดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย) ขึ้นไป ออกซิเจนในอากาศจะเจือจางกว่าปรกติมาก ผู้ไม่คุ้นเคย จะถูกโรคแพ้ความสูงจู่โจม อาการหนักเบา ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ตั้งแต่เหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน ง่วงซึม วิงเวียน ปวดหัว อารมณ์ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ หรือรุนแรงกระทั่งช็อคหมดสติ ไกด์บุ๊กยังเตือนอีกว่า อาการมักกำเริบในเวลากลางคืน
      รถหยุดที่ซาร์ชูเกือบสองทุ่ม ขณะที่สายฝนกำลังโปรยปราย และอากาศเย็นยะเยียบจับใจ บนที่ราบสูงระดับ ๔,๐๐๐ เมตรแห่งนี้ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ นอกจากกระโจมผ้า เรียงรายให้ผู้ผ่านทางเช่าพักแรม ในราคาหัวละ ๑๑๐ รูปี
      ภายในกระโจมค่อนข้างอับ ผ้าห่มหนาและหนักอึ้ง แต่ก็จำเป็นต้องใช้ เพราะอากาศหนาวเยือกขึ้นทุกที ในความมืดได้ยินแต่เสียงสายลมกรรโชก หวีดหวิวนอกกระโจม ผมเริ่มรู้สึกอึดอัด หายใจไม่ทั่วท้อง รู้ตัวว่าโรคแพ้ความสูงมาเยือนแล้ว หญิงสาวที่มาด้วยกันอาการหนักกว่า เธอปวดหัววิงเวียนจนทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาอาเจียน หลายวันต่อมา เธอบอกว่าคืนนั้นรู้สึกว่าหิมาลัยช่างโหดร้าย แต่ภายหลังผมคิดว่ามันอาจเป็นบททดสอบ สำหรับคนนอกที่จะล่วงผ่านเข้าสู่ลาดัก
      ซาร์ชูคือขอบแดนสุดท้ายของรัฐหิมาจัลประเทศ ก่อนเข้าสู่อาณาเขตของลาดัก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายขอบด้านตะวันตก ของที่ราบสูงทิเบต ตลอดการเดินทางของวันใหม่นี้ เราพบแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีสีเขียวของพืชพรรณใด ๆ มีเพียงสีน้ำตาลของกรวดทราย และผาหินแข็งกระด้าง ทั้งนี้เพราะลาดักอยู่ในเขตเงาฝน ดินแดนแห่งนี้ จึงมีลักษณะเป็นทะเลทรายบนที่ราบสูง
      เฮเลนาเขียนไว้ในหนังสือของเธอว่า คำว่าลาดัก อาจมาจากภาษาทิเบต "ลาดัจ" หมายถึง "ดินแดนแห่งทางด่านและช่องเขา" เพราะพื้นที่ทั้งหมดมีความสูงไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีเทือกเขาพาดผ่านสลับซับซ้อน
      แม้มองตามสายตาอาจเห็นทิวเขาต่าง ๆ วางตัวระเกะระกะทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว ลาดักประกอบด้วยเทือกเขาใหญ่ สี่เทือกทอดขนานกัน แต่ละเทือกทอดตัวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สู่ตะวันออกเฉียงใต้ เทือกเขาที่อยู่แนวบนสุดคือ คาราโกรัม ต่ำลงมาคือเทือกเขาลาดัก ตามด้วยเทือกเขาซันสการ์ตามลำดับ และสุดท้ายคือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งทอดตัวเป็นเส้นแบ่งระหว่างลาดัก และรัฐหิมาจัลประเทศ
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ยอดเขาสูงเสียดฟ้าหลายยอด ปกคลุมด้วยหิมะและธารน้ำแข็ง ในฤดูร้อนมันจะหลอมละลาย เป็นสายน้ำไหลลงสู่แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านลาดัก ได้แก่ แม่น้ำอินดัส แม่น้ำ Shyok และแม่น้ำซันสการ์ กระแสธารเหล่านี้เองที่หล่อเลี้ยงหุบเขา ให้ชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ เป็นโอเอซีสกลางทะเลทราย ที่ชักนำผู้คนให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์
      หุบเขาสำคัญอันเป็นที่ตั้งรกรากของชาวลาดัก ได้แก่ หุบเขานูบราซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของลาดัก หุบเขาซูรูทางด้านตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญคาร์กิล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม หุบเขาซันสการ์อยู่ทางทิศใต้ ระหว่างเทือกเขาซันสการ์และเทือกเขาหิมาลัย และที่สำคัญที่สุดคือ หุบเขาอินดัสบริเวณใจกลางลาดัก ซึ่งอยู่ระหว่างเทือกเขาลาดักทางทิศเหนือ และเทือกเขาซันสการ์ทางทิศใต้ เป็นที่ตั้งของเมืองเลห์--เมืองหลวงของลาดัก อันเป็นจุดหมายปลายทางที่รถบัสของเรามุ่งสู่
      ทางภูเขาไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ พาเรามาถึงจุดสูงสุดของเส้นทาง คือ ช่องเขาทักลาง ลา ที่ความสูง ๕,๓๒๘ เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่ซึ่งลมกรรโชกแรง และหนาวเหน็บอยู่ชั่วนาตาปี แต่พอข้ามสันเขาปกคลุมหิมะมาได้ เราก็พบที่ราบกว้างใหญ่ มีสีเขียวของกอหญ้าเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป โดยมีสายน้ำเล็ก ๆ ไหลหล่อเลี้ยง
      โดยไม่รู้ตัว สายน้ำสายเล็กที่ขนานกับถนนค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นกระทั่งกลายเป็นลำธารกว้างใสสะอาด สาดซัดผ่านกรวดหินท้องธารระเกะระกะ ที่ริมฝั่งมีแพะ แกะ วัว และม้า เดินและเล็มหญ้าอยู่เอื่อยเฉื่อย เทือกผาเปลือยเปล่าทอดตัวยาวเหยียด อวดผิวขรุขระหลากสีสัน ทั้งน้ำตาล เทา แดงสนิม กระทั่งสีม่วงเข้มแทบจะเปล่งประกายออกมา อีกด้านหนึ่ง รวงข้าวบาเลย์ก็กำลังพลิ้วล้อลมอยู่ในแปลงนา
      สิ่งที่บอกให้รู้ว่าเราเข้าสู่ดินแดนในร่มเงาพุทธศาสนา ก็คือสถูปเจดีย์โบราณ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วผืนดิน และไหล่เขา มองดูเก่าแก่และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ราวกับไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่ผุดขึ้นมาเองจากแผ่นดิน
      ภูมิทัศน์งามประหลาดบริเวณนี้ คือเขตหมู่บ้านซาโซม่า ชุมชนลาดักลำดับต้น ๆ บนเส้นทาง ชาวลาดักเริ่มปรากฏให้เห็น บางคนกำลังต้อนฝูงสัตว์ในทุ่งหญ้า บางคนนั่งเล่นอยู่ข้างทาง และบางคนเยี่ยมหน้าออกมาจากบ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสวมชุดยาวสีเข้ม ดูเป็นกลุ่มชนเก่าแก่ และเรียบง่ายราวกับเดินออกมาจากอดีตกาล
      พวกเขาบางคนโบกมือให้เรา แล้วนักท่องเที่ยวในชุดสารพัดสีบนรถ ก็พากันโบกมือตอบ วัฒนธรรมจากโลกเก่าและใหม่ ได้ปะทะสังสรรค์กันอีกครั้งหนึ่งแล้ว
 (คลิกดูภาพใหญ่)

๒.

      จากซาโซม่า รถวิ่งผ่านหมู่บ้านมิรู อุปชิ คารู และทิ๊กเซ่ มาถึงเมืองเลห์ในตอนเย็น ผมได้ที่พักในย่านฉางปา แหล่งรวมเกสต์เฮาส์ราคาถูก คล้ายกับย่านถนนข้าวสารของเมืองไทย
      วันต่อมาผมใช้เวลาหมดไปกับการเดินสำรวจตัวเมือง ตลาดเลห์เริ่มคึกคักในเวลาบ่าย ท้องถนนพลุกพล่านด้วยนักท่องเที่ยว และคนพื้นเมืองที่มาจับจ่ายซื้อของ
      ความแตกต่างระหว่างคนสองรุ่น ฉายชัดอยู่ที่นี่ หนุ่มสาวลาดักรุ่นใหม่ เริ่มหันมาแต่งกายแบบตะวันตก นุ่งยีนส์ ใส่เสื้อยืด สวมแจ๊กเกต ขณะที่คนมีอายุตั้งแต่รุ่นกลางคนขึ้นไป ยังคงสวมเครื่องแต่งกายตามแบบดั้งเดิม
      ชาวลาดักสูงอายุมักมีใบหน้าคล้ำกร้าน เพราะต้องผจญกับแสงแดดรุนแรง และอากาศแห้ง แทบไม่มีความชื้นตลอดทั้งปี แต่พวกเขาก็ดูยิ้มแย้มแจ่มใส สงบเยือกเย็น
      พวกผู้ชายที่ยืนคุยกันอยู่บนทางเท้า หรือยืนมุงอยู่ที่แผงขายภาพถ่ายทะไลลามะองค์ปัจจุบัน ล้วนสวมเสื้อคลุมขนสัตว์ชุดยาวสีน้ำตาลเข้ม เกือบถึงข้อเท้า เรียกว่า "กอชา" ด้านหน้าติดกระดุม ตั้งแต่คอพาดเฉียงมายังด้านข้างลำตัว แล้วใช้ผ้าแพรซึ่งส่วนใหญ่สีชมพู คาดเอวให้กระชับ บางคนห้อยประคำพวงโต
      ส่วนพวกผู้หญิง ทั้งแม่ค้าที่นั่งขายผักต้นอวบ และผลไม้สีสด และแม่บ้านที่มาเดินจับจ่ายสินค้า พวกเธอไว้ผมเปียยาวสองเส้น รวบปลายบรรจบกันไว้ที่กลางหลัง สวมชุดคลุมยาวเป็นกระโปรงชายไหวสีเข้ม เรียกว่า "คุนท็อป" บางคนมีผ้าคลุมไหล่ขนสัตว์ที่เรียกว่า "ลุคปา" ที่ให้ทั้งความอบอุ่น และช่วยรับน้ำหนัก และลดแรงเสียดสีจากตะกร้าที่ใช้แบกของ แม่เฒ่าที่มีรอยย่นพาดก่ายซับซ้อนบนใบหน้า สวมหมวกปีกทรงสูงที่ทำจากหนังแกะ ผู้หญิงหลายคนสวมเครื่องประดับประเภทตุ้มหู สร้อยคอ ประคำ และกำไลเต็มตัว
      หากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ หญิงลาดักจะสวมหมวกมีหางยาวคล้ายงู ประดับหินเทอร์คอยส์สีฟ้านับร้อยเม็ด เรียกว่าหมวก "เปรัก" ว่ากันว่าหมวกเปรักใบหนึ่งมูลค่าเหยียบแสนรูปี ผู้เป็นแม่จะมอบเป็นมรดกแก่ลูกสาว ในยามแต่งงาน และสืบทอดต่อกันไปเรื่อย ๆ ในสายตระกูล
      แม้รูปแบบการแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน วัดวาอาราม และประเพณีของชาวลาดัก เห็นได้ชัดว่า รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทิเบต กระทั่งถูกขนานนามว่าทิเบตน้อย ทว่าเมื่อพำนักในลาดักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผมก็พบว่าชาวลาดัก มิได้มีลักษณะของเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ เช่นทิเบตเสียทุกคน แม้ส่วนใหญ่หน้าตาคล้ายคนทิเบตหรือคนจีน แต่ก็มีบางคนที่จมูกโด่งเป็นสัน ตาคม ลักษณะกระเดียดไปทางพวกอารยัน กลุ่มชนที่เป็นบรรพบุรุษของชาวเปอร์เซีย หรืออิหร่านในปัจจุบัน และฝรั่งในทวีปยุโรปนั่นเอง

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เพื่อหาคำตอบต่อปรากฏการณ์นี้ เราคงต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ของอาณาจักรลาดักโบราณ
      เนิ่นนานนับพันปีมาแล้ว ที่ชนเผ่าเร่ร่อนจากเอเชียกลาง หลายกลุ่มอพยพเข้ามาสู่ลาดัก ราว ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ลาดักคือถิ่นฐานของชนเผ่าอารยันสองกลุ่มใหญ่ คือชนเผ่ามอน ที่อพยพมาจากอินเดียตอนเหนือ และชนเผ่าดาร์ดจากกิลกิต (อยู่ทางภาคเหนือของประเทศปากีสถาน) ต่อมาชนเผ่ามองโกลอยด์ จากทิเบตอพยพมาสมทบ ชาวลาดักทุกวันนี้ จึงเป็นเชื้อสายซึ่งผสมกลมกลืนมาจากชนเผ่าทั้งสาม
      แม้เผ่ามองโกลอยด์จากทิเบต จะอพยพมาภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ ๙ แต่พวกเขาสามารถตั้งราชวงศ์ขึ้นครองอำนาจ สถาปนาลาดักเป็นรัฐอิสระได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๙๕๐ เป็นต้นมา ภารกิจหลัก ๆ ของบรรดากษัตริย์ราชวงศ์แรกก็คือ พยายามสถาปนาพุทธศาสนาให้เติบใหญ่มั่นคงในลาดัก
      ก่อนปี ค.ศ. ๑๕๐๐ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์แรก ถูกโค่นจากบัลลังก์โดยญาติห่าง ๆ ของพระองค์เอง ซึ่งต่อมาขึ้นครองอำนาจ ในนามปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นัมกัล กษัตริย์องค์ต่อมาของราชวงศ์นี้ มีภารกิจหลักก็คือ ทำสงครามต่อต้านชนต่างเผ่าที่เข้ามารุกราน แผ่ขยายอาณาจักรของตน ตลอดจนทำนุบำรุงและจรรโลงพุทธศาสนา ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงในแผ่นดิน ป้อมปราการและวัดวาอารามที่สำคัญหลายแห่ง ในลาดักถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยนี้
      แต่ทุกสิ่งมีเกิดย่อมมีดับ ตามหลักพุทธศาสนาที่ชาวลาดักยึดถือ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ราชวงศ์นัมกัลเริ่มเสื่อมอำนาจ ปี ค.ศ. ๑๘๓๔ ราชวงศ์โดกรา (Dogra) ของชาวฮินดูยกกองทัพมารุกราน ลาดักจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นกัศมีระ (แคว้นจัมมูแคชเมียร์) นับแต่นั้นมา
      กระทั่ง ค.ศ. ๑๙๔๗ เมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ มหาราชาแห่งแคว้นจัมมูแคชเมียร์ ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีหนึ่งของอินเดีย ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านมุสลิม อย่างปากีสถานไม่พอใจอย่างรุนแรง และนำไปสู่สงครามระหว่างอินเดียและปากีสถาน หลังสงครามลาดักต้องสูญเสียดินแดนทางฝั่งตะวันตก คือบัลติสถาน (Baltistan) ให้แก่ปากีสถาน
      ตามมาด้วยกรณีจีนเข้ารุกรานทิเบตในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ ผลพวงจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ลาดักต้องเสียดินแดนทางฝั่งตะวันออก คือ อักษัยชิน ให้จีนไปอีก และลาดักส่วนที่เหลือ ก็ได้กลายเป็นเขตยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ของอินเดียมากระทั่งทุกวันนี้
      ลาดักในปัจจุบันมีพื้นที่ ๔๐,๐๐๐ ตารางไมล์ แบ่งการปกครองออกเป็นสองส่วน คืออำเภอคาร์กิล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และเลห์ เมืองหลวงของลาดัก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา
      ผมเตร็ดเตร่อยู่ในเลห์ไม่กี่วันก็ตระหนักได้ว่า ในสภาพเมืองท่องเที่ยวอันเต็มไปด้วยร้านรวง และค่อนข้างพลุกพล่านสับสนเช่นนี้ คงยากจะสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวลาดักได้แน่
      ดังนั้นเอง บ่ายวันหนึ่งผมจึงมาอยู่ท่ามกลางผู้คนคลาคล่ำที่ท่ารถเมืองเลห์ เพื่อรอรถโดยสาร คันที่จะไปหมู่บ้านซัสปาลในเขตชนบท
 (คลิกดูภาพใหญ่)

๓.

      อีกเกือบชั่วโมงจึงจะถึงเวลารถออกในตอนสี่โมงเย็น แต่เบาะรถโดยสาร ถูกคนวางของจับจองเกือบหมดแล้ว หากช้ากว่านี้อีกนิดเดียวผมคงไม่ได้ที่นั่ง ระยะทาง ๖๐ กิโลเมตรกว่าจะถึงหมู่บ้านซัสปาลไม่ใช่ใกล้ ๆ เสียด้วย
      เมื่อรถออกจากท่า ผู้โดยสารชาวลาดักบางคนเริ่มสวดมนต์ และนับลูกประคำ บางคนนำภาพถ่ายทะไลลามะแห่งทิเบตองค์ปัจจุบัน ที่พกติดตัวขึ้นพนมไหว้เหนือศีรษะ ลุงคนหนึ่งหมุนกงล้อมนต์ในมือ หลายคนคุยกันดั่งคนคุ้นเคย
      เราทิ้งความพลุกพล่านของเมืองเลห์เอาไว้เบื้องหลัง มุ่งสู่ความเวิ้งว้างของผืนทรายและภูเขา บางช่วงเส้นทางคดเคี้ยว ไต่ระดับเลียบหน้าผา ไม่ผิดกับการเดินทางจากมะนาลีสู่เลห์เท่าไหร่นัก
      เกือบหนึ่งทุ่มแต่ท้องฟ้ายังสว่าง ลุงชาวลาดักหันมาส่งยิ้ม แล้วบอกผมเป็นภาษาอังกฤษว่าใกล้ถึงซัสปาลแล้ว ขณะนั้นถนนทิ้งตัวอย่างรวดเร็ว จากยอดเนินลงไปสู่หุบเขา รถวิ่งผ่านสะพานทอดข้ามแม่น้ำอินดัส เบื้องล่างสายน้ำสีเทาตะกั่ว ไหลเชี่ยวแรงเหมือนกำลังเดือดพล่าน
      หมู่บ้านซัสปาลมองเห็นได้แต่ไกล นาข้าวบาเลย์สีทองอร่าม กระจ่างตาท่ามกลางสภาพภูมิประเทศกันดาร รถวิ่งใกล้เข้าไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่หมู่บ้าน มองเห็นบ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว กระจายอยู่ในทุ่งนาและเชิงเขา กองฟางสีเหลืองเรียงรายอยู่ริมทาง
      ตามทางที่ผ่านไป เราได้เห็นวัวและล่อที่ถูกผูกไว้กับหลักเป็นแถว ๆ กำลังเดินวนย่ำกองฟางในลานนวดข้าว ชาวลาดักขับต้อนสัตว์เลี้ยงของเขาให้ทำงานพร้อม ๆ กับขับขานบทเพลงพื้นบ้านท่วงทำนองไพเราะอ่อนโยนไปด้วย
      ภาพชีวิตที่ปรากฏ และเสียงเพลงที่ลอยละล่อง กล่อมเกลาให้ทุ่งข้าวยามสนธยา เต็มเปี่ยมด้วยบรรยากาศสงบสุข
      ......................................................

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เช้าวันใหม่ ทันทีที่ตื่นนอนผมก็ได้ยินเสียงเพลงเดียวกับ ที่ได้ยินเมื่อเย็นวาน ดังเข้ามาถึงในห้องพักในโรงแรม
      "โล่-โล-โล้-โล เย่-เย-เล้-เล-เฮ"
      เพลงพื้นบ้านที่แว่วมากับสายลม กระตุ้นให้ผมลุกจากเตียงโดยเร็ว เพื่อรีบรุดไปดูกลุ่มชาวบ้านทำงานในท้องทุ่ง
      อากาศยามเช้าเยือกเย็น แม้ขณะนี้อยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม อันเป็นช่วงฤดูร้อนของลาดัก หมู่บ้านซัสปาลมีภูมิประเทศงดงาม เต็มไปด้วยลำธารใสไหลผ่านดงไม้ร่มรื่น แอปปริคอตต้นใหญ่ออกลูกสีส้มเต็มต้นเรียงราย ฝูงนกพิราบโผบินขึ้น ตัดกับแนวทิวเขาสีน้ำตาลอมม่วงที่โอบล้อมทุ่งนา
      ผมเดินไปตามถนน มุ่งไปสู่ทิศทางของเสียงเพลง ตัดลงไปในแปลงนา มองเห็นครอบครัวหนึ่งอยู่กลางทุ่งแต่ไกล
      "จูเล" เราทักกันเป็นภาษาลาดัก คำนี้หมายถึงสวัสดี ใช้ในโอกาสพบ และจากลา
      อาม่าเล (แม่) โซนัม ยูรอน อยู่ในวัยกลางคน ไว้ผมเปียยาวสองเส้น ใบหน้าคล้ำเกรียมแดด เธอยิ้มอย่างใจดี ไม่ปฏิเสธเมื่อผมขอถ่ายรูป ทั้งยังเชื้อเชิญให้กินอาหาร
      ลูกสาววัยรุ่นของอาม่าเล ยกจานใส่ผลแอปปริคอตมาให้ชิม ผลของมันลักษณะกลม ๆ สีส้ม รสชาติหวานฉ่ำชุ่มคอ
      อาม่าเลกำลังเตรียมอาหารแบบลาดักให้เรา เธอเทไชย (ชา) ร้อน ๆ จากกาใส่ถ้วยกระเบื้องใบเล็ก เอาช้อนปาดเนยใส่ลงไป เด็ดก้านฟางใกล้ตัวแทนช้อนคนในถ้วยให้เนยละลาย เทเกลือจากกระปุกลงไป เปิดฝาอีกกระปุกหนึ่ง ใช้ช้อนตักผงซัมปาสีขาวละเอียด ซึ่งทำจากแป้งข้าวบาเลย์ลงผสม ผมยกถ้วยดื่ม รสชาติของมันเค็มปะแล่ม มันและข้นคล้ายอาหารเด็กอ่อน ทำให้อิ่มสบายท้อง
      สามีของอาม่าเลอยู่ในลานนวดข้าว สัตว์ที่ถูกผูกไว้ด้วยกันประกอบด้วยลูกวัวสี่ตัว ยักษีซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างวัวพื้นเมือง และวัวออสเตรเลียสองตัว ลาตัวหนึ่ง และโซโมซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างวัวบ้าน และจามรีอีกหนึ่งตัว พวกมันเดินวนย่ำฟางรอบหลักเป็นวงกลม สามีอาม่าเลเดินตาม มือหนึ่งถือตะกร้าสาน คอยรองรับมูลสัตว์ไม่ให้ร่วงสู่กองฟาง อีกมือหนึ่งถือไม้คอยตีเวลาสัตว์ไม่ยอมเดิน ปากก็ร้องเพลงไปด้วย เพลงที่ผมได้ยินเมื่อเช้ามาจากเขาผู้นี้เอง
      ยังมีชายอีกคนยืนอยู่ใกล้ ๆ กัน วัยและหน้าตาใกล้เคียงกับสามีอาม่าเล ผมเดาเอาว่าอาจเป็นสามีอีกคนของอาม่าเล เพราะตามประเพณีของชาวลาดักพุทธเช่นครอบครัวนี้ หญิงลาดักสามารถมีสามีพร้อมกันสอง หรือสามคน โดยมากมักแต่งกับพี่ชาย และน้องชายในครอบครัวเดียวกัน
      ก่อนมาที่หมู่บ้านซัสปาล ผมเคยไปเที่ยวบ้านหนึ่งในหมู่บ้านชูโชต นอกตัวเมืองเลห์ อาม่าเลของบ้านนี้แต่งงานกับชายสองคน ซึ่งเป็นพี่น้องกัน และมีลูกชาย-หญิงสามคน เรื่องเช่นนี้ออกจะแปลกในสายตาคนภายนอก โดยเฉพาะสถานะของลูก ๆ ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อที่แท้จริงของตน แต่เท่าที่เห็น คนในครอบครัวก็ดูกลมเกลียวรักใคร่กันดี
 (คลิกดูภาพใหญ่)       ปัจจุบันประเพณีสตรีมีสามีหลายคนเหลือน้อยลงทุกทีแล้ว เพราะชาวลาดักรุ่นใหม่ไม่ค่อยยอมรับ
      อาม่าเล โซนัม ยูรอน บอกผมว่าเย็นนี้ให้กลับมาอีกครั้ง เธอจะพาไปเที่ยวที่บ้าน
      ผมขอตัวเดินจากมา ตระเวนไปตามท้องทุ่ง พบอีกหลายครอบครัวกำลังขับสัตว์เดินนวดข้าว ขณะที่แปลงนาอีกหลายแปลง ยังไม่ถูกเก็บเกี่ยว
      กล่าวได้ว่านาข้าวคือชีวิตของชาวลาดักทั้งมวล ชาวลาดักปลูกข้าวบาเลย์ และข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก ตลอดปีมีช่วงเวลาเพาะปลูกสั้น ๆ แค่สี่เดือน อีกแปดเดือนที่เหลือเป็นฤดูหนาวที่หิมะตกหนัก พืชพรรณไม่อาจงอกเงย
      ฤดูเพาะปลูกเริ่มต้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เพราะภูมิอากาศแต่ละท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไม่พร้อมกัน ชาวบ้านจะพากันไปปรึกษาโหราจารย์ ให้ดูฤกษ์ยามสำหรับเริ่มต้นเพาะปลูก จากนั้นจัดพิธีทำขวัญแม่พระธรณี และแม่พระคงคา ทำขวัญหนอนแมลงในแผ่นดิน ปลาในลำธาร ขอขมาลาโทษที่รบกวน ด้วยการเดินเหยียบย่ำ หรือฟันด้วยจอบเสียม
      สัตว์ที่เหมาะสมสำหรับเทียมแอกไถพรวนดิน ก็คือลูกผสมระหว่างจามรีและวัวบ้าน เพราะตัวใหญ่ แข็งแรง อดทน และไม่ดื้อ ถ้าเป็นตัวผู้เรียกว่าโซ (หรือ ดโซ) ตัวเมียเรียกว่าโซโม
      ในหนังสืออนาคตอันเก่าแก่ฯ บรรยายภาพการหว่านไถของชาวลาดักไว้ว่า
      "ดโซคู่นั้นถูกจับเทียมแอก มันเป็นสัตว์ที่เชื่องเชื่อทว่าสง่างาม มันไม่เคยรีบร้อนเลย มันลากไถไปอย่างสง่า โดยมีผู้หว่านเดินตามมาข้างหลัง หว่านโปรยเมล็ดข้าวพลางขับขานบทเพลง
      "เมื่อใดที่พิธีหว่านได้เสร็จลง ก็แทบจะไม่ต้องคอยดูแลข้าวเหล่านั้นเลย มีเพียงการทดน้ำเข้านาบ้าง ซึ่งบางครั้งก็ใช้ทอดเต๋าบอกระยะเวลา แต่ส่วนมากหน้าที่ทดน้ำเข้านา จะตกเป็นของเชอร์ปอน ซึ่งได้รับการแต่งตั้ง หรือได้รับเลือกจากคนในหมู่บ้านให้คอยดูแล เขาจะคอยดูแลการเปิดปิดคันส่งน้ำ ตามที่ได้รับมอบหมายมา แต่ละครอบครัวจะได้รับอนุญาตให้เปิดน้ำเข้านาตนเอง ภายในระยะเวลาที่กำหนดทุกสัปดาห์"
      ครั้นข้าวออกรวงจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ท้องทุ่งจะครึกครื้นขึ้นอีกครั้ง หนุ่มสาวและผู้เฒ่าเดินเรียงกันเป็นแถว ใช้เคียวเกี่ยวข้าวตัดจนถึงตอซังพลางร้องเพลงไปด้วย ตกเย็นก็ตั้งวงร้องรำทำเพลงและดื่มสุรา
      ข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้ว จะถูกมัดเป็นฟ่อน นำไปกองรวมกัน รอไว้นวดในลานนวดข้าว ดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้
      ผมหลบร้อนไปพักในโรงแรมพักใหญ่ บ่ายแก่ ๆ จึงออกมาเดินเล่นอีกครั้ง เย็นนั้นหลายครอบครัวยังอยู่ในลานนวดข้าว แถวสัตว์เดินวนไปพลางก้มลงกินเมล็ดข้าวไปพลาง โซและโซโมดูช่างตัวโตและสง่างาม เขาของมันงอนโค้ง ดวงตากลมโต แผงอกหนา ขนสะอาดทั่วตัว โดยเฉพาะขนหางซึ่งฟูเป็นพวง
      ฟางข้าวที่ถูกนวดจนเมล็ดข้าวหลุดร่วงแล้ว ถูกนำมารวมเป็นกองใหญ่ คนสองคนหันหน้าเข้าหากัน ใช้ไม้ง่ามโกยฟางขึ้นสู่อากาศด้วยลีลาอันกลมกลืน เข้าจังหวะกับเพลงที่พวกเขาผิวปาก เส้นฟางจะปลิวไปกับสายลม ส่วนเมล็ดข้าวจะตกร่วงสู่พื้น
      เสียงเพลงจากคนต้อนสัตว์นวดข้าว และเสียงผิวปากของคนโกยฟาง ดังอยู่ตรงโน้นตรงนี้ทั่วผืนนา ทั้งหนุ่มสาว ผู้เฒ่า และเด็ก ๆ ต่างก็มีหน้าที่การงานอยู่ในท้องทุ่ง ไม่มีใครถูกตัดออกจากวงจรความสัมพันธ์ ไม่มีใครที่ไร้คุณค่า แม้เป็นงานหนัก แต่ทุกคนกลับดูผ่อนคลาย และรื่นรมย์ ทำงานของตนไปเรื่อย ๆ อย่างเนิบช้าทว่าต่อเนื่อง ลื่นไหลไปตามจังหวะและเสียงเพลง
 (คลิกดูภาพใหญ่)

๔.

      ผมกลับไปที่ลานนวดข้าวกลางทุ่ง ของครอบครัวอาม่าเล โซนัม ยูรอน อีกครั้ง งานนวดข้าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว พวกเขาแกะเชือกปลดสัตว์ออกจากหลัก ลูกวัวรุ่น ๆ สีดำตัวดื้อพุ่งทะยานออกมา จนลูกสาวอาม่าเลหนีกระเจิง อาม่าเลเข้าจับลูกวัวพาเดินกลับบ้าน เธอบอกให้เราเดินตามไป
      บ้านของอาม่าเลอยู่ที่เชิงเขา ลักษณะภายนอกเป็นเช่นเดียวกับบ้านหลังอื่น ๆ ที่ปลูกใกล้กัน คอกสัตว์ก่อด้วยหินแยกออกจากตัวบ้าน โชยกลิ่นฉุน และได้ยินเสียงแพะแกะร้องจากข้างใน ตัวบ้านสองชั้นทรงกล่องสี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐที่ทำจากดินเหนียวตากแห้ง ฉาบทับด้วยดินเหนียวเนื้อละเอียด และปูนขาว ผนังแต่ละด้านเอียงเข้าสู่ด้านในน้อย ๆ บนผนังเรียงรายด้วยหน้าต่างกระจก เหนือกรอบหน้าต่างและประตู มีทับหลังไม้แกะสลัก ส่วนหลังคาแบนราบนั้นใช้เป็นที่ตากผักผลไม้แห้ง เก็บไว้เป็นเสบียงในฤดูหนาว
      ภายในบ้านแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ได้แก่ ห้องพระ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องเก็บเสบียง ที่สำคัญที่สุดคือห้องครัว เพราะสมาชิกในบ้านจะมาชุมนุมที่นี่ เกือบตลอดเวลาในยามว่าง ห้องนี้เป็นทั้งห้องประกอบอาหาร กินอาหาร ห้องนั่งเล่น และเป็นที่ตั้งเตาไฟให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว
      ห้องครัวบ้านอาม่าเล โซนัม ยูรอน มีขนาดกว้างขวางแต่ค่อนข้างมืดครึ้ม ตบแต่งเช่นเดียวกับครัวลาดักบ้านอื่น ที่ผมเคยเห็น ผนังด้านหนึ่งติดตั้งตู้ไม้ขนาดใหญ่ บนชั้นเรียงรายด้วยสารพัดเครื่องครัว เช่น ทัพพี ถ้วย ชาม หม้อโลหะหลากรูปทรง หลายขนาด ดูราวกับพิพิธภัณฑ์ ติดกับผนังอีกด้าน ทำยกพื้นเตี้ย ๆ แนวยาว ปูพรมเป็นที่นั่ง ด้านหน้าวางโต๊ะไม้เตี้ย ๆ สองตัวไว้ตั้งสำรับอาหาร มุมห้องมีเตาไฟดำมะเมื่อม ก่อด้วยดิน ใช้มูลสัตว์แห้งเป็นเชื้อเพลิง แต่ปัจจุบันครอบครัวนี้ หันมาใช้เตาแก๊สแทนแล้วเช่นเดียวกับครอบครัวชาวลาดักอื่น ๆ ผมจึงเห็นถังแก๊สสีส้มขนาดกลาง ตั้งเด่นอยู่ใกล้กับเตาไฟเก่า
      อาม่าเลกำลังจะทำกรูกรูไชยให้เรากิน ไชยหรือชาชนิดนี้เป็นอาหารหลักอีกชนิด ของชาวลาดัก เธอต้มน้ำชา แล้วใส่เกลือ โซดา และเนยผสมลงไป เทน้ำชาร้อน ๆ นี้ลงในกระบอกไม้มีคันชักลูกสูบ เรียกว่ากระบอกกรูกรู แล้วชักคันลูกสูบให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี ก่อนจะเทชากลับลงในกาน้ำร้อนอีกครั้ง
      กรูกรูไชยในถ้วยกระเบื้องออกสีเหลืองขุ่น มีมันเนยลอยฟ่องจับผิวหน้า ยกขึ้นจิบก็พบรสชาติมันเค็ม เจือกลิ่นสาบวัวจาง ๆ ลูกสาวอาม่าเลรีบยกกามาเติมให้ทันที ชาวลาดักจะดูแลมิให้กรูกรูไชยของแขกพร่องถ้วย กินอีกก็เติมอีก พวกเขารักชาชนิดนี้มาก บางคนจิบได้ทั้งวัน พกติดตัวไปไหน ๆ ตลอดเวลา ว่ากันว่ามันมีสรรพคุณ แก้อาการโรคแพ้ความสูงด้วย
      อาหารถูกยกมาในสำรับแล้ว ประกอบด้วย "ไตกิ" หรือขนมปังลาดัก ทำจากแผ่นแป้งข้าวบาเลย์จี่บนไฟจนพองฟูหนานุ่ม ใช้มือบิจิ้มกินกับแกงผักเจือกลิ่นเครื่องเทศ คล้ายอาหารอินเดีย
      อาม่าเลมานั่งร่วมโต๊ะ มองดูเรากินด้วยท่าทางใจดี เธอเปิดกระปุกตักผงซัมปาใส่ถ้วยกรูกรูไชยของผม เอาช้อนปาดเนยก้อนเบ้อเริ่มใส่ลงไป ชาในถ้วยจึงขุ่นข้นคล้ายซุปฝรั่ง
      แม้อาหารดั้งเดิมของลาดักมีอยู่ไม่กี่อย่าง หนักไปทางแป้งและนมเนย ส่วนประกอบประเภทเนื้อ ผัก และผลไม้มีน้อยมาก แต่พวกเขาก็แข็งแรงสมบูรณ์ กระปรี้ประเปร่า เดินข้ามเขาได้เป็นวัน ๆ อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ทั้งอาหารแต่ละอย่าง ยังปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่พวกเขาทำมาหาได้ด้วยตนเอง
      ผงซัมปาและแป้งข้าวบาเลย์ในห้องเก็บเสบียง ได้มาจากแปลงนาที่พวกเขาลงมือเพาะปลูก
      ชาวลาดักรีดนมวัวทุกวัน ส่วนหนึ่งสำหรับดื่ม ส่วนที่เหลือแบ่งไว้ทำเนย เนยแข็ง และเคิร์ด--นมเปรี้ยวข้นเป็นครีมคล้ายโยเกิร์ต รสชาติฝาดเฝื่อน
      ชั่วแว่บหนึ่งที่ผมรู้สึกอบอุ่นคุ้นเคยขึ้นอย่างประหลาด คิดเอาเองว่า อาจเพราะได้มาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตพึ่งพาตนเอง ที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถควบคุม- จัดการได้ และเห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ผิดกับชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งนานาสรรพสินค้า ที่เราซื้อหาถูกจัดส่งมาจากที่ไกล โดยใครก็ไม่รู้
      พวกสัตว์เลี้ยง เช่น จามรี วัว แพะ แกะ ไม่เพียงให้นมเป็นอาหาร ให้แรงงาน แต่ยังให้ขนสัตว์ด้วย ชาวลาดักจะนำขนสัตว์มาซัก ปั่นเป็นเส้น ทอ ย้อม และตัดเย็บเป็นชุดเสื้อผ้าด้วยตนเอง ไม่เพียงเท่านั้น มูลของมันยังนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ติดเตาไฟให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว
      การใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งอย่างคุ้มค่า ไม่ปล่อยให้สิ่งใดสูญเปล่า เป็นคำตอบว่า เหตุใดมนุษย์จึงสามารถผ่านชีวิต ในสถานที่แห้งแล้งกันดาร ภูมิอากาศรุนแรงโหดร้ายเช่นนี้ได้ ในบางฤดูหนาว อากาศในลาดักติดลบถึง ๔๐ องศาเซลเซียสทีเดียว
      ดังที่ เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮ็อดซ์ ได้ข้อคิดจากประสบการณ์ของเธอว่า
      "ข้าพเจ้าได้เริ่มเรียนรู้ว่าชาวลาดัก สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายนี้ได้อย่างไร ข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้อีก ถึงความหมายของคำว่า "ความมัธยัสถ์" ในโลกตะวันตกนั้น คำว่ามัธยัสถ์ ทำให้มองเห็นภาพคุณป้าแก่ ๆ นั่งเฝ้าตู้สมบัติบ้าซึ่งลั่นกุญแจแน่นหนา ทว่าความมัธยัสถ์ ซึ่งดำรงอยู่ในลาดัก กลับเป็นสิ่งที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง มันหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ หมายถึงการใช้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่จำกัด อย่างระมัดระวังและเห็นคุณค่า ซึ่งความมัธยัสถ์ในความหมายนี้ หาใช่ความตระหนี่ถี่เหนียวไม่ แต่เป็นความหมายของ "ผลาผล" คือการใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จากทรัพยากรน้อยที่สุด
      "สิ่งที่เราถือว่าแหว่งวิ่นสิ้นสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้แล้ว เหมาะแต่จะขว้างทิ้งไปนั้น แต่สำหรับชาวลาดักก็อาจหาวิธีใช้มันได้ ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะถูกทิ้งไปให้สูญเปล่า อะไรก็ตามที่คนไม่อาจกินได้ ก็สามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ อะไรที่ไม่สามารถใช้เป็นเชื้อไฟได้ ก็อาจนำไปใส่ดินให้เป็นปุ๋ย
      "ชาวลาดักจะปะชุนเสื้อผ้าทอมือของตน จนหาที่ปะไม่ได้อีก เมื่ออากาศหนาวจัดในฤดูหนาว ทำให้ต้องสวมใส่เสื้อผ้าซ้อนกันสองสามชั้น เขาก็จะใส่ชุดใหม่ที่ดีที่สุดไว้ชั้นใน เพื่อถนอมไว้ในงานฉลอง หรือโอกาสพิเศษ เมื่อเสื้อผ้าเก่าขาดจนไม่อาจปะชุนได้อีกต่อไป เขาก็จะนำผ้านั้นไปโปะกับโคลน ใช้ซ่อมรูรั่วตามคันส่งน้ำเข้านา
      "ดินในคอกสัตว์จะถูกขุดขึ้นมาใช้เป็นปุ๋ยคอก เป็นปุ๋ยยูเรียซึ่งหาได้เองในท้องถิ่น มูลสัตว์จะถูกเก็บรวบรวมไว้ ไม่เพียงแต่ที่มีอยู่ในคอก และตามเล้า แต่จากทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ด้วย แม้แต่อุจจาระของคนก็มิได้สูญเปล่า แต่ละบ้านจะมีส้วมหลุมซึ่งทำเป็นห้องเล็ก ๆ มีรูอยู่บนพื้นเหนือหลุม ห้องนี้ปรกติจะสูงจากพื้นหนึ่งชั้นดิน และเถ้าในครัวจะถูกนำไปพรม เพื่อให้มันเกิดขบวนการย่อยสลายเร็วขึ้น เป็นปุ๋ยชั้นดี และช่วยดับกลิ่นด้วย ปุ๋ยเหล่านี้ จะถูกขนถ่ายออกไปใช้ในไร่นาปีละครั้ง"
      วิถีชีวิตเรียบง่ายสมถะ อิงแอบกับธรรมชาติ และสายสัมพันธ์อันแนบชิดของคนในชุมชนกสิกรรม หล่อหลอมให้คนลาดักอ่อนโยนเยือกเย็น และพึงพอใจในตนเอง
      อีกทั้งหลักคำสอนของพุทธศาสนา ก็มีอิทธิพลอย่างสูง ต่อทัศนคติการมองโลก และชีวิตของชาวลาดัก
 (คลิกดูภาพใหญ่)

๕.

      มีประวัติว่าศาสนาพุทธเผยแผ่มาสู่ดินแดนลาดัก ตั้งแต่ ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล
      ปัจจุบันชาวลาดักนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน หรือตันตระ เช่นเดียวกับทิเบต และนับถือองค์ทะไลลามะแห่งทิเบต เป็นประมุขสูงสุดทางศาสนา
      พุทธศาสนานิกายวัชรยาน มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีหลายองค์ และยังนับถือพระโพธิสัตว์ ซึ่งหมายถึงผู้ที่บำเพ็ญเพียร จนถึงพุทธภูมิแล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่พุทธภูมิเพื่อคอยช่วยเหลือสัตว์โลก ให้พ้นวัฏสงสาร ภิกษุของนิกายนี้เรียกว่า ลามะ นอกจากศึกษาธรรมะ ยังมีการฝึกจิต และท่องมนต์ด้วย
      ตลอดเวลาที่ผ่านมาในเมืองเลห์ แม้เป็นเวลาไม่นานนัก แต่ก็ทำให้ผมซาบซึ้งดีว่า พุทธศาสนาหยั่งรากลึกในจิตใจคนที่นี่เพียงใด
      ทุก ๆ ที่ ทุกเวลา ไม่ว่าตามถนน ในท้องตลาด ในงานเลี้ยง หรือบนรถโดยสาร ผมพบว่าชาวลาดัก ที่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป มักนั่งนับลูกประคำ สวดมนต์ หรือหมุนกระบอกมนต์ในมือ ขณะเดินไปไหนต่อไหน
      "โอม มณี ปัทเมหุม" หรือ "โอ ดวงมณีในดอกบัว" คือคาถาบทสำคัญของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ที่ชาวลาดักมักสวดภาวนาอยู่เสมอ
      เห็นได้ว่าชาวลาดัก ไม่ยอมปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่พยายามดำเนินสติ อยู่แทบทุกอิริยาบถในชีวิตประจำวัน พุทธศาสนาจึงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิต มิได้เป็นส่วนพิเศษแยกออกไป หรือจะนึกถึงต่อเมื่อไปวัดเท่านั้น
      กล่าวได้ว่าเราจะพบอิทธิพลของพุทธศาสนาในทุกสิ่ง หล่อหลอมอยู่ในศิลปะ ดนตรี การแพทย์ หรือแม้แต่การเกษตร
      ในปฏิทินประจำปีของลาดัก เต็มไปด้วยวันสำคัญทางศาสนา ที่มีพิธีปฏิบัติศาสนกิจ
      บนดาดฟ้าหลังคาบ้าน หรือแม้แต่ตามดินแดนรกร้างห่างไกล ก็ยังปรากฏธงมนตราธวัชโบกสะบัด เพราะชาวลาดักเชื่อว่า สายลมจะพัดพาคาถาบนผืนธงไปสู่สรวงสวรรค์
      ลาดักยังเป็นดินแดนแห่งสถูปเจดีย์ และวัดวาอาราม ทั่วแผ่นดินมีสถูปเจดีย์กระจัดกระจายทุกแห่งหน ทุก ๆ หมู่บ้านมีวัดหรือกอมปาอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ตระหง่านบนเนินเขา
      ครอบครัวชาวลาดักที่มีลูกชายมากกว่าหนึ่งคน มักส่งลูกชายคนหนึ่งเข้าวัด บวชเณรจนอายุครบเป็นลามะ เพื่อสืบทอดศาสนา พระลามะมิได้เป็นนักบวชที่ตัดขาดจากโลกภายนอก แต่มีหน้าที่สัมพันธ์กับสังคมด้วย บางรูปเป็นแพทย์ เป็นครู โหราจารย์ หรือเป็นจิตรกรวาดภาพ
      งานศาสนพิธีที่สำคัญของลาดักคือ "พิธีเต้นหน้ากาก" ซึ่งมีที่มาจากแก่นธรรมของพุทธศาสนาวัชรยานนั้น มีพระลามะเป็นผู้แสดง ใช้ดาบประหารตัวมารหรืออัตตา
      พิธีเต้นหน้ากากที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จัดขึ้นที่วัดเฮมิสหรือเฮมิสกอมปา ทุกปีจะมีทั้งคนพื้นเมือง และนักท่องเที่ยวมาร่วมงานจำนวนมาก
      วัดสำคัญอีกแห่งของลาดักที่ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมก็คือ ทิ๊กเซ่กอมปา หมู่ตึกอันโอฬารลดหลั่นกันลงมา ตามเนินเขาของวัดนี้ เมื่อมองแต่ไกล จะมีลักษณะคล้ายพระราชวังโปตาลาแห่งทิเบต ภายในโบสถ์หลังใหญ่สีแดง ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางนั่งขนาดใหญ่ สูงตระหง่านถึง ๑๕ เมตร
      ยังมีอีกวัดหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่ามีลักษณะงามวิจิตร มีศิลปะสถาปัตยกรรมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากวัดอื่นใดในลาดัก นั่นคือ อัลชิกอมปา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอัลชิ ห่างจากหมู่บ้านซัสปาลที่ผมอยู่นี้ราว ๓ กิโลเมตร
      ว่ากันว่าใครก็ตามที่มาถึงลาดัก ไม่ควรพลาดชมวัดแห่งนี้
      ...........................................................

 (คลิกดูภาพใหญ่)       ผู้จัดการโรงแรมชาวทิเบต อธิบายเส้นทางเดินเท้า จากซัสปาลไปหมู่บ้านอัลชิให้ฟัง พร้อมให้กำลังใจว่าไปไม่ยาก
      ผมเดินไปจนสุดเขตหมู่บ้าน ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำอินดัสที่ก้นหุบเขา หลังจากไต่ข้ามช่องเขาสูงชัน ก็พบที่ราบเวิ้งว้างมีแต่กรวดทรายสีน้ำตาล
      ทิวเขาซับซ้อนที่โอบรอบที่ราบแห่งนี้มีหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นหน้าผาราบเรียบตัดตรง เทือกเขาขรุขระเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม เทือกเขาที่เต็มไปด้วยยอดแหลมคมทิ่มแทงท้องฟ้า ไปจนถึงเทือกเขาที่เนื้อหินขมวดเป็นปุ่มปม เหมือนมีมือยักษ์มาขยุ้มไว้
      เมื่อไม่ได้รถโดยสารคุ้มตัว แต่ออกเดินด้วยกำลังขาของตนเช่นนี้ ทำให้ได้สัมผัสกับสภาพกลางแจ้งอย่างเต็มที่ และเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นว่า ทำไมจึงมีคนเรียกดินแดนแห่งนี้ว่าโลกพระจันทร์ แต่ภูมิประเทศที่แปลกประหลาด หลอกหลอน และสายลมรุนแรง ที่ปะทะตัวจนเหน็บหนาวแม้อยู่กลางแดดจ้า ก็ทำให้รู้สึกแจ่มชัดยิ่งขึ้นในแต่ละย่างก้าวเดิน
      ก้าวต่อก้าวนำเราไปข้างหน้า กระทั่งมองเห็นจุดหมายในที่ไกลตา สถูปเจดีย์หรือชอร์เตนสีขาวกระจ่าง ลักษณะคล้ายตัวขุนหมากรุกขนาดใหญ่ เคียงข้างด้วยกองแผ่นศิลาสลักอักษรมนตรา เมื่อเดินต่อไปจะลอดใต้ซุ้มลำไม้ไผ่สูงชะลูดปักเคียงกัน ด้านบนขึงราวธงมนตราธวัชหลากสี  โบกสะบัดอยู่ในสายลม
      ทุก ๆ ชุมชนลาดักจะมีชอร์เตนพร้อมแผ่นศิลาสลักมนต์ "โอม มณี ปัทเมหุม" สถิตอยู่บริเวณปากทางเข้าเป็นสัญลักษณ์ ตามธรรมเนียมผู้ผ่านทาง จะต้องทำความเคารพด้วยการเดินวน จากซ้ายไปขวารอบชอร์เตน ก่อนผ่านเข้าสู่ชุมชนนั้น
      ผมมาถึงหมู่บ้านอัลชิในที่สุด อัลชิกอมปาตั้งอยู่สุดถนนท้ายหมู่บ้าน บริเวณทางเข้ามีแผงขายของที่ระลึก จำพวกเครื่องประดับ งานฝีมือ หรือพระพุทธรูปแบบทิเบตอยู่เรียงราย เดินผ่านบ้านชาวบ้านสองสามหลังก็ถึงวัด
      สิ่งหนึ่งที่อัลชิกอมปาแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ในลาดักก็คือ วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ราบติดพื้นดิน แทนที่จะสร้างอยู่บนเนินเขา
      อัลชิกอมปาเป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ประกอบด้วยอารามห้าหลัง ได้แก่ อารามดูคัง (Du-Khang) อารามซุมเต็ก (Sumtsek) อารามลาคัง โซมา (Lhakhang Soma) อารามมัญชุศรี (Temple of Manjushri) และอารามลอตซาวา ลาคัง (Lotsava Lhakhang) แม้แต่ละอารามจะมีขนาดย่อม แต่ก็เต็มไปด้วยศิลปะอันวิจิตร ซึ่งรังสรรค์โดยช่างฝีมือจากทิเบตและแคชเมียร์
      ความโดดเด่นของอารามดูคังอยู่ที่งานแกะสลัก อันละเอียดประณีตซึ่งปรากฏอยู่บนซุ้มประตู เสา และคานไม้บริเวณโถงทางเข้า ส่วนภายในอารามอันเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรม และสวดมนต์ของเหล่าลามะนั้น ค่อนข้างมืดทึม มีเพียงแสงสว่างเรือง ๆ จากตะเกียงน้ำมันและแสงจากช่องแสงบานเล็ก แต่ก็พอมองเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง อันเก่าแก่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนา
 (คลิกดูภาพใหญ่)       อารามที่มีชื่อเสียงที่สุดของวัดนี้คืออารามซุมเต็ก ภายในอารามซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก กลับปรากฏรูปปั้นขนาดมหึมา ของพระอวโลกิเตศวร พระศรีอาริยะเมไตรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ยืนตระหง่านแนบชิดผนังทั้งสามด้าน ส่วนศีรษะสูงเลยเพดานที่เจาะเป็นช่องขึ้นไปสู่ชั้นที่ ๒ ของอาคาร ข่มให้ผู้เข้ามานมัสการ รู้สึกว่าตนเองเหลือตัวเล็กนิดเดียว
      ส่วนอารามมัญชุศรี กลางห้องมีแท่นประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์สี่องค์ หันหน้าออกสู่ทิศทั้งสี่ แต่ละองค์แสดงกิริยาอาการต่างกัน ทั้งเมตตาปราณี และดุร้ายเกรี้ยวกราด มีอสูรและสัตว์ประหลาดนานาชนิดพันตลอดร่าง แสงภายในห้องที่สลัว รางประกอบกับพระพุทธรูปปางพิสดาร ทำให้ในอารามเต็มไปด้วยบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ลึกลับ สะกดให้ผู้เข้าชมทั้งหลาย ต้องสำรวมกิริยาวาจาโดยไม่รู้ตัว ดังที่ผมเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวผมทอง เดินชมรอบอารามด้วยฝีเท้าแผ่วเบาระมัดระวัง และหันไปพูดกันด้วยเสียงกระซิบ
      หลังจากเที่ยวชมอัลชิกอมปา หลายวันให้หลัง ผมเดินทางจากหมู่บ้านซัสปาลไปสู่หมู่บ้านชูโชต เพราะเพื่อนชาวลาดักที่เพิ่งรู้จักกันชักชวนไว้ล่วงหน้า ให้มาชมงาน "บุดดา เบิร์ทเดย์" ที่กำลังจะมีขึ้นในหมู่บ้านของเขา
      เมื่ออยู่ในลาดัก ผมไม่แน่ใจว่าวันประสูติของพระพุทธเจ้า ตามความเชื่อของพุทธนิกายวัชรยาน จะหมายรวมถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน เช่นเดียวกับนิกายเถรวาทหรือไม่ กระทั่งกลับเมืองไทย ได้อ่านหนังสือ "โอม มณีปัทเม หุม" โดย ดร. ล็อบสัง รัมปา ผู้เขียนชาวทิเบต จึงเกิดความกระจ่าง
      ข้อมูลในหนังสือระบุว่า ตามปฏิทินแบบทิเบต วันแรกของเดือนที่ ๔ เป็นวันฉลองการโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้า วันที่ ๑๕ ของเดือนเดียวกันเป็นวันเสด็จสู่ปรินิพานของพระพุทธองค์ ส่วนวันประสูติของพระพุทธเจ้าคือวันที่ ๔ ของเดือนหก ซึ่งอยู่ราวเดือนกรกฎาคมตามปฏิทินสากล
      พิธีฉลองวันประสูติของพระพุทธเจ้า ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๖ กรกฎาคม วันนั้นผมออกจากที่พักแต่เช้า เพื่อไปเข้าร่วมขบวนแห่ ในขบวนประกอบด้วยลามะหนุ่มสองรูปเป็นหัวขบวน ทำหน้าที่เป่าปี่และตีกลอง ตามด้วยลามะชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง โดยมีผู้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์เล็ก กับผู้ถือกลดบังแดดตามมา ผู้ร่วมขบวนอื่น ๆ ล้วนเป็นผู้ชายทั้งสิ้น ผู้เฒ่า และคนหนุ่มสวมชุดกอชาตามประเพณี เด็ก ๆ แต่งตัวตามสบาย แต่ทุกคนล้วนสะพายคัมภีร์ศาสนา ลักษณะเป็นปกไม้แคบยาวสองแผ่นประกบไส้ในไว้ ผูกด้วยเชือกหรือผ้าแล้วสะพายเฉียงกับลำตัว
      ผมเดินร่วมขบวนแห่ยาวเหยียด ลัดเลาะตรอกซอกซอย ผ่านคูน้ำ ข้ามนาข้าวเขียวขจีที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว เพราะภูมิอากาศที่นี่ต่างจากซัสปาล ขบวนเดินไปถึงที่ใดก็จะได้ยินเสียงปี่กลอง เสียงโห่ร้องว่า "กีกี โซโซ ลาเกียโล" ซึ่งแปลว่า "ขอชัยชนะจงมีแด่ทวยเทพ" ดังก้อง
      หมู่บ้านชูโชตประกอบด้วยครอบครัวชาวพุทธและมุสลิม ขบวนแห่จะหยุดลงที่บ้านชาวพุทธ เพื่อให้ลามะประกอบพิธีสวดมนต์ คนในบ้านรอต้อนรับ ค้อมตัวให้คนในขบวนเอาคัมภีร์แตะที่หัว จากนั้นก็ลำเลียงชา ขนมปัง บิสกิต มาเลี้ยงขบวนแห่
      กว่าขบวนแห่แวะครบทุกจุด ก็ใช้เวลาเดินรอบหมู่บ้านร่วม ๔ ชั่วโมง แข้งขาผมเมื่อยล้าเต็มทีแล้ว เมื่อมาถึงบ้านใหญ่หลังสุดท้าย ซึ่งใช้เป็นที่จัดงานเลี้ยง ชาวบ้านที่ผมเห็นอยู่ตามรายทางพากันมารวมตัวอยู่ที่นี่ ทั้งหมดเดินขึ้นไปสู่ชั้น ๒ ผู้หญิงแยกเข้าไปอยู่ในห้องใหญ่ห้องหนึ่ง อาบีเลหรือคุณย่าคุณยาย เริ่มนับลูกประคำ ผมตามพวกผู้ชายเข้าไปอีกห้องหนึ่งซึ่งมีโต๊ะเตี้ยตั้งเรียงไว้รอบห้อง ทุกคนเข้านั่งประจำที่ เจ้าบ้านนำอาหาร กรูกรูไชย และ "ชาง" หรือเบียร์พื้นบ้านลาดัก มาเสิร์ฟ เมื่อดื่มกินกันได้ที่ พวกผู้ชายก็พากันร้อง และเต้นด้วยความรื่นเริง โดยมีพวกผู้หญิงจับกลุ่มเมียงมองตรงปากประตูห้อง
      ผมไม่ได้อยู่ร่วมกระทั่งงานเลี้ยงเลิก เพราะต้องรีบกลับบ้านเก็บข้าวของให้ทันขึ้นรถโดยสารเที่ยวสุดท้ายสู่เมืองเลห์
 (คลิกดูภาพใหญ่)

๖.

      กลับมาถึงเมืองเลห์ ผมนึกถึงวันแรก ๆ ที่อยู่ที่นี่
      วันนั้นผมไปเที่ยวพระราชวังเลห์ ป้อมปราการที่ตระหง่านเหนือเนินเขาในเมือง พระลามะชราผู้ดูแลพระราชวัง พาเราเดินผ่านอุโมงค์อันมืดทึบ อับชื้น และอวลไปด้วยฝุ่นที่คลุ้งขึ้นจากพื้นดินที่ถูกย่ำ เมื่อขึ้นไปถึงดาดฟ้า ท่านชี้ให้เราดูเบื้องล่าง บอกว่า
      "ดูสิ นี่คือเมืองเลห์"
      ภายใต้สีหน้าเรียบเฉย ผมไม่แน่ใจว่าลามะชรารู้สึกอย่างไร เพราะตัวเมืองที่เห็นเบื้องล่างนั้น เต็มไปด้วยแท่งตึกเบียดเสียดแออัด บนถนนรถวิ่งขวักไขว่ แลดูสับสนวุ่นวาย
      เมื่อลงไปเดินในเมืองก็พบว่า สองข้างถนน ตรอกซอกซอย เต็มไปด้วยโรงแรม และเกสต์เฮาส์สำหรับนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ ภัตตาคาร ตลอดจนร้านขายของที่ระลึกต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีแขกแคชเมียร์เป็นเจ้าของ ส่วนชาวลาดักนั่งขายผักอยู่บนฟุตบาท ราวกับมาขออาศัยเมืองของคนอื่น
      ความจริงเลห์เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญของเอเชีย มาแต่โบราณ ด้วยตั้งอยู่บนเส้นทางคาราวานขนส่งสินค้า จากเอเชียกลางสู่อินเดีย ทุกฤดูร้อนเมื่อหิมะละลาย กองคาราวานจากแดนไกล จะรอนแรมผ่านทางด่าน และช่องเขาสูงชันมาสู่ลาดัก เมื่อนั้นตลาดเลห์จะคึกคักด้วยกลุ่มพ่อค้า จากแคว้นซินเกียงของจีน จากเมืองยาร์คาน จากเมืองคาชการ์ จากเตอร์กิสถาน จากแคว้นแคชเมียร์ จากเมืองลาซา-ทิเบต หรือกลุ่มพ่อค้าลาดักเอง สินค้าทั้งหลาย ไม่ว่า ชา เกลือ ผ้าไหม สมุนไพร คราม ขนสัตว์ และทองคำ จะถูกซื้อขายแลกเปลี่ยน ผ่านมือพ่อค้ากลุ่มต่าง ๆ เป็นที่ครึกครื้น
      กระนั้นลาดักก็มิได้รับผลกระทบใด ๆ มากนัก แม้จะได้รับอิทธิพลจากผู้มาเยือนบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างช้า ๆ ชาวลาดักสามารถเลือกเฟ้น และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก ให้ผสมกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมของตนได้อย่างดี
      ความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ที่ปรากฏให้เห็นในเมืองเลห์ทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นเมื่อกองทัพอินเดีย ยาตราสู่ลาดักเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๒ เพื่อปกป้องเขตแดน จากการคุกคามของจีน และปากีสถาน ถนนลาดยางได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อการคมนาคมขนส่ง กระทั่งปี ค.ศ. ๑๙๗๔ รัฐบาลอินเดียได้เปิดดินแดนลาดัก ให้เป็นเขตท่องเที่ยว อันเป็นนโยบายปักปันลาดัก ให้เข้ามาอยู่ในแผนที่ประเทศอินเดียอย่างถาวร ตามมาด้วยโครงการพัฒนาต่าง ๆ จากรัฐบาลกลาง มีการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ตลอดจนการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่
      นับแต่นั้นก็เริ่มมีสิ่งก่อสร้างคอนกรีตผุดขึ้นในลาดัก การพัฒนาที่กระจุกตัวแต่ในเลห์ ดึงดูดให้ชาวชนบทอพยพสู่เมืองหลวง เศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองถูกแทนที่ด้วยระบบเงินตรา ชาวลาดักรุ่นใหม่ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปใช้ชีวิตแบบตะวันตก ทำงานหาเงิน ยื้อแย่งแข่งขัน ผู้คนเริ่มห่างเหินต่อกัน กองทัพนักท่องเที่ยวนับหมื่นในแต่ละปี เป็นตัวอย่างให้หนุ่มสาวลาดักหันมาใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ใส่แว่นกันแดด และก้าวร้าวขึ้น ทั้งยังเป็นที่มาของขยะพลาสติก เช่นขวดน้ำแร่ ที่ไม่ย่อยสลายจำนวนมหาศาล ประเพณีที่ให้หญิงแต่งงานมีสามีได้หลายคน อันเป็นกลไกควบคุมการเพิ่มประชากร ในท้องที่ทุรกันดารขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ได้เลือนหายไป ครอบครัวสมัยใหม่แบบผัวเดียวเมียเดียว ส่งผลให้ประชากรลาดัก มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

 (คลิกดูภาพใหญ่)       เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮ็อดซ์ พำนักในลาดักตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๕ จึงรู้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นอย่างดี ดังที่เธอกล่าวไว้ว่า
      "ในช่วงเวลาประมาณ ๑๖ ปีนับแต่การพัฒนาได้เข้ามาสู่ลาดัก ข้าพเจ้าได้เฝ้าดูช่องว่างระหว่างคนรวย กับคนจนเพิ่มทวียิ่งขึ้นทุกที ได้เห็นผู้หญิงสูญเสียความเชื่อมั่น และพลังอำนาจของตน ได้เห็นคนว่างงาน ได้เห็นภาวะเงินเฟ้อ และอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ข้าพเจ้าได้เห็นอัตราการเพิ่มของประชากรสูงขึ้นเป็นอันมาก ด้วยแรงบีบคั้นจากภาวะทางเศรษฐกิจ และจิตใจ ข้าพเจ้าได้เห็นการแตกสลายของครอบครัว และชุมชน ทั้งยังได้เห็นผู้คน เริ่มเหินห่างออกจากผืนแผ่นดิน ด้วยเหตุว่าการเลี้ยงชีพค่อย ๆ ถูกแทนที่ โดยการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจจากภายนอก"
      เพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในด้านลบ เธอได้ริเริ่มโครงการลาดัก (Ladakkh Project) ขึ้น เพื่อมุ่งให้ชาวลาดัก ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมตนเอง และสนับสนุนการพัฒนา ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีองค์กรท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ทำงานรณรงค์ ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน
      ดังเช่น ขบวนการเพื่อการศึกษา และวัฒนธรรมแห่งลาดัก (SECMOL) อันเป็นขบวนการนักศึกษา ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๘ องค์กรนี้เห็นว่ารากเหง้าของปัญหา อยู่ที่ระบบการศึกษาแผนใหม่ เป้าหมายการทำงานส่วนใหญ่ จึงอยู่ที่นักเรียนนักศึกษา และคนหนุ่มสาว ผู้ที่จะก้าวเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
      บ่ายวันหนึ่ง ผมดั้นด้นไปถึงสำนักงานเซคมอล กระทั่งได้พบและพูดคุยกับ โซนัม วังจุก ผู้อำนวยการองค์กรวัย ๓๕ ปี
      "นโยบายพัฒนาลาดัก ถูกกำหนดจากคนภายนอก" เขาเริ่ม "ทั้งจากรัฐบาลกลางที่นิวเดลี หรือรัฐบาลท้องถิ่นแคว้นจัมมูแคชเมียร์ ปัญหาก็คือ ใครก็ตามที่เข้ามาพัฒนาลาดัก ไม่ว่าทหาร หรือนักพัฒนา พวกเขาล้วนมาด้วยทัศนคติอันคับแคบ รู้จักแต่การพัฒนาแบบตะวันตกเท่านั้น
      "เมื่อเขาเห็นบ้านดินของลาดัก เขาบอกว่าโบราณ เมื่อเห็นส้วมหลุมของลาดัก เขาบอกว่าล้าหลัง แย่ ! บอกว่าบ้านต้องสร้างด้วยคอนกรีต เขานำส้วมชักโครกแบบตะวันตกมาให้เรา แล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้น ในฤดูหนาวบ้านคอนกรีตหนาวมาก ขณะที่บ้านดินผนังหนาอบอุ่นกว่า ส้วมชักโครกทำให้เกิดมลภาวะกับแหล่งน้ำใต้ดินของลาดัก เมื่ออุณหภูมิติดลบ ๒๐ องศา ส้วมตะวันตกไม่สามารถชักโครกได้ สิ่งสกปรกก็หมักหมมทำลายสุขภาพ ขณะที่ส้วมหลุมแบบเก่า ใช้ได้ดีไม่มีปัญหามาหลายร้อยปีแล้ว
      "มันเป็นเรื่องของความแตกต่าง แต่ไม่ใช่ความล้าหลัง เพราะลาดักแตกต่างจากนิวเดลี แตกต่างจากศรีนาคาร์ (เมืองหลวงของแคว้นจัมมูแคชเมียร์) ระบบที่ทำงานได้ดีที่ศรีนาคาร์ อาจจะล้มเหลวที่ลาดัก และสิ่งที่เหมาะสมกับลาดัก ก็อาจไม่เหมาะกับที่อื่น ดังนั้นคุณควรจะเคารพสิ่งที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมในท้องถิ่น แล้วพัฒนาจากรากฐานเดิมให้ดีขึ้น ไม่ใช่โยนของเก่าทิ้งไปหมด นำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา แล้วมันก็ใช้การไม่ได้ นี่คือตัวอย่างของทัศนคติที่คับแคบ
      "เช่นเดียวกับระบบการศึกษาแผนใหม่ ชาวลาดักมีภาษาพูดภาษาเขียนเป็นของตัวเอง แต่นักพัฒนาบอกว่าภาษาของเราล้าหลัง ในโรงเรียนจึงสอนวิชาต่าง ๆ โดยใช้ภาษาอูรดู ภาษาฮินดี หรือภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยครูที่มาจากเดลีหรือแคชเมียร์ ภาษาลาดักเป็นเพียงวิชาเลือก ใครจะเรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ ไม่มีปัญหา ทำให้เกิดปัญหากับเด็ก เพราะเขาไม่คุ้นเคยกับภาษาเหล่านี้ จึงได้แต่เรียนโดยอาศัยการท่องจำ แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ เช่นวิทยาศาสตร์ได้อย่างถ่องแท้
 (คลิกดูภาพใหญ่)       "แล้วพวกครูก็เฝ้าบอกเด็ก ๆ ว่าพวกเธอยากจน ล้าหลัง เด็กจึงเติบโตขึ้นด้วยความคิดว่าตนเองไม่มีค่า คิดว่าลาดักล้าหลัง ภาษาลาดัก เครื่องแต่งกายลาดัก อาหารลาดัก ล้วนแต่ล้าหลัง สิ่งเหล่านี้มีส่วนบ่อนทำลายวัฒนธรรมลาดักอย่างรุนแรง
      "งานของเราจึงเน้นที่ระบบการศึกษา เราพยายามสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณค่า มีความหมายต่อเยาวชนลาดัก พยายามให้มีการสอนด้วยภาษาลาดัก มีบทเรียนประวัติศาสตร์ลาดัก แทนที่จะสอนเพียงเนื้อหา ที่เกี่ยวกับแคชเมียร์ หรือเดลีซึ่งไม่มีประโยชน์สำหรับที่นี่เลย"
      โซนัมเล่าว่า องค์กรของเขามีบทบาทในการเรียกร้อง เจรจาต่อรองกับรัฐบาล เพื่อปฏิรูประบบการศึกษาลาดัก ให้มีทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งรัฐบาลก็เริ่มเห็นความสำคัญ ปัจจุบันพวกเขากำลังริเริ่มทำหนังสือเรียนภาษาลาดัก ซึ่งยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน
      ผมถามว่าลาดักจะเป็นอย่างไรในอนาคต ชาวลาดักจะสามารถรักษาประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนการแต่งกายแบบดั้งเดิม ไว้ได้หรือไม่ โซนัมตอบว่า
      "สำหรับผม สิ่งที่สำคัญกว่าอยู่ภายใน ชาวลาดักเป็นคนที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นึกถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง ถ้าคุณเป็นคนอย่างนั้น แต่ไม่ได้แต่งชุดลาดัก ผมก็ไม่คิดว่าความเป็นลาดักลดลงไปเลย แต่ถ้าคุณเป็นคนขี้อิจฉา เห็นแก่ตัว แบ่งเขาแบ่งเรา คิดแต่จะแก่งแย่งแข่งขัน ต่อให้ใส่ชุดลาดักที่ดีที่สุด คุณก็ไม่ใช่ชาวลาดักอย่างแท้จริง
      "ผมเชื่อว่าลาดักจะเข้มแข็ง ถ้าระบบการศึกษาของเราดีขึ้น เพราะเด็ก ๆ จะเติบโตขึ้น และสามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งไหนดีหรือไม่ดีต่อเขา ถ้าระบบการศึกษาเลว ประชาชนจะอ่อนแอ สิ่งต่าง ๆ ไม่ว่านักท่องเที่ยว โทรทัศน์ หรือสื่อต่าง ๆ สามารถสร้างผลกระทบที่ไม่ดีต่อเขาได้ทั้งนั้น ในความเป็นจริง ทุกวันนี้เราไม่สามารถหยุดยั้งนักท่องเที่ยว ทหาร หรือโทรทัศน์ ไม่ให้เข้ามาถึงลาดักได้ เราควรจะปรับปรุงระบบความคิด- การศึกษาของชุมชน แทนที่จะหยุดทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มาจากโลกภายนอก"
      ...............................................................
      สองวันบนรถโดยสารขากลับจากเลห์สู่มะนาลี ผมยังคงตื่นตา กับภูมิประเทศรอบตัวดังเดิม แต่ก็ตระหนักดีว่า เทือกเขาหิมาลัยสูงตระหง่าน มิอาจขวางกั้นอิทธิพลจากโลกภายนอก ที่ไหลบ่าสู่ลาดักได้ต่อไป
      ในอนาคตลาดักจะเป็นอย่างไร จะยังสามารถดำรงตน เป็นชุมชนอันสงบงาม ผู้คนมีน้ำใจ และมีความสุขจากภายในไว้ได้ หรือจะเปลี่ยนเป็นสังคมบริโภคนิยมอย่างเต็มตัว หรือคลี่คลายไปในรูปแบบอื่น ๆ
      ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับชาวลาดักรุ่นใหม่ ที่จะต้องเลือกดูให้ถ่องแท้ว่า สิ่งไหนมีคุณค่าต่อตนเองอย่างแท้จริง
 (คลิกดูภาพใหญ่)

เอกสารประกอบการเขียน

เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮ็อดซ์ เขียน, พจนา จันทรสันติ แปล, อนาคตอันเก่าแก่ กรุงเทพฯ, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ๒๕๓๗
ธารา รินศานต์, ในห้วงหิมาลัย, นนทบุรี, สำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรส, ๒๕๓๙
รัมปา ล็อบสัง, โอม มณีปัทเม หุม, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, ๒๕๓๘
Prem Singh Jina , Ladakh The Land and the People , New Delhi , Indus Publishing Company, 1996
Janet Rizvi, Ladakh Crossroads of High Asia, Delhi, Oxford University Press, 1998
Indian Himalaya, Lonely Planet, 2000